สุข-เศร้า-เหงา-ซิ่ง ปิดตำนาน "รถเมล์สาย 8" รถโดยสารในความทรงจำ "หยุดเดินรถ"

สุข-เศร้า-เหงา-ซิ่ง ปิดตำนาน "รถเมล์สาย 8" รถโดยสารในความทรงจำ "หยุดเดินรถ"

เล่าเรื่อง "รถเมล์สาย 8" ตำนานขนส่งมวลชนที่สะท้อนวิถีชีวิตคนกรุงฯ ก่อนเตรียมยุติการเดินรถ เนื่องจากไม่ผ่านคุณสมบัติ

รวดเร็ว ทันเวลา ปุ๊บปั๊บไม่ต้องรอ เจ้าพ่อย่านลาดพร้าว วิ่งยาวสะพานพุทธ หยุดได้ใน 5 วินาที เร็วรี่เหมือนกู้ภัย และอีก ฯลฯ คือนิยามของ “รถเมล์สาย 8” ที่ผู้โดยสารและชาวโซเชียลขนานนาม

 ความทรงจำของ รถเมล์สาย 8 นั้นมีทั้งดีร้าย และเมื่อ พ.ศ. 2556 กระทรวงคมนาคมได้จัดอันดับสถิติสายรถเมล์ที่ถูกร้องเรียนเข้ามาสูงสุดประเภทรถธรรมดา ซึ่งผลปรากฎว่า 1 ใน 3 อันดับแรกที่ผู้คนพูดถึงมากที่สุดคือรถเมล์ สาย 8 สะพานพุทธ-แฮปปี้แลนด์ โดยมีผู้ร้องเรียนเข้ามามากสุดถึง 11 เดือน เฉลี่ยปัญหาร้องเรียนเดือนละ 20 ครั้ง ซึ่งถือเป็นสายรถเมล์ที่ถูกผู้โดยสารร้องเรียนบ่อยสุด

ขณะที่ในวันนี้  (12 ก.ค.)  มีรายงานข่าวระบุว่า รถเมล์สาย 8 เตรียมต้องหยุดเดินรถในเร็วๆนี้ เนื่องจากไม่ผ่านคุณสมบัติ ในเส้นทางสัมปทานเดินรถ 77 เส้นทางของรถร่วมองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

อันเป็นการส่อแววว่า สายรถเมล์ที่หลายคนผูกพัน กำลังจะจากไป

  • หลายอารมณ์บนรถเมล์สาย 8

“รถเมล์” คือขนส่งมวลชนขั้นพื้นฐาน ที่คนทุกระดับเข้าถึง และไม่ว่าจะอารมณ์ไหนๆ หลากหลายชีวิตล้วนมีฉากนั่งรถเมล์เป็นส่วนประกอบ ยามมีความสุขเราก็จะนั่งยิ้มบนรถเมล์เพื่อเดินทางกลับบ้าน เช่นเดียวกับยามเศร้าโศกที่เสียงรถเมล์วิ่งฝ่าสายลมจะปลอบประโลมหัวใจ

ประสบการณ์บนรถเมล์ต่างคนก็ต่างรูปแบบ แต่ถ้าจะหาสายรถเมล์ที่หลายคนมีประสบคล้ายๆกัน หนึ่งในนั้นก็ต้องมีชื่อ  รถเมล์สาย 8 รถโดยสารประจำทาง แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ ที่ชาวโซเชียลขนานนามให้เป็น “รถเมล์ในตำนาน

รถเมล์สาย 8 ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่า 90 ปี ในความคุ้นเคยของผู้คนที่ขึ้นรถ ในอีกด้านมีปัญหาที่ถูกร้องเรียนตามมาอยู่เสมอ

เช่น ขับรถช่องขวาไม่หยุดรับ-ส่ง

ขับเร็วปาดซ้ายแซงขวา

เบรกแรง ขับประมาทหวาดเสียว

นอกจากนี้ยังเคยสร้างวีรกรรมอันลือเลื่องด้วยเกิดอุบัติเหตุจนปรากฎเป็นข่าว เช่น การทำสถิติก่ออุบัติเหตุ 2 ครั้งในรอบ 1 เดือน เมื่อมีนาคม 2557

สุข-เศร้า-เหงา-ซิ่ง ปิดตำนาน \"รถเมล์สาย 8\" รถโดยสารในความทรงจำ \"หยุดเดินรถ\"

ปัญหาของรถเมล์สาย 8 ที่ว่านี้ เคยถูก ขสมก.มีมาตรการควบคุมความประพฤติ และมีรายงานว่า ในช่วงที่ถูกคุมความประพฤตินั้น รถเมล์สาย 8 ได้รับผลสำรวจความพึงพอใจผู้ใช้บริการมากขึ้น ทั้งข้อร้องเรียนลดลง ขับช้า ไม่แซง และจอดทุกป้าย โดยเฉพาะ พนักงานเก็บค่าโดยสารกิริยาวาจาสุภาพมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีการมองว่า พฤติกรรมที่ดีนั้นเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ และพฤติกรรมแย่ๆก็กลับมาวนลูปใหม่

แม้ รถเมล์สาย 8 จะเป็นที่ลือเลื่องในด้านพฤติกรรมที่ไม่ค่อยดีนัก แต่สำนักข่าว Nikei Asian Review ก็เคยวิจารณ์รถสาย 8 ว่า "เป็นรถเมล์สายที่อยู่ติดกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างหยั่งลึก”

ซึ่งนั่นก็จริง เพราะระยะทางที่รถเมล์สาย 8 วิ่ง ล้วนผ่านสถานที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นหลายโรงเรียนในย่านลาดพร้าว ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล สถานที่เรียนพิเศษ ฯลฯ ซึ่งเปรียบเสมือนว่า รถเมล์สาย 8 วิ่งผ่านสถานที่ของผู้คนทุกเพศทุกวัย

สุข เศร้า เหงา” จึงเป็นอารมณ์ที่ถูกคละกันในรถเมล์สาย 8 และในปี 2559 พจน์ อานนท์ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังได้เคยสร้างภาพยนตร์เรื่อง ป๊าด 888 แรงทะลุนรก โดยได้นำประเด็นรถประจำทางมาล้อเลียน ซึ่งเมื่อใครๆเห็นก็ต้องนึกถึงรถเมล์สาย 8

รถเมล์สายนี้จึงมีเรื่องราวให้ผู้คนได้นึกถึง

สุข-เศร้า-เหงา-ซิ่ง ปิดตำนาน \"รถเมล์สาย 8\" รถโดยสารในความทรงจำ \"หยุดเดินรถ\"

 

  • ประวัติสาย 8  รถเมล์อายุกว่า 90 ปี

สำหรับรถเมล์สาย 8 นั้น ได้รับอนุมัติเดินรถตั้งแต่ 1 ต.ค.2475 โดยมีบริษัท นายเลิศ จำกัด เป็นผู้ประกอบการรายแรก ก่อนที่รัฐบาลจะเริ่มบริหารรถเมล์เอง เมื่อปี 2519

เส้นทางแรกของรถเมล์สาย 8 นั้น วิ่งระหว่างลานพระบรมรูปทรงม้าไปสะพานพุทธ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นตลาดหมอชิต–สะพานพุทธ เมื่อปี 2498 และเปลี่ยนมาเป็น ลาดพร้าว–สะพานพุทธ

ทุกวันนี้รถเมล์สาย 8 เป็นสัมปทานของบริษัทรถร่วมบริการรวม 3 ราย  ประกอบด้วย บริษัท ทรัพย์ 888 บริษัท ไทยบัสขนส่ง และบริษัท กลุ่ม 39

จากข้อมูลในช่วงก่อนโควิด-19 รถประจำทางสาย 8 คันแรกออกจากแฮปปี้แลนด์เวลา 03.00 น. คันสุดท้ายออกจากแฮปปี้แลนด์เวลา 22.00 น. คันแรกออกจากสะพานพุทธเวลา 04.00 น. คันสุดท้ายออกจากสะพานพุทธเวลา 23.00 น. วิ่งเป็นระยะทาง 23 กิโลเมตร

เส้นทางเดินรถ เที่ยวไป เริ่มที่ตลาดแฮปปี้แลนด์ วิ่งไปตามถนนลาดพร้าวจนถึงปากทางลาดพร้าว แยกซ้ายไปตามถนนพหลโยธิน ตรงไปถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกขวาไปตามถนนราชวิถี แยกซ้ายไปตามถนนพระราม 6 แยกโรงพยาบาลรามาธิบดี ขวาไปตามถนนศรีอยุธยา ไปสุดสายที่ใต้สะพานพุทธ (ฝั่งพระนคร)

ขณะที่เที่ยวกลับ เริ่มจากใต้สะพานพุทธฯ (ฝั่งพระนคร) แยกซ้ายไปตามถนนจักรเพชร แยกขวาไปตามถนนอัษฎางค์ แยกขวาไปตามถนนพระพิทักษ์ แยกซ้ายไปตามถนนตรีเพชร แยกขวาไปตามถนนเจริญกรุง แยกซ้ายไปตามถนนจักรวรรดิ์ ถนนวรจักร แยกขวาไปตามถนนหลานหลวง โรงพยาบาลรามาธิบดี แล้วไปตามเส้นทางเดิม จนสุดเส้นทางที่ตลาดแฮปปี้แลนด์

ระยะทางของรถเมล์สาย 8 จึงถือเป็นสายรถเมล์ที่ต้องวิ่งไกล ทั้งในแง่ของระยะทาง และระยะเวลากว่า 90 ปีที่รับใช้ประชาชนมา

เมื่อต้องจากไปจึงเป็นธรรมดา ที่ใครๆก็ต้องพูดถึง

อ้างอิง : วิกิพีเดีย, ขสมก.เผยปชช.พอใจ 'รถเมล์สาย 8' มากขึ้นเปิดโผรถเมล์สายห่วยสุดปี56