8 หนังไทยยอดฮิต ที่ต่างชาติเอาไปรีเมค

8 หนังไทยยอดฮิต ที่ต่างชาติเอาไปรีเมค

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ได้รวบรวม 8 ภาพยนตร์ไทย ที่ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างเป็นเวอร์ชันต่างประเทศ จะมีเรื่องอะไรบ้าง ติดตามกันเลย

ไม่เพียงแต่วงการบันเทิงไทยจะซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์ต่างประเทศมารีเมคเป็นเวอร์ชันไทยเท่านั้น แต่ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องที่โด่งดัง เป็นที่นิยม มีพล็อตเรื่องที่ยอดเยี่ยม จนกวาดรางวัลระดับนานาชาติมาครองได้ ทำให้หลายชาติได้ซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างเป็นภาพยนตร์เวอร์ชันของตน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้รวบรวม 8 ภาพยนตร์ไทย ที่ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างเป็นเวอร์ชันต่างประเทศ จะมีเรื่องอะไรบ้าง ติดตามกันเลย

1. บางกอก แดนเจอรัส (2542) // Bangkok Dangerous (2551)
บางกอก แดนเจอรัส เพชฌฆาตเงียบ อันตราย” (2542) เป็นผลงานกำกับชิ้นแรกของพี่น้องตระกูลแปง “ออกไซด์ แปง” และ “แดนนี แปง” เป็นเรื่องราวของมือปืนที่เป็นใบ้และหูหนวก นำแสดงโดย “แบงค์ - ปวริศร์ มงคลพิสิฐ” และ “เมย์ - ภัทรวรินทร์ ทิมกุล” โดยภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถกวาดรางวัลทุกสถาบันในปีนั้น รวมถึง รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ และชมรมวิจารณ์บันเทิง

ไม่เพียงแต่กระแสชื่นชมในประเทศเท่านั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับความชื่นชมในการฉายในต่างประเทศ จนได้รับการติดต่อซื้อลิขสิทธิ์จากบริษัท Saturn Films เพื่อนำมาสร้างใหม่ในเวอร์ชันฮอลลีวูด โดยให้พี่น้องแปงเป็นผู้กำกับ มี นิโคลัส เคจ นักแสดงฝีมือฉกาจ เป็นนักแสดงนำ ซึ่งยังคงใช้ชื่อเรื่องเดิมว่า “Bangkok Dangerous” ออกฉายในปี 2551 ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงกลายเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ต่างประเทศซื้อไปสร้างใหม่

2. ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547) // Shutter (2551)

หากพูดถึงภาพยนตร์สยองขวัญระดับตำนานของไทย หนึ่งในนั้นคงจะต้องมี “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” ที่ออกฉายในปี 2547 เป็นหนึ่งในนั้น ด้วยพล็อตที่แปลกใหม่และหักมุม อีกทั้งการปรากฏของวิญญาณในเรื่องที่ชวนขนลุก น่ากลัว ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้ไปถึง 107 ล้านบาท และได้ออกฉายในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก

พร้อมทั้งได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศมากมาย อีกทั้งยังถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปทำเป็นเวอร์ชันฮอลลีวูดในชื่อ “Shutter” ออกฉายในปี 2551 ซึ่งได้กระแสตอบรับที่ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก 

 

3. 13 เกมสยอง (2549) // 13 Sins (2557)

13 เกมสยอง” เป็นภาพยนตร์ไทยแนวระทึกขวัญ ที่ดัดแปลงจาก "13th Quiz Show" ซึ่งเป็นตอนหนึ่งในหนังสือการ์ตูน “รวมเรื่องสั้นจิตหลุด” (My Mania) ของ “เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์” แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำรายได้ไปเพียง 18 ล้านกว่าบาทเท่านั้น แต่ก็กลายเป็นภาพยนตร์ในใจของใครหลายคน เนื่องจากไม่ค่อยมีภาพยนตร์แนวนี้ในไทย

อีกทั้งยังมีความโหด ดิบ เลือดสาด แต่แฝงไปด้วยแง่คิดพร้อมเสียดสีสังคม รวมถึงการแสดงชั้นยอดของ “กฤษดา สุโกศล” หรือ “น้อย วงพรู” ที่ทำให้กวาดรางวัลนักแสดงนำชายจากทุกเวทีในปีนี้นั้นมาครอง และถูกนำไปสร้างในเวอร์ชันฮอลลีวูดในชื่อ 13 Sins ออกฉายในปี 2557

อย่างไรก็ตาม มีการสร้างหนังสั้นภาคก่อนของ 13 เกมสยอง ได้แก่ 11 Earthcore และ 12 Begin รวมถึงมีภาคต่อชื่อว่า “14 Beyond” ที่เคยประกาศสร้างตั้งแต่ปี 2555 แต่ได้พับโครงการไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็ไม่แน่ว่าอาจจะมีการนำกลับมาทำใหม่ในอนาคต 

4. แฝด (2550) // Alone (2558) 

การกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งของผู้กำกับ ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ “บรรจง ปิสัญธนะกูล” และ “ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ” ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะสามารถทำให้ “แฝด” ภาพยนตร์สยองขวัญ นำแสดงโดย “มาช่า วัฒนพานิช” คว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงจากเวทีรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 17 และทำรายได้ไปกว่า 67 ล้านบาท อีกทั้งยังมีพล็อตที่หักมุม และการปรากฏตัวของผีที่เหนือความคาดหมายเช่นเดิม

แฝดถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์อินเดียถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก คือ “Chaarulatha” ในภาษากันนาดาและทมิฬ ออกฉายในปี 2555 และอีกครั้งในเวอร์ชันภาพยนตร์บอลลีวูดเรื่อง “Alone” ออกฉายในปี 2558 ซึ่งสามารถทำรายได้เปิดตัวสูงสุดในสัปดาห์แรกบนบ็อกซ์ ออฟฟิศอินเดีย

 

5. คิดถึงวิทยา (2557) // Notebook (2562)

คิดถึงวิทยา” เป็นภาพยนตร์โรแมนติกอบอุ่นหัวใจ ที่ออกฉายในปี 2557 โดยมีเค้าโครงมาจากเรื่องจริง และโรงเรียนกลางน้ำในเรื่องก็เป็นสถานที่จริง คือ โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร สาขาเรือนแพ ริมลำน้ำปิงเหนือเขื่อนภูมิพล ในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน คิดถึงวิทยาเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกของปี 2557 ทำรายได้มากกว่า 100 ล้านบาท พร้อมทั้งชิงรางวัลมากมาย และเป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเข้าชิงรางวัลออสการ์อีกด้วย

ด้วยความสำเร็จขนาดนี้ทำให้คิดถึงวิทยาถูกนำไปสร้างใหม่เป็นภาพยนตร์บอลลีวูดในชื่อเรื่อง Notebook ออกฉายในปี 2562

6. ไอฟาย.. แต๊งกิ้ว.. เลิฟยู้ (2557) // Love You... Love You Not (2558)

ไอฟาย.. แต๊งกิ้ว.. เลิฟยู้” เป็นภาพยนตร์แนวโรแมนติกคอมเมดี้ ที่สร้างประวัติศาสตร์เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้เปิดตัววันเดียวสูงสุดกว่า 29 ล้านบาท และสามารถทำรายได้ตลอดกาลเข้าฉายถึง 330 ล้านบาท คว้าอันดับ 2 ของภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาล เป็นรองเพียงแค่ “พี่มาก พระโขนง

พร้อมทั้งได้เข้าฉายในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้รับกระแสตอบรับที่ดี จนถูกนำไปสร้างเป็นเวอร์ชันอินโดนีเซียในชื่อ  Love You... Love You Not ซึ่งฉายในปี 2558

 

7. แฟนกันแค่วันเดียว (2559) // I Remember (2563)

ภาพยนตร์โรแมนติก ดรามา อย่าง “แฟนเดย์...แฟนกันแค่วันเดียวกลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้เป็นอันดับ 2 ประจำปี 2559 ด้วยรายได้กว่า 111 ล้านบาท อีกทั้งยังทำให้เพลง “ฝันลำเอียง” ของ “แจ้ - ดนุพล แก้วกาญจน์” กลับมาฮิตอีกครั้ง หลังจากถูกนำมาใช้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ อีกทั้งยังทำให้คนได้รู้จักกลุ่มอาการลืมเหตุการณ์ทั้งหมดชั่วคราว (Transient Global Amnesia: TGA)

อีกทั้งได้มีการสร้างเวอร์ชันจีนออกมาในชื่อ “I Remember” ออกฉายในปี 2563 ซึ่งได้เข้ามาฉายในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

8. ฉลาดเกมส์โกง (2560) 

ฉลาดเกมส์โกง” เป็นภาพยนตร์แนวจารกรรม-ระทึกขวัญ ซึ่งสร้างความแตกต่างและแปลกใหม่ให้แก่วงการภาพยนตร์ไทย ด้วยการสร้างสถิติเป็นภาพยนตร์ไทยที่สามารถคว้ารางวัลได้มากที่สุดบนเวทีรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ มากถึง 12 รางวัล อีกทั้งทำรายได้ตลอดการเข้าฉายได้ถึง 113 ล้านบาท 

ฉลาดเกมส์โกงยังได้รับคัดเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์ชั้นนำทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลในต่างประเทศกว่า 26.88 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ยังมีการดัดแปลงเป็นเวอร์ชันซีรีส์ในชื่อ “ฉลาดเกมส์โกง เดอะ ซีรีส์” ซึ่งได้กระแสตอบรับที่ดีไม่แพ้เวอร์ชันภาพยนตร์

สำหรับ ฉลาดเกมส์โกงเวอร์ชันฮอลลีวูดนี้ ได้ “แพทริค วอชเบอร์เกอร์” (Patrick Wachsberger) โปรดิวเซอร์ “CODA” ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของเวทีออสการ์ปีล่าสุด และ “เอริก ฟีก” (Erik Feig) โปรดิวเซอร์จากแฟรนไชส์ “Step Up” มาดูแล โดยได้ "จูเลียส โอนาห์" (Julius Onah) มานั่งแท่นผู้กำกับ โดยดัดแปลงให้เข้ากับบริบทสังคมอเมริกันมากยิ่งขึ้น และมีการเสียดสีระบบการศึกษาของอเมริกาอีกด้วย 

ขณะนี้อยู่ในช่วงการคัดเลือกนักแสดงมารับบทต่าง ๆ ในภาพยนตร์ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มถ่ายทำได้ในช่วงซัมเมอร์ของปีนี้ ต้องมารอดูกันว่า ฉลาดเกมส์โกงเวอร์ชันฮอลลีวูดนี้จะระทึกและน่าติดตามขนาดไหน

 

8 หนังไทยยอดฮิต ที่ต่างชาติเอาไปรีเมค

กราฟิก: ณัฐนิช อิสรเสรีธรรม