พ่อแม่เซฟลูก! บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายเพียบ 'ทอยพอด' พังสมองเด็ก

จากการสำรวจในประเทศไทย พบว่าอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปในปี 2567 มีจำนวน 900,459 คน
KEY
POINTS
- คนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 900,459 คน คิดเป็น 1.52% แบ่งเป็นเพศชาย 842,652 คน เพศหญิง 57,807 คน
- ปัญหาใหญ่ของบุหรี่ไฟฟ้าในไทย คือ เด็กเยาวชน ผู้ปกครอง ครอบครัว โรงเรียน ขาดความรู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้า และมองว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย
- เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือครู รู้ว่าเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้า อย่าแพ่งโทษจนเกินไป แต่ควรพูดคุยกับเด็ก แสดงความเป็นห่วงพวกเขา ให้ความรู้ ข้อเสียของบุหรี่ไฟฟ้า และติดตามไปเรื่อยๆ
จากการสำรวจในประเทศไทย พบว่าอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปในปี 2567 มีจำนวน 900,459 คน คิดเป็น 1.52% จากจำนวนผู้สูบบุหรี่ทั้งหมดที่มีจำนวน 9.7 ล้านคน ถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปี 2557 ที่มีจำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า 48,336 คน หรือ 0.10%
“การสูบบุหรี่ไฟฟ้า” ถือเป็นการนำสารเสพติดนิโคตินเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็น อันตรายอย่างมากต่อสมองของเด็กวัยรุ่นในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ การควบคุมอารมณ์ โดยวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่มวนและใช้ยาเสพติดชนิดอื่น ๆ ตามมา อีกทั้ง พบว่าวัยรุ่นไทย 7 ใน 10 คนที่ติดบุหรี่มวนไม่สามารถเลิกสูบไปตลอดชีวิต เพราะเสพติดนิโคติน ขณะที่บุหรี่ไฟฟ้าส่อว่าจะเสพติดหนักหน่วง และเลิกยากยิ่งกว่าบุหรี่มวน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
วัยรุ่นสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพียบ ห่วงเด็กหญิงไทยสูบบุหรี่เพิ่ม 8 เท่า
'บุหรี่-เหล้า' ประตูสู่ยาเสพติด ห่วง 'บุหรี่ไฟฟ้า'ดึง เด็กเยาวชน
คนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้ากว่า 9 แสนคน
วันนี้ (11 มิถุนายน 2568) ที่โรงแรม Courtyard by Marriott Bangkok สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 1 ได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ "รู้ทันบุหรี่ไฟฟ้า ภัยร้ายใกล้ตัวเด็กและเยาวชน"เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองรับทราบสถานการณ์การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้ากับเยาวชนในปัจจุบัน รวมทั้ง รู้ทันกลยุทธ์การตลาดที่บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้านำมาใช้ในการชักจูงเด็กและเยาวชน
ศ.เกียรติคุณ นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวในเวทีสัมมนาว่าประเทศไทยใช้เวลากว่า 40 ปี กว่าจะลดอัตราการสูบบุหรี่มวนของคนไทยได้ 48% ซึ่งจากรายงานพฤติกรรมการบรโภคยาสูบแบบมีควันของประชากรไทย พ.ศ.2567 สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า
- การสูบบุหรี่ของประชากรไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ทุกประเภทรวมกัน 9,776,637 คน คิดเป็น 16.5% แบ่งเป็นเพศชาย 9,461,836 คน เพศหญิง 314,801 คน
- สูบบุหรี่ไฟฟ้า 900,459 คน คิดเป็น 1.52% แบ่งเป็นเพศชาย 842,652 คน เพศหญิง 57,807 คน
- สูบบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับบุหรี่มวน 506,949 คน
- สูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเดียว 214,863 คน
- สูบบุหรี่ฟ้า+บุหรี่มวน+ยาเส้น 140,064 คน
- สูบบุหรี่ไฟฟ้า+บุหรี่ชนิดอื่นหลายชนิด 38,583 คน
46 ประเทศ ประกาศแบน บุหรี่ไฟฟ้า
ขณะที่สถานการณ์การสูบบุหรี่มวน และบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย 13-15 ปี ในสถานศึกษาปี 2565 พบว่า เยาวชนชายและหญิงมีการสูบบุหรี่ไฟฟ้า มากกว่าสูบบุหรี่มวน ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุชัดเจนว่า บุหรี่ไฟฟ้าทำร้ายสมองของผู้สูบ โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน อีกทั้งจากการสำรวจในต่างประเทศ พบว่า ความเข้มข้นของนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าที่ขายในสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้น 250% นับตั้งแต่ปี 2563 และยิ่งนานวันยิ่งเพิ่มมากขึ้น
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต กล่าวต่อว่าวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 97% จะเลือกสูบแบบที่มีกลิ่นหอม ซึ่งมาตรการที่บอกว่าให้เปิดขายแต่ขายแบบที่ไม่มีกลิ่น จะทำให้นักสูบไปซื้อจากตลาดมืด ทำให้การแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าไม่เกิดขึ้น ในปี 2557 ประเทศไทยห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ในขณะนั้นมี 13 ประเทศทั่วโลกประกาศห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ปัจจุบันนานาประเทศทยอยห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ล่าสุดในเดือน พ.ค. 2568 พบว่ามี 46 ประเทศ ประกาศห้ามขาย บุหรี่ไฟฟ้า เหตุผลหลักเป็นเพราะเกิดการระบาดในเด็กและเยาวชน จากการออกแบบอุปกรณ์สูบ การเติมรสชาตินับ พันรส และการตลาดที่พุ่งเป้าเด็กเยาวชน เกินความสามารถในการควบคุม
“บุหรี่ไฟฟ้า เป็นประตูบานแรกที่ก่อให้เกิดไปใช้สารเสพติดอื่นๆ และอย่าคิดว่าเศรษฐานะที่ดีจะทำให้สังคมของลูกดี ซึ่งจากการสำรวจพบว่า เด็กวัยรุ่น 1ใน3 ไม่เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดปอดอักเสบ และ 1 ใน 3 ไม่เชื่อว่า บุหรี่ไฟฟ้าทำลายสมอง และ 40% ไม่เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดโรคหัวใจ ขณะที่ผู้ปกครอง 70% รู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตราย 20 กว่า% ไม่รู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย และ 5% เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้า ไม่อันตราย ดังนั้น การแก้ปัญหาเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า ควรเสริมภูมิคุ้มกันตั้งแต่วัยรุ่นด้วยการให้ความรู้ ทำความเข้าใจกับวัยรุ่นไปเรื่อยๆ รวมถึงพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ต้องให้ความรู้มากกว่าเดิม” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต กล่าว
“ทอยพอด-พอดจมูก” ดึงดูดวัยรุ่น
ผศ.ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่าสถานการณ์การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนไทยยังคงน่าเป็นห่วง โดยกลุ่มเยาวชนถือเป็นเป้าหมายหลักของบริษัทผู้ผลิต เห็นได้จากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ "ทอยพอด' ที่มีความหลากหลาย มีสีสันสวยงาม ใช้งานง่ายเช่น รูปตุ๊กตา ซึ่งเป็นที่นิยมของกลุ่มเด็กและเยาวชน
โดยล่าสุด บริษัทผู้ผลิตได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในชื่อ 'พอดจมูก' หรือ Nose pod ซึ่งมีลักษณะคล้ายยาดม โดยทอยพอดและพอดจมูก จะมีขนาดเล็กสีสันสวยงามใช้งานง่ายเหมาะสำหรับนักสูบมือใหม่แยกไม่ออกว่าเป็นของเล่นจริงหรือบุหรี่ไฟฟ้า และยังมีกลิ่นหอมหลากหลายชนิด เยาวชนจำนวนมากจึงเข้าใจผิดว่าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ทั้งนี้ ทอยพอดถูกออกแบบมาให้สูบทางจมูกแทนการสูบทางปาก แม้ควันจะเบาบางไม่เหมือนบุหรี่ไฟฟ้าทั่วไป แต่ยังคงมีสารนิโคตินและสารเคมีอื่นที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบสมอง และมีผลต่อพัฒนาการของเยาวชนผู้ปกครอง ครู-และสังคมควรร่วมกันเฝ้าระวังและให้ความรู้แก่เยาวชนถึงอันตรายที่แท้จริงของบุหรี่ไฟฟ้าในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งทอยพอดและพอดจมูก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบในคราบของเล่นที่ดึงดูดกลุ่มเยาวชนโดยเฉพาะ
“3 เทคนิคสำหรับพ่อแม่จับโปะ ”ทอยพอด หรือ พอดจมูก“ได้แก่ มองเห็น เข้าใจ และได้กลิ่น ซึ่งการมองเห็น คือ พ่อแม่ต้องแยกให้ได้ว่าเป็นของเล่น หรือเป็นทอยพอด เพราะตอนนี้ทอยพอดทำเหมือนของเล่นมากๆ ส่วน เข้าใจ คือ ไม่ว่าจะอยู่ในทอยพอด หรือรูปลักษณ์แบบใด พ่อแม่ต้องเข้าใจว่ามีนิโคติน และเป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน และได้กลิ่น บุหรี่ไฟฟ้าวางไวเฉยๆ โดยไม่ต้องจุดดูด ก็มีกลิ่น แต่ของเล่นจะไม่มีกลิ่น ดังนั้น พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง และคอยดูลูกของตนเอง” ผศ.ดร.ศรีรัช กล่าว
อย่าแพ่งโทษ ควรห่วงใย พูดคุยให้ความรู้
ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ กุมารแพทย์ (หมอวิน เพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ) กล่าวว่าบุหรี่ไฟฟ้า มีอันตรายไม่ต่างจากบุหรี่มวน โดยมีนิโคตินสูงมาก ก่อให้เกิดอันตรายต่อสมอง โดยเฉพาะสมองของเด็กที่ยังเจริญไม่เต็มที่ ส่งผลต่อการพัฒนาของสมองและการเรียนรู้อย่างมาก อีกทั้ง บุหรี่ไฟฟ้ายังมีความสะดวกในการใช้งานเพราะไม่ต้องใช้ไฟ พกพาได้ง่าย และรูปแบบของบุหรี่ไฟฟ้ายังถูกออกแบบ ให้มีความน่ารักสวยงามมีรสชาติหอมหวานดูไม่เป็นพิษภัย แต่การสูบแต่ละครั้งอาจได้ปริมาณ นิโคตินมากกว่าการสูบบุหรี่ปกติ
“เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือครู รู้ว่าเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้า อย่าแพ่งโทษจนเกินไป แต่ควรพูดคุยกับเด็ก แสดงความเป็นห่วงพวกเขา ให้ความรู้ ข้อเสียของบุหรี่ไฟฟ้า และติดตามไปเรื่อยๆ ทำให้เด็กกล้าพูด กล้าเล่าว่าทำไมเขาถึงสูบ และช่วยพวกเขารู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมถึงครูและผู้ใหญ่ในสังคมต้องสอดส่องดูแลเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าให้มาก โดยให้ความรู้ถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ต้องทำให้เด็กและเยาวชนเข้าใจถึงการตลาดของบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าเหล่านี้”ผศ.นพ. วรวุฒิ กล่าว
เด็กประถมรู้จักบุหรี่ไฟฟ้า สังคมต้องสอดส่อง
นส.ยศวดี ดิสสระ ผู้แทนเยาวชนในนามเครือข่ายนักสื่อสารรุ่นใหม่ กล่าวว่า ผลการสำรวจข้อมูลจากการลงพื้นที่ในจังหวัดต่าง ๆ พบว่ากรณีครูยึดบุหรี่ไฟฟ้าจากนักเรียน แต่กลับถูกผู้ปกครองมาพบที่โรงเรียน เพราะเห็นว่าเป็นของที่ซื้อให้ลูกเองในราคาสูง โดยเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตราย ไม่เสพติด และเป็นเพียงสินค้าแฟชั่นอย่างหนึ่งเท่านั้น จึงจะเห็นภาพร่วมกันชัดเจนว่าบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ทุกที่ในสังคม แต่การรู้เท่าทันยังมีอยู่เฉพาะบางที่และบางคน
ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาใหญ่เรื่อง การขาดความรู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงตัวเยาวชน แต่ยังรวมถึงครอบครัวโรงเรียน และผู้ใหญ่รอบตัว โดยยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องว่าบุหรี่ไฟฟ้าคือผลิตภัณฑ์อันตราย ไม่ใช่ของเล่น ไม่ใช่แฟชั่น และไม่ใช่สิ่งที่ไม่เป็นไรตามที่ใครหลายคนเข้าใจ
"ทุกท่านทราบไหมว่า เด็กประถมรู้จักบุหรี่ไฟฟ้ากันหมดแล้ว" คำถามนี้อาจฟังดูเกินจริง แต่ในฐานะคนทำงานด้านการพัฒนาเยาวชนและสื่อสารสุขภาวะ คำตอบที่ได้รับกลับมานั้นน่าตกใจยิ่งกว่า ซึ่งจากการไปทำ กิจกรรมในโรงเรียนแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพมหานคร เมื่อถามนักเรียนชั้นประถมพบว่าทุกคนเคยได้ยินคำว่าบุหรี่ไฟฟ้า และเด็กมากกว่า 70% บอกว่าเคยลองบุหรี่ไฟฟ้า และมีเด็กบางคนบอกชัดเจนโดยไม่มีความลังเลว่า "ที่บ้านก็ใช้และขายด้วย"นส.ยศวดีกล่าว
การจะทำให้ทุกคนรู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายได้นั้น อาจจะต้องเริ่มจากการพูดคุยเรื่องนี้ภายในบ้าน พ่อแม่ต้องเข้าใจ และต้องไม่ซื้อมาให้ลูกสูบ ขณะเดียวกัน โรงเรียน ครูทุกวิชาสามารถบูรณาการเรื่องนี้เข้าไปในวิชาเรียนได้ เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ สอนให้รู้ว่าสารเคมีในบุหรี่ไฟฟ้ามีอะไรบ้าง และมีโทษอย่างไร หรือ วิชาคณิตศาสตร์ ถ้าไม่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ไม่ซื้อมาสูบ จะทำให้มีเงินเก็บออมเท่าใด เป็นต้น ฉะนั้น การเสริมภูมิคุ้มกันด้วยการให้ความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่สำคัญ