ล้านคำในใจแต่บอกใครไม่ได้ หาไอเดียสื่อสารจากภาพ "วงล้อแห่งอารมณ์"

ล้านคำในใจแต่บอกใครไม่ได้ หาไอเดียสื่อสารจากภาพ "วงล้อแห่งอารมณ์"

เคยบ้างไหมที่คิดไว้อยู่ในใจแต่อธิบายใครไม่ได้ ถ้าคำตอบคือ "เคย" ชวนรู้จัก Emotion Wheel หรือ "วงล้อแห่งอารมณ์" แนวทางเพื่อเข้าใจสิ่งที่อยู่ภายใน และยังเป็นคู่มือเพื่อหาช่องทางสื่อสารกับคนรอบข้างอย่างตรงใจ

ช่วงนี้คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง?

ก็ดีนะ แต่บางทีก็รู้สึก เบื่อๆ

เหงาเหมือนกัน แต่ก็ไม่อยากเจอใคร

เศร้า กังวลใจ บอกไม่ถูกเหมือนกัน

เคยบ้างไหม หลายครั้งเมื่อเราเผชิญกับสถานการณ์บางอย่างในชีวิต แต่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าคืออะไร จะบอกว่ากลัวก็ยังไม่ใช่ จะบอกว่าเสียใจก็ยังไม่เชิง และพอรู้ตัวอีกทีความขมุกขมัวในใจก็มีขนาดใหญ่ขึ้นจนเกิดความรู้สึกอึดอัด ไร้ทางออก

ถ้าคำตอบของคุณคือใช่ และมีประสบการณ์ไม่ต่างกัน โอกาสนี้ลองใช้ Emotion Wheel เพื่อพิจารณาตัวเองดู เพราะนี่คืออีกเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้คุณเข้าใจความรู้สึกตัวเอง แล้วเปลี่ยนมันเป็นคำพูดเพื่อสื่อสารกับตัวเองและคนรอบข้างได้อย่างใจ

  • Emotion Wheel คืออะไร

Emotion Wheel หรือ วงล้อแห่งอารมณ์นั้น เป็นแผนภาพซึ่งมาจากทฤษฎีวงล้อแห่งอารมณ์ ของ ศ.ดร.โรเบิร์ต พลัทชิค (Robert Plutchik) ซึ่งเสนอว่าอารมณ์หลัก (Basic Emotions) ประกอบด้วย 4 คู่ตรงข้าม ได้แก่

ความรื่นเริง (Joy) คู่กับ ความเศร้า (Sadness)

ความโกรธ (Anger) คู่กับ ความกลัว (Fear)

ความวางใจ (Trust) คู่กับ ความรังเกียจ (Disgust)

ความประหลาดใจ (Surprise) คู่กับ ความคาดหวัง (Anticipation)

ล้านคำในใจแต่บอกใครไม่ได้ หาไอเดียสื่อสารจากภาพ "วงล้อแห่งอารมณ์" ภาพวงล้อแห่งอารมณ์ ของ ศ.ดร.โรเบิร์ต พลัทชิค (Robert Plutchik)

โดยในแต่ละอารมณ์หลักนี้ ยังประกอบด้วยความเข้มข้นทางอารมณ์ ที่ทำให้เกิดอารมณ์ต่าง ๆ ขึ้นมา ต่อยอดจากแนวทางของอารมณ์หลัก ไม่ว่าจะเป็น

ความรื่นเริง (Joy) อยู่ระหว่าง ความสงบปลอดโปร่ง (Serenity) และ ความปิติยินดี (Ecstasy)

ความเศร้า (Sadness) อยู่ระหว่าง ความหดหู่ (Gloominess) และ ความเศร้าโศก (Grief)

ความโกรธ (Anger) อยู่ระหว่าง ความรำคาญ (Annoyance) และ ความเดือดดาล (Fury)

ความกลัว (Fear) อยู่ระหว่าง ความขี้ขลาด (Timidity) และ ความหวาดกลัว (Terror)

ความวางใจ (Trust) อยู่ระหว่างความยอมรับ (Acceptance) และ ความยกย่อง (Admiration)

ความรังเกียจ (Disgust) อยู่ระหว่าง ความไม่ชอบ (Dislike) และ ความรังเกียจเดียดฉันท์ (Loathing)

ความประหลาดใจ (Surprise) อยู่ระหว่าง ความไม่มั่นใจ (Uncertainty) และ ความพิศวง (Amazement)

ความคาดหวัง (Anticipation) อยู่ระหว่าง ความสนใจ (Interest) และ การเฝ้าดู (Vigilance)

 

นอกจากนี้เมื่อนำอารมณ์หลักต่าง ๆ มาผสมกันแล้ว ก็จะเกิดอารมณ์ใหม่ ๆ ขึ้นมามากมาย เช่น

ความรัก (Love) เกิดจาก ความรื่นเริง (Joy) + ความวางใจ (Trust)

ความสำนึกผิด (Remorse) เกิดจาก ความเศร้า (Sadness) + ความรังเกียจ (Disgust)

ถึงตรงนี้ จะเห็นว่า ความรู้สึกรัก (Love) อยู่ระหว่างวงล้อสีเหลือง + สีเขียว นั่นก็คือความรู้สึกนิ่งสงบจนเป็นความสุข+ การยอมรับ (Serenity+ Acceptance) ซึ่งกว่าจะถึงขั้นของความรู้สึก Serenity ก็จะเกิดความรู้สึกอื่นที่ใกล้เคียงก่อนนั่นคือ Ecstasy (ความรู้สึกปิติยินดีขั้นสุด) + Joy (การรู้สึกเป็นสุขร่าเริง)

เช่นเดียวกับฝั่งวงล้อสีเขียว Acceptance (การยอมรับ) ซึ่งกว่าจะถึงความรู้สึกนี้ต้องผ่านการ Admiration (การได้รับความชื่นชม) และ Trust (ความไว้ใจ) เสียก่อน

 

  • การประยุกต์ใช้ Emotion Wheel ในการสื่อสาร

รู้สึกอย่างไร? วันนี้เป็นไงบ้าง?

หลายคำถามเป็นคำถามที่ไม่รู้จะตอบอย่างไร แต่การมี Emotion wheel สามารถใช้เพื่อให้เราสามารถอธิบายอารมณ์ของตนเองออกมา และใช้เพื่อช่วยทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับระดับความเข้มข้นของอารมณ์ที่มีของตัวเอง ซึ่งจะช่วยทำให้เรามีความสามารถในการจำแนกอารมณ์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของ EQ (emotional intelligence)

ล้านคำในใจแต่บอกใครไม่ได้ หาไอเดียสื่อสารจากภาพ "วงล้อแห่งอารมณ์" ภาพจากโครงการ UnknownTogether เปิดโลกใหม่ในใจคุณ โดยองค์การสหประชาชาติในประเทศไทย และโนอิ้งมายด์ ร่วมกับ Facebook และพันธมิตร เปิดตัวแคมเปญส่งเสริมสุขภาพจิตสำหรับชุมชนชาวไทย

  • วิธีการดู วงล้อแห่งอารมณ์

หลายโครงการได้นำเอาแผนภูมิวงล้อแห่งอารมณ์ไปใช้เพื่อความสะดวกสบายซึ่งวิธีการดูเผื่อหาคำสื่อสารสำหรับตัวเองนั้นไม่ยาก

เริ่มจาก การเริ่มมองที่ขอบด้านนอก เพื่อค้นหาอารมณ์ที่มีความเข้มข้นต่ำซึ่งใกล้เคียงกับคุณที่สุด เช่น มีความมั่นใจ  ท้อแท้ท้อถอย

จากนั้นก็ค่อยๆ ถามความรู้สึกและมุ่งไปที่จุดศูนย์กลางเรื่อย ซึ่งเมื่อคุณเคลื่อนไปยังจุดศูนย์กลางแล้ว สีจะเข้มขึ้นและอารมณ์ที่อ่อนลงจะกลายเป็นอารมณ์พื้นฐานของคุณ

โดยที่ไม่ลืมว่าระหว่างแต่ละสี คุณจะพบกับสิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ผสม เช่น การดูถูก เกิดจากความโกรธและความขยะแขยงรวมกัน (จากภาพวงล้อแห่งอารมณ์ ของ ศ.ดร.โรเบิร์ต พลัทชิค)  ก่อนที่ทั้งหมดจะโยงมาหาอารมณ์หลัก

สำหรับการประยุกต์ใช้วงล้อแห่งอารมณ์นั้น อย่างแรกคือการสื่อสารที่จะบอกความรู้สึกได้ชัดเจนขึ้น และการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาตามความรู้สึกนี้ทำให้เราเข้าใจถึงที่มาของอารมณ์เชิงบวก

ขณะเดียวกันก็ยังสามารถตอบความคาดหวังของบุคคลรอบข้าง ตลอดจนการทำงานได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างเช่น เมื่อเราทราบว่า ความรื่นเริง (Joy) + ความประหลาดใจ (Surprise) จึงเกิด ความปลาบปลื้มใจ (Delight) หากเราต้องการให้เพื่อร่วมงาน คนในครอบครัว หรือคู่ค้า ปลาบปลื้มใจ (Delight) ในสินค้าหรือบริการของเรา เราจำเป็นต้องสร้างความสุข ความรื่นเริงให้เกิดขึ้นในสินค้าหรือบริการ (Joy) นอกจากนี้ สินค้าหรือบริการของเรา ยังจำเป็นต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ดีเกินคาดลูกค้าอีกด้วย (Surprise)

ทั้งหมดเป็นแนวทางการสื่อสารที่ได้ไอเดียมาจาก "วงล้อแห่งอารมณ์" ที่น่าจะทำให้คุณเข้าใจตัวเอง และเลือกการใช้ภาษาที่สื่ออารมณ์ได้ดั่งใจ ลดความอึดอัด และทำลายความขมุกขมัวที่อยู่ภายในใจได้

ที่มา : Healthline

Run Wisdon