จากกล้องป๊อกแป๊กสู่ภาพถ่ายระดับโลก “ชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล”

จากกล้องป๊อกแป๊กสู่ภาพถ่ายระดับโลก “ชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล”

นิทรรศการ “ย้อนเวลาผ่านเลนส์” กำลังบอกเล่าเรื่องราวผ่านประสบการณ์บนถนนสายช่างภาพตลอด 70 ปีของ “ชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล” ผู้บริหารรุ่นใหญ่ที่มีอีกบทบาทหนึ่งคือช่างภาพมือรางวัลระดับโลก

“ตอนอายุ 10 ชวบ พี่ชายให้กล้องถ่ายรูป Kodak Brownie มา เป็นกล้องไม่ต้องโฟกัส ไม่ต้องวัดแสง ถ่ายไปถ่ายมาเราคิดว่าเป็นกล้องปัญญาอ่อน (หัวเราะ) จากจุดนั้น เรารู้สึกว่าถ่ายภาพมันบันทึกเหตุการณ์ได้ บันทึกรูปของเพื่อนๆ นักเรียนได้ ถ่ายได้สักพักหนึ่งเราก็คิดว่ากล้องมันต้องมีดีกว่านี้” ชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท คอสโม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่มีอีกบทบาทหนึ่งคือช่างภาพมือรางวัลระดับโลก เล่าให้ฟังถึงกล้องอันแรกซึ่งจุดประกายให้เขารักและสนใจการถ่ายภาพ จนอยากพัฒนาไปอีกขั้น จึงได้ไปขอฝากตัวเป็นศิษย์ของอาจารย์ตั๊กเม้ง ช่างภาพระดับตำนานที่ช่างภาพยุคเก่าหรือกลางเก่ากลางใหม่จะต้องรู้จัก เพราะเป็นช่างภาพที่ถ่ายพระบรมฉายาลักษณ์ให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 และบรรดาเชื้อพระวงศ์ รวมถึงชาวต่างชาติที่มีชื่อเสียง เช่น จิม ทอมป์สัน เป็นต้น

“ที่ผมอยากเรียนกับอาจารย์ตั๊กเม้ง เพราะครอบครัวผมรู้จักและผมก็รู้จักกับท่าน ท่านกับพ่อผมเป็นเพื่อนกัน อีก 2-3 ปี ทางบ้านผมก็จะส่งไปเรียนหนังสือที่อังกฤษ ดังนั้นผมก็อยากได้กล้องที่ดีๆ ตอนแรกอาจารย์ตั๊กเม้งมองว่ากล้องดีมันถ่ายยาก ต้องตั้งระยะ ต้องวัดแสง ต้องรู้จักปุ่มต่างๆ ของกล้อง มันมากมายเหลือเกิน

จากกล้องป๊อกแป๊กสู่ภาพถ่ายระดับโลก “ชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล”

ผมบอกว่าผมมาหาอาจารย์ ผมต้องการกล้องที่อาจารย์ใช้ถ่าย อาจารย์ก็บอกว่ามันแพง แล้วก็ต้องมีเลนส์หลายเลนส์สลับสับเปลี่ยน ไว้ไปอังกฤษแล้วไปศึกษาว่ากล้องอะไรที่เหมาะสม ผมก็บอกว่าถ้าผมไป ทางบ้านจะไม่มีทางที่จะให้เงินไปซื้อกล้องอย่างอาจารย์ ดังนั้นพี่ชายผมที่ขายนาฬิกาอยู่แล้ว และเขาจะต้องไปสวิตเซอร์แลนด์ทุกปี ผมก็เลยขอให้พี่ชายซื้อให้ผม”

อาจารย์ตั๊กเม้งจึงให้ชัยโรจน์ไปช่วยงานที่สตูดิโอแถวสี่พระยา พร้อมๆ กับได้เรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพ และที่นั่นเองเขาได้เห็นกล้อง Leica รุ่น 3G ของอาจารย์ซึ่งในยุคนั้นถือว่าเป็นกล้องที่ทันสมัยที่สุด อีกทั้งยังมีเลนส์มากมาย ตื่นตาตื่นใจมากสำหรับเด็กหนุ่มผู้หลงใหลการถ่ายภาพ

จากกล้องป๊อกแป๊กสู่ภาพถ่ายระดับโลก “ชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล”

เมื่อจะเอาจริงเอาจัง อาจารย์ตั๊กเม้งบอกว่าถ้าจะซื้อให้ซื้อกล้องรุ่นนี้และเลนส์ Standard 50 mm. ชัยโรจน์จึงรีบกลับบ้านไปอ้อนวอนพี่ชายที่พอมีเงินจากการค้าขายนาฬิกา เพราะอีกไม่นานพี่ชายก็ต้องเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์ และชัยโรจน์ต้องไปเรียนต่อที่อังกฤษในอีก 3 ปี

“พี่ชายบอกว่า ให้ง่ายๆ ไม่ได้ ต้องมีเงื่อนไขกัน ข้อแลกเปลี่ยนคือ สอบทุกเทอม โดยเฉพาะสอบไล่ประจำปี ต้องได้ที่ 1-5 ถ้าเกินกว่านั้นครั้งเดียวก็ไม่ได้แล้ว ผมก็ยินดีเลย เพราะผมตามธรรมดาก็เรียนสอบได้ที่ 1-5 อยู่แล้ว ถ้าปีไหนผมขยันผมยังช่วยทำการบ้านให้เพื่อนที่อัสสัมชัญบางรัก ผมก็ได้เงินด้วย ก็ถือว่าไม่ยากสำหรับผม ก็รับเงื่อนไขของพี่ชาย แล้วพี่ชายก็ไปสวิตเซอร์แลนด์ปีนั้น เขาก็ซื้อกล้องกลับมา แต่พี่ชายก็ยังไม่ให้ผม เขาเก็บไว้ในกล่องก่อน

ผมก็อ้อนวอน ถ้าเกิดผมสอบไม่ได้ที่ 1-5 ผมก็จะคืนให้พี่ชาย จนผมก็ได้กล้องนั้นมา แล้วไปหาอาจารย์ตั๊กเม้งว่าผมได้กล้องแล้ว ต้องขอบคุณอาจารย์มาก แต่อาจารย์ต้องช่วยสอนผม เพราะปุ่มมันเยอะเหลือเกิน อาจารย์เอาฟิล์มที่จะหมดอายุมาให้ผม ถ้าวันเสาร์อาทิตย์ผมว่าง ผมจะหิ้วทุกสิ่งทุกอย่างให้อาจารย์ แล้วผมจะตามอาจารย์ อาจารย์ต้องสอนให้ผมถ่ายด้วย”

จากกล้องป๊อกแป๊กสู่ภาพถ่ายระดับโลก “ชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล”

หลังจากนั้นเขาได้เรียนรู้เทคนิคต่างๆ ทั้งการใช้กล้องและเลนส์ เทคนิคการถ่ายภาพแบบต่างๆ มุมมอง องค์ประกอบทางศิลปะ

“ทุกอย่างที่อาจารย์สอน ผมจดไว้เป็นข้อๆ ว่าสำหรับแสงต้องทำอย่างนี้ สำหรับภาพที่ถ่ายให้เพื่อนฝูงไม่ต้องพิถีพิถัน เพราะถ่ายให้เพื่อนก็คือ ให้แสงที่นิ่มๆ แล้วมันจะสวย แต่อย่าไปถ่ายที่กลางแดด มันจะมีเงาที่แข็งมาก ดังนั้นผมก็จดแล้วทำตาม

ที่แรกที่ผมถ่าย คือสนามหลวง ในเวลานั้นบ้านผมอยู่สุริวงศ์ ก็นั่งรถรางไปถึงสนามหลวง สนามหลวงสมัยนั้นก็มีเช่าจักรยานฝึกขี่จักรยาน ถ้าหน้าเขาเล่นว่าวกัน มีว่าวจุฬาปักเป้า คนธรรมดาซื้อหาว่าวได้หลายเจ้า เช่าจักรยานราคา 2 บาทต่อหนึ่งชั่วโมง

ที่สนามหลวงมี Subject ที่ถ่ายภาพเยอะ ไม่ว่าเด็ก พ่อแม่พาลูกไปซื้อว่าว หรือคนเช่าจักรยาน จักรยานของแต่ละเจ้าก็มีสีและเบอร์ ดังนั้นที่ตรงนั้นมีมากพอที่จะทำให้เราฝึกถ่ายภาพได้ ก็ถ่ายเสร็จแล้ว เอาฟิล์มไปให้อาจารย์ตั๊กเม้งล้าง แล้วตัดเป็นรูปเล็กๆ ตอนนั้นเป็นภาพขาว-ดำ ภาพสียังไม่มี อาจารย์มาดูว่ารูปนี้อันเดอร์ รูปนี้โอเวอร์ รูปนี้กำลังดี แล้วเราต้องดูมุมด้วย มุมที่ดีที่สุดที่สอนก็คือ มุมที่ดูภาพยนตร์ เช่น คนสองคนคุยกัน กล้องจะถ่ายข้างหลังให้ Subject ที่คุยกันชัดเจน มันจะบอกสตอรี่ว่าคนนั้นหันหลังคุยกับอีกคน ดังนั้นมันเป็นภาพที่ไม่ต้องอธิบาย ก็เป็นความรู้เบื้องต้น”

จากกล้องป๊อกแป๊กสู่ภาพถ่ายระดับโลก “ชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล”

จนกระทั่งอายุย่างเข้า 17 ปี เขาต้องไปเรียนต่อที่อังกฤษ ถึงจะได้กล้องมาแล้ว แต่ก็ไม่เคยลืมสัญญาที่ให้ไว้กับพี่ชาย เขาตั้งใจเรียนจนไม่เคยสอบได้ลำดับต่ำกว่าที่ 3 และที่อังกฤษนี้เอง เป็นจุดเริ่มต้นของการถ่ายภาพในระดับสากลรวมถึงสร้างรายได้ให้เขาด้วย

“ตอนไปเรียนอังกฤษผมทำได้ตามเงื่อนไข สอบไม่เคยเกินจากที่ 3 ด้วย ดังนั้นผมก็เข้าโรงเรียนประจำที่อังกฤษ ที่นั่นเด็กอังกฤษเขาไม่มีกล้อง เพราะว่าเด็กๆ ถึงแม้ว่ากล้องก็เป็นกล้องปัญญาอ่อน ผมเป็นคนไทยคนเดียวที่นั่นที่มี Leica ผมก็ถ่ายภาพให้เพื่อนๆ จนตอนนี้ก็ยังติดต่อกันอยู่ ถึงจะมีคนน้อยลงเรื่อยๆ ปีที่แล้วเหลือ 4 คน

ผมไปเรียนที่ Saint Martin’s School of Art มีสอนทุกอย่าง ตั้งแต่ใช้ฟิล์มจนถึงการล้างเป็นรูปออกมา โรงเรียนนี้ก็ได้รับการสนับสนุนด้วย Kodak กับ Ilford ก่อนที่ฟิล์มจะหมดอายุ 6 เดือน เขาจะเอากลับมาจากร้านขายฟิล์มเพื่อเอาล็อตใหม่ไปขาย แล้วเอาฟิล์มเก่านั้นก็ให้นักศึกษาใช้ แต่ก่อน 6 เดือนจะหมดอายุ ความจริงแล้ว หลังจากวันที่ระบุไว้ ยังใช้ได้ต่อไปอีก 6 เดือน ดังนั้น เราก็มีฟิล์มฟรี มีกระดาษฟรี มีน้ำยาล้างฟิล์มฟรี น้ำยาอัดรูป ฟิกเซอร์ ห้องมืด ฟรี

ตอนนั้นผมเลยเรียนควบคู่กันระหว่าง Engineering กับศิลปะที่ St.Martin เพราะถ้าเรามีความสามารถ เราเรียนสิ่งที่เราชอบมันจะไม่ยาก แต่ถ้าเราเรียนสิ่งที่ไม่ชอบจะยาก การทำงานก็เช่นกัน ทุกอย่างเหมือนกันหมดในสังคม สิ่งไหนที่เราชอบเราก็จะทำได้ดี และรู้สึกว่าง่ายสำหรับเรา แต่คนที่ไม่ชอบมันก็ยากเป็นเรื่องธรรมดา”

จากกล้องป๊อกแป๊กสู่ภาพถ่ายระดับโลก “ชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล”

หลังจากฝึกฝนการถ่ายภาพควบคู่กับการเรียน เขาเริ่มสร้างชื่อและรายได้จากสิ่งที่รัก จนกระทั่งเรียนจบ ต่อมาเขาได้ทั้งรางวัลในระดับโลก ระดับประเทศ และได้รับโอกาสยิ่งใหญ่หลายครั้ง ทั้งตามเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ถ่ายภาพพระราชกรณียกิจต่างๆ, ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำหนังสือครบรอบ 72 พรรษา ของสมเด็จพระพันปีหลวง, ได้มีโอกาสถ่ายเบื้องหลังภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ สมเด็จพระนเรศวร และสุริโยทัย และทางราชเลขา พระพันปีขอภาพถ่ายไปแสดงใน exhibition ของพระพันปีใน เดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้

ความรักในการถ่ายภาพทำให้เขานับเป็นช่างภาพมือรางวัลระดับโลก เคยติดอันดับ World Top Ten หลายครั้ง เช่น ได้รับรางวัลดาว 5 ดวง จากสมาคมถ่ายภาพแห่งอเมริกา (P.S.A.) ในปี พ.ศ.2552 หรือในระดับประเทศก็เคยได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานชนะเลิศประเภทภาพถ่ายดิจิทัล จากการแข่งขันถ่ายภาพทั่วประเทศ ครั้งที่ 1 ประจำปีพ.ศ.2543 เป็นต้น

ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายประเภทใด ชัยโรจน์ถ่ายได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะแนวทางที่เรียกว่า Pictorial Art ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่จัดแสดงภายในนิทรรศการ“ย้อนเวลาผ่านเลนส์”

ทั้ง 62 ภาพที่จัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ เป็นเศษเสี้ยวหนึ่งของความทรงจำตลอด 70 ปีที่ชัยโรจน์กดชัตเตอร์ ทุกภาพมีเรื่องราว งดงาม และมีความหมายตามแบบฉบับ "Pictorial Art"

สำหรับ Pictorial Art ในมุมมองของชัยโรจน์ คือการถ่ายภาพอย่างมีวิจิตรศิลป์ งดงามและเล่าเรื่องได้ แม้จะใกล้เคียงกับการถ่ายภาพให้ดูมีความเคลื่อนไหว แต่ต้องถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในภาพเดียว

จากกล้องป๊อกแป๊กสู่ภาพถ่ายระดับโลก “ชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล”

ในบรรดาภาพ Pictorial Art ทั้งหมดในนิทรรศการ เขาบอกว่ามีสองภาพประทับใจ เพราะกว่าจะได้ภาพนั้นมา มีเรื่องราวที่เขายังจำได้ดี

“ภาพที่หนึ่งคือภาพพระธุดงค์ปักกลด ภาพนั้นไปถ่ายกับคุณวรนันท์ เสร็จแล้วไม่มีคนที่ถ่ายได้เลย ผมถ่ายได้คนเดียว เพราะผมใช้เวลา 15 วินาที แล้วเพื่อนๆ เขาอยู่ข้างหน้าผม ซึ่งน่าจะได้มุมที่ดีกว่า ผมจึงไปทางซ้ายสุดที่พระประธานนั่งอยู่ เลยกลายเป็นโชคดี ผมต้องนิมนต์ท่านว่าผมจะนับ 1-3 แล้วขอให้ท่านกลั้นหายใจ อย่าไหว ผมเปิดหน้ากล้องแคบ แล้วใช้ฟิล์ม velvet ของฟูจิ 50 แล้วพอถ่ายเสร็จผมจะบอก ผมจึงกลายเป็นคนสุดท้ายที่ได้ภาพ ภาพนี้ผมถ่ายถึง 5 ภาพ เพราะไม่เหมือนดิจิทัล เรายังไม่รู้ว่าภาพของเราออกมาดีไหม ใช้ได้ไหม จนกว่าจะไปล้างแล้วดูเราถึงรู้

ภาพนั้นเป็นภาพฟิล์มที่ถ่ายตอนหกโมงครึ่งตอนเย็น เราเห็นแต่แสงเทียน แต่เราไม่เห็นท้องฟ้า แต่ในฟิล์มเราเห็นท้องฟ้าสวยมาก สีน้ำเงิน สีชมพู ซึ่งทำให้ภาพนี้เต็ม

จากกล้องป๊อกแป๊กสู่ภาพถ่ายระดับโลก “ชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล”

ภาพที่สองที่ผมประทับใจที่สุดคืองาน APEC พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชานุญาตให้ขบวนพยุหนาตราทางชลมารคออกกลางคืนได้ ภาพนี้ผมคิดว่าทุกคนได้ แต่พอถ่ายจริงๆ ไม่มีใครได้ กระทรวงการต่างประเทศบอกให้สมาคมถ่ายภาพฯ ให้ช่างภาพ 10 คน แล้วทำบัตรให้สมาชิกที่ถ่ายภาพดีๆ ไปถ่าย นอกจากนั้นก็ยังมีช่างภาพ นักข่าว ที่ตามมาทำข่าวของ APEC ทั้งไทยและต่างประเทศ

ทีนี้ทุกคนไม่รู้จะตั้งสปีดแค่ไหน ISO ของฟิล์ม และความชัดลึก เพราะเราอยู่ทางสมาคมทหารเรือซึ่งอยู่ข้างหน้าพระราชวังดุสิตมหาปราสาท ดังนั้นขบวนเดิมก็เคลื่อนไหว พายตามน้ำ แสงสีเสียง คนชมก็มากมาย ดังนั้นผมก็ปรึกษากับคุณวรนันท์ว่าเราควรจะใช้หน้ากล้องเท่าไร ใช้สปีดเท่าไร เพื่อให้ความคมชัดจนถึงพระราชวังดุสิต แล้วเป็นกลางคืนด้วย เราไม่เคยเจอสภาพแวดล้อมอย่างนี้มาก่อน ก็เลยตั้งกล้องกันตามใจชอบแล้วกัน

ผมจึงตั้งทุกสิ่งทุกอย่างสูงที่สุด แล้วใช้ขาตั้ง พอเรือสุพรรณหงส์เข้ามาในเฟรมก็เริ่มกดชัตเตอร์ เพราะเวลาเรือสุพรรณหงส์เข้ามาอยู่ตรงกลางมันสั้นนิดเดียว เราไม่มีโอกาสดูหลังจากถ่าย เราจึงต้องกดไปเรื่อยๆ จากหัวเรือเริ่มเข้ามาในเฟรมหรือช่องมองภาพของเรา จนกว่าเรือสุพรรณหงส์หัวเรือหลุดออกจากเฟรม

วันรุ่งขึ้น กระทรวงการต่างประเทศ ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย ก็แจ้งไปที่สมาคมต่างๆ ว่าขอภาพนี้เป็นภาพประวัติศาสตร์ เพราะกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลต้องการภาพนี้ แต่อยากได้ภาพที่ดีที่สุด ดังนั้นผมก็ไม่สนใจ ผมก็คิดว่ามืออาชีพ นักข่าวต่างประเทศ ต้องได้ดีกว่า แต่เมื่อไม่มีคนมีภาพนี้ ผมมีคนเดียว”

นอกจากสองภาพที่เขาประทับใจมากๆ แล้ว ภาพอื่นอีก 60 ภาพ ก็ล้วนเป็นภาพที่สวยงาม ทุกภาพผ่านการคิดและใช้เทคนิคเพื่อทำให้เกิดภาพถ่ายที่เป็นมากกว่าแค่การบันทึกความทรงจำ แต่ยังเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นตอนนั้น

จากกล้องป๊อกแป๊กสู่ภาพถ่ายระดับโลก “ชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล”

เขาบอกว่าหลายเหตุการณ์ที่เห็นในภาพไม่มีอีกต่อไปแล้ว อย่างครั้งสุดท้ายที่ไปหมู่บ้านชาวเขา สิ่งที่เห็นคือชาวเขาสวมเสื้อยืดกางเกงยีนส์ ขี่มอเตอร์ไซค์ อาศัยในบ้านปูนหลังคาสังกะสีหรือกระเบื้องกันหมดแล้ว แต่ในอดีตที่เขาเคยไปถ่ายภาพ ชาวเขายังเดินทางด้วยเท้า อยู่บ้านสร้างจากไม้ไผ่หลังคามุงจาก เหตุผลหนึ่งก็เพราะ เครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิมมีราคาแพง บวกกับกาลเวลาเปลี่ยน อะไรต่อมิอะไรก็ย่อมเปลี่ยนแปลง

ภาพทั้งหมดของชัยโรจน์จึงเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกและเล่าประวัติศาสตร์ผ่านการกดชัตเตอร์ของเขา ที่สำคัญ คือให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ผ่านผลงานเหล่านี้ด้วย

“ไหนๆ เราก็อายุมากแล้ว ความรู้ที่เราเรียนมา ประสบการณ์ที่ได้มา ควรจะถ่ายทอดให้แก่นักศึกษาในแขนงนี้ ไปสัมมนาครั้งแรกคนสนใจมาก แล้วเขาก็ไม่รู้ว่ามีการแข่งขันแบบนี้ ไม่ใช่แค่บันทึก Recording Photography แต่ Pictorial Art ทำให้เขาสนใจมาก”

สำหรับนิทรรศการ “ย้อนเวลาผ่านเลนส์” จัดแสดงผลงานทั้งสิ้น 62 ภาพ อาทิ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ตั้งแต่วันที่ 5-10 กรกฎาคม 2565