คำเตือนถึง "เพื่อนรัก" รู้ให้ทัน "ฉลากอาหาร" ที่อาจกลายเป็น "ฉลากลวง"

คำเตือนถึง "เพื่อนรัก" รู้ให้ทัน "ฉลากอาหาร" ที่อาจกลายเป็น "ฉลากลวง"

จากดราม่า “เพื่อนรัก” สู่คำเตือนเรื่องความปลอดภัย เมื่อประเด็นฉลากอาหารไม่ได้มีแค่เรื่องวันผลิตและหมดอายุ ชวนทบทวนความทรงจำว่าด้วยการอ่าน "ฉลากอาหาร" ก่อนเป็น “ฉลากลวง” ที่ปรากฎบนซอง

กล่องสุ่มพิมรี่พาย” ที่ทำให้บรรดาเพื่อนรักต้องผิดหวัง อาจเป็นกระแสดราม่าในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ประเด็นเรื่องสินค้ากับวันหมดอายุที่เชื่อมโยงถึงเรื่องเดียวกันนี้ คือหัวข้อที่เราไม่ควรมองข้าม

อาหาร เครื่องดื่ม นม ผลไม้ และอีก ฯลฯ ที่ถูกจำหน่าย ล้วนมีสัญลักษณ์และตัวเลขข้างซองที่เป็นข้อมูลสำคัญ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2557  เรื่องการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุซึ่งผู้ซื้อในฐานะเป็นผู้บริโภคจำเป็นต้องรู้และเข้าใจ ทั้งนี้สำนักงานมาตรฐานคณะกรรมการอาหารและยา  ( อย. ) ได้กำหนดไว้ว่าอาหารที่จำหน่ายต้องมีข้อความภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ซึ่งแสดงรายละเอียด โดยมีสาระสำคัญได้แก่ 

  • ชื่ออาหาร
  • สารบบอาหาร โดยมีเครื่องหมายแสดงทะเบียนหรือเลขอนุญาตใช้ฉลากอาหาร สัญลักษณ์ของ อย.ตามด้วยเลขทะเบียนและปีที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน
  • ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ
  • ปริมาณสุทธิของอาหารเป็นระบบเมตริก
  • ส่วนประกอบที่สำคัญ หรือฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (Guideline Daily Amounts)
  • ข้อความว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” ถ้ามีการใช้
  • ข้อความว่า “เจือสีธรรมชาติ” หรือ “เจือสีสังเคราะห์” แล้วแต่กรณีที่มีการใช้
  • การแสดงวัน เดือนและปี หรือเดือนและปี ให้แสดงเป็นวัน เดือนและปี หรือเดือนและปี

และอื่นๆ ตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ

คำเตือนถึง \"เพื่อนรัก\" รู้ให้ทัน \"ฉลากอาหาร\" ที่อาจกลายเป็น \"ฉลากลวง\"

ข้อมูลโภชนาการที่ระบุบนกล่องหรือซองอาหาร

 

  • “กลลวง” บน “ฉลากอาหาร”

อย่างไรก็ดี ถึงจะมีข้อกฎหมายกำหนดว่าด้วยฉลากอาหารที่ชัดเจน แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีความไม่ตรงไปตรงมาของผู้ผลิต ที่ขอนิยามว่าเป็น”กลลวง”  บน “ฉลากอาหาร” ทั้งนี้เพราะส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้บริโภค ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการอ่านส่วนประกอบของอาหาร รังเกียจความยุ่งยาก จนกลายเป็นมองข้ามสาระสำคัญบนซองที่ว่านี้ไป

สำนักงานอาหารและยา (อย.) เคยระบุเรื่องร้องเรียนว่าด้วยผลิตภัณฑ์อาหารและยาว่า การแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน เช่น ไม่ระบุ วันเดือนปีที่ผลิต หมดอายุ ไม่ระบุเลขสารบบอาหาร และใช้เลขสารบบอาหารปลอม คือ 1 ใน 5 เรื่องที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด

ขณะที่เรื่องอื่นๆ ที่ถูกร้องเรียนมากเช่นกันได้แก่ การขายยาโดยไม่ได้ขออนุญาต และจำหน่ายโดยไม่มี เภสัชกร

การโฆษณาอาหารเกินจริง หรือการโฆษณาอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต

การร้องเรียนร้านค้า ห้างสรรพสินค้าที่มีการจำหน่ายสินค้าหมดอายุ เสียก่อนหมดอายุ และมีการจำหน่ายสินค้าที่ใช้เลขสารบบอาหารปลอม การแสดงฉลากเครื่องสำอางไม่มีเลขจดแจ้ง หรือใช้เลขจดแจ้งปลอม

คำเตือนถึง \"เพื่อนรัก\" รู้ให้ทัน \"ฉลากอาหาร\" ที่อาจกลายเป็น \"ฉลากลวง\"

ทั้งนี้กล่าวเฉพาะด้วยเรื่องฉลากอาหาร แม้ผู้บริโภคบางรายจะดูเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่การระบุข้อมูลที่ไม่ชัดเจนอาจจะก่อให้เกิดปัญหากับผู้บริโภคบางกลุ่มได้ ซึ่งที่ผ่านมายังมีรายงานว่า มีผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ระบุข้อมูลในส่วนประกอบสำคัญบนบรรจุภัณฑ์ หรือระบุข้อมูลอันเป็นเท็จ จนกลายเป็น “ฉลากลวง” บน “ฉลากอาหาร” อาทิ

  • การแสดงรายชื่ออาหารกับประเภทเนื้อสัตว์ที่ผสมไม่ตรงกัน เช่น ชื่ออาหารแจ้งว่าเป็นหมู กุ้ง ปู หรือ ปลาหมึก แต่กลับมีส่วนประกอบของเนื้ออื่นในปริมาณที่ใกล้เคียงกับเนื้อที่ใช้เป็นส่วนประกอบหลัก
  • ชื่อส่วนประกอบอาหารภาษาไทยและอังกฤษไม่ตรงกัน
  • ส่วนประกอบอาหารคลุมเครือ ไม่แสดงรายละเอียดชัดเจน ทำให้เข้าใจผิด
  • การกล่าวอ้างทางโชนาการ ซึ่งเป็นการแสดงสรรพคุณหรือคุณประโยชน์เกี่ยวกับบทบาทของสารอาหารที่มีผลต่อสรีรวิทยาด้านการเจริญเติบโต แต่ข้อเท็จจริงกลับไม่มีหรือมีน้อยมาก

ตัวอย่างเช่น แคลเซียมมีส่วนช่วยในกระบวนการสร้างกระดูกและฟันที่แข็งแรง ผลิตภัณฑ์อาหาร ก. เป็นแหล่งของแคลเซียม เป็นต้น

ทั้งหมดจึงเป็น คำเตือนถึง “กลลวง” บนฉลากอาหาร ซึ่งผู้ซื้อต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจ

ส่วนจะพิจารณาจากอะไร? เบื้องต้นผู้ซื้อสามารถพิจารณาได้ จาก 3 ประเด็นหลักๆ ได้แก่

 ประเด็นความปลอดภัย ซึ่งพิจารณาจาก วันที่ผลิต วันหมดอายุ  การเก็บรักษา การปรุง

ประเด็นความคุ้มค่า ซึ่งดูจาก ชื่อสินค้า ประเภทอาหาร ปริมาตรที่ได้รับ

ประเด็นข้อมูลโฆษณาและความเชื่อมั่น ซึ่งได้แก่ รูปอาหาร  ยี่ห้อ ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายที่ได้มาตรฐาน มีตัวตนจริง คุณลักษณะอาหารที่สอดคล้องกับคำกล่าวอ้างโฆษณา

อ้างอิง : เรื่อง(ไม่)ลับ 'ฉลากลวง'

การแสดงฉลากอาหารและฉลากโภชนาการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ฉลากอาหารบอกอะไรได้มากกว่าที่คิด