เปิด 9 นโยบาย 7 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. โค้งสุดท้าย...เลือกใครดี?

เปิด 9 นโยบาย 7 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. โค้งสุดท้าย...เลือกใครดี?

"สภาองค์กรของผู้บริโภค" สรุปมาชัดๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบาย 9 ด้านของ 7 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เลือกแล้วจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างไร ตัดสินใจให้ดีในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565

สภาองค์กรของผู้บริโภค รวบรวมนโยบายของ 7 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคใน 9 ด้าน โดยแต่ละด้านที่ว่านั้น อ้างอิงมาจากการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่แบ่งออกเป็น 8 ด้าน + 1 คณะทำงาน 

นโยบาย 7 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. 

1) การขนส่งและยานพาหนะ 

2) อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย 

3) การเงินและการธนาคาร 

4) สินค้าและบริการทั่วไป 

5) บริการสุขภาพ 

6)บริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม 

7) อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ 

8) การสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ และ 

9) การทำงานด้านการศึกษา 

เปิด 9 นโยบาย 7 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. โค้งสุดท้าย...เลือกใครดี?

ตามไปดู ตามไปอ่าน นโยบายของผู้สมัครฯ ผู้ว่าฯ กทม. ในโค้งสุดท้าย ว่าแต่ละคนจะมีนโยบายในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไรบ้าง...

1.ด้านการขนส่งและยานพาหนะ

เป็นประเด็นปัญหาที่อยู่คู่กับคน กทม. มาอย่างยาวนาน ทั้งปัญหารถติด หรือ ปัญหารถสาธารณะไม่เอื้อกับมวลชนในการเข้าถึงบริการ เช่น รถไฟฟ้าราคาแพง รถเมล์มาไม่ตรงเวลา แถมพนักงานยังขับรถไม่สุภาพ 

รวมทั้งในกระแสโซเชียลยังมีการร้องขอให้เปิดเผยสัญญาณสัมปทานรถไฟฟ้าให้โปร่งใส เพราะประชาชนจะต้องเป็นผู้ร่วมตัดสินใจในการต่อสัญญาสัมปทานนั้น เป็นต้น

ในประเด็นปัญหาด้านการขนส่งฯ นี้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ส่วนใหญ่มองว่า รัฐบาลไม่ควรต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส 

 

  • วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

มองว่า ควรมีการเปิดสัญญาสัมปทานเดิมที่ทำกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว และ ในอนาคตไม่ควรต่อสัญญาสัมปทานอีกแล้ว รวมถึงยังเห็นว่าการผลักดันให้เกิดตั๋วร่วมในราคา 15 - 45 บาทตลอดสายสามารถทำได้ 

 

  • รสนา โตสิตระกูล

ที่เห็นว่า รัฐไม่ควรต่อสัญญาสัมปทานกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว และ จะผลักดันค่าโดยสารรถไฟฟ้าในอัตรา 20 บาทตลอดสาย 

 

  • ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

เห็นเช่นเดียวกับอีกสองคน คือ ไม่ควรต่อสัญญาสัมปทาน และ ควรเปิดเผยสัญญาสัมปทานเดิมออกมา รวมทั้งยังสนับสนุนให้ค่าโดยสารต่อเที่ยวมีราคาอยู่ระหว่าง 25 - 30 บาทตลอดสาย

 

  • ศิธา ทิวารี

มองว่า ไม่ควรต่อสัญญาสัมปทานกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเช่นเดียวกัน และ จะผลักดันตั๋วร่วมให้เกิดขึ้นให้ได้

 

  • อัศวิน ขวัญเมือง

เห็นว่า การต่อสัญญาสัมปทานกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวและการเก็บค่าโดยสารในราคาสูงสุดไม่ 65 บาท จะทำให้มวลชนสามารถเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าได้ 

 

  • สกลธี ภัททิยกุล

ก็มีความพยายามจะเชื่อมล้อ ราง เรือ ให้เกิดขึ้นทั่วกรุงเทพฯ​​​​​​​

 

  • สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

​​​​​​​มีความพยายามที่จะแก้ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ ด้วยการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยจัดการ

 

นอกจากนี้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ยังเสนอนโยบายที่ต้องการทำให้ ระบบขนส่งมวลชน มีคุณภาพ เชื่อมต่อกันได้อย่างไร้รอยต่อ 

 

2. ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย 

ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ละคนมีความพยายามที่จะทำให้ กทม. มีผังเมืองที่น่าอยู่ โดนพยายามจะแบ่งโซนของผังเมืองให้เป็นสัดเป็นส่วน รวมถึงมีการนำเสนอนโยบายในการจัดระเบียบไม่ให้กลุ่มทุนเข้ามาครอบครองผังเมืองด้วย

3.ด้านการเงินการธนาคาร

เน้นไปการทำให้ผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ หรือคนที่เกษียณอายุไปแล้ว มีรายได้ที่ได้รับการอุดหนุนจากส่วนกลางเพิ่มมากขึ้น ทั้งการเพิ่มเงินผู้สูงอายุ เพิ่มเงินของเด็กและคนพิการ รวมถึงการเพิ่มเงินบำนาญให้ประชาชน

4.ด้านสินค้าและบริการทั่วไป 

  • วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เน้นไปที่การทำให้ศูนย์เด็กเล็กมีคุณภาพ มีมาตรฐานทัดเทียมเทียบกับของเอกชนได้ 

  • อัศวิน ขวัญเมือง

เน้นไปที่การทำให้หน่วยงานราชการ กทม. มีความโปร่งใส เชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ได้ทันท่วงทีและรวดเร็ว

  • รสนา โตสิตระกูล

เน้นไปที่การทำให้การค้าขายเป็นไปอย่างถูกกฎหมายมากยิ่งขึ้น รวมถึงเน้นให้มีความสะอาด ปลอดภัย และมีพื้นที่ทำเลที่ดีในการรองรับการค้าขาย

5.ด้านบริการสุขภาพ  

ส่วนใหญ่เน้นนำเสนอนโยบายที่ดูแลสุขภาพประชาชน หรือการเข้ารับการรักษาพยาบาล ให้เป็นไปอย่างทันท่วงที ทั่วถึง ครอบคลุมทุกพื้นที่ และมีระบบที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น

6.ด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม 

ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 7 คน เน้นหนักในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว มีสวนสาธารณะมากขึ้น รวมทั้งการจัดการปัญหาขยะ ทั้งการจัดเก็บขยะให้เป็นระบบ แยกขยะให้มากขึ้น และเปลี่ยนขยะให้เป็นรายได้ 

  • วิโรจน์

 นำเสนอนโยบายเปลี่ยนที่รกร้างเป็นสวนสาธารณะ ขณะที่สกลธีมีความพยายามที่จะลดขยะ และ แยกขยะให้มากขึ้น อีกทั้งการเพิ่มสวนสาธารณะขนาดเล็กทั่วเมือง 

  • สุชัชวีร์

จะปฏิวัติระบบการจัดเก็บขยะ จัดการฝุ่น PM2.5 และผลักดันสวนสาธารณะฉบับกระเป๋า 

  • อัศวิน

 จะเดินหน้าปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและทำคลองต่าง ๆ ให้น้ำในคลองใสขึ้น ขณะที่รสนานั้นเน้นไปทำเรื่องกองทุนหลังคาบ้านโซลาร์เซลล์ 

  • ชัชชาติ

มีการนำเสนอแนวคิดเปลี่ยนขยะเป็นรายได้ และ ผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วย 

  • ศิธา

ที่จะผลักดันให้มีพื้นที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงเพิ่มพื้นที่สีเขียวใน กทม. ให้มากขึ้น

7.ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ 

แต่ละคนพยายามทำให้ กทม. กลายเป็นเมืองดิจิทัล โดยการติดตั้งไวไฟฟรีทั่วเมือง เตรียมพร้อมในเรื่องความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ รวมถึงการปรับเปลี่ยนระบบการยื่นขอใบอนุญาตต่าง ๆ ให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ 

8.ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ 

ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อย่างสุชัชวีร์ เน้นนโยบายเรื่องอาหารดี มีคุณภาพ ขณะที่คุณรสนาเน้นนโยบายที่ทำให้อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ ถูกกฎหมาย มีคุณภาพ ปลอดภัย มากยิ่งขึ้น 

9.ด้านการศึกษา 

แต่ละคนมีการนำเสนอนโยบายที่ทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่ที่ตอบโจทย์นักเรียน ปรับหลักสูตรมีคุณภาพและเหมาะสมขึ้น รวมถึงสนับสนุนให้โรงเรียนมีพื้นที่ให้เอื้อต่อการทำกิจกรรมอื่น ๆ สำหรับเด็ก

นโยบายของแต่ละคนตอบโจทย์ผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด และ ใครมีนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคที่โดนใจผู้บริโภค

วันอาทิตย์ ที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค สนับสนุนชาว กทม. ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกัน