"ฉันชาย สิทธิพันธุ์" : ผมมีความสุข สนุก กับสิ่งที่ทำ

"ฉันชาย สิทธิพันธุ์" : ผมมีความสุข สนุก กับสิ่งที่ทำ

มีความสุขที่ได้เป็นหมอ ไปโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯทุกวัน และนี่คือ เรื่องราวธรรมดาๆ ของ"ฉันชาย สิทธิพันธุ์" ฝาแฝด"ชัชชาติ" กับเรื่องราวอาชีพหมอที่เขารักมากกว่าอื่นใด

"ตอนนี้เวลาผมไปไหน มีคนชอบมาขอถ่ายรูปมากขึ้นกว่าเดิม ผมก็ยินดีครับ แต่ก็แปลกใจ..” รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เล่า หลังจาก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ น้องชายฝาแฝด ขึ้นเป็นผู้ว่าฯกทม.     

ทั้งสองมีหน้าตาคล้ายกันมาก แต่ถ้าสังเกตให้ดี...คุณหมอฉันชาย ผิวขาวกว่า ท้วมกว่านิดหน่อย โดยรวมมีบุคลิกและนิสัยคล้ายกันหลายเรื่อง เป็นคนเรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตอง คิดบวก ชอบทำงาน มีระเบียบวินัยสูง และเป็นนักอ่านตัวยง 

จุดประกายทอล์ค กรุงเทพธุรกิจ ฉบับนี้ ขอเล่าเรื่องธรรมดาๆ ของหมอฉันชาย ที่เขามักจะบอกว่า "ชีวิตผมไม่ได้มีอะไรมากมาย เรียบง่าย แค่เสพติดโรงพยาบาล ต้องมาทุกวัน..." 

  • คุณหมอทำงานทุกวัน เหมือนอาจารย์ชัชชาติไหม

     ผมมาทำงานทุกวัน ทุกเช้าต้องมาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และมาที่คณะแพทยศาสตร์ ดูความเรียบร้อย เหมือนผมเสพติดโรงพยาบาล บางทีมา 8 โมงเช้า มาดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ถ้าไม่มาโรงพยาบาลจะรู้สึกแปลกๆ ปกติหมอทั่วไปก็มาโรงพยาบาลทุกวันอยู่แล้ว ถ้ามีคนไข้ในวอร์ด ก็ต้องมาเยี่ยม 

  • เป็นคนทำงานเยอะไม่ต่างจากน้องชาย(ชัชชาติ)?

งานอยู่ในใจ ต้องสมดุลให้ดี จริงๆ แล้วชัชชาติทำงานแบบนี้มานานแล้ว เวลาเขาทำงานจะทุ่มสุดตัว เราจะโฟกัสคนละแบบ อย่างลูกเขาป่วย เขาก็ทุ่มเทหาคำตอบ เขามีระเบียบการทำงานที่ดีตั้งแต่เป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ ก็ผลักดันหลายเรื่อง

\"ฉันชาย สิทธิพันธุ์\" : ผมมีความสุข สนุก กับสิ่งที่ทำ

("หน้าที่ของคนเป็นพ่อคือให้โอกาสลูกมากที่สุด เสนอให้พิจารณาเอง ไม่ได้ผลักดัน ไม่เคยบังคับ ไม่เคยสร้างความคาดหวัง ตอนนี้ลูกสาวผมทำงานบริษัทอยู่ที่นิวยอร์ก อเมริกา"-รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ )

 

ผมต้องบอกก่อนว่า เพื่อนๆ ผมก็ทำงานหนักแบบนี้ ผมเจอคนที่ทำงานหนักแบบนี้เยอะ เราก็อยากให้ชัชชาติเป็นแรงบันดาลใจ ผลักดันให้ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี

  • เคยปรึกษาเรื่องงานกับอ.ชัชชาติไหม

ส่วนมากก็ฟังจากที่ชัชชาติพูด ไม่คุยกันเรื่องงาน เราต่างมีพื้นที่ของตัวเอง เราสองคนจะไม่ปรึกษาซึ่งกันและกัน เพราะอยู่คนละวิชาชีพ  

  •  เป็นทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาล คณบดี และอาจารย์แพทย์ จัดความสัมพันธ์งานอย่างไร

ในบทบาทอาจารย์แพทย์ ผมสอนน้อยลง ส่วนใหญ่สอนแนวคิดการบริหาร การเป็นหมอ และการใช้ชีวิต งานคณบดีส่วนใหญ่เป็นงานบริหาร แต่ผมก็ยังบรรยายในเรื่องที่ผมถนัด แบ่งเวลาไปเยี่ยมคนไข้เดิมที่ผมยังดูแลอยู่บ้าง จากที่เคยมองเป็นส่วนๆ เมื่อเปลี่ยนหน้าที่เป็นผู้บริหารก็มองกว้างขึ้น เพื่อขับเคลื่อนองค์กร

  • ชอบงานบริหารไหมคะ

ก็ดีนะครับ ถ้าเรามีทีมงานที่ดี สามารถขับเคลื่อนองค์กร พัฒนาไปอย่างที่เราคาดหวัง เป็นอีกความท้าทาย ผมก็มีความสุขกับสิ่งที่ทำ

  • ช่วงเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลไม่ถึงปี คุณหมอได้ปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง

เป็นจังหวะที่โรงพยาบาลเจอวิกฤตโควิด ผมก็รับไม้ต่อ เป้าหมายต้องชัด คนต้องปรับตัว ปรับโรงพยาบาลให้พร้อมรับสังคมที่เปลี่ยนไป มีคีย์เวิร์คสำคัญว่า เราจะรับการเปลี่ยนแปลงได้ยังไง จึงเน้นเรื่ององค์ความรู้นำมาซึ่งนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์สังคม 

นวัตกรรมในที่นี้ ยังรวมถึงการสร้างคนที่ดี บริการวิชาการให้เกิดประโยชน์จริงๆ เราสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์“MDCU Med U More” ให้ทุกคนเข้าถึงความรู้ทางการแพทย์แบบไร้ขีดจำกัด ใครๆก็เรียนได้ ทุกที่ ทุกเวลา(https://MedUMore.org) 

ผมเชื่อว่า คณะแพทย์ศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้เยอะ ปัญหาคือ องค์ความรู้ที่มีอยู่ในสื่อสังคมมีทั้งผิดและถูก หน้าที่เราคือ รวบรวมความรู้เป็นหมวดหมู่ให้คนเข้าถึง

\"ฉันชาย สิทธิพันธุ์\" : ผมมีความสุข สนุก กับสิ่งที่ทำ

("ผมบอกนิสิตแพทย์เสมอว่า ถ้าคุณมาทำงานแล้วอยากขึ้นหอผู้ป่วยตั้งแต่เช้าเพื่อดูคนไข้ แสดงว่ามาถูกทางแล้ว แต่ถ้าวันนี้ไม่อยากลุกมาโรงพยาบาล เบื่อ ต้องคิดอีกทีว่า เรียนแพทย์เหมาะกับเราหรือเปล่า "-หมอฉันชาย ผู้อำนวยโรงพยาบาลจุฬาฯ

  • เป็นคนคิดบวก ? 

คนเป็นแพทย์ต้องคิดบวก การคิดบวกจำเป็น คนไข้ที่มารักษา เขามีความหวัง ผมคิดเสมอว่า คนไข้ทุกคนที่มาหาหมอ เรารักษาเขาได้ เพียงแต่ต้องตั้งเป้าหมายให้ถูกต้อง แล้วที่บอกว่ารักษาไม่ได้หมดหวัง มันไม่ใช่ ทุกคนมีความหวัง ต่อให้คนไข้ใกล้ตาย ก็ต้องมีชีวิตที่ดีที่สุดจนถึงวันตาย

  • มีคนบอกว่า ตอนคุณหมอและอ.ชัชชาติเรียนมัธยม ก็หาหนังสือระดับมหาวิทยาลัยมาอ่าน?

เราอ่านหนังสือด้วยกัน อยู่โรงเรียนเดียวกัน ตอนนั้นเราคิดว่า ถ้าเราเรียนระดับนี้ แล้วทำไมไม่ขยับไปอีกระดับ จึงหาหนังสือมาอ่านเพิ่มความรู้ เด็กสมัยนี้เก่งกว่าสมัยผมเยอะ ไม่ได้มีความรู้ในตำราอย่างเดียว ยังมีความรู้อีกหลายเรื่อง

  • ดูเหมือนว่าคุณหมอจะมีระเบียบวินัยสูง เรื่องนี้ได้มาจากใครคะ

น่าจะแม่ ตอนผมเป็นหมอใหม่ๆ จะขึ้นไปดูแลคนไข้ตอนตี 5 ครึ่ง อาจารย์ผมบางคนมาตี 4 เมื่อขึ้นไปดูคนไข้แล้ว ผมก็มาทำงานให้ตรงเวลา เป็นวิธีการดำเนินชีวิตของผม ผมมีความสุขที่จะตื่นตี 4 ครึ่ง และผมเข้านอนเร็ว

  • ตื่นมาออกกำลังกายก่อน ? 

พาสุนัขไปเดินเล่นและออกกำลังกาย แต่ถ้ามีภาระกิจเยอะ ก็งด

  • ออกไปวิ่งกับอาจารย์ชัชชาติบ้างไหม  

ถ้าวิ่งด้วยกัน เหนื่อย มีคนทักเยอะ แต่ก็ยินดี แม้จะมีคนทักผมผิดเยอะ(หัวเราะ)

  • มีไลฟสไตล์ส่วนไหนคล้ายกันบ้าง

ค่อนข้างแปลก ผมก็งงๆ บางทีเลคเชอร์ให้คนอื่นฟัง ก็ใช้คำเดียวกัน เช่นคำว่า empathy เพราะเราโตมาคล้ายๆ กัน เป็นครอบครัวข้าราชการ ที่ผ่านมาคุณพ่อทุ่มเทเพื่องานหลวงมาตลอด คนที่รู้จักคุณพ่อมักบอกว่า ท่านเป็นตำรวจที่ดีและเสียสละ เป็นสิ่งที่ดีสำหรับผม เพราะครอบครัวผมไม่ได้มองเรื่องการหากำไรหรือทำธุรกิจอะไร

  • ตอนที่ลูกยังเล็กๆ คุณหมอดูแลเขาอย่างไรคะ

      ให้เขามีความสุขกับสิ่งที่เขาทำ หน้าที่ของคนเป็นพ่อคือให้โอกาสลูกมากที่สุด เสนอให้พิจารณาเอง ไม่ได้ผลักดัน ไม่เคยบังคับ ไม่เคยสร้างความคาดหวัง ตอนนี้ลูกสาวผมทำงานบริษัทอยู่ที่นิวยอร์ก อเมริกา

  • ตอนที่เลือกเป็นหมอ ตั้งใจแล้วว่า อยากรักษาคนไข้?

สมัยนั้นมีให้ลองเป็นหมอก่อนไหม...ไม่มี ก็เห็นจากพี่ป้าน้าอาที่เป็นหมอ แต่ดีใจที่เลือกเป็นหมอ ถ้าทำงานแล้วมีความสุข แสดงว่าเรามาถูกทาง

ถ้าทำงานที่ไม่มีความสุข เราก็ไม่อยากทำ ผมพูดเสมอว่า ไม่มีใครหรอกไม่ทำงานหนัก ไม่ว่าอาชีพใดก็ตาม แต่ถ้าทำงานหนักแล้วเป็นสิ่งที่เรารัก ก็สามารถทำได้ดี

  • คุณหมอเคยบอกว่า การเป็นหมอไม่จำเป็นต้องเรียนเก่งมาก? 

เป็นหมอไม่จำเป็นต้องเก่งมาก การเป็นหมอที่ดีมีองค์ประกอบหลายอย่าง ต้องมีวิธีคิดที่ดี รับฟัง มีความใส่ใจคนอื่น(empathy) อีกอย่างความรู้พื้นฐานต้องดี มีการคิดเป็นระบบ

  • ทำไมถึงให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่อง วาระสุดท้ายของชีวิตและการตายดี

ในสังคมเราไม่พูดเรื่องความตายกัน ชีวิตคนเรา ถ้าเราวางแผนไม่ดีในเรื่องนี้ จะเกิดผลกระทบรุนแรงเวลาเจ็บป่วย ทั้งเรื่องการใช้ทรัพยากรไม่เหมาะสมในโรงพยาบาล ผู้ป่วยก็จะทุกข์ทรมานโดยไม่จำเป็น แทนที่คนอื่นจะได้ใช้ทรัพยากรซึ่งมีอยู่จำกัด  อย่างการใช้ห้องไอซียู

การวางแผนเรื่องนี้สำคัญ ผมมีแพทย์รุ่นน้องที่อายุไม่มาก เพิ่งเสียชีวิตจากมะเร็ง เขาเป็นหมอที่ทำเรื่องการแพทย์ประคับประคอง เขาเตรียมตัวเรื่องเหล่านี้ได้ดี คุณพ่อคุณแม่ของเขายังบอกว่า ช่วยทำให้พ่อแม่ได้เข้าใจและรับมือตรงนี้ได้

ผมมองว่า มีองค์ประกอบ 3 อย่างคือ 1 ตัวผู้ป่วยและญาติ 2 แพทย์และบุคลากรการแพทย์ 3 กฎหมาย ต้องขยับไปพร้อมกัน บางทีประชาชนรู้เยอะ ต้องการให้ช่วย แพทย์บางคนยังไม่มีความรู้ถึงจุดนั้น และกฎหมายยังไม่รองรับหลายเรื่อง

  • ช่วยยกตัวอย่างสักนิด?

การทำพินัยกรรมชีวิต ทำไว้ได้ก็ดี แต่สุดท้ายก็ต้องมีการตีความ มีข้อจำกัด 

  • แล้วคุณหมอทำไว้ไหม

ผมพูดกับภรรยาไว้แล้วว่า ถ้ามาถึงจุดหนึ่งที่เราไม่มีคุณภาพชีวิต ไม่อยากให้ยื้อชีวิต เมื่อไม่อาจรักษาได้แล้ว ก็ต้องตกลงกันให้เรียบร้อย คุยให้ชัดว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ จะทำยังไง

ปัญหาสำคัญคือ ต่อให้คุยไว้ พอเกิดเหตุการณ์ขึ้น แล้วไม่มีพินัยกรรมชีวิต หมอหลายคนจะกังวลเรื่องนี้ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชน ก็กลัวว่าเมื่อคนไข้เสียชีวิตอาจมีการฟ้องร้อง หลายประเทศมีกฎหมายที่เอื้อมากกว่าบ้านเรา เรื่องนี้ในเมืองไทยผลักดันมาสิบปีกว่าปี ยังไม่มีอะไรแน่นอน การตีความก็ต่างกัน

\"ฉันชาย สิทธิพันธุ์\" : ผมมีความสุข สนุก กับสิ่งที่ทำ

("ความสุขของผมคือ ทำให้คนอื่นมีความสุข ส่วนความสุขในชีวิตก็คือ ออกกำลังกาย เลี้ยงสุนัข อยู่กับครอบครัว ใช้ชีวิตเรียบๆ ง่ายๆ ไม่มีอะไร สิ่งสำคัญคือ มีความสุขกับสิ่งที่เราทำ"-ฉันชาย สิทธิพันธุ์

  • เรื่องการดูแลแบบประคับประคองต้องมีระบบที่ดีกว่านี้ไหม 

การเข้าถึงบริการยังมีปัญหา ผมพูดเสมอว่า การตายในกรุงเทพฯ แย่กว่าในต่างจังหวัด โรงพยาบาลต่างจังหวัดส่งต่อถึงโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพราะการหาเตียงในโรงพยาบาลรัฐ กรุงเทพฯ ยากมาก ต้องมีระบบบริการที่บ้านมากขึ้น แต่สุดท้ายต้องพึ่งพาญาติพี่น้องดูแล

  • มองเรื่องการยื้อชีวิตอย่างไร

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่ายื้อ กับให้โอกาส ต่างกัน ถ้าไม่มั่นใจว่าโอกาสจะทำให้คนป่วยดีขึ้น หรือโอกาสน้อยมาก นั่นเรียกว่า ยื้อชีวิตที่ไม่ควรทำ เพราะไม่มีใครได้ประโยชน์ มีแต่เสียประโยชน์

  • การุณยฆาต เหมาะที่จะนำมาใช้ในสังคมไทยไหม

ผมคิดว่าการุณยฆาตต้องเกิดขึ้นเมื่อคนไทยมีความเข้าใจบริบททางสังคมอย่างดี มีวิธีการควบคุมที่ดีก่อน เช่น  คนไข้ได้รับการประคับประคองที่ดีก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความทุกข์ทรมาน

อีกอย่างการที่จะตาย หมายถึงเราได้ทำการรักษาทุกวิถีทางแล้ว ไม่อย่างนั้นทุกข์ทรมานนิดหน่อยก็จะขอตาย เข้าไม่ถึงการรักษาก็ตายดีกว่า ทั้งๆที่อาจมีการรักษาที่ได้ผล ถ้ามีทางเลือกแบบนี้ไว้ ก็ดี แต่ถ้านำมาใช้ในระบบใหญ่ ต้องดูปัจจัยอื่นๆ ด้วย ผมคิดว่าต้องอีกระยะ ยังไม่เหมาะสมในปัจจุบัน ผมเห็นด้วยในแง่แนวคิด

  • ตอนวาระสุดท้ายของคุณพ่อ คุณหมอดูแลอย่างไร

ผมบอกคุณพ่อตรงๆ ว่าพ่อเป็นมะเร็ง คุณพ่อเข้าใจสถานการณ์ แต่แย่ลงเรื่อยๆ สุดท้ายคุณพ่อต้องใส่ท่อช่วยหายใจนอนไอซียู พอถึงจุดหนึ่ง ถ้าไม่ไหวก็ปล่อยตามวิถีธรรมชาติ ผมก็อยู่กับท่านจนวินาทีสุดท้าย 

  • สิ่งสำคัญที่สุดของการตายดี คือการอยู่ดีก่อน ? 

 คำว่าอยู่ดีสำคัญกว่า ใช้เวลาให้มีคุณค่า ถ้าร่างกายเสื่อมไป ก็อยู่ให้มีศักดิ์ศรีไปเรื่อยๆ ให้มั่นใจว่า เราจะไม่อยู่อย่างไม่มีคุณภาพชีวิต หรือชีวิตเราทุกข์ทรมานสร้างปัญหาให้คนอื่นนานเกินไป

  • คุณหมอมักพูดว่า "ชีวิตผมไม่ได้มีอะไรมากมาย" ?

ความสุขของผมคือ ทำให้คนอื่นมีความสุข ส่วนความสุขในชีวิตก็คือ ออกกำลังกาย เลี้ยงสุนัข อยู่กับครอบครัว ใช้ชีวิตเรียบๆ ง่ายๆ ไม่มีอะไร สิ่งสำคัญคือ มีความสุขกับสิ่งที่เราทำ 

ผมบอกนิสิตแพทย์เสมอว่า ถ้าคุณมาทำงานแล้วอยากขึ้นหอผู้ป่วยตั้งแต่เช้าเพื่อดูคนไข้ แสดงว่ามาถูกทางแล้ว แต่ถ้าวันนี้ไม่อยากลุกมาโรงพยาบาล เบื่อ ต้องคิดอีกทีว่า เรียนแพทย์เหมาะกับเราหรือเปล่า  

  • ถ้ามีเวลาอยากขับเคลื่อนเรื่องใดเป็นกรณีพิเศษ

เรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และความเข้าใจเรื่องความตาย การดูแลประคับประคองก่อนตายให้ดี ทั้งเรื่องกฎหมายและความเข้าใจ ผมมีความสุขเวลาบรรยายเรื่องพวกนี้ อยากให้คนเข้าใจและอยากให้คนไข้ได้รับการดูแลที่ดี