สังคมสูงวัย ไม่ใช่ภาระ 'คาเฟ่ อเมซอน' ให้โอกาสสู่ตลาดงาน

สังคมสูงวัย ไม่ใช่ภาระ 'คาเฟ่ อเมซอน' ให้โอกาสสู่ตลาดงาน

คนไทยมีอายุไขที่ยืนยาวมากขึ้น คนทำงานในวัยสูงอายุจึงเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยทำให้หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยเริ่มมีนโยบายเพิ่มระยะเวลาการเกษียณอายุคนทำงานหลายๆ

KEY

POINTS

  • ผู้สูงอายุจะสามารถปฏิบัติงานได้เหมือนพนักงานปกติ แต่จะมีวิธีการพิจารณาสาขาที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ
  • ในยุคที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ภาคธุรกิจควรมองผู้สูงอายุในฐานะ ‘ทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่า’ ไม่ใช่ ‘ภาระทางสังคม’ และเปิดโอกาสให้พวกเขากลับมาทำงาน
  • การที่ผู้สูงอายุได้ทำงาน มีประโยชน์ทั้งเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพจิตดี เนื่องจากต้องพบปะผู้คน ทำให้ไม่เครียด ไม่เป็นซึมเศร้า และที่สำคัญมีรายได้เป็นของตัวเอง

คนไทยมีอายุไขที่ยืนยาวมากขึ้น คนทำงานในวัยสูงอายุจึงเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยทำให้หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยเริ่มมีนโยบายเพิ่มระยะเวลาการเกษียณอายุคนทำงานหลายๆ บริษัทในประเทศไทย มักจะระบุคุณสมบัติแต่ละตำแหน่งไว้ในประกาศรับสมัครงานว่ารับเฉพาะผู้สมัครที่อายุไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้เท่านั้น 

นอกจากจะทำให้คนรุ่นใหม่หางานยากมากขึ้น มีการแข่งขันสูงขึ้น ผู้สูงอายุเองก็ได้รับผลกระทบจากความต้องการจ้างงานผู้สูงอายุที่น้อยลงเช่นกัน ซึ่งขัดแย้งกับสถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศไทย

ปี 2568 ไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 14.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกิน 20% ของประชากรทั้งหมด “การจ้างงานผู้สูงอายุ” จึงไม่ใช่เป็นการช่วยให้ผู้สูงอายุมีรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอ แล้วยังช่วยบรรเทาภาระงบประมาณภาครัฐ ด้านสวัสดิการชราภาพในระยะยาว ที่สำคัญยังเป็นการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในบางวิชาชีพ จึงเป็นประเด็นที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการบริหารจัดการสถานการณ์ของสังคมผู้สูงอายุในอนาคต

ทั้งนี้ การส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ ต้องมีการกำหนดประเด็นเกี่ยวกับระยะเวลาการทำงานและอายุเกษียณ รวมถึงรูปแบบและข้อเกี่ยวข้องทางกฎหมายต่างๆ ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงพยายามสร้างโอกาสให้แรงงานสูงวัยกลับเข้าสู่ชีวิตการทำงานอีกครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ไทยก้าวสู่ 'สังคมสูงวัย' ระดับสุดยอด กระทบตลาดแรงงาน

จับคู่ 'อาชีพ-ทุน-โอกาส' วัยเก๋าดิจิทัล เข้าถึงได้ทุกที่

ขยายโอกาส สร้างอาชีพสูงวัย

“Café Amazon for Chance” อีกหนึ่งโครงการการดำเนินงานธุรกิจเพื่อสังคมของ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ (OR) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมได้อย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างคุณค่าให้สังคม ขยายโอกาสและสร้างอาชีพผ่านการพัฒนาทักษะการทำงานให้แก่ผู้ขาดโอกาสในกลุ่มต่างๆ ให้สามารถเรียนรู้และฝึกปฏิบัติการเป็นบาริสต้าตามมาตรฐานของร้านคาเฟ่ อเมซอน

ไกรพิท เปรมมณี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจไลฟ์สไตล์ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าโครงการ Café Amazon for Chance เป็นการดำเนินงานธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายขององค์กรในการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจและสังคม (Creating Shared Value - CSV) รวมทั้งสอดคล้องกับแนวคิด OR SDG ในส่วนของ S - Small สร้างโอกาสคนตัวเล็ก

“ได้นำจุดแข็งและความสำเร็จของธุรกิจ Café Amazon มาขยายโอกาส ให้แก่ผู้ขาดโอกาสได้มีอาชีพ โดยพัฒนาทักษะและเป็นบาริสต้าตามมาตรฐานของร้าน Café Amazon เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตัวเอง/ครอบครัว มีรายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งผู้สูงอายุจะสามารถปฏิบัติงานได้เหมือนพนักงานปกติ แต่จะมีวิธีการพิจารณาสาขาที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เช่น สาขาที่ใกล้ที่พัก เดินทางสะดวก, ร้านที่มีขนาดค่อนข้างกว้าง, มีห้องน้ำภายในร้าน หรือบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งมีเก้าอี้แบบพับเก็บได้ เพื่อนั่งพักในช่วงที่ไม่มีลูกค้า เป็นต้น”

สังคมสูงวัย ไม่ใช่ภาระ \'คาเฟ่ อเมซอน\' ให้โอกาสสู่ตลาดงาน ​​​​​​​

พัฒนาทักษะ เพิ่มอาชีพสูงวัย

ปัจจุบัน Café Amazon for Chance เปิดให้บริการแล้ว 400 สาขา สามารถสร้างอาชีพให้แก่ผู้ขาดโอกาสในสังคมกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่องแล้วกว่า 376 คน ประกอบด้วย ผู้พิการทางการได้ยิน 23 คน ผู้สูงวัย 335 คน พิการทางการเรียนรู้ 2 คน ทหารผ่านศึกที่พิการและครอบครัว 4 คน ผู้พิการทางร่างกาย 8 คน และผู้ถูกกระทำ/เยาวชนผู้ขาดโอกาส 4 คน 

เดิมนโยบายของ Café Amazon for Chance คือ “สร้างโอกาส สร้างงาน อย่างยั่งยืนให้แก่ผู้พิการไทย” แต่ต่อมาได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งมีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและมีผู้สูงอายุอีกจำนวนมากที่ขาดโอกาสในการทำงานเนื่องจากวัยที่มากขึ้น ดังนั้น บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ (OR) จึงได้มีความร่วมมือกับ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการจัดตั้ง “ร้าน Café Amazon for Chance สาขาที่ดำเนินการโดยบาริสต้าสูงวัย” สาขาแรกขึ้น เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2563 และต่อมา ขยายสาขาที่ดำเนินการโดยบาริสต้าผู้สูงวัยไปยัง สาขา รัชดา 17 และสาขาอื่นๆ ต่อไป 

ไกรพิท กล่าวต่อว่า โครงการฯ ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกที่เป็นช่องทางในการสรรหาผู้สูงอายุ และผู้ขาดโอกาสกลุ่มอื่นๆ ทั้ง กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย วิทยาลัยราชสุดา ม.มหิดล สวัสดิการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จํากัด และกรมแรงงานท้องถิ่น เช่น สมุทรสาคร ชลบุรี เพชรบุรี เป็นต้น

“แต่ละสาขาจะมีพนักงานผู้สูงอายุ อย่างน้อย 1 ราย/สาขา และจะผลักดันเพิ่มจำนวนผู้สูงอายุของแต่ละสาขาที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้มีจำนวนมากขึ้น แต่ก็ต้องควบคู่ไปกับการรักษามาตรฐานและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของร้าน ขณะที่สาขาของต่างประเทศได้ขยายโครงการฯ ไปที่ประเทศกัมพูชา ให้บริการโดยบาริสต้าผู้พิการทางการได้ยินเมื่อปี 64 ปัจจุบันมี 5 สาขา” 

สังคมสูงวัย ไม่ใช่ภาระ \'คาเฟ่ อเมซอน\' ให้โอกาสสู่ตลาดงาน

ทักษะที่ผู้สูงอายุ ควรมีในการทำงาน

ไกรพิท กล่าวอีกว่า ร้าน Café Amazon นำร่องด้วยการจ้างงานผู้สูงอายุตั้งแต่ 55 ปี ขึ้นไปที่สามารถเป็นบาริสต้าร้านกาแฟได้ โดยจะมีการออกแบบร้านให้เหมาะสมกับการทำงานของผู้สูงอายุ เช่น มีการคัดเลือกเมนูเครื่องดื่มเฉพาะเมนูขายดี การกำหนดความสูงของชั้นวางวัตถุดิบที่เหมาะสม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ฉุกเฉิน โดยบาริสต้าสูงวัยจะผ่านการอบรมโดยทีมพัฒนามาตรฐานและอบรมคาเฟ่ อเมซอนเช่นเดียวกับบาริสต้า Café Amazon ทั่วไป 

ปัจจุบัน ร้าน Café Amazon for Chance ที่ดำเนินการโดยผู้สูงวัย มีทั้งสิ้น 372 สาขา โดยมีบาริสต้า พนักงานบริการภายในร้าน เช่น รับ order ลูกค้า และพนักงานทำความสะอาดร้านผู้สูงวัยรวม 335 คน ซึ่งผู้สูงอายุที่สนใจทำงานร้านคาเฟ่ อเมซอน ต้องอายุ 55 ปีขึ้นไป ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีใจรักการบริการ ฉะนั้น ทักษะที่ผู้สูงอายุควรมีในการทำงาน คือ การทำงานเป็นทีม ใจรักการบริการ รับฟังความคิดเห็นผู้อื่น และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

มองผู้สูงอายุใหม่ ไม่ใช่ภาระสังคม

ไกรพิท  กล่าวด้วยว่าในยุคที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ภาคธุรกิจควรมองผู้สูงอายุในฐานะ ‘ทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่า’ ไม่ใช่ ‘ภาระทางสังคม’ การเปิดโอกาสให้พวกเขากลับมามีบทบาทในการทำงาน คือการส่งเสริมความหลากหลายในองค์กรและสังคม ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต คุณภาพการทำงาน ความคิดสร้างสรรค์ และความสมดุลทางวัฒนธรรมภายในสังคม

“ภาคธุรกิจหรือองค์กรที่มีวิสัยทัศน์จึงไม่ใช่เพียงแค่ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นผู้นำในการสร้างระบบที่ยืดหยุ่น เป็นธรรม และให้เกียรติผู้สูงวัย ด้วยการออกแบบบทบาทที่เหมาะสม สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวก และสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับคนทุกช่วงวัยเพราะองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน คือองค์กรที่พร้อมจะเติบโตและให้โอกาสกับทุกคนในสังคม”

สังคมสูงวัย ไม่ใช่ภาระ \'คาเฟ่ อเมซอน\' ให้โอกาสสู่ตลาดงาน

ก้าวข้ามข้อจำกัด อย่ากังวลทำงานไม่ได้

ลุงอนันต์ คูณทวีธรรม บาริสต้าคาเฟ่ อเมซอน อายุ 68 ปี กล่าวว่าหลังจากเกษียณฯ ก็ได้ใช้เวลาพักผ่อนประมาณ ปีกว่าๆ และเริ่มมองหางานทำ เพราะการอยู่บ้านอย่างเดียว รู้สึกว่าชีวิตมันน่าเบื่อ ปลายปี 2564 ก็ได้ไปกรมการจัดหางาน ว่าจะมีงานเกี่ยวกับเทคนิคการแพทย์ สายอาชีพที่ตนเองทำงานและจบมาหรือไม่ ซึ่งตอนนั้นไม่มีสายอาชีพนี้รองรับผู้สูงอายุ และกรมการจัดหางานแนะนำให้ไปสมัครที่คาเฟ่ อเมซอน ซึ่งมีโครงการ Café Amazon for Chance ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ 

2 ปีกว่าแล้วที่ได้เป็นบาริสต้าสูงวัย ในร้านคาเฟ่ อเมซอน สาขาห้วยขวาง ซึ่งเป็นสาขาใกล้บ้าน ตอนแรกที่มาทำงานที่ร้านคาเฟ่ อเมซอน จะมีกระบวนการทำงานที่ช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น แต่ทั้งนี้ ผู้สูงอายุเองต้องปรับตัว เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และทำงานร่วมกับลูกๆ หลานๆ ที่อายุต่างจากเราค่อนข้างมาก ซึ่งไม่ต้องกังวล เพราะทุกคนพร้อมช่วยเหลือ และให้ความร่วมมือในการทำงานกับเรา เป็นการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ได้พัก 1 ชั่วโมง และมีสวัสดิการในการดูแลดีมาก ถ้าไม่สบายสามารถเปิดได้ 5,000 บาท เมื่อทำงานครบ 1 ปี จะได้พักร้อน 6 วัน

“การที่ผู้สูงอายุได้มาทำงาน มีประโยชน์อย่างมาก ทั้งเรื่องสุขภาพกาย ร่างกายแข็งแรง เพราะต้องเคลื่อนไหวในการทำงาน มีความกระฉับกระเฉงมากขึ้น สุขภาพจิตดี เนื่องจากต้องพบปะผู้คน ทำให้ไม่เครียด ไม่เป็นซึมเศร้า และที่สำคัญมีรายได้เป็นของตัวเอง ไม่ต้องเป็นภาระลูกหลาน หรือสังคม ผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ดังนั้น อยากฝากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน ขอให้เปิดโอกาสจ้างงานผู้สูงอายุเข้าทำงาน ขณะเดียวกันผู้สูงอายุที่เกษียณแล้วก็ต้องเปิดใจตัวเอง ให้มาทำงาน อย่ากังวลว่าทำงานไม่ได้”  

สังคมสูงวัย ไม่ใช่ภาระ \'คาเฟ่ อเมซอน\' ให้โอกาสสู่ตลาดงาน