เปิดปม “ความหลากหลายทางเพศ” ที่ไม่มีจริง!? ใน “ซีรีส์วาย” ผ่านมุมมอง “ตี๋ - บัณฑิต” ผู้กำกับ “นับสิบจะจูบ”

เปิดปม “ความหลากหลายทางเพศ” ที่ไม่มีจริง!? ใน “ซีรีส์วาย” ผ่านมุมมอง “ตี๋ - บัณฑิต” ผู้กำกับ “นับสิบจะจูบ”

คุยกับ “ตี๋ - บัณฑิต สินธนภารดี” ผู้กำกับซีรีส์วายฝีมือดี ที่ปั้นนักแสดงมานับไม่ถ้วน ตั้งแต่ “มิว - ศุภศิษฏ์” “กลัฟ - คณาวุฒิ” และ “เก้า - นพเก้า” พร้อมแลกเปลี่ยนประเด็น “ความหลากหลายทางเพศ” ใน “ซีรีส์วาย” จริงไหมว่าไม่มีอยู่จริง!? และอัปเดตผลงานเรื่องใหม่ “หอมกลิ่นความรัก”

ปัจจุบัน แม้ว่า “ซีรีส์วาย” ได้รับความนิยมสูงมาก ถูกผลิตล้นหลามทุกช่องทาง ทั้งฟรีทีวีและแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งน่าจะเป็นสื่อที่ช่วยให้ผู้ชมคนในสังคมเข้าใจถึงกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ “LGBTQIA+” มากยิ่งขึ้น แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากซีรีส์วายไม่ได้สอดแทรกเนื้อหาและตัวตนของกลุ่ม LGBTQIA+ เท่าที่ควร เน้นขายคู่นักแสดงนำไม่แตกต่างจากละครโรแมนติกคอมเมดี้ชายหญิงทั่วไป และนักแสดงในซีรีส์วายก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้กลุ่ม LGBQIA+ ได้แสดงความสามารถ มักเลือกนักแสดงที่เป็น “ผู้ชาย” มารับบทนำ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนดูและต่อยอดในเชิงธุรกิจ จนกลายเป็นที่ถกเถียงในโซเชียล

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษกับ “ตี๋ - บัณฑิต สินธนภารดี” ผู้กำกับซีรีส์วายสุดฮิตอย่าง “TharnType The Series เกลียดนักมาเป็นที่รักกันซะดี ๆ” ซีซันแรก ที่สามารถแจ้งเกิด “มิว - ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์” และ “กลัฟ - คณาวุฒิ ไตรพิพัฒนพงษ์” รวมถึงเรื่อง “นับสิบจะจูบ” ที่พานักแสดงนำอย่าง “เก้า - นพเก้า เดชาพัฒนคุณ” และ “อัพ - ภูมิพัฒน์ เอี่ยมสำอาง” จนกลายเป็นนักแสดงนำแถวหน้าของวงการ มีแฟนคลับไปทั่วโลก ถึงมุมมองดังกล่าว พร้อมเผยทัศนะเรื่องความหลากหลายทางเพศ และปัญหาต่าง ๆ ที่เจอในการผลิตซีรีส์วาย

เปิดปม “ความหลากหลายทางเพศ” ที่ไม่มีจริง!? ใน “ซีรีส์วาย” ผ่านมุมมอง “ตี๋ - บัณฑิต” ผู้กำกับ “นับสิบจะจูบ”

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจเลือก “นิยายวาย” แต่ละเรื่องมาทำซีรีส์?

ตี๋: เนื้อเรื่องต้องน่าสนใจ เปิดตัวดี เอาไปขยายต่อได้ อย่างเรื่อง “นับสิบจะจูบ” เนื้อเรื่องพูดถึงกองถ่ายทำซีรีส์วาย เรารู้เรื่องนี้ดีเลยขยี้ประเด็นได้มาก ทั้งความหลากหลาย หรือการเอาชายแท้มาแสดง เพื่อสะท้อนให้สังคมเห็นประเด็นนี้ 

เวลาจะผลิตเรื่องอะไรต้องมีความหลากหลาย เรื่องแรกที่ทำเกี่ยวกับรักในมหาวิทยาลัย ต่อด้วยเรื่องรักวัยทำงาน ตามมาด้วยแนวผี และเรื่องที่กำลังทำอยู่นี้เกี่ยวกับพีเรียดยุค 2470 

คนลงทุนผลิตซีรีส์ขายมีน้อย เพราะขายระดับโลกไม่ได้ อย่างประเทศจีนสนับสนุนได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย อะไรที่ถูกมองว่ามากไปก็โดนแบน ทั้งที่รายได้หลักมาจากจีน แม้ว่าจะฉายแบบถูกกฎหมายไม่ได้ด้วย

ถ้านายทุนลองเสี่ยงกับผู้ผลิต อาจจะดีก็ได้ อยากให้หนีจากภาพจำสิ่งที่ประสบความสำเร็จแบบเดิม ๆ ที่เป็นรักในวัยเรียน หรือลองให้ตัวละครหลักมีความหลากหลายกว่านี้ แต่ผู้ผลิตอยากให้มันคุ้มค่ากับการลงทุนที่สุด งบการสร้างไม่ได้มาก การสร้างสรรค์งานก็ยากขึ้น แม้นักแสดงดีแค่ไหน แต่คงไกลได้ไม่มากไปกว่านี้

 

ทำไม “ซีรีส์วาย” ไม่ค่อยพูดถึง “ความหลากหลาย” ในสังคม?

ตี๋: เห็นด้วยนะ ทุกวันนี้ซีรีส์วายยังไม่ได้พูดถึง ชุมชนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+ Community) เท่าไหร่ บางคนบอกไม่ต้องคิดถึงส่วนนี้ แต่บางคนก็อยากให้มีบ้าง ตอนนี้ในโลกโซเชียลพูดถึงเรื่องนี้กันเยอะ

ยิ่งล่าสุดซีรีส์ “Heartstopper” จากอังกฤษ แม้จะเสิร์ฟจิ้นหนัก แต่พูดถึงประเด็นของความหลากหลาย แล้วประสบความสำเร็จด้วย ในฐานะผู้ผลิตก็อยากทำให้ได้ถึงจุดนั้น พยายามแทรกเข้าไป ซีรีส์ยังต้องอยู่ในกรอบโรแมนติกคอมเมดี้ เน้นขายจิ้น ทางเราก็พยายามพัฒนาตามโลกให้ทัน

ทุกวันนี้พยายามบาลานซ์ “การเสิร์ฟจิ้น” และ “การพูดถึงชมชุน” ตอนทำ “นับสิบจะจูบ” เน้นตัวละครรองมากขึ้น มีเลสเบี้ยน มีคนสับสนเพศสภาพตัวเองอยู่ ตรงนี้ใส่มาเพื่อให้เห็นความหลากหลายในสังคมมากขึ้น

อย่างเรื่อง “ผมกับผีในห้อง” เปรียบเทียบ LGBTQIA+ เป็นเหมือนผีในประเทศนี้ แฝงเป็นสัญญะ พูดออกมาตรงๆ ค่อนข้างยาก แต่พอใส่มากไปก็ดูยากอีก เลยไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่คิด

 

ทำไมคนแสดงนำซีรีส์วายถึงเป็น LGBTQIA+ ไม่ได้?

ตี๋: หลายคนที่ไปคุยด้วย เขาไม่ได้คิดถึงขนาดนั้น ซีรีส์วายมีมาตรฐานในการเลือกนักแสดง มันอาจทางลัดให้นักแสดงประสบความสำเร็จได้เร็ว แต่มีพูดคุยกันว่าเพิ่มตรงนั้น ตรงนี้อีกได้ไหม คอนเทนต์จะได้พัฒนามากกว่านี้

ถ้าให้คนที่เป็น LGBTQIA+ รับบทนำเลย อาจจะยาก มันมีแนวทางการเลือกนักแสดงอยู่ ในฐานะคนผลิตจะเถียงยากมาก สุดท้ายยังอยากให้นักแสดงดูเป็นชายแท้ไว้ก่อน ประเด็นนี้ยังต้องใช้เวลา แม้ตอนนี้เริ่มเปิดรับมากขึ้นแล้ว

การใส่ตัวละครออกสาวทุกวันนี้ก็สามารถทำได้ เรื่องในอนาคตอาจจะมีตัวละครไบเซ็กชวลหรือคนที่กำลังสับสนเพศสภาพตัวเองด้วย ปรับจากนิยายบ้าง คุยกับนายทุนแล้วโอเคที่จะใส่ส่วนนี้ไป

เปิดปม “ความหลากหลายทางเพศ” ที่ไม่มีจริง!? ใน “ซีรีส์วาย” ผ่านมุมมอง “ตี๋ - บัณฑิต” ผู้กำกับ “นับสิบจะจูบ”

วันนี้ “ซีรีส์วายล้นตลาด” ?

ตี๋: มีให้เห็นเกร่อมาก แต่ถ้าคอนเทนต์ไหนดียังจะโดดเด่น ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ข้ามวันข้ามคืน ถึงมีเป็นร้อยเรื่อง คนดูจะเลือกดูเรื่องที่สนุกและถูกใจ ไม่ต่างซีรีส์ชายหญิงทั่วไปเลย

อนาคตซีรีส์วายมันยังอยู่ได้ แต่ไม่ค่อยมีคนลงทุน และจะมองแค่ว่า “จะขายคู่จิ้นได้หรือไม่” ไม่ได้มองด้านโปรดักชันมากขนาดนั้น อย่างของเราก็มีทั้งกลัฟ (คณาวุฒิ ไตรพิพัฒนพงษ์) กับ เก้า (นพเก้า เดชาพัฒนคุณ) มีชื่อเสียงจนเข้าช่องไปแล้ว ผู้ใหญ่คงเห็นว่าน้องมีความสามารถ และน่าจะไปต่อได้ ไม่ได้มองเพราะน้องมีแฟนคลับเยอะ

 

ซีรีส์วายไทย คือซอฟต์พาวเวอร์?

ตี๋: ใช่ เป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ดีเลย เพราะมีคนดูทั่วโลก มีแฟนคลับสนับสนุน ถ้าผลักดันได้เท่าเกาหลีใต้ ทำให้โลกเห็นว่า ไทยมีอาหารการกิน ที่ท่องเที่ยวหลากหลาย เดี๋ยวแฟนคลับจะช่วยผลักดันให้เป็นที่รู้จัก อยากมาเที่ยวตามรอย อย่างม.กรุงเทพ ใช้ถ่ายทำซีรีส์เยอะ มีคนมาเที่ยวเยอะมาก กลายเป็นที่ท่องเที่ยวเฉย

ถ้าแตะต้องความเป็นไทยได้มากกว่านี้ ใส่ลงไปในซีรีส์ น่าจะดี แต่ถ้าแตะแล้วโดนว่าทำให้เสียหาย ก็ไม่อยากไปยุ่ง มักจะโดนพูดว่า “อย่าไปยุ่งเลย เดี๋ยวมีปัญหา ต้องมานั่งตัด” 

ไทยยังเป็นผู้นำด้านซีรีส์วายอยู่ ยังหาคำตอบอยู่ว่าทำไม เพราะของประเทศอื่น ๆ ก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน อาจจะเป็นเรื่องของภาพลักษณ์และการแสดง แต่ของไทยมักจะต่อยอด มีขายจิ้นนอกจอต่อ มีกิจกรรมให้ติดตามต่อไม่หยุด

เปิดปม “ความหลากหลายทางเพศ” ที่ไม่มีจริง!? ใน “ซีรีส์วาย” ผ่านมุมมอง “ตี๋ - บัณฑิต” ผู้กำกับ “นับสิบจะจูบ”

“หอมกลิ่นความรัก” ซีรีส์เรื่องใหม่ มีอะไรเด็ด?

ตี๋: อยู่ในช่วงพรีโปรดักชัน เรื่องนี้ตั้งใจและตื่นเต้นที่จะได้ทำเป็นพิเศษเพราะเป็นย้อนยุคด้วย ตอนนี้กำลังเขียน-ปรับแก้บทกันอยู่ อยากให้งานออกมาดีที่สุด เลยยังไม่ได้เปิดกล้อง

พยายามจะใส่เรื่องชุมชน LGBTQIA+ ในเรื่องด้วย หาข้อมูลให้สมจริงที่สุด ต้องรวมความแฟนตาซีกับเรื่องจริงให้ได้ด้วย และไหนต้องทำเป็นภาษาเหนืออีก ท้าทายมาก

นอกจากนี้ การหานักแสดงที่มีรูปลักษณ์ให้ตรงกับนิยายก็ไม่ง่าย แต่ได้นนกุล (ชานน สันตินธรกุล) รับเล่นเรื่องนี้เพราะสนใจในตัวบท และมีไบร์ท (รพีพงศ์ ทับสุวรรณ) ซึ่งติดต่อกันมาเกือบ 2 ปี เคยบอกบอสที่เป็นโปรดิวเซอร์ว่า “ต้อง 2 คนนี้แหละ ถ้าไม่ใช่ก็อาจจะไม่ได้ทำเรื่องนี้” 


 

ฝากถึงแฟน ๆ เนื่องในเดือน Pride Month

ตี๋: ในฐานะผู้ผลิตและเป็นคนในชุมชน เราอยากทำคอนเทนต์ส่งเสริมชุมชนของเรา ฝากติดตามซีรีส์เรื่องต่อ ๆ ไปด้วย ซีรีส์วายไทยจะเด่นเรื่องการตลาดอยู่แล้ว แต่จะพยายามทำส่วนทำได้ให้ดีที่สุด

ตอนนี้บ้านเราเริ่มดีขึ้น มีจัด Pride Parade เพื่อแสดงความหลากหลาย เรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียม ในสิ่งที่เรายังไม่ได้ เรามีซีรีส์วายปีละร้อยเรื่อง แต่ความเท่าเทียมกลับยังสับสนอยู่ อยากฝากกลุ่มคนที่ดูแลเรื่องพวกนี้ ผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ถ้าทำได้ก็แค่เกิดความเท่าเทียมเท่านี้เลยครับ
เปิดปม “ความหลากหลายทางเพศ” ที่ไม่มีจริง!? ใน “ซีรีส์วาย” ผ่านมุมมอง “ตี๋ - บัณฑิต” ผู้กำกับ “นับสิบจะจูบ”

สัมภาษณ์และเรียบเรียง: กฤตพล สุธีภัทรกุล