กทม. ประกาศจัดเทศกาล "กรุงเทพฯ กลางแปลง" ตลอดเดือนกรกฎาคม

กทม. ประกาศจัดเทศกาล "กรุงเทพฯ กลางแปลง" ตลอดเดือนกรกฎาคม

กรุงเทพมหานครฯ ร่วมมือกับสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย หอภาพยนตร์ และชมรมหนังกลางแปลง ประกาศจัดเทศกาล “กรุงเทพฯ กลางแปลง” ตลอดเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ปลอบขวัญคนกรุง และส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังไทย

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครฯ เข้าร่วมการแถลงข่าวการจัดงานเทศกาล "กรุงเทพฯ กลางแปลง" ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อเวลา 17.00 น. ของวันพุธที่ 29 มิถุนายน 2565 ร่วมกับตัวแทนจากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย หอภาพยนตร์ สมาคมหนังกลางแปลง และชมรม Better Bangkok โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ปลอบขวัญประชาชน ตลอดจนช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยไปพร้อมๆ กัน

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ให้รายละเอียดว่า เทศกาล "กรุงเทพฯ กลางแปลง" เป็นการจัดฉายหนังกลางแปลงกระจายไปหลายพื้นที่รอบเขตกรุงเทพมหานคร ตลอดเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ทั้งเขตกรุงเทพชั้นในอย่าง ลานคนเมือง สยามสแควร์ สวนเบญจกิติ และเขตกรุงเทพชั้นนอกอย่าง ตลาดสวนบางแคภิรมย์ สวนรถไฟ สวน 60 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ

 

โดยในแต่ละสัปดาห์ ตลอดเดือนกรกฎาคม จะมีการฉายหนังกลางแปลงให้ชมกันฟรี 2 จุดด้วยกัน แต่ละจุดจะฉายหนังเพียงวันละ 1 เรื่อง เพื่อไม่ให้เลิกดึกเกินไป และไม่เป็นการรบกวนผู้ที่อาศัยอยู่แถวนั้น

สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดงานก็เพื่อสร้างความสุขให้กับประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครต่อจากเทศกาลดนตรีในสวน นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยกระจายรายได้ให้กับประชาชนในหลากหลายพื้นที่

 

โดยหลังจากที่เข้ารับตำแหน่งก็ได้มีการพูดคุยกับทางสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยแล้วลงความเห็นว่าการจัดฉายหนังกลางแปลงน่าจะเหมาะที่สุด เพราะเป็นพื้นที่เปิด เข้าถึงชุมชนต่างๆ ได้ง่ายที่สุด ซึ่งจะช่วยทั้งในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์

 

โปรแกรมเทศกาล "กรุงเทพฯ กลางแปลง"

สำหรับโปรแกรมการฉายหนัง “กรุงเทพฯ กลางแปลง” ทั้งวันเวลา สถานที่ และหนังที่ฉาย (อาจเปลี่ยนแปลงสถานที่ & ภาพยนตร์บางเรื่อง) มีดังต่อไปนี้

  • สัปดาห์แรก : 7-9 กรกฎาคม

สถานที่: ลานคนเมือง

ภาพยนตร์: 2499 อันธพาลครองเมือง, เวลาในขวดแก้ว, แพรดำ

สถานที่: TDPK

ภาพยนตร์: รถไฟฟ้ามาหานะเธอ, 36, แม่นาคพระโขนง (2502)

  • สัปดาห์ที่สอง : 14-16 กรกฎาคม

สถานที่: ศูนย์เยาวชนคลองเตย

ภาพยนตร์: RRR, มนต์รักทรานซิสเตอร์, บุญชูผู้น่ารัก

สถานที่: สวนรถไฟ

ภาพยนตร์: 4Kings, Portrait of a Lady on Fire, One for the Road วันสุดท้ายก่อนบายเธอ

  • สัปดาห์ที่สาม: 21-23 กรกฎาคม

สถานที่: สวนเบญจกิติ

ภาพยนตร์: มหานคร, อนธการ, Wheel of Fortune and Fantasy

สถานที่: ตลาดสวนบางแคภิรมย์

ภาพยนตร์: Fast and Furious, ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ, เพื่อนสนิท

  • สัปดาห์ที่สี่: 28-30 กรกฎาคม

สถานที่: Block I สยามสแควร์

ภาพยนตร์: รักแห่งสยาม, Season Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย, สยามสแควร์

สถานที่: สวน 60 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ

ภาพยนตร์: คู่กรรม, พี่นาค, มือปืน

วันสุดท้าย: 31 กรกฎาคม

สถานที่: สวนครูองุ่น

ภาพยนตร์: School Town King

สถานที่: สุขุมวิท 31

ภาพยนตร์: One for the Road วันสุดท้ายก่อนบายเธอ

 

ฉายหนังหลากหลาย เข้าถึงคนทุกกลุ่ม

อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย กล่าวถึงการคัดเลือกหนังมาฉายในเทศกาล “กรุงเทพฯ กลางแปลง” ว่าพิจารณาให้มีหนังที่หลากหลาย เข้าถึงคนดูหลายกลุ่ม โดยมีตั้งแต่หนังที่เก่ามากอย่าง แม่นาคพระโขนง ปี พ.ศ. 2502 ไปจนถึงหนังใหม่ที่เพิ่งออกฉายในปี 2565 นี้อย่างหนังเรื่อง RRR

 

นอกจากนี้ยังมีการเลือกหนังให้สอดคล้องกับพื้นที่สาธารณะนั้นๆ ด้วย เช่น สัปดาห์ที่ 4 มีการฉายหนังที่ Block I สยามสแควร์ ก็คัดเลือกภาพยนตร์ “รักแห่งสยาม” และ “สยามสแควร์” ซึ่งถ่ายทำในบริเวณนั้นมาฉาย ส่วนในแถบชานเมืองก็จะเลือกภาพยนตร์ที่เหมาะสำหรับครอบครัว

 

นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยกล่าวด้วยว่า เนื่องจากการชมภาพยนตร์ไม่ใช่แค่เรื่องของความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังประเทืองปัญญาด้วย จึงมีการจัดกิจกรรม เช่น เชิญนักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ บุคคลที่เกี่ยวข้องมาพูดคุย จัดเวิร์คชอปในชุมชนต่างๆ เสริมเข้าไปก่อนที่จะมีการฉายภาพยนตร์

 

เสน่ห์ของ “หนังกลางแปลง” ที่คนกรุงจะได้เห็น

ขณะที่ตัวแทนจาก “สมาคมหนังกลางแปลง” กล่าวว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญมากในขณะนี้ อีกทั้งการจัดเทศกาล “กรุงเทพฯ กลางแปลง” ยังถือเป็นนิมิตหมายอันดี ถือเป็นการออกสตาร์ทให้กับผู้มีอาชีพหนังกลางแปลงได้รับรู้ว่า สามารถกลับมาประกอบอาชีพได้เหมือนเดิมแล้ว

 

นอกจากนี้ ตัวแทนจากสมาคมหนังกลางแปลงยังให้รายละเอียดว่า การชมหนังกลางแปลงนั้นจะต่างจากการชมในโรงภาพยนตร์ โดยแฟนคลับหนังกลางแปลงจะไม่ได้มาดูหนังอย่างเดียว แต่จะมากันทั้งครอบครัวพร้อมหาอะไรรับประทานไปด้วย ถ้าช่วงที่หนังไม่สนุกก็จะลุกไปหาลูกชิ้นปิ้ง ปลาหมึกย่างมากิน และก่อนหนังฉายก็จะคุยเรื่องสารทุกข์สุกดิบต่างๆ ซึ่งนั่นเป็นเสน่ห์ของหนังกลางแปลงที่จะนำมาให้คนเมืองกรุงได้สัมผัสกัน

 

“เราจะนำสิ่งที่ดีที่สุดมาให้พี่น้องชาวกรุงเทพฯ ได้ชมกัน ท่านทราบหรือไม่ว่าหนึ่งหน่วย หนึ่งจอสกรีนที่เอามาฉาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายกว่า 8 ล้านบาท ไม่น้อยไปกว่าการฉายในโรงภาพยนตร์เลย ทั้งการตั้งจอ การเซ็ตระบบทั้งหมด เราจะนำมืออาชีพของหนังกลางแปลงมาในทุกสถานที่ ท่านจะได้รับอรรถรสในการชมหนังทุกเรื่องอย่างเต็มอิ่ม และได้รับความประทับใจอย่างแน่นอน”

 

จัดแสดงภาพถ่ายเก่าของสถานที่จัดฉายหนัง

ขณะที่ตัวแทนจาก หอภาพยนตร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ทำหน้าที่อนุรักษ์หนังเก่า และภาพเก่า กล่าวว่า จะมีการนำภาพเก่าของกรุงเทพ ภาพเก่าของสถานที่ๆ มีการจัดฉายหนังกลางแปลงมาจัดแสดงให้ดูกันด้วย

 

พร้อมเสริมว่า การฉายหนังกลางแปลงเป็นเรื่องของการปลอบขวัญประชาชน หนังเป็นสิ่งที่เราจะดูในยามที่มีความทุกข์ ส่วนหนังที่เลือกมาฉายในโปรแกรมนี้ทั้งหมดก็พิจารณาโดยคิดถึงคนดูไปด้วย และหวังว่าเวลาสั้นๆ เพียง 2-3 ชั่วโมงที่ได้รับชมหนังกลางแปลง ทุกคนจะได้พบกับความรู้สึกใหม่ๆ และทำให้คิดอะไรได้ด้วย