“จิระนันท์ พิตรปรีชา” กับ Poetic License “เสรี-กวี-ศิลป์”

“จิระนันท์ พิตรปรีชา” กับ Poetic License “เสรี-กวี-ศิลป์”

การจัดแสดงงานครั้งแรกของ "จิระนันท์ พิตรปรีชา" กวีซีไรต์ นักเขียน นักแปล ที่นำบทกวีมาสร้างสรรค์กับงานศิลปะด้านจิตรกรรม ภาพถ่าย งานไม้ งานทอผ้า จนกลายเป็นโมเดิร์นอาร์ต

โรงแรมเพนนินซูลา เปิดตัว ศิลปิน คนแรกในโครงการ Artists in Residence เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานใหม่และเป็นเวทีจัดแสดงให้กับศิลปินและนักเขียนไทย

โดย จิระนันท์ พิตรปรีชา กับนิทรรศการ Poetic License เสรี-กวี-ศิลป์ Reflection on Life Journey พิศวงดงชีวิต คิด-อ่าน-เขียน ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

  • สุนทรียะทางภาษาผ่านสื่อศิลปะ

จิระนันท์ พิตรปรีชา กล่าวว่า นี่เป็นการแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก

“หลังจากได้รับเชิญให้มาเป็น Writer in Residence ก็ใช้เวลาคิดว่าจะประกอบร่างบทกวียังไง เลยคิดออกมาในรูปแบบของ Visual Poetry ชื่อว่า Poetic License แปลว่า สิทธิบัตรของกวี

อิสระเสรีภาพของนักเขียน ผู้สร้างศิลปะ ที่จะคิด ตีความ สร้างสรรค์ ใช้จินตนาการ ผลิตงานออกมาโดยไม่ต้องมีกรอบ มีกฎ เป็นงานศิลปะที่มีบทกวีอยู่ในงาน"

“จิระนันท์ พิตรปรีชา” กับ Poetic License “เสรี-กวี-ศิลป์” บทกวีกับภาพถ่ายและศิลปะการจัดวาง Cr. วันชัย ไกรศรขจิต

  • Art Installation

บทกวีกับภาพถ่ายและศิลปะการจัดวาง “บูชาธรรมชาติ”

“งานชิ้นแรกที่คิดขึ้นมา คือไปนั่งทานอาหารอยู่ในร้านทิพย์ธารา ศาลาไทย มีต้นไทรใหญ่ มีผ้าเจ็ดสีพัน ดูไปดูมาเป็นอาร์ตนี่นา

และเป็นกลยุทธ์รักษาต้นไม้ ด้วยความรู้สึกซาบซึ้งรู้คุณเกรงกลัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วนเรื่องขอหวยเป็นของแถม ธรรมชาติยิ่งใหญ่กว่าเรา

“จิระนันท์ พิตรปรีชา” กับ Poetic License “เสรี-กวี-ศิลป์” ผ้าเจ็ดสี บทกวีและภาพถ่าย Cr. เอกรินทร์ เอกอัจฉริยะวงศ์

ยังไม่เคยมีใครทำแบบนี้มาก่อนในโรงแรมห้าดาว มีผ้าเจ็ดสีเชย ๆ เป็น Decoration แล้วเอารูปถ่ายต้นไม้มา

เพราะเราไม่สามารถยกต้นไม้มาตรงนั้นได้ ไม่งั้น จะยกมาพร้อมเครื่องมือขูดหวย แล้วใช้บทกวีเป็นสื่อ ให้ต่างชาติเข้าใจว่าทำไมถึงมีผ้าอยู่ตรงนี้”

“จิระนันท์ พิตรปรีชา” กับ Poetic License “เสรี-กวี-ศิลป์” บทกวีกับจิตรกรรม"อดิศักดิ์ สมคง" Cr. เอกรินทร์ เอกอัจฉริยะวงศ์

  • Visual Poetic Painting and Photography

บทกวี กับภาพจิตรกรรม และภาพถ่าย  

“เรามีเพื่อนศิลปินสาย จิตรกรรม เยอะมาก คนแรกที่ร่วมมือคือ “บอม-อดิศักดิ์ สมคง” ชิ้นแรก เป็นเรซิ่นอาร์ต รังไหมทองคำ เรามีหน้าที่คิดถ้อยคำ

ชิ้นที่สอง รูปสีน้ำเงิน เป็นจักรวาล กาแล็คซี่ แต่เรามองเป็น Harmony การผสมกลมกลืน ก็เลยเขียนบทกวีไปตามนั้น

“จิระนันท์ พิตรปรีชา” กับ Poetic License “เสรี-กวี-ศิลป์” กล่องไฟ บทกวีและภาพถ่าย"รชฎ วิสราญกุล" Cr. Kanok Shokjaratkul

มองดูดอกบัวในโรงแรมที่เขาพับ แล้วก็โทรหา “อ.รชฎ วิสราญกูล” ช่างภาพยอดฝีมือ ขอชุดดอกบัวมานำเสนอในรูปแบบใหม่

เป็นกล่องไฟ แนว Abstract (นามธรรม) ความสวยงามของภาพทำให้ออกมาเป็นอาร์ต แล้วใส่บทกวีเข้าไป เป็นเครื่องประดับสถานที่ก็ได้

“จิระนันท์ พิตรปรีชา” กับ Poetic License “เสรี-กวี-ศิลป์”

บทกวี ภาพถ่าย ในศิลปะผ้าทอ หนังสือเล่มใหญ่ Zumo Book Cr. วันชัย ไกรศรขจิต 

  • Zumo Book

หนังสือผ้าเล่มใหญ่ ถักทอเป็นภาพถ่ายและบทกวี

“วันก่อนไปดูนิทรรศการ Textile Art (ศิลปะสิ่งทอ) ของคุณ “ชเล วุทธานันท์” เจ้าของบริษัท PASAYA สามารถทอผ้าให้เหมือนกับรูปถ่ายได้ ก็ไปปรึกษาเขา

ทำเป็นคอลเล็คชั่น 40 ภาพ 20 แผ่น ใช้เวลาทำเป็นเดือน เป็น Limited edtition (จำนวนจำกัด) 20 เล่ม จำหน่ายเล่มละ 20,000 บาท

“จิระนันท์ พิตรปรีชา” กับ Poetic License “เสรี-กวี-ศิลป์” แท่นวางของศิลปินปฏิมากรไม้"ไสยาสน์ เสมาเงิน"Cr. เอกรินทร์ เอกอัจฉริยะวงศ์

นำรายได้ไปช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส มูลนิธิ SATI นำมาติดตั้งบนโต๊ะงานไม้ของ “ไสยาสน์ เสมาเงิน” ศิลปินปฏิมากรไม้ ที่ดัดแปลงมาจากทวนเรือ  

งานนี้จึงเป็น Artist on Creative Collaboration (ศิลปินร่วมสร้างสรรค์) เพราะนักเขียนหรือจิตรกร ทำงานโดดเดี่ยว สไตล์เดิม ๆ ยิ่งสั่งสมอัตตา

แต่พอเราทำงานกับคนอื่น ทำให้ได้เรียนรู้คำว่า Time and Space ของพวก ทัศนศิลป์ มันจะมีอีกสายตาหนึ่งเลย”

“จิระนันท์ พิตรปรีชา” กับ Poetic License “เสรี-กวี-ศิลป์” ตู้เหล็ก งานและชีวิต Cr. เอกรินทร์ เอกอัจฉริยะวงศ์

  • ตู้เหล็กสีแดง แสดงงานและชีวิต

“มีคนเรียกว่า ตู้ชีวิต ถ้าแสดงงานศิลปะอย่างเดียวในล็อบบี้ ดูไม่เป็นนิทรรศการ เราก็คิดว่า ต้องเอาอะไรมาประกอบให้มันเป็นตัวเราขึ้นมา ก็ไปยืมตู้เหล็กเขามา เอาชีวิตของเราใส่เข้าไปในนั้น

รูปภาพ ผลงาน เกือบสามสิบเล่ม คนดูหนังจะไม่เคยอ่านบทกวี เราแปลหนังมา 300 กว่าเรื่อง หรือบทความวิชาการสายประวัติศาสตร์ ถ้าไม่ใช่นักวิชาการก็จะไม่เคยเจอ

“จิระนันท์ พิตรปรีชา” กับ Poetic License “เสรี-กวี-ศิลป์”

ห.หีบหนีบใจ Cr. เอกรินทร์ เอกอัจฉริยะวงศ์

แล้วมี Gimmick (ลูกเล่น) เล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นหีบไม้ไผ่สาน เราเป็นแม่ เวลาลูกมันโหดกับเรา เราจะรู้สึกยังไง 

เอาที่ สิงห์ (วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล) เขียนว่า “เขียนมาตามที่แม่บอกแล้วนะ สบายดีนะ จบแค่นี้นะ” มาจัดแสดงเป็น “ห.หีบหนีบใจ”

“จิระนันท์ พิตรปรีชา” กับ Poetic License “เสรี-กวี-ศิลป์” ห้องอัตชีวประวัติ Cr. วันชัย ไกรศรขจิต

  • ห้องอัตชีวประวัติ

“ห้องนี้เป็นภาพจำของคน อยากเล่าว่าเราผ่านอะไรมา เป็นประสบการณ์ในหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย

ด้านหนึ่งเป็นต้นฉบับลายมือ คนทำคือคุณ “ลิปดา จันทรศักดิ์ APDA” เราเห็นตกใจเลย บอกให้ถ่ายแต่ปก เป็นไอเดียพอสังเขป

แต่เขาอินเพราะเคยอยู่ป่า เอกสารยุค 14 ตุลามาเต็มเลย กลายเป็นเสนอประวัติวีรกรรม

“จิระนันท์ พิตรปรีชา” กับ Poetic License “เสรี-กวี-ศิลป์” ห้องอัตชีวประวัติ Cr. วันชัย ไกรศรขจิต

เรารู้สึกว่าช่วงที่มีวาทะกรรม วจีกรรม การเมืองกันเยอะ ๆ เราไม่อยากมีส่วนร่วมใด ๆ เอาเวลา สมอง และฝีมือ มาทำเรื่องการศึกษา

ช่วงสิบปีหลัง ทำพิพิธภัณฑ์ ที่ มิวเซียมสยาม ทำเรื่อง ถอดรหัสไทย เข้าใจความเป็นไทยในหลากหลายมิติ พูดเรื่อง สิทธิเสรีภาพ เพศสภาพ การให้อิสระทางความคิด เราก็ควรจะใช้กับเรื่องวิชาการด้วย

มิวเซียมสยาม เสนออย่างนี้ตลอดเวลา เป็นแห่งแรกที่การเข้าไปชม ห้ามพูดจาส่งเสียง ห้ามถ่ายรูป เรายกเลิกหมด ไปเรียนรู้จากคำถามที่เกิดขึ้นในใจ แล้วคำตอบก็อยู่ในนั้น คุณไปหาเอาเอง โดยไม่ตายตัว”

“จิระนันท์ พิตรปรีชา” กับ Poetic License “เสรี-กวี-ศิลป์” ภาพยนตร์สั้นบทกวีกับดนตรี Cr. เอกรินทร์ เอกอัจฉริยะวงศ์

  • จากบทกวีมาเป็นงานเพลง

มุมหนึ่งของงานมี VDO Presentation (ภาพยนตร์สั้น) บอกเล่าความเป็นมาของเพลงต่าง ๆ

กวี กับ ดนตรี มันแยกกันไม่ออก เพลงต้องมีเนื้อร้อง ภาษาไทยเป็นภาษาดนตรี มีโทนบังคับเสียงห้าเสียง

เราเอาถ้อยคำของกวี ใส่เข้าไปในดนตรี เราเขียนเพลงไว้เยอะมาก ของศิลปินดัง ๆ บางทีเป็นเพลง ต้านเขื่อน แต่ดันไปได้รางวัลเนื้อร้องยอดเยี่ยมของกรมศิลป์”

“จิระนันท์ พิตรปรีชา” กับ Poetic License “เสรี-กวี-ศิลป์”

ส่วนหนึ่งในตู้ชีวิต Cr. วันชัย ไกรศรขจิต

  • ชีวิตคือการรวมเล่ม สารพัดทุกอย่าง

กวี เป็นงาน ฉันทลักษณ์ เหมือนงานช่างชนิดหนึ่ง มันเป็นศิลปะที่ต้องเป๊ะ ลวดลาย ลีลา ฉันทลักษณ์

พอมันอยู่ในใจแล้ว เราจะใส่เนื้อหาอะไรลงไปก็ได้ เราเป็นคนประหยัดถ้อยคำ คนอื่นเขียนบทกวี 5-6 บท เราเขียน 1-2 บท หมัดน็อคไปเลย

บทกวีเขียนตลอด ไม่เห็นจะต้องรวมเล่มอย่างเดียวเลย เอามารับใช้สังคม รับใช้ประชาชน มันไม่ต้องการเมืองไปหมดทุกเรื่อง เราทำอะไรได้ตั้งเยอะแยะ

บทกวีเป็นศิลปะสาขาหนึ่ง จะผูกล่ามไว้ที่โต๊ะเดียวไม่ได้

“จิระนันท์ พิตรปรีชา” กับ Poetic License “เสรี-กวี-ศิลป์” บรรยากาศของนิทรรศการ Cr. เอกรินทร์ เอกอัจฉริยะวงศ์

งานนี้เป็นแค่เสี้ยวส่วนเดียวที่เลือกเอาสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต ที่อยากจะแชร์กับผู้คน เพราะคนรุ่นหลังไม่รู้จัก ส่วนคนรุ่นเก่าก็จะคิดว่าทำไมไม่ไปขึ้นเวที

ทำไมไม่แสดงจุดยืน ฉันอายุเท่ายายคุณนะ ยายคุณทำอะไรบ้าง ขอโทษค่ะลืมฉีดฟอร์มาลีน (ลืมแช่แข็งตัวเองไว้)

การเขียนกวีตอนนี้ในสังคมไม่ค่อยมีคนอ่าน มีคนเขียนเยอะ เวลาประกวดจะมีมือดี ๆ ส่งมาเยอะเลย แต่น่าเสียดายอ่านกันในวงที่รักการเขียนกวี

บทกวีที่ดีคือห้ามไป Strict (เข้มงวด) โดยเฉพาะกรรมการที่ผิดสัมผัสเสียงสั้นเสียงยาวแล้วให้ตกไปเลย ทารุณมาก

“จิระนันท์ พิตรปรีชา” กับ Poetic License “เสรี-กวี-ศิลป์” จิระนันท์ พิตรปรีชา กับ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล Cr. วันชัย ไกรศรขจิต

การที่เรามีอารยธรรม เพราะเรามี ภาษา มีวาทะกรรม วรรณกรรม ถ้อยคำภาษา ทำให้เราแตกต่างจากสปีชีส์อื่น

เอาง่าย ๆ แค่ บทปฐมกาล ในพระคัมภีร์ไบเบิล สิ่งแรกที่เกิดขึ้น คือ God is Word พระเจ้าคือถ้อยคำ เป็นปริศนาธรรม

คนที่ไม่รู้ก็จะบอกว่า พระเจ้ามีวาจาสิทธิ์ ตายเป็นตาย ซึ่งไม่ใช่ พระเจ้าเริ่มด้วยการตั้งชื่อสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้คนในโลกนี้สื่อสารกันรู้เรื่อง

เพราะฉะนั้นการใช้ถ้อยคำต้องระวัง เราคิดอะไร แต่ไปพูดอีกอย่างหนึ่งไม่ได้”

....................

นิทรรศการกวีทรรศน์ Poetic License “เสรี-กวี-ศิลป์” โดย จิระนันท์ พิตรปรีชา จัดแสดงวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2565 เวลา 15:00 - 20:00 น. ทุกวัน ณ ล็อบบี โรงแรมเพนนินซูลา ถนนเจริญนคร คลองสาน กรุงเทพฯ Tel: +66 (2) 020 2888 Email: [email protected]