มองปากท้องผ่านชาม“ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ธุรกิจข้างถนนที่ยืนยง 3 ทศวรรษ

มองปากท้องผ่านชาม“ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ธุรกิจข้างถนนที่ยืนยง 3 ทศวรรษ

สนทนากับ "พันธ์รบ กำลา" ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารบริษัทชายสี่บะหมี่เกี๊ยว ถึงธุรกิจแฟรนไชส์สตรีทฟู้ดริมทางที่ ยืนยาวมา 3 ทศวรรษ โควิด-19 , สินค้าราคาแพง, เศรษฐกิจถดถอย สะท้อนผลลัพธ์อะไรผ่านการซื้อบะหมี่

ต้มยำกุ้ง, แฮมเบอร์เกอร์ไครซิส, โควิด-19 , เงินเฟ้อ ฯลฯ ไม่ว่าจะผ่านมากี่มรสุมเศรษฐกิจ กี่วิกฤติสถานการณ์ แต่ถ้าถามถึงธุรกิจที่ยังคลุกคลีกับผู้คน เชื่อว่า “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ร้านบะหมี่ แฟรนไชส์ บนป้ายสีเหลืองแดงต้องเป็นหนึ่งในนั้น

จากแผงขายบะหมี่ย่านลำลูกกา ในช่วง พ.ศ. 2535-2537 ธุรกิจขายก๋วยเตี๋ยวธรรมดาๆ ก็กลายเป็น ธุรกิจแฟรนไชส์ ในช่วง พ.ศ. 2537-2538 และผลลัพธ์หลังจากนั้นก็คงไม่ต้องพูดถึง เพราะราว 30 ปีที่ผ่านร้อนหนาวมา “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ถือเป็นธุรกิจแฟรนไชส์แบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิต รถเข็น เส้นบะหมี่ และก็น่าจะเป็นแฟรนไชส์บะหมี่เกี๊ยวที่มีสาขามากมากที่สุดในประเทศไทย

เช้าวันทำงานกลางเดือนกรกฏาคม 2565 พันธ์รบ กำลา ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารบริษัทชายสี่บะหมี่เกี๊ยว จำกัด มาถึงก่อนเวลานัดหมาย แม้หลายคำนิยามจากสื่อว่าเขาเป็นนักธุรกิจระดับพันล้าน แต่เขา ในวันนั้นขับรถเอง ถือกระเป๋าเอง และยังคงทำงานหนักบนโต๊ะในสำนักงานใหญ่ชายสี่ฯ ย่าน จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นทั้งออฟฟิศ โรงงาน และสถาบันอบรมผู้สนใจธุรกิจแฟรนไชส์

“ผมเป็นคนบ้านนอก มาจากอำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด เรียนหนังสือแค่ ป.4 ก็ทำมาหมดครับ ทำนา รับจ้างขุดดินนี่พื้นฐาน เก็บพริก ขายไอติม เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย ขายลูกชิ้นน้ำใส ขายบะหมี่เกี๊ยว จนมาตั้งโรงงานผลิต” เขาเริ่มต้นแนะนำตัวสั้นๆ และเป็นสัญญาณเริ่มของตำราธุรกิจที่ชีวิตเริ่มจากศูนย์

“ผมว่าชายสี่ฯ เหมือนแมวเก้าชีวิตนะ คือตายไม่เป็น ผ่านทั้งวิกฤติ 40 วิกฤติ 50 จนมาถึงโควิด-19 แต่อีกไม่นานผมก็คงเกษียณให้ลูกรับช่วงต่อ หรือไม่ก็หามืออาชีพมาบริหาร เพราะ ชายสี่ฯ เตรียมเข้าตลาดหุ้น คิดว่าน่าจะช่วงปี 68-69 และบุคลิกอย่างผม คงไม่ถนัดที่จะสื่อสารกับสถาบันการเงิน หรือคนในตลาดหลักทรัพย์ คือฟังเขาพูดรู้เรื่องนะ แต่ใช้คำแบบเขาคงไม่ได้ (หัวเราะ)”

มองปากท้องผ่านชาม“ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ธุรกิจข้างถนนที่ยืนยง 3 ทศวรรษ พันธ์รบ กำลา ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารบริษัทชายสี่บะหมี่เกี๊ยว จำกัด ภาพ : ชวรินทร์ เผงสวัสดิ์

  • มองเศรษฐกิจ-สังคม แบบคนขายบะหมี่

ซื้อแฟรนไชส์ ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว คือหนึ่งในทางเลือกของผู้ที่มีเงินทุนไม่มากที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ และถือเป็นอีกความหวังของผู้คนที่ต้องออกจากงานด้วยพิษเศรษฐกิจ 

พันธ์รบ เล่าว่า ช่วงปี 63-64 ที่โควิดหนักกว่านี้ (ปี 65) หลายธุรกิจได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ไม่เว้นกระทั่งชายสี่ฯ ซึ่งช่วงสองปีที่ว่า รายรับลดไปกว่า 60% แต่ก็ต้องประคององค์กรให้เดินหน้า รักษาสภาพพนักงานไว้ให้ดีที่สุด

“หลายคนตกงาน ก็คิดจะซื้อแฟรนไชส์บะหมี่ไปขาย และในจำนวนนี้ก็มีบ้างที่ประสบความสำเร็จ ได้เป็นเจ้าของกิจการอย่างที่หวัง แต่ก็ถือว่ายังน้อย เมื่อเทียบกับผู้ที่ไปไม่รอด ช่วงปี 63 ที่หนักมาก ผมพูดได้ว่าซื้อแฟรนไชส์ไป100 คัน ตีกลับถึง 70 คัน ต้องเอามาคืนเรา เพราะเจอทั้งค่าที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ แต่ยอดขายมันไม่ได้ตามเป้า”

เมื่อกิจกรรมทางธุรกิจมันไม่มี หรือมีน้อย มันก็เหมือนโดมิโน่ คนมาขายบะหมี่เนื่องจากถูกเลิกจ้างงาน แต่คนซื้อก็แย่เหมือนกัน พอเงินไม่มี ก็มาซื้อบะหมี่น้อยลง คนที่เอาไปขายก็ขายไม่ได้

หากโชเฟอร์รถแท็กซี่คือนักสังเกตการณ์บนท้องถนน ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว ก็เปรียบเป็นนักสังเกตการณ์ธุรกิจระดับย่อยรากหญ้า ผ่านยอดการสั่งซื้อ ผ่านจำนวนแฟรนไชส์ และในแต่ละช่วงจำนวนสาขาของชายสี่มีขึ้นลงตลอดเวลา

ในระหว่างที่มีคนอยากเข้า ก็มีคนอยากออก บางรายจากขายบะหมี่เปลี่ยนไปเป็นขายอาหารตามสั่งแล้วรุ่งกว่า แต่ก็มีไม่น้อยที่ขายมาหลายอย่าง แต่ก็จบสุดท้ายด้วยการขายบะหมี่ชายสี่ฯ

“ตัวเลขในแต่ละปี ขึ้นๆลงๆ บางคนถูกไล่ที่ เจออาชีพอื่นดีกว่า แต่จากการรับฟังรายงานสรุปเมื่อตอนจบไตรมาสที่ 2/2565 จำนวนสาขาที่ผมได้รับรายงานอยู่ที่ 4,400-4,500 สาขา ซึ่งก็ถือว่ายืนระยะอยู่ในระดับนี้มาเกือบ 10 ปีแล้ว และในช่วงปี 65 เมื่อดูจากยอดขายก็ถือว่าเรามีแนวโน้มที่จะกลับมายืนได้ในระดับเดียวกับปี 62 ก่อนเกิดโควิด-19 แต่ก็ยังพูดไม่ได้ว่าจะโตขึ้น”

แม้จะไม่ได้พูดคุยกับผู้เข้าร่วมธุรกิจทุกราย แต่ พันธ์รบ บอกว่า ทุกครั้งที่มีโอกาส เขามักกำชับผู้เข้ามาลงทุนให้ประกอบธุรกิจอย่างจริงจัง ซึ่งในที่นี่หมายถึงทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อให้เงินของลูกค้ามาอยู่ในกระเป๋าเราให้ได้

“ทำไมคนอื่นขายดี แต่เรากลับขายไม่ได้ทั้งที่เป็นสินค้าเดียวกัน ผมมักถามเขากลับไปว่าคุณรู้จักลูกค้าดีพอหรือยัง อย่างแรกคุณต้องทำให้คนเห็นคุณก่อนมากที่สุด เมื่อเห็นแล้วเดินเข้ามา ก็ต้องทำให้เขาพอใจมากที่สุด เอาเงินในกระเป๋าเขาออกมาให้ได้”

ข้อมูลและหลักการของชายสี่ฯ จึงคงไม่ต่างจากธุรกิจอาหารอื่น ซึ่งมักไปได้ดีในที่ชุมชน อยู่ใกล้ร้านสะดวกซื้อ แต่ถึงเช่นนั้นความหนาแน่นของประชากรก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะชี้ชัดว่า สาขาไหนจะรอดหรือร่วง

 “ถ้าคุณคิดว่าดีแล้วแต่ทำไมลูกค้ายังไม่มา นั่นก็เพราะว่ามันดีแค่ในความรู้สึกของคุณ ไลฟ์สไตล์คนมันต่างกัน คุณคิดว่าวิธีของคุณทำดีแล้ว พูดเพราะแล้ว มันอาจจะไม่ใช่ เพราะมันดีแค่สำหรับคุณเท่านั้น”

มองปากท้องผ่านชาม“ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ธุรกิจข้างถนนที่ยืนยง 3 ทศวรรษ

  •  มวยวัดบนเวทีสากล 

“ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ไม่ใช่ชื่อธุรกิจตัวเลือกแรกที่ถูกวางไว้ เพราะเมื่อย้อนไปตอนคิดชื่อ พันธ์รบ เล่าว่า มีชื่อในลิสต์จำนวน 3 ชื่อ คือ 1. ราชินีบะหมี่เกี๊ยว 2. ป๊ะป๋าบะหมี่เกี๊ยว และ 3. “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ซึ่งทั้งหมดมาจากวิธีคิดคือ การมีตัวอักษรไม่มากเพื่อง่ายต่อการทำป้ายขาด 2*2 เมตร ออกพูดแล้วไม่เกิน 2-3 พยางค์ ชื่อต้องมีสัมผัส เพื่อง่ายต่อการจดจำ

“ราชินี คือชื่อที่ผมชอบที่สุด ผมชอบฟังเพลง ชอบแต่งกลอน สมัยนั้นมันมีชื่อราชินีลูกทุ่ง แล้วเราก็ชอบ แต่ตอนกำลังคิดจะไปทำป้ายแถวสะพานใหม่ ก็มาเอะใจว่า 'ราชินี' ดูเป็นคำสูง เราจะเอามาใช้กับของกินจริงๆหรือ สุดท้ายจึงตัดสินใจกลายเป็นชื่อที่สามคือชายสี่ฯ แล้วก็บังเอิญผมมีพี่น้องผู้ชาย 4 คน จากพี่น้องทั้งหมด 5 คน”

แม้โปร์ไฟล์ไม่สวยหรู เพราะจบ ป.4 แต่เจ้าของอาณาจักรชายสี่ฯ เป็นนักสังเกต และดำเนินธุรกิจด้วยสัญชาติญาณ เขาบอกตัวเองเป็น "มวยวัด" ที่ลงสู้ในสนามใหญ่ และพันธ์รบ ตอบคำถามถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชายสี่ฯ เติบโตในวันนี้ว่า มาจากเหตุการณ์การขยายโรงงานให้ครอบคลุมทั่วประเทศในช่วงปี 2542

“ในวันนั้นเรามีโรงงานหลักแล้ว แต่เวลาเราส่งบะหมี่จากกรุงเทพฯไปหาดใหญ่ ไปเชียงราย ไปจังหวัดไกลๆ กว่าที่รถจะถึง กว่าที่เขาจะได้ขาย บะหมี่มันเสีย จึงเป็นที่มาในการตัดสินใจของขยายสำนักงาน ซึ่งก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย และต้องใช้เงินลงทุนสูง”

“แต่การมีโรงงานทั่วภูมิภาคนำมาซึ่งยอดขายและจำนวนแฟรนไชส์ที่เพิ่มขึ้นมาก แถมด้วยการมีจำนวนที่แยกกัน เปรียบเป็นป้อมปราการไม่ให้เกิดคู่แข่ง เพราะคนจะแข่งก็ต้องคิดหนัก นั่นเพราะชายสี่กระจายไปอยู่ทั่วประเทศแล้ว”

“ในช่วงนั้น มันเป็นการโตจากก้าวกระโดดเลยนะ สินค้าครอบคลุม ยอดขายก็โต แล้วถ้าคุณถามผมว่า รู้สึกอย่างไรกับที่เป็นอยู่ ให้ลองจินตนาการถึงเมื่อ 40 ปีก่อน สมัยก่อนแม่ซื้อจักรยานให้สักคนก็ดีใจแล้ว เหมือนได้รถเบนซ์ ผมเป็นคนบ้านนอก เดินบนดิน วันหนึ่งปีนต้นไม้ก็คิดว่าสูงแล้ว แต่จากนั้นมันสูงขึ้นเหมือนได้นั่งเครื่องบิน แล้วปัจจุบันเหมือนอยู่บนดวงนจันทร์ คือมันไกลมาก ไกลเกินเป้าชีวิต

มองปากท้องผ่านชาม“ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ธุรกิจข้างถนนที่ยืนยง 3 ทศวรรษ

  • รถเข็นตัวแปรสำคัญของ ชายสี่ฯ

3 ทศวรรษในวงการอาหาร พันธ์รบ มองว่า ชายสี่ฯยังไปได้ เพราะไม่ว่าจะตกงาน ไม่สบายใจ ชีวิตผู้คนยังต้องอุปโภคบริโภค

เมื่อเติบโตขึ้น ชายสี่ฯ ก็เคยมั่นใจ และครั้งหนึ่ง ชายสี่ฯ หวังจะขยับจับกลุ่มลูกค้าตลาดกลาง ด้วยการยกระดับแบรนด์ชายสี่ฯ จากรถเข็นเป็นร้านอาหารแบบ Stand alone ที่มีความพรีเมียม ด้วยคุณภาพอาหารและราคา แบบที่เคยเป็นข่าวเมื่อ 2-3 ปีก่อน

“ในวันนั้นเรามองกลุ่มเป้าหมายระดับกลางขึ้นไป แต่ผลปรากฎว่า มันไม่เป็นดั่งหวัง จึงเลิก ผมจึงเห็นด้วยกับคำที่ว่าอะไรไม่ใช่เวทีของเรามันก็แพ้”

มองปากท้องผ่านชาม“ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ธุรกิจข้างถนนที่ยืนยง 3 ทศวรรษ รูปแบบร้าน Stand alone ของชายสี่ฯ

หรืออย่างกรณี ของการเปิดร้านชายสี่ฯ ในศูนย์อาหารของปั้มน้ำมัน ปตท. ในฟู้ดคอร์ท ตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งคุณพันธ์รบเองก็ยอมรับว่า “ไม่เข้าเป้า

คุณเชื่อไหมว่า พอพูดถึงชายสี่ คนก็คิดถึงรถเข็น อัตลักษณ์เราคือรถเข็น เราเคยขายปั้มน้ำมันโดยที่ไม่มีรถเข็น ขายมาแล้ว 20 ที่ เจ๊งหมด แต่ถ้ามีรถเข็น มีป้าย แล้วตั้งอยู่ที่เดิม เฮ้ยมันกลับพอไปได้

หลังจากโควิด-19 ในช่วงปี 65 นี้ การขยายธุรกิจของชายสี่ฯ นับจากนี้จึงมี “รถเข็น” เป็นหลัก และมีชื่อแบรนด์ที่ล้อไปกับ “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ไม่ว่าจะเป็น ชายใหญ่ข้าวมันไก่ ชายเจ็ดเป็ดย่าง เพิ่มเติมจากการขยายแฟรนไชส์ชายสี่ฯเดิม ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ระยะยาว 10-20 ปี ในจำนวน 8,000 สาขา

มองปากท้องผ่านชาม“ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ธุรกิจข้างถนนที่ยืนยง 3 ทศวรรษ

สินค้าอื่นของชายสี่ฯ ในรูปแบบรถเข็น

“เรามาถึงจุดที่ต้องการขยาย แล้วบะหมี่ก็มีข้อจำกัด ก็ต้องหาสินค้าอื่นเพื่อเพิ่มยอด ซึ่งที่ผ่านมาก็ถือว่าน่าพอใจ แต่จะเร็วไปถ้าจะสรุปว่าประสบความสำเร็จหรือไม่”

ส่วนร้านแบบ Stand alone ก็จะเป็นแบรนด์ “มิสเตอร์ชายสี่” ที่ไม่มีภาพจำของรถเข็น ซึ่งเน้นไปยังต่างประเทศ โดยที่ขณะนี้ลงทุนกับกลุ่มธุรกิจในประเทศฟิลิปปินส์ ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน

"ผมยังชอบที่จะทำงานนะ แต่ก็คงไม่มากเหมือนในอดีต ก็อยากจะให้ลูกมารับช่วงต่อ หามืออาชีพมาบริหาร เพื่อให้องค์กรมันไปไกลมากขึ้น"

เพื่อให้เรื่องเล่าจากร้านบะหมี่ชายสี่ฯ ยังถูกพูดต่อไป แม้วันเวลาจะผ่านมากี่สถานการณ์

ภาพ : ชวรินทร์ เผงสวัสดิ์ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์