วิธีเลือกซื้อ“ทุเรียน” แค่เคาะไม่พอ ดูให้ชัดว่า ป้ายยาเร่งสุกที่ขั้วไหม

วิธีเลือกซื้อ“ทุเรียน” แค่เคาะไม่พอ ดูให้ชัดว่า ป้ายยาเร่งสุกที่ขั้วไหม

ซื้อ"ทุเรียน"ต้องเลือกอย่างไร...เนื้อห่าม เนื้อสุก สีของทุเรียนแบบไหนอร่อยสุดๆ ป้ายยาเร่งสุกอันตรายไหม รวบรวมคำตอบไว้ให้ครบ

ทุเรียน เป็นผลไม้ที่มีกลิ่นเฉพาะตัว เนื่องจากมีส่วนผสมของสารระเหยที่ประกอบไปด้วยเอสเทอร์คีโตนและสารประกอบกำมะถัน มีเปลือกหนา หนามแหลมแข็ง

ทุเรียนเป็นพืชพื้นเมืองของบรูไนอินโดนีเซียและมาเลเซียและเป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกมาประมาณ 600 ปีมาแล้ว 

ปกติแล้วเนื้อในของทุเรียนกินได้หลากหลาย ไม่ว่าห่ามหรือสุกงอม บางคนก็บอกว่า ทุเรียนมีกลิ่นหอม แต่บางคนบอกว่าเหม็น จึงมีข้อห้ามนำทุเรียนเข้าไปในพื้นที่สาธารณะ

 

วิธีเลือกซื้อทุเรียนเป็นลูก

-เคาะแล้วฟังเสียง

ถ้าเคาะแล้วเสียงโปร่งๆ เหมือนมีรูเป็นโพรง แสดงว่าทุเรียนสุกแล้ว เนื่องจากเสียงโปร่งๆ เกิดจากช่องว่างที่เป็นโพรงในผลทุเรียน

-ปลายหนามต้องแห้ง

ปลายหนามต้องแห้ง สีน้ำตาล และหนามทุเรียนค่อนข้างห่างจากกัน ถ้าหนามทุเรียนถ่างกว้าง โดยเฉพาะฐานหนามแสดงว่าทุเรียนเริ่มสุก ถ้าเป็นทุเรียนอ่อนจะมีปลายหนามสีเขียว

-ขั้วทุเรียน

ถ้าเริ่มจะหลุดออกจากผล ก้านทุเรียนจะมีเริ่มสีเข้ม จับแล้วสากๆ ก็ลองเลื่อนสายตามาดูเหนือข้อต่อของก้านทุเรียนที่เรียกว่า ปลิงทุเรียน ถ้าเริ่มปริแล้วเห็นเนื้อในก้านสีเขียวออกขาว ลักษณะปลิงบวมโต แสดงว่าทุเรียนสุกแล้ว 

ถ้าขั้วยังแน่นอยู่ นั่นแสดงว่าเนื้อแข็งหรือยังไม่สุกดี  ถ้าไม่มีขั้วยิ่งไม่ควรซื้อ อาจเป็นทุเรียนที่โดนตัดขั้วออกด้วยเหตุผลบางอย่าง 

-กลิ่นทุเรียน

ถ้ากลิ่นบางๆ แสดงว่าเริ่มหอมหวานกำลังดี ถ้ากลิ่นโชยเริ่มรุนแรง แสดงว่าเป็นทุเรียนปลาร้าที่สุกมากไป แต่ถ้าทุเรียนพันธุ์ที่มีเปลือกหนา ก็ยากต่อการดมกลิ่น

-เนื้อทุเรียน

ลองกดเนื้อทุเรียนดูเบาๆ เนื้อต้องไม่แข็งมาก แต่ถ้าบุ๋มลงไปเลย จนเป็นรอยนิ้วมือเหมาะแก่การทำข้าวเหนียวทุเรียนมากกว่า

วิธีเลือกซื้อทุเรียนแกะเนื้อแล้ว

-สังเกตสีของเนื้อทุเรียน มีสีเหลืองนวลตามพันธุ์ ไม่มีรอยช้ำ หรือรอยดำจากการจับ

-เลือกทุเรียนที่ไม่มีแกนสีขาวมากจนเกินไป

-เนื้อทุเรียนดูไม่แข็ง ไม่มีรอยแตกบนผิวทุเรียน

ยาป้ายเร่งสุกทุเรียน อันตรายไหม

ปกติการบ่มผลไม้ให้สุกสม่ำเสมอ นิยมใช้ เอทีฟอน (ethephon) ซึ่งเป็นสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชที่ปลดปล่อยเอทิลีน มีพิษค่อนข้างต่ำและสลายตัวได้ง่าย

ข้อมูลจาก ดร.พีรพงษ์ แสงวนางค์กูล และคณะ จากศูนย์เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ผู้ศึกษาปริมาณสารเอทีฟอนตกค้างในผลทุเรียนบ่ม พบว่า

การบ่มทุเรียนด้วยสารละลายเอทีฟอนในสภาพจำลองการจำหน่ายในประเทศมีสารตกค้างที่เปลือกมากกว่าการบ่มในสภาพจำลองการส่งออกทางเรือซึ่งใช้ระยะเวลานานกว่า สารจึงมีระยะเวลาในการสลายตัวได้มากกว่า 

เมื่อพิจารณาวิธีการบ่ม พบว่า การบ่มทุเรียนโดยการชุบผลในสารละลายเอทีฟอนเข้มข้น 0.2% และ 0.4% มีสารตกค้างในส่วนเปลือกมากที่สุดและมากกว่าการบ่มโดยการป้ายเฉพาะบริเวณรอยตัดที่ก้านผลด้วย

ผลทั้งหมดทั้งที่บ่มและไม่บ่ม ไม่พบว่า มีสารตกค้างในส่วนเนื้อผล มีเพียงบางผลที่พบสารในปริมาณที่น้อยมาก โดยผลที่พบสารตกค้างในส่วนเนื้อมากที่สุด เป็นผลที่บ่มโดยการป้ายขั้วด้วยสารละลายเข้มข้น 52% มีสารตกค้างเพียง 0.190 มิลลิกรัม/เนื้อทุเรียน 1 กิโลกรัม เท่านั้น

ดังนั้นการบ่มผลทุเรียนด้วยสารละลายเอทีฟอนจึงมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค