ทำไม "ลูกเสือ" ไม่จับมือขวา เปิดที่มาและคุณค่าของการ “เรียนลูกเสือ” ในไทย

ทำไม "ลูกเสือ" ไม่จับมือขวา เปิดที่มาและคุณค่าของการ “เรียนลูกเสือ” ในไทย

ย้อนประวัติ “การลูกเสือ” ในไทยและต่างชาติ กิจกรรมพัฒนาเยาวชนที่มีสาระสำคัญมากกว่าเรื่องเครื่องแบบ “ชุดลูกเสือ” และย้อนตอบคำถามยอดนิยมที่อยู่ในเพลง “ลูกเสือจับมือ” ที่ใครๆก็ร้องกันติดปาก

“ลูกเสือเขาไม่จับมือขวา ยื่นซ้ายมาจับมือกันมั่น” คือถ้อยคำหนึ่งของเพลง “ลูกเสือจับมือ” บทเพลงที่เด็กนักเรียนไทยกว่าครึ่งน่าจะคุ้นเคยดี เพราะนี่คือเพลงหลักที่อยู่ใน “วิชาลูกเสือ” หนึ่งในวิชาตามหลักสูตรของการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ท่ามกลางข้อถกเถียงเรื่อง เครื่องแบบ ลูกเสือ-เนตรนารี ถึงเช่นนั้น วิชาลูกเสือ-เนตรนารี ก็คุ้นเคยกับสังคมไทยมานาน โดยที่คุณูปการของกิจกรรมดังกล่าว คือ กระบวนการพัฒนาเยาวชน ทั้งทางกาย สติปัญญา จิตใจ และศีลธรรม ให้เป็นพลเมืองดี และแน่นอนว่ามีคุณค่ามากกว่าการพูดถึงกันเฉพาะเรื่องเครื่งแบบ

  • ประวัติวิชาลูกเสือ

ลูกเสือทั้งในไทยและต่างชาติมีที่มาที่ไป และ จุดกำเนิดจริงๆ ของการลูกเสือเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษเป็นแห่งแรกในโลก เมื่อ พ.ศ. 2451 โดยพลโท ลอร์ด เบเดน เพาเวลล์ (Lord Baden Powell)

ในครั้งนั้นพลโท ลอร์ด เบเดน ไปรับราชการทหาร รักษาเมืองมาฟฟิคิง (Mafiking) อันเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในสหภาพแอฟริกาใต้ ซึ่งในช่วงนั้นได้ทำสงครามกับพวกบัวร์ (Boer)

มีกลวิธีและกลยุทธ์ที่จะชนะสงครามมากมาย แต่สงครามครั้งนั้น พลโท ลอร์ด เบเดน ได้ฝึกเด็กขึ้นหน่วยหนึ่ง เพื่อช่วยราชการสงคราม เช่น เป็นผู้สื่อข่าว สอดแนม รักษาความสงบเรียบร้อยภายใน รับใช้ในการงานต่างๆ ปรากฏว่าได้ผลดีมาก เพราะเด็กที่ได้รับการฝึกเหล่านั้นสามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ใช้รับมอบหมายได้อย่างเข้มแข็งว่องไว

ทำไม "ลูกเสือ" ไม่จับมือขวา เปิดที่มาและคุณค่าของการ “เรียนลูกเสือ” ในไทย

พลโท ลอร์ด เบเดน เพาเวลล์ (Robert Baden-Powel)

เมื่อกลับจากราชการสงครามเมืองมาฟฟิคิงแล้ว พลโท ลอร์ด เบเดน จึงร่างโครงการอบรมเด็กขึ้น มีหลักการคล้ายลูกเสือในปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 ท่านได้ทดลองตั้ง Boy Scout ขึ้นเป็นกองแรกที่ เกาะบราวน์ซี ไอแลนด์ (Brown Sea Island )โดยใช้วิธีการชักชวนเด็กที่เที่ยวเตร่อยู่ในที่ต่างๆ มาอบรม ซึ่งผลสรุปว่าผลการอบรมในครั้งนั้นได้ผลดีสมความมุ่งหมายทุกประการจึงทำให้เกิดความบันดาลใจ ในอันที่จะขยายกิจการให้กว้างขวางออกไปในวันข้างหน้า

จากนั้นใน พ.ศ. 2451 จึงได้ตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ที่ประเทศอังกฤษ

ทำไม "ลูกเสือ" ไม่จับมือขวา เปิดที่มาและคุณค่าของการ “เรียนลูกเสือ” ในไทย

เอกสารทางการเงินที่ใช้ในยามสงคราม เมืองมาฟฟิคิง ลงนามโดย พลโท ลอร์ด เบเดน (ภาพจาก Wikipedia)

  • “Scout” ซึ่งใช้เรียกแทน “ลูกเสือ”

เรารู้กันมานานว่า Boy Scout นั้นแปลว่าลูกเสือ และความหมาย ของคำว่า “Scout” นั้น ระบุตามตัวอักษรที่เรียงกัน ตั้งแต่เมื่อครั้งก่อตั้งกองลูกเสือ ซึ่งความหมายของมันจริงๆ ได้แก่

 S = Sincerity หมายถึง ความจริงใจ มีน้ำใสใจจริงต่อกัน

C = Courtesy หมายถึง ความสุภาพอ่อนโยน เป็นผู้มีมารยาทดี

O = Obedience หมายถึง การเชื่อฟัง อ่อนน้อมถ่อมตน อยู่ในโอวาท

U = Unity หมายถึง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รู้รักสามัคคี

T = Thrifty หมายถึง ความมัธยัสถ์ ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด

  • จุดกำเนิดลูกเสือในไทย

สำหรับประเทศไทยนั้น เรารู้กันดีว่า ผู้ที่ให้กำเนิดและได้ชื่อว่าเป็นพระบิดาแห่งลูกเสือไทย คือ

ซึ่งได้ทรงพระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911)

ทำไม "ลูกเสือ" ไม่จับมือขวา เปิดที่มาและคุณค่าของการ “เรียนลูกเสือ” ในไทย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6   ผู้ก่อตั้งการลูกเสือในไทย

หลังจากเสด็จนิวัติกลับจากประเทศอังกฤษ รัชกาลที่ 6 ได้ตั้งเป็นกองเสือป่า (Wild Tiger Corps) ขึ้น เพื่อฝึกหัดให้ข้าราชการและพลเรือนเรียนรู้วิชาทหารรู้จักระเบียบวินัย ความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หลังจากนั้นจึงได้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2454 ด้วยทรงมีพระราชปรารภว่า เมื่อฝึกผู้ใหญ่เป็นเสือป่าเพื่อเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือชาติบ้านเมืองแล้ว เห็นควรที่จะมีการฝึกเด็กชายปฐมวัยให้มีความรู้ทางเสือป่าด้วย

กองลูกเสือกองแรกเกิดขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน) และจัดตั้งกองลูกเสือตามโรงเรียน ต่าง ๆ ให้กำหนดข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือขึ้น รวมทั้งพระราชทาน คำขวัญให้ลูกเสือว่า “เสียชีพ อย่าเสียสัตย์

ใน ประเทศไทยได้แบ่งประเภทของลูกเสือ โดยยึดถือตามแบบอังกฤษใน 4 กลุ่ม คือ

1. ลูกเสือสำรอง เนตรนารีสำรอง ซึ่งอยู่ในช่วง อายุ 7 – 9 ปี

2. ลูกเสือสามัญ เนตรนารีสามัญ ซึ่งอยู่ในช่วงอายุ 10 - 12 ปี

3. ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ เนตรนารีสามัญรุ่นใหญ่ ซึ่งอยู่ในช่วงอายุ 13 – 15 ปี

4. ลูกเสือวิสามัญ เนตรนารีวิสามัญ ซึ่งอยู่ในช่วงอายุ 16 - 25 ปี

วิชาการลูกเสือทั้ง 4 แบบ นั้น คือการฝึกอบรมตามหลักสูตรวิชาลูกเสือ โดยยึดมั่นในหลักการ (Principle) วิธีการ (Method) และวัตถุประสงค์ (Purpose) ของการลูกเสือ (Scouting) อย่างเคร่งครัดตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551

ทั้งนี้กิจการลูกเสือในประเทศไทยยังคงได้รับการสืบสานให้เจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับนับจนปัจจุบัน โดยมี พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นประมุขคณะลูกเสือแห่งชาติ

ทำไม "ลูกเสือ" ไม่จับมือขวา เปิดที่มาและคุณค่าของการ “เรียนลูกเสือ” ในไทย

หนังสือ Scouting for boys พิมพ์ออกจำหน่ายในประเทศต่างๆที่มีกิจการลูกเสือ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

  • ลูกเสือไม่จับมือขวา

การที่ลูกเสือไม่จับมือขวา มีคำตอบอยู่ในเพลง “ลูกเสือจับมือ” อยู่แล้ว นั่นเพราะมือขวาที่เป็นมือข้างที่จับมือตามทำเนียบสากล สำหรับลูกเสือคือมือข้างที่ใช้การทำความเคารพ แบบที่เรียกว่า “ทำวันทยาหัตถ์”  2 นิ้ว นั่นคือยกมือขวาขึ้นแยกนิ้วชี้กับนิ้วกลางออกเหยียดตรง ( รูปตัววี ) แล้วให้นิ้วชี้แตะที่ กระบังหมวกต่อขอบหมวก

แต่ถึงเช่นนั้น ที่มาของการไม่จับมือขวา ยังมีเรื่องเล่าวว่า ครั้งหนึ่งพลโท ลอร์ด เบเดน เพาเวลล์ ได้นำทัพอังกฤษทำสงครามกับชนเผ่าซูลู และต่อมาด้วยแสนยานุภาพของกองทัพอังกฤษก็ทำให้เผ่าซูลูได้ยอมจำนน

เมื่อพลโท ลอร์ด เบเดน เห็นว่าสงครามสงบโดยสันติจึงกล่าวขอเป็นมิตรกับชนชาวซูลู

ครั้นกล่าวจบก็ยื่นมือขวาให้หัวหน้าเผ่าซูลูจับ แต่ดินิส ซูลู หัวหน้าเผ่าไม่ยอมจับด้วยมือขวา แต่กลับยื่นมือซ้ายออกไปแล้วบอกกับพลโทลอร์ดว่า "มือขวาเป็นมือสกปรก ฆ่าคนมาก เป็นมืออำมหิตโหดร้าย ส่วนมือซ้ายเป็นมือที่สะอาดและใกล้หัวใจ" จึงขอจับมือด้วยมือซ้ายแทน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความประทับใจจนนำมาใช้ในวงการลูกเสือด้วย

  • คุณค่าของการ “เรียนลูกเสือ”

ในระหว่างที่สังคมไทยกำลังมีเรื่องดราม่าว่าด้วยเครื่องแบบลูกเสือ เวลาเดียวกันนี้เราก็ควรทบทวนคุณค่าของการเรียนลูกเสือไปพร้อมๆกันด้วย และ วัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติที่บัญญัติไว้ใน  พระราชบัญญัติลูกเสือ   พ.ศ.   2551  มาตรา   8 ก็ได้ระบุว่า   คณะลูกเสือแห่งชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาลูกเสือทั้งทางกาย   สติปัญญา  จิตใจและศีลธรรมให้เป็นพลเมืองดี   มีความรับผิดชอบและช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสามัคคีและมีความเจริญก้าวหน้า  ทั้งนี้เพื่อความสงบสุขและความมั่นคงของประเทศชาติ  ตามแนวทางอันประกอบไปด้วย

1.ให้มีนิสัยในการสังเกต จดจำ เชื่อฟัง และพึ่งตนเอง

2.ให้ซื่อสัตย์สุจริต มีระเบียบวินัยและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

3.ให้รู้จักบำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์

4.  ให้รู้จักทำการฝีมือ และฝึกฝนให้ทำกิจการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม

5.ให้รู้จักรักษาและส่งเสริมจารีตประเพณี วัฒนธรรมและความมั่นคงของประเทศชาติ

คุณค่าของการเรียนลูกเสือจึงสรุปได้ว่าเป็นเพื่อการพัฒนาตัวเอง และการฝึกตนเพื่อเตรียมทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมนั่นเอง

อ้างอิง : วิกิพีเดีย

สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

พระราชบัญญัติลูกเสือแห่งชาติ พ.ศ.2551

สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง