ตลาด “สตรีมมิง” โตเร็ว ทำให้ผู้บริโภค “รับข้อมูลมากเกินไป” ?

ตลาด “สตรีมมิง” โตเร็ว ทำให้ผู้บริโภค “รับข้อมูลมากเกินไป” ?

จำนวนผู้ใช้งานบริการสตรีมมิงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหนึ่งคนมักไม่ได้มีแค่แพลตฟอร์มเดียว ภาวะดังกล่าวทำให้เกิดการรับข้อมูลที่มากเกินไปและเหนื่อยที่จะจำว่าคอนเทนต์ใดอยู่ที่แพลตฟอร์มใด และลดจำนวนบริการสตรีมมิงลง

ในปัจจุบัน ตลาดสตรีมมิงเติบโตขึ้นอย่างมาก มีผู้ให้บริการสตรีมมิงมากมาย หลากหลายประเภทของเนื้อหาทั้งซีรีส์ไทย เกาหลี จีน ตะวันตก ให้ผู้ชมได้เลือกสรรตามความชอบ ไม่ว่าจะเป็น “Netflix”, “Disney Plus”, “Viu”, “WeTV”, “Apple TV Plus”, “iQIYI” และอีกหลายแพลตฟอร์มที่ยังไม่ได้เข้ามาทำการตลาดในประเทศไทย อาทิ “Amazon Prime”, “HBO MAX”, “Paramount Plus” และ “Hulu”

ตลอดจนสตรีมมิงของค่ายเครือข่ายโทรศัพท์มือถืออย่าง “True ID” และ “AIS Play” รวมไปถึงบริการสตรีมมิงเฉพาะกลุ่ม อย่าง “WOW Plus” ที่มีรายการตระกูล “Rupaul’s Drag Race” เป็นตัวชูโรง และ “GagaOOLala” ที่รวบรวมคอนเทนต์สำหรับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

บริการสตรีมมิงเหล่านี้ล้วนเปลี่ยนพฤติกรรมการรับชมรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะเดียวกันบริการสตรีมมิงที่มีจำนวนมาก ย่อมส่งผลให้ แต่ละบริการผลิตซีรีส์ รายการ และภาพยนตร์ออกมาจำนวนมาก เพื่อดึงดูดให้ผู้ชมเสียค่าสมัคร แต่ด้วยเนื้อหาที่มหาศาลขนาดนี้ มันมากเกินไปสำหรับผู้ชมหรือไม่

แม้ว่ายอดสมาชิกทั่วโลกของ Netflix ในไตรมาสแรกของปีนี้จะลดลงถึง 200,000 ราย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบสิบปีที่ยอดสมาชิกของ Netflix ลดลง แต่ Netflix ยังครองตลาดสตรีมมิงด้วยยอดสมาชิกกว่า 222 ล้านรายทั่วโลก ตามมาด้วย Amazon Prime ที่มียอดสมาชิก 148.6 ล้านราย ขณะที่ Disney Plus กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังจากเปิดตัวไปในปี 2563 โดยในไตรมาสแรกของปีนี้มีผู้สมัครสมาชิกกว่า 129.8 ล้านราย

จำนวนผู้ใช้งานบริการสตรีมมิงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะสอดคล้องกับการทำแบบสำรวจของ Civil Science เกี่ยวกับพฤติกรรมการรับชมภาพยนตร์ของชาวอเมริกัน พบว่า กว่า 70% ของชาวอเมริกันผู้ทำแบบสำรวจนิยมดูภาพยนตร์ที่บ้านผ่านระบบสตรีมมิงมากกว่าไปที่โรงภาพยนตร์ ขณะเดียวกัน ผลสำรวจของบริษัท Nielsen Global Media พบว่า ชาวอังกฤษนิยมดูรายการโทรทัศน์ เช่น ช่อง BBC และ ช่อง 4 ผ่านทางแอปพลิเคชันและระบบสตรีมมิงมากกว่าการรับชมผ่านโทรทัศน์

เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่จะเห็นได้ว่าเรตติ้งของรายการและละครในปี 2564 ไม่สามารถทำได้ถึงเลข 2 หลัก มีเพียงแค่การฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2020 รอบรองชนะเลิศ นัดที่ 2 และรอบชิงชนะเลิศ นัดแรก ที่ทำเรตติ้ง 10 พอดีทั้ง 2 นัด ขณะที่ละครที่ทำเรตติ้งสูงสุด คือ ตอนจบของละครเรื่อง วันทอง ที่ทำเรตติ้งถึง 7.6 ซึ่งต่างจากปีก่อน ๆ ที่ยังมีเรตติ้ง 2 หลัก นั่นแสดงให้เห็นว่ามีผู้ชมทางโทรทัศน์ลดน้อยลง

ลิซา โฮล์ม (Lisa Holme) รองประธานอาวุโสฝ่ายเนื้อหาและกลยุทธ์เชิงพาณิชย์ของ Discovery บริษัทโทรทัศน์ในสหรัฐ กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้บริโภคจะเลิกใช้บริการสตรีมมิงจำนวนมาก เนื่องจากมีตัวเลือกที่มากเกินไป

“ตอนนี้ในตลาดมีสตรีมมิงอย่างน้อย 6-8 แพลตฟอร์ม ที่ได้รับความนิยม ซึ่งทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่ามีตัวเลือกมากเกินไป ทั้งรู้สึกสับสน เหนื่อย และรำคาญที่ต้องสมัครหลาย ๆ สตรีมมิงเพื่อที่จะดูคอนเทนต์ที่ต้องการทั้งหมด”

จากการสำรวจของ Parks Associates บริษัทวิจัยด้านการตลาดพบว่า กว่า 46% ของชาวอเมริกันสมัครบริการสตรีมมิงมากกว่า 4 แพลตฟอร์มด้วยกัน ขณะที่ผู้ใช้งานในอังกฤษกว่า 65% สมัครบริการสตรีมมิง 2 แพลตฟอร์มขึ้นไป

ฟิล ฮอปกินส์ (Phil Hopkins) ประธานช่อง Fandor บริการสตรีมมิงที่เน้นภาพยนตร์ต่างประเทศและสารคดีนอกกระแส กล่าวว่า ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดในตลาดตอนนี้ คือ สตรีมมิงแต่ละแพลตฟอร์มมีความคล้ายคลึงกันหมด ดังนั้นจึงต้องสร้างอัตลักษณ์ ความโดดเด่น และแตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ ให้ได้ เขายังกล่าวอีกว่า Disney Plus มีข้อได้เปรียบมากสุด

“ดิสนีย์มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง แค่ชื่อก็สามารถดึงดูดผู้คนได้แล้ว แต่กับสตรีมมิงอื่น ๆ จะมีกี่แพลตฟอร์มที่สามารถอยู่รอดได้ด้วยข้อดีของตัวเอง เพราะสุดท้ายแล้วผู้บริโภคจะเหนื่อยที่ตามสมัครทุกแพลตฟอร์ม และมองหาเฉพาะแพลตฟอร์มที่แปลกใหม่และแตกต่าง”

ขณะที่ Paramount Plus ที่พึ่งเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งในปัจจุบันมีผู้สมัครใช้งานแล้วกว่า 32 ล้านบัญชี โดยปีนี้มีกลยุทธ์ในการดึงดูดด้วยการถ่ายทอดสดทั้งข่าวและกีฬา และมีตารางออกอากาศที่แน่นอนเหมือนกับช่องโทรทัศน์

ทอม ไรอัน (Tom Ryan) ประธานและหัวหน้าผู้บริหารของ ViacomCBS Streaming เจ้าของ Paramount Plus กล่าวว่า “แม้เราจะอยู่ในยุคสตรีมมิง แต่เห็นได้ชัดว่าผู้บริโภคยังต้องการรายการทีวีแบบเก่าที่ถูกนำมาปรับปรุงใหม่ ให้ง่ายและสะดวกสบายสำหรับผู้ชมให้มากขึ้น”

ด้าน Struum เป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิงที่รวบรวมเอาคอนเทนต์จากหลาย ๆ ที่รวมเข้าด้วยกัน ดังนั้นในการสมัครบริการครั้งเดียวจะได้รับชมคอนเทนต์จากผู้ผลิต 25 ราย โดย ลอเรน เดวิเลียร์ (Lauren Devillier) หัวหน้าผู้บริหารของ Struum กล่าวว่า ผู้บริโภคต้องการค้นพบประสบการณ์ใหม่จากรายการหรือภาพยนตร์ที่ไม่เคยดูมาก่อน และ Struum จะเป็นตัวช่วยในการหาคอนเทนต์ที่ต้องการแบบเจาะลึกได้อย่างง่ายดาย

จากผลสำรวจของ Nielsen เกี่ยวกับความเห็นของผู้ใช้งานที่มีต่อแพลตฟอร์มสตรีมมิง ในชื่อ “State of Play” การสำรวจพบว่า 46% ของผู้ใช้บริการสตรีมมิงรู้สึกท่วมท้นต่อจำนวนแพลตฟอร์มและชื่อคอนเทนต์ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้ยากต่อการจดจำและค้นหาว่าคอนเทนต์นั้น ๆ อยู่ในแพลตฟอร์มใด

ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ผลสำรวจจะออกมาในทิศทางนี้ เนื่องจาก เดือนก.พ. ที่ผ่านมา มีซีรีส์ ภาพยนตร์ รายการพิเศษ และรายการอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 817,000 รายการ ที่พร้อมให้บริการผ่านบริการสตรีมมิง เพิ่มขึ้น 171,000 รายการ หรือประมาณ 26.5% ตั้งแต่สิ้นปี 2562 ส่งผลให้ระยะเวลารวมของเนื้อหาเดือนก.พ. ที่ผ่านมาเป็น 169,400 ล้านนาที เพิ่มขึ้น 18% จากปีก่อนหน้า ที่ 143,200 ล้านนาที

ด้วยปริมาณเนื้อหาที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 2 ใน 3 สนใจบริการแบบรวมกลุ่มที่อนุญาตให้เข้าถึงแพลตฟอร์มต่างๆ มากมาย โดยที่พวกเขาสามารถเลือกได้ ซึ่งจะทำให้ประหยัดเงินได้มากยิ่งขึ้น

พอล เอริคสัน (Paul Erickson) นักวิเคราะห์อาวุโสของบริษัทวิจัยตลาด Parks Associates กล่าวว่า การเติบโตของบริการสตรีมมิงได้รับแรงหนุนจากการระบาดแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และยังคงเติบโตต่อไป แม้หลายประเทศเริ่มมีมาตรการผ่อนปรน จนผู้คนจะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ 

อย่างไรก็ตาม เอริคสันเตือนว่า การเติบโตของการสมัครรับข้อมูลในตลาดวิดีโอสตรีมมิงเริ่มชะลอตัวลง เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนมากกำลังประสบกับปัญหา "การสมัครรับข้อมูลมากเกินไป" ทำให้ผู้บริโภคเริ่มเลือกที่จะสมัครเฉพาะแพลตฟอร์มที่สนใจ และรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ Netflix ที่ระบุว่าในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ จะมียอดผู้สมัครสมาชิกลดลงอีก 2 ล้านราย 

 

ที่มา: BBC, ForbesHollywood Reporter, Next TVThe Guardian