วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข คนรุ่นใหม่กับผ้าไทย ทำไมเด็กแว้นเปลี่ยนใจมาทอผ้า

วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข คนรุ่นใหม่กับผ้าไทย ทำไมเด็กแว้นเปลี่ยนใจมาทอผ้า

อัพเดทเทรนด์ “ผ้าไทย” กับ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ผ่าน THAI TEXTILES TREND BOOK Autumn/Winter 2022-2023 “การย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติ” เป็นเทรนด์โลก เรื่องราวบทใหม่เมื่อผ้าทอเปลี่ยนใจเด็กแว้น

นอกจากเป็นดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ Wisharawish วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ยังเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาในการจัดทำ THAI TEXTILES TREND BOOK ใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งทรงรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือเล่มนี้ด้วยพระองค์เอง

THAI TEXTILES TREND BOOK คือหนังสือที่รวบรวมและนำเสนอขข้อมูลเกี่ยวกับประเภทเนื้อผ้า การเลือกสี การออกแบบลวดลาย รวมไปถึงเทรนด์และแนวโน้มความเป็นไปในอนาคตของอุตสาหกรรมแฟชั่น เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำเอาข้อมูลไปประยุกต์ใช้กับงาน “ผ้าไทย” ได้อย่างมีทิศทาง

THAI TEXTILES TREND BOOK หรือ เทรนด์บุ๊คผ้าไทย ในเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เล่มล่าสุดขณะนี้ คือเล่มที่ 2 ที่มีชื่อว่า THAI TEXTILES TREND BOOK Autumn/Winter 2022-2023 เปิดตัวไปเมื่อเดือนมกราคม 2022

“หัวใจหลักของเทรนด์บุ๊คเล่มนี้ เน้นการใช้สีที่เกิดจากการย้อมด้วยวัสดุธรรมชาติ ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์โลก และเป็นครั้งแรกที่มีการนำเสนอ ผ้าไทยในฤดูกาลวินเทอร์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีรับสั่งให้คำนึงถึงลักษณะผ้าหรือเส้นใยที่คนไทยใช้ในช่วงฤดูหนาว รวมถึงทรงให้คำนึงถึงว่าผ้าต่างๆ นอกจากเป็นเครื่องนุ่งห่มได้แล้วยังสามารถเป็นผ้าตกแต่งบ้านได้ด้วย” วิชระวิชญ์ กล่าว
 

วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข คนรุ่นใหม่กับผ้าไทย ทำไมเด็กแว้นเปลี่ยนใจมาทอผ้า เทรนด์บุ๊คผ้าไทย เล่มที่ 2 (Autumn/Winter 2022-2023)

ในการจัดทำ “เทรนด์บุ๊คผ้าไทย” ทำให้คุณ อู๋-วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข มีโอกาสเดินทางไปสัมผัสชุมชนและแหล่งทอผ้าไทยท้องถิ่นทั่วประเทศ ได้พูดคุยและรับฟังเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับผ้าทอไทยจากคนทอผ้าตัวจริง และ “ผู้ประกอบการ” หรือคนนำผ้าทอไทยไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์

วันนี้ ผ้าไทย อยู่ตรงไหนของตลาดแฟชั่นในประเทศและตลาดสากล

THAI TEXTILES TREND BOOK เหมาะกับคนที่เกี่ยวข้องกับผ้าไทยในกลุ่มใดบ้าง
“ทุกมิติ ตั้งแต่นักเรียนนักศึกษา ได้องค์ความรู้ใหม่ๆ ได้รู้จักวัสดุในประเทศไทยที่มีความหลากหลาย ส่วนผู้ประกอบการเองก็เปิดตาได้เห็นว่าผ้าในแต่ละชุมชนแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร นักออกแบบเองคิดอะไรไม่ออก นั่งอ่านในเล่มนี้ มีสิ่งที่จี้จุดให้เกิดจินตนาการหรือแรงบันดาลใจค่อนข้างเยอะมาก

ทุกอย่างในเล่มพิถีพิถัน แต่ละตัวอักษรแต่ละภาพ กว่าจะออกมาเป็นวันนี้ได้ แก้ไขเพื่อให้ถูกต้องที่สุดหลายรอบมาก

พระองค์ท่านทรงวางทิศทางไว้หมด ไปจนถึงเล่มที่ 4 เรามีหน้าที่เป็นมือเป็นไม้ รวมทุกอย่างให้เกิดผล ลงพื้นที่ เชิญทุกภาคส่วน โดยให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่

ต้องบอกเลยว่า เบื้องหลังการทำงาน มีคณาจารย์จากหัวเมืองต่างๆ และผู้ประกอบการในท้องถิ่น ช่วยเก็บรวบรวมข้อมูล ช่วยอัพเดทผ้าทอไทย และเป็นคนลงไปช่วยพัฒนา

ตอนนี้เป็นเล่มที่สอง เวิร์คไหม..ก็ต้องบอกว่าเล่มแรก สปริงซัมเมอร์ 2022 เราเองในฐานะคณะทีมงานอาจพูดได้ไม่เต็มปาก ต้องไปถามผู้ประกอบการ เขาได้ผลจริงๆ เขาขายได้มากขึ้น ต่อให้เป็นช่วงโควิด

พระองค์ท่านทรงทำการบ้านหนักมาก เราทุกคนในคณะทำงานร่วมระดมความคิด รับฟัง ศึกษาจากตลาดสากล ดูความเป็นไป ความเป็นไปได้ของตลาดท้องถิ่น หรือสิ่งที่มีในประเทศ ว่าเป็นไปได้ไหม บางทีไอเดียสากลอย่างหนึ่ง วัสดุเราอาจไปไม่ถึง หรือไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดสากล ต้องบาลานซ์กันระหว่างตลาดโลกกับความพร้อมของ local made หรือผู้ประกอบการท้องถิ่นของเรา”

วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข คนรุ่นใหม่กับผ้าไทย ทำไมเด็กแว้นเปลี่ยนใจมาทอผ้า คุณ อู๋-วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข 

“ตลาดโลก” กับ “การผลิตท้องถิ่น” จะบาลานซ์กันอย่างไร
“ยกตัวอย่างออทัมวินเทอร์ เราก็เน้นไปที่เรื่องของสิ่งที่มีอยู่ เช่น วัสดุ ขนแกะ ยังพอมีอยู่บ้างนิดๆ หน่อยๆ เป็นการทอผสม จะให้เราเป็นแบบหนาวจริงๆ ขนสัตว์เลย มันก็อาจจะไม่ได้เหมาะกับการผลิตในท้องถิ่น

คือเทรนด์โลกมีเรื่องของขนสัตว์ หรือเส้นใยที่ให้ความอบอุ่น เหมาะกับอากาศหนาวๆ ของเราก็ป้องกันความหนาวได้ แต่ไม่ได้ระดับนั้น ก็ต้องมาดูว่าหน้าหนาวเมืองไทย เขาก็จะใช้ ฝ้ายเข็น หรือ ไหมเปลือก ที่มีเท็กซ์เจอร์ สร้างให้เกิดความอบอุ่น เช่นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน

ฝ้ายเข็น คือกระบวนการเตรียมเส้นใย ทำด้วยมือก่อนนำเส้นใยไปทอผ้า คือเข็นเส้นใยด้วยมือ เส้นใยจึงไม่สม่ำเสมอ มันก็จะเกิดตะปุ่มตะป่ำ ความไม่เท่ากัน เวลานำมาทอ จะเกิดคลื่น เกิดผิวสัมผัสที่ให้ความอบอุ่นและให้ความรู้สึกนุ่ม ไม่ได้แบนเหมือนฝ้ายเรียบๆ

ขนแกะบ้านเราก็มีทางเหนือมากๆ กลุ่มชาติพันธุ์มีการเอาขนแกะมาทอผสมปั่นกับฝ้าย ผ้าที่ทอได้ ให้ความรู้สึกถึงฤดูหนาว 

ตอนนี้เรามี ผ้าไทยทวีด (tweed) คือผสมเส้นใยหลายๆ อย่าง ทั้งฝ้าย ไหม ขนแกะ ทอแล้วเกิดเท็กซ์เจอร์ ให้ความรู้สึกฤดูหนาว แต่ยังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาปรับปรุง เพิ่งเริ่มทำขึ้นมา เป็นผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวิทยานิพนธ์ ร่วมมือกับชาวบ้าน เพราะที่มาของวัสดุรวม 33 เส้นใย ทั้งฝ้าย ไหม ฝ้ายรีไซเคิลจากเสื้อผ้าเก่าที่ไม่ใช้แล้ว มาตีเป็นเส้นใยแล้วทอผสมผสานกัน ผ้าทวีดความสวยอยู่ที่การผสมวัสดุที่แตกต่างกัน”

วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข คนรุ่นใหม่กับผ้าไทย ทำไมเด็กแว้นเปลี่ยนใจมาทอผ้า วัตถุดิบธรรมชาติของไทย สำหรับใช้ในการย้อมสีเส้นไหม

เทรนด์บุ๊คผ้าไทยเล่มล่าสุดพูดถึง “การย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติ” เป็นเทรนด์โลก
“ตั้งแต่มีโควิด 2 ปีที่ผ่านมา เราพยายามใช้อะไรที่ใกล้ตัว หรือของท้องถิ่น (local) ให้มากที่สุด ต้องย้อนกลับไปมองว่าตอนแรกๆ กระบวนการส่งของ (logistic) มันยากมาก เช่น คนทำบาติกภาคใต้ ปกตินำเข้าผ้าจากมาเลเซีย เพราะใกล้ การไปซื้อผ้าจากมาเลเซีย ง่ายกว่าการเข้ากรุงเทพฯ

แต่สองปีที่ผ่านมา อู๋ในฐานะคนทำงานด้านผ้าคนหนึ่ง ต้องบอกว่า ใช้ของที่มีอยู่ในประเทศไทยก็ได้ ซึ่งหมายความว่าโรงงานที่ปกติเขาส่งออก..เขาส่งออกไม่ได้ เราเองในฐานะคนทำงานด้านสิ่งทอก็เจรจา ถึงเวลาที่เขาต้องยอมขายปลีก

ปกติเขาจะไม่ยอมขายถ้าต่ำกว่า 1,000 หลา ไม่ยอมเปิดบิลล์ แต่วันนี้ 10 หลา 20 หลา เขาก็ยอมตัด เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนรายได้

ผู้ประกอบการต่างจังหวัด การเดินทางไม่ได้ง่ายเหมือนแต่ก่อน การจะซื้อวัตถุดิบต่างๆ ก็ไม่ง่าย เราเลยบอกว่า ซื้อเท่าที่จำเป็น ใช้ของที่มีอยู่ในบ้านหรือใกล้ตัว อย่าขี้เกียจ เพราะจริงๆ เวลาทำสีธรรมชาติ กระบวนการเตรียม มันใช้แรงมากกว่า ต้องเก็บวัตถุดิบตามฤดูกาล ต้องนำออกตากแดด

แต่พอเทรนด์บุ๊คผ้าไทยเล่มแรกได้ผล สินค้าที่เมื่อก่อนไม่มีมูลค่า เช่น เม็ดมะเกลือ วัตถุดิบที่คนไม่ได้เก็บ วันนี้เขาต้องไปเก็บมาแช่ช่องฟรีซ เพราะมันกำลังเป็นกระแสนิยม

วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข คนรุ่นใหม่กับผ้าไทย ทำไมเด็กแว้นเปลี่ยนใจมาทอผ้า อีกหนึ่งวัตถุดิบตามธรรมชาติของไทยที่ให้สีในการย้อมผ้าได้

ไม่ใช่เฉพาะในไทย แต่ต่างชาติด้วย อาจยังเห็นไม่ชัด แต่บอกได้เลยว่าเป็นเทรนด์โลก เรื่อง BCG (Bio-Circular-Green Economy โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน) มีมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่พอมาด้วยสถานการณ์อย่างนี้ ทุกที่ต่อให้แบรนด์ใหญ่ๆ เอง ก็หันมาใส่ใจเรื่อง การใช้วัสดุรีไซเคิล การใช้ของที่มีอยู่ใกล้ตัวให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ทุกคนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ใช้สีธรรมชาติมากขึ้น วัสดุรีไซเคิล อัพไซคลิ่ง

แต่วันนี้ รีไซเคิลไม่ใช่แค่เอาของเก่ามาตัดแปะ มันย้อนกลับไปถึงกระบวนการทำ ใช้น้ำให้น้อยลง คอตตอนไม่ได้ปลูกใหม่ แต่เอาเสื้อเก่ามาผ่านกระบวนการนวัตกรรมฆ่าเชื้อ ตีออกมาเป็นเส้นใย แล้วถึงจะทอ

สิ่งสำคัญที่สุดที่พระองค์ทรงย้ำคือ การใช้สีธรรมชาติต่างๆ เอามาใช้แล้วต้องคืนให้เขาด้วย ต้องปลูกของใหม่ทดแทน ไม่ใช่ว่าตัดเปลือกไม้มาแล้วไม่ปลูกของใหม่ ไม่งั้นต่อไปมันจะไม่มี หรือสิ่งที่มีตอนนี้อาจจะไม่พอ ต้องคืนกลับให้ธรรมชาติด้วย ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

พระองค์ทรงคำนึงถึงเยาวชนและอยากให้เด็กๆ ให้ความสำคัญและได้รู้จักภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือองค์ความรู้แบบนี้ถ้าไม่ได้รับการนำมาเผยแพร่ต่อ มันก็จะหายไป คนรุ่นก่อนๆ ถ่ายทอดไว้ แต่อาจอยู่แค่ในหนังสือ ตำรา หรือภูมิปัญญาชาวบ้านก็อยู่ในชุมชน ไม่ได้ถูกดึงมาส่วนกลางแล้วเล่าต่อ ทรงอยากให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้อยู่ต่อไปถึงรุ่นต่อไป

หรืออย่างน้อย น้องๆ มาเปิดอ่านเทรนด์บุ๊ค ได้เห็น เนื้อคราม เป็นก้อนย่างนี้หรือ หรือ เข คืออะไร คือเปลือกไม้ให้สีเหลือง เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ เป็นจุดตั้งต้นหรือจุดประกายให้น้องๆ อยากไปหาความรู้ด้านนี้มากขึ้น”

วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข คนรุ่นใหม่กับผ้าไทย ทำไมเด็กแว้นเปลี่ยนใจมาทอผ้า "ไม่ได้ให้รื้อหรือทำสิ่งใหม่ ทำสิ่งที่ตนเองถนัด แค่ปรับเปลี่ยนเล็กน้อย" : วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข

เกี่ยวกับ “ผ้าไทย” มีการกล่าวถึง “ทุนวัฒนธรรม” ต้องมีรากฐานเป็นที่ตั้ง เพื่อปรับให้เกิดของใหม่
“ใช่ครับ จะบอกว่าของเก่าที่เคยทำ ก็ยังต้องทำอยู่ ไม่งั้นงานอนุรักษ์จะหายไป ซึ่งมันเป็นรากฐาน, conservative art มากๆ ก็ต้องทำอยู่ นึกถึงผ้ายกหรือผ้าทอที่มีความวิจิตร อาจเหมาะกับโอกาสบางโอกาส แต่ตอนนี้เราทอนให้เบาลง ตอบสนองเทรนด์ เหมือนเปิดประตูใหม่ให้ผ้าไทยสามารถเข้าถึงและไปต่อได้

เพราะถ้าทำอย่างเดิมที่เคยทำ ตลาดก็ไม่ตื่นเต้นแล้ว ตลาดอยากเห็นอะไรใหม่ๆ อยากเห็นอะไรที่ดูแล้วหายใจสบาย ดูแล้วคนรุ่นใหม่อยากใช้

สิ่งที่เราสนับสนุนให้ทำคือ ใช้ของที่ตนเองถนัด แต่มีการปรับเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้ให้รื้อหรือไปทำสิ่งใหม่ แต่ให้เอาสิ่งที่ตนเองถนัด เอาเทรนด์บุ๊คมาประยุกต์กับสิ่งที่เขาเคยทำอยู่ คิดว่าตรงนี้เป็นใบเบิกทาง หรือเปิดประตูให้คนทำอุตสาหกรรมสิ่งทอสามารถก้าวต่อไปได้ไม่มากก็น้อย

คือไม่ได้บังคับให้ทำตามเทรนด์บุ๊ค แต่อย่างน้อยมีตรงนี้เป็นทิศทาง ไม่ต้องเอาไปใช้หมด ดึงไปบางส่วนที่เหมาะกับสิ่งที่เขาถนัด ก็น่าจะช่วยให้ไปได้อย่างแข็งแรงมากขึ้น หรือผลิตงานใหม่ๆ ขึ้นมา ขายได้ง่ายขึ้น 

เพราะท้ายที่สุด กลุ่มสีเหล่านี้ก็คือเทรนด์ หรือการคาดการณ์ ถูกวางแผนล่วงหน้า เพราะกระบวนการทำผ้าใช้เวลา ก่อนหน้านี้ ไม่มีใครคิดว่า สีเขียวมิ้นต์ จะได้รับความนิยม แต่เป็นสีที่อยู่ในเทรนด์บุ๊คเล่มแรก สีแบบนั้นออกมาหมดเลยทั้งตลาดในและต่างประเทศ ไม่ใช่แค่ผ้าอย่างเดียว แต่เป็นโพรดักต์หรือสิ่งที่ออกมาแล้วเราเห็นติดตาโดยไม่รู้ตัว คนที่ทำสีเหล่านี้ก็จะขายโพรดักต์ได้ง่ายขึ้น”

วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข คนรุ่นใหม่กับผ้าไทย ทำไมเด็กแว้นเปลี่ยนใจมาทอผ้า "ยังมีเจนเนอเรชั่นใหม่ๆ อยู่ทุกจังหวัดจากการลงพื้นที่แล้วไปเจอ"

จากการลงพื้นที่คุณอู๋เห็นปรากฎการณ์ใหม่ๆ จาก “ผ้าไทย” อย่างไรบ้างหรือไม่
“อู๋เองบางทีก็เป็นอาจารย์ด้วย ก็พยายามให้น้องๆ นักออกแบบ หรือนักศึกษาได้ลองใช้วัตถุดิบท้องถิ่น ไม่ได้บังคับต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ เอาไปใช้สักนิดสักหน่อยเถอะ อย่างน้อยรายได้หรือวงจรจะได้กลับไปสู่ชุมชน ต้นน้ำ ผู้ผลิต จะได้อยู่ต่อ ทุกอย่างเป็นตามธรรมชาติ ของที่อยู่ได้..จะเติบโต

ยังมีเจนเนอเรชั่นใหม่ๆ อยู่ทุกจังหวัดจากการลงพื้นที่แล้วไปเจอ แต่ของเก่าบางอย่างก็หายไป แต่ยังมีคนรุ่นใหม่ที่ทำ เช่น สุรินทร์ ศรีสะเกษ น้องจบมัธยม 6 โฟกัสที่ผ้าทอ ไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัย ทอผ้าขาย จุดเริ่มต้นคืออยากได้มอเตอร์ไซค์ แต่ไม่มีเงิน จะทำยังไง อยู่ในหมู่บ้าน รวมกันทอผ้า แล้วด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ เขาก็เข้าถึงเทคโนโลยี มีการหาข้อมูล การสื่อสารตอบลูกค้า จนตอนนี้ทำไม่ทัน เขาทำเองทุกอย่าง ไม่มีตัวช่วย ไม่มีทุน ทางเดียวที่จะได้เงินคือทอผ้า

จริงๆ น้องเป็นคล้ายๆ แก๊งเด็กแว้น หาเงินซื้อมอเตอร์ไซค์ จะเอาเงินจากไหน แต่ที่บ้านมีเส้นไหม มีกี่ทอผ้า ก็คือหันมาทอผ้า แล้วเป็นกลุ่ม ดีใจมากๆ ที่มีแบบนี้เกิดขึ้น และไม่ใช่ที่เดียว ค่อยๆ กระจายออกไป"
 
น้องซื้อมอเตอร์ไซค์ได้แล้วไม่ได้เลิกทอผ้านะครับ
"ไม่เลิกครับ เขาได้เงินหลายแสน เขาจะเข้ามาในเมืองทำไม ผ้าทอน้องตอนนี้ต้องรอคิว เพราะความยูนีคของผ้าทอ

อู๋อยากให้คนทั่วไป ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการและนักออกแบบ ใช้วัสดุที่เป็น local made มากขึ้น ไม่มากก็น้อย ไม่จำเป็นต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ใช้เป็นเครื่องประดับนิดหน่อยก็ได้ จะช่วยให้เศรษฐกิจในชุมชนหมุนเวียนต่อไปได้ เขาก็อยู่ได้ เราก็ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ของพื้นถิ่นต่อลมหายใจต่อไป"

*  *  *  *  *  *

ภาพ : ศุกร์ภมร เฮงประภากร