2 ศิลปินไทย สร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยจาก "มรดกวัฒนธรรม" บนเต็นท์แคมป์ปิ้ง

2 ศิลปินไทย สร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยจาก "มรดกวัฒนธรรม" บนเต็นท์แคมป์ปิ้ง

“The Camp of the Wayfarers in Love” นิทรรศการเวิลด์ทัวร์ ศิลปะร่วมสมัยจาก "มรดกวัฒนธรรม" หลายเชื้อชาติ ประเดิมด้วยผลงานจาก 2 ศิลปินไทยชื่อดัง อินสนธิ์ วงค์สาม, รำพัด โกฏแก้ว ชมได้วันนี้ก่อนจัดแสดงต่อไปที่จีน

นิทรรศการ “The Camp of the Wayfarers in Love” ริเริ่มโดยศิลปินชาวอิตาลี ชื่อ "Tarshito" ด้วยแรงบันดาลใจในการใช้ศิลปะเพื่อสื่อถึงการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของชาวท้องถิ่น รวมถึงมรดกที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษของแต่ละประเทศ

รากฐานในการสร้างผลงานศิลปะในนิทรรศการนี้ เริ่มจากการที่ Tarshito เดินเท้าเข้าไปศึกษาและทำความเข้าใจความเป็นมาของแคว้นอะพิวเลีย (Apulia) ประเทศอิตาลี และเชื่อมโยงความรู้ที่ได้เข้ากับสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมสากล

ในนิทรรศการ “The Camp of the Wayfarers in Love” ศิลปิน Tarshito เข้าไปสำรวจแนวคิดของชนเร่ร่อน (nomadism) ด้วยการสร้างสรรค์ผลงานที่ประกอบไปด้วย เต็นท์แคมป์ปิ้ง ร่วมกับศิลปินและช่างฝีมือจากหลากประเทศทั่วโลก

และ ศิลปินไทย เป็นศิลปินประเทศแรกที่ได้เข้าร่วมในการสร้างสรรค์นิทรรศการ “The Camp of the Wayfarers in Love” ครั้งนี้

2 ศิลปินไทย สร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยจาก "มรดกวัฒนธรรม" บนเต็นท์แคมป์ปิ้ง เต็นท์แคมป์ปิ้งที่ร่วมการสร้างสรรค์โดย Tarshito, อินสนธิ์ วงค์สาม และ รำพัด โกฏแก้ว

Veronica Caciolli ซึ่งเป็นภัณฑารักษ์ในนิทรรศการนี้ ได้พา "Tarshito" มาพบกับศิลปินชาวไทย 2 ท่านผู้เต็มไปด้วยความสามารถ ได้แก่ อินสนธิ์ วงค์สาม ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ประติมากรรม ประจำปี พ.ศ.2542 และ รำพัด โกฏแก้ว 

ซึ่งแต่ละท่านก็มีการสร้างงานศิลปะที่มีพื้นฐานจากการเดินเท้าเข้าไปคลุกคลี ศึกษา และสืบทอดผลงานช่างฝีมือท้องถิ่นอย่างจริงจัง สมชื่อนิทรรศการที่สร้างสรรค์ขึ้นจาก "ความรัก" ที่ได้พบเจอมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นของ ผู้เดินทาง โดยเฉพาะเดินทางโดยใช้การย่ำเท้า (Wayfarers)

ศิลปินทั้งสามได้ร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลงานจนเกิดเป็น เต็นท์แคมป์ปิ้ง 2 หลัง พร้อมด้วยภาพวาดของ Tarshito และ อินสนธิ์ วงค์สาม ร่วมด้วยผ้าไหมล้านนาโบราณคัดสรรโดย รำพัด โกฏแก้ว

2 ศิลปินไทย สร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยจาก "มรดกวัฒนธรรม" บนเต็นท์แคมป์ปิ้ง Tarshito ศิลปินชาวอิตาเลียน

Tarshito

Tarshito เกิดปีพ.ศ.2495 ที่แคว้นปุลยา (Puglia) ประเทศอิตาลี  เขาจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรม ที่มหาวิทยาลัยฟลอเรนซ์

หลังจากท่องเที่ยวที่ประเทศอินเดียในปีพ.ศ. 2522 เขาได้ออกเดินทางท่องเที่ยวรอบโลกด้วยความรู้สึกประทับใจในการได้เข้าไปสัมผัสวัฒนธรรมอันหลากหลาย

ผลงานของเขาแสดงให้เห็นถึง ความสำคัญของการเดินทาง ทั้งภายในและภายนอกของขอบเขตของกาล-อวกาศ แห่งความเป็นจริง  

ผลงานของ Tarshito เคยจัดแสดงที่แกลลอรีและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลก เช่น Venice Biennale (2011) , Bengal Art Foundation ประเทศบังกลาเทศ และ Museum of Sacred Art ประเทศเบลเยียม

2 ศิลปินไทย สร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยจาก "มรดกวัฒนธรรม" บนเต็นท์แคมป์ปิ้ง ลายเส้นของ อินสนธิ์ วงค์สาม บนเต็นท์ในนิทรรศการฯ

อินสนธิ์ วงค์สาม

อินสนธิ์ วงค์สาม เกิดวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2477 ที่จังหวัดลำพูน ประเทศไทย เป็นบุตรของนาย "หมื่น" ผู้มีเชื้อสายเจ้าเมืองยอง ย้ายถิ่นมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีน นายหมื่นเป็นช่างทองผู้มีฝีมือชั้นสูงและอินสนธิ์ได้สืบทอดความรู้ทักษะทางช่างเหล่านี้

อินสนธิ์ เป็นลูกศิษย์ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สร้างผลงานประติมากรรม จิตรกรรม วาดเส้น และภาพพิมพ์ไว้เป็นจำนวนมาก และเป็นผู้ขี่สกูตเตอร์แลมเบรตต้าออกเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่ฟลอเรนซ์ ในปีพ.ศ.2505 เพื่อตามรอยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้เป็นอาจารย์ของเขา

ผลงานของ อินสนธิ์ ได้รับการชื่นชมทั่วประเทศไทย รวมถึงนักนิยมศิลปะในประเทศญี่ปุ่น อินเดีย ปากีสถาน ตุรกี ออสเตรีย สหรัฐอเมริกา บราซิล ฝรั่งเศส จีน และอิตาลี

นอกจากนั้น อินสนธิ์ ยังได้รับยกย่องให้เป็นผู้บุกเบิกภาพพิมพ์แกะไม้ยุคแรกๆ ในประเทศไทย ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย 

2 ศิลปินไทย สร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยจาก "มรดกวัฒนธรรม" บนเต็นท์แคมป์ปิ้ง ผ้าไหมล้านนาโบราณ คัดสรรโดย รำพัด โกฏแก้ว สร้างสรรค์บนเต็นท์ในนิทรรศการฯ

รำพัด โกฏแก้ว

รำพัด โกฏแก้ว ผู้อุทิศเวลาหลายปีทำงานเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนา ผ่านการก่อตั้ง "บ้านม่อนฝ้าย" ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมล้านนาที่จังหวัดเชียงใหม่

"บ้านม่อนฝ้าย" ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่ออนุรักษ์มรดกเมืองเหนือ และ ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น การบูรณะชิ้นงาน การแต่งกายแบบล้านนา งานเลี้ยงต้อนรับแบบล้านนา และพิธีแต่งงานแบบล้านนา

นอกจากนั้น ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ถ่ายทอดศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นสู่นักเรียน นักศึกษามหาวิทยาลัย บุคคลทั่วไป รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ

โครงการ Ne-Na Contemporary art space ได้รับความร่วมมือจาก ศาสตราจารย์ชูกิจ ปานมงคล ซึ่งเป็นโครงการศิลปะนานาชาติที่ใช้ "ม่อนฝ้าย" ในการต้อนรับศิลปินจากทั่วโลกให้เข้ามา

2 ศิลปินไทย สร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยจาก "มรดกวัฒนธรรม" บนเต็นท์แคมป์ปิ้ง ผู้ร่วมสร้างสรรค์ “The Camp of the Wayfarers in Love”

Veronica Caciolli

Veronica Caciolli เกิดปีพ.ศ.2520 ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เป็นนักประวัติศาสตร์ศิลป์ นักวิจารณ์ ภัณฑารักษ์ และอาจารย์ผู้บรรยาย โดยเธอให้ความสนใจในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะร่วมสมัยและของโบราณ

เวอโรนิกา จบการศึกษาทางด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยฟลอเรนซ์และมนุษยศาสตร์ที่ DAMS (Disciplines of Visual Arts, Music, Theatre, TV, and Cinema – มหาวิทยาลัยโบโลญญา) หลังจากนั้นได้ศึกษาต่อทางด้านภัณฑารักษ์และการวิจารณ์ศิลปะ ประวัติศาสตร์ศาสนา มานุษยวิทยาศิลปะและลัทธิตะวันตกที่เบอร์ลิน โรม มิลาน และลอนดอน

เวอโรนิกา ได้จัดนิทรรศการมาแล้วหลายครั้ง รวมถึงที่ Mart Museum และ Palazzo Pretorio Museum ประเทศอิตาลี "Re-Enchanting the World" เป็นนิทรรศการครั้งล่าสุดของเธอซึ่งจัดที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565

2 ศิลปินไทย สร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยจาก "มรดกวัฒนธรรม" บนเต็นท์แคมป์ปิ้ง อินสนธิ์ วงค์สาม กับลายเส้นบนเต็นท์

2 ศิลปินไทย สร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยจาก "มรดกวัฒนธรรม" บนเต็นท์แคมป์ปิ้ง ลายเส้นบนเต็นท์ในนิทรรศการ The Camp of the Wayfarers in Love

2 ศิลปินไทย สร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยจาก "มรดกวัฒนธรรม" บนเต็นท์แคมป์ปิ้ง รำพัด โกฏแก้ว กับผ้าทอล้านนาในนิทรรศการครั้งนี้

2 ศิลปินไทย สร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยจาก "มรดกวัฒนธรรม" บนเต็นท์แคมป์ปิ้ง นิทรรศการ The Camp of the Wayfarers in Love

นิทรรศการ “The Camp of the Wayfarers in Love” จัดแสดง ณ ห้อง 248 ชั้น 2 ศูนย์การค้า ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก สี่พระยา กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 22 กันยายน – 22 ตุลาคม 2565 เข้าชมฟรี 

นิทรรศการที่ประเทศไทยในครั้งนี้ เกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนของสถานทูตเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย และองค์กรความร่วมมือ แคว้นอะพิวเลีย ประเทศอิตาลี  

หลังจากจัดแสดงที่ประเทศไทย นิทรรศการ “The Camp of the Wayfarers in Love” จะจัดแสดงอย่างต่อเนื่องที่จีน อินเดีย อินโดนีเซีย บราซิล ซานโตโดมิงโก อิสราเอล และบังกลาเทศ