เมื่อเลือดกำเดาไหล ในวันที่ฝุ่นPM2.5 พุ่งสูง ต้องดูแลอย่างไร?

เมื่อเลือดกำเดาไหล ในวันที่ฝุ่นPM2.5 พุ่งสูง ต้องดูแลอย่างไร?

พอเข้าสู่ช่วงปลายฤดูหนาวจนถึงฤดูร้อน ในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย.ของทุกปี ค่าฝุ่นPM2.5 จะพุ่งสูงขึ้นมากในประเทศไทย ส่งผลต่อระบบร่างกายของคนเราในเกือบทุกระบบ

KEY

POINTS

  • เลือดกำเดาไหล เป็นอาการที่พบเห็นกันได้บ่อยทั่วไป ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และพบมากขึ้นในช่วงมีมีมลภาวะทางอากาศที่แย่ลง หรือ PM 2.5 ที่สูงขึ้น
  • ความเป็นจริงแล้ว สาเหตุเลือดกำเดาไหลเกิดได้จากหลายสาเหตุ และอาจเป็นสัญญาณของโรคอันตราย เช่น เนื้องอกในจมูก มะเร็งในโพรงจมูก วัณโรคหลังโพรงจมูกได้ ไม่ใช่เกิดจาก PM 2.5 เพียงอย่างเดียว
  • หากพบว่ามีอาการเลือดกำเดาไหลผิดปกติ คือ ไหลบ่อย ไหลปริมาณมาก ควรรีบมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด และรับการรักษาตามมาตรฐานต่อไป

พอเข้าสู่ช่วงปลายฤดูหนาวจนถึงฤดูร้อน ในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย.ของทุกปี "ฝุ่น PM 2.5" จะพุ่งสูงขึ้นมากในประเทศไทย ส่งผลต่อระบบร่างกายของคนเราในเกือบทุกระบบ ยิ่งในกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หลายคนมักจะประสบปัญหา เลือดกำเดาไหลบ่อยๆ และมักเป็นมากขึ้น

แล้วเหตุใด? "เลือดกำเดาไหล"เมื่อค่าฝุ่น PM2.5 สูงขึ้น 

รศ.พญ.กรรณิการ์ รุ่งโรจน์วัฒนศิริ หัวหน้าภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่าช่วงเดือนก.พ. – เม.ย. ของทุกปี ภาคเหนือตอนบนจะเจอกับปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว อาการที่มักจะพบบ่อยคือ ตาแดง ผื่นขึ้นตามส่วนต่างๆของร่างกาย เยื่อบุจมูกอักเสบ และเลือดกำเดาไหล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาการที่ผู้ปกครองมักพาบุตรหลานมาพบแพทย์บ่อยที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ฝุ่นPM2.5 กระตุ้นภูมิแพ้ รบกวนร่างกาย ใช้ชีวิตต้องระวัง!!

มทร.ล้านนา เปิด 'Green Room' พื้นที่ปลอดฝุ่น รับมือวิกฤตฝุ่น PM2.5

ค่าฝุ่นPM2.5 สัมพันธ์กับเลือดกำเดาไหล

ส่วนสาเหตุที่เด็กมีเลือดกำเดาไหลในช่วงที่มีค่าฝุ่นPM2.5 สูงนั้น ทางภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้ทำการศึกษาร่วมกับนักศึกษาแพทย์ หาความสัมพันธ์ระหว่างอุบัติการณ์ของการเกิดเลือดกำเดาไหลในผู้ป่วยนอกเเละห้องฉุกเฉินของ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กับค่าฝุ่นที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน ในช่วงที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5

พบว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 มีความสัมพันธ์กับจำนวนผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลด้วยอาการเลือดกำเดาไหลอย่างมีนัยสาคัญ ซึ่งปกติแล้วบริเวณเยื่อบุในจมูกคนเราจะมีเลือดมาเลี้ยงเยอะอยู่แล้ว หากสูดเอาฝุ่น PM2.5 เข้าไป จะทำให้เกิดการอักเสบบริเวณเยื่อบุในช่องจมูก และไปกระตุ้นทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีโอกาสเลือดกำเดาไหลง่ายกว่าผู้ใหญ่

เมื่อพบว่ามีเลือดกำเดาไหล ให้ก้มหน้าลงแล้วใช้มือบีบบริเวณปีกจมูกทั้งสองข้างเข้าหากัน ค้างไว้ประมาณ 5 นาที อาจช่วยในการห้ามเลือดเบื้องต้นได้ หากมีเลือดไหลลงคอให้บ้วนออกมา จะช่วยให้เลือดไม่อุดทางเดินหายใจและยังช่วยประเมินปริมาณเลือดที่ออกด้วย แต่หากกดปีกจมูกแล้วหลังจากที่ปล่อยยังมีเลือดไหลออกมาปริมาณมาก หรือเลือดกำเดาไหลข้างเดียว ร่วมกับมีอาการปวด คัดจมูกในข้างนั้น อาจสงสัยภาวะก้อนในโพรงจมูก ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

นอกจากนี้ยังพบว่า ในช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน ผู้ป่วยที่เป็นจมูกอักเสบภูมิแพ้ มักจะมีอาการแย่ลง ดังนั้นในช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 สูง ควรใส่หน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ , หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่มีฝุ่นเยอะ และควรล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเพราะจะช่วยล้างเศษฝุ่นละออง สะเก็ด หรือน้ำมูกออกมาได้

วิธีป้องกันเลือดกำเดาไหล เมื่อค่าฝุ่นPM2.5 พุ่งขึ้น

อ.พญ.ธันยธร ธีรนรเศรษฐ์ ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจาก จมูกเป็นอวัยวะที่เป็นด่านแรกเมื่อเราหายใจเอาอากาศเข้าไป และยังช่วยกรองอากาศ ฝุ่นละออง สิ่งสกปรก ก่อนจะไปถึงลำคอ หลอดลม และปอดตามลำดับ ในช่วงที่มีหมอกควันและมลพิษมากนี้ จึงทำให้มีผลกระทบต่อจมูกโดยตรง

1. มลพิษทำให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุจมูก ทำให้เกิดการอักเสบ บวม และสร้างเมือกหรือน้ำมูกได้มากกว่าปกติ

2. เมื่อเกิดการอักเสบบวมในช่องจมูก จะทำให้เกิดการอุดตันของรูเปิดไซนัส และเกิดอาการไซนัสอักเสบตามมา

3. เกิดเลือดกำเดาไหลได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีการระคายเคืองในช่องจมูก ทั้งจากมลพิษและอากาศแห้ง

4. มลพิษที่เราหายใจเข้าไปจะกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระในร่างกาย และกระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้กำเริบมากขึ้น

5. ฝุ่นละอองขนาดเล็กทำให้มีอัตราการเกิดมะเร็งสูงขึ้น โดยเฉพาะมะเร็งปอด และเพิ่มโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือด

วิธีป้องกันที่ดี คือ

1. อยู่ในห้องที่ปิดสนิท

2. มีเครื่องกรองอากาศ ที่มี Hepa filter ซึ่งสามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)ได้

3. เมื่อออกนอกห้อง ให้ใช้หน้ากาก N95 และใส่ให้ถูกต้อง (หน้ากากอนามัยธรรมดาไม่สามารถป้องกันฝุ่นขนาดเล็กได้)

4. ลดการออกกำลังกายกลางแจ้ง

5. หากมีอาการระคายเคืองในจมูก อาจจะบรรเทาโดยการล้างจมูก พ่นหรือหยอดน้ำเกลือในจมูกได้

ค้นหาคำตอบในช่วงค่า ฝุ่นPM2.5 ขึ้นสูง

ในช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 ขึ้นสูง จึงเกิดคำถาม มากมาย ดังนี้

  • ฝุ่นPM 2.5 ทำให้เกิด ภาวะเลือดกำเดาไหล (Epistaxis) ได้ หรือไม่ ?

ฝุ่นPM 2.5 ให้เกิดภาวะเลือดกำเดาไหล (Epistaxis) ได้ และสามารถเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย แต่จะพบได้มากในวัยเด็ก และวัยรุ่น รวมถึงคนที่มีโรคประจำตัว เช่นภูมิแพ้จมูก ไซนัสอักเสบเรื้อรัง อยู่เดิม

  • ภาวะเลือดกำเดาไหล (Epistaxis) เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

เนื่องจากฝุ่นPM 2.5 เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเยื่อบุโพรงจมูก เกิดการกระตุ้นกระบวนการอักเสบ เกิดการบวมที่มากขึ้น และ ไวต่อสารก่อภูมิแพ้เดิมมากขึ้น เกิดโพรงจมูกอักเสบ หรือ ภูมิแพ้กำเริบในผู้ป่วยภูมิแพ้ และเมื่อเกิดอาการบวมที่มากขึ้น มีน้ำมูก คัน จาม อาจกระตุ้นให้มีการ ขยี้จมูก แคะแกะเกา บริเวณผนังจมูกด้านหน้า หรือสั่งน้ำมูกแรงๆ

โดยเฉพาะในเด็ก ซึ่งทำให้เกิดแผลที่เยื่อบุโพรงจมูกด้านหน้า หรือเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กในโพรงจมูกด้านหน้าเกิดบาดเจ็บ แตก และทำให้เกิดเลือดกำเดาไหลได้ ซึ่งในทางการแพทย์ เรียกเลือดกำเดาไหลชนิดนี้ว่า Anterior epistaxis หรือเลือดกำเดาไหลจากจมูกทางด้านหน้า ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของภาวะเลือดกำเดาไหลในเด็ก และคนที่มีโพรงจมูกอักเสบทั้งจากการติดเชื้อ หรือจากภูมิแพ้จมูก

แต่หากเป็นเลือดกำเดาไหลจากจมูกทางด้านหลัง หรือ Posterior epistaxis ซึ่งจะมีปริมาณมากและมีความรุนแรงมากว่า สาเหตุมักจะสัมพันธ์กับ ภาวะความดันโลหิตสูง และจะพบในผู้ป่วยสูงอายุ ที่มีโรคความดันโลหิตสูง จะไม่ได้มีความสัมพันธ์กับฝุ่นPM 2.5 โดยตรง

นอกเหนือจากนั้น ภาวะเลือดกำเดาไหลยังเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้อีกมากมาย ที่ไม่ได้เป็นสาเหตุจากฝุ่น PM 2.5 โดยตรง เช่น ผนังกั้นจมูกคด เกิดอุบัติเหตุที่บริเวณโพรงจมูกหรือใบหน้า มีสิ่งแปลกปลอมในจมูก มีก้อนเนื้องอกในโพรงจมูกหรือหลังโพรงจมูก มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด จากโรคต่างๆ ทั้งไข้เลือดออก รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด โรคตับเรื้อรัง ซึ่งควรได้รับการตรวจประเมินและหาสาเหตุโดยแพทย์

  • หากมีภาวะเลือดกำเดาไหล เมื่อไหร่ ควรมาพบแพทย์ ?
  1. เลือดกำเดาไหลซ้ำ เป็นบ่อยๆ โดยเฉพาะ หากเลือดกำเดาไหลออกข้างเดิม เป็นครั้งที่สองในระยะเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ เนื่องจากสาเหตุมักจะพบว่ามีจุดเลือดออก มีแผลที่ชัดเจนและสามารถให้การรักษาด้วยยาเพื่อลดโอกาสเกิดเลือดกำเดาไหลซ้ำได้
  2. เลือดกำเดาไหลปริมาณมาก เกินกว่าครึ่งแก้ว หรือไม่หยุดหลังจากการปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการบีบจมูกนาน 15 นาที หรือมี หน้ามืดวิงเวียนศีรษะร่วมด้วย ควรมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที
  3. เลือดกำเดาไหลลงคอมากกว่าออกมาทางหน้าจมูก เนื่องจากอาจเกิดจาก เลือดกำเดาไหลจากโพรงจมูกส่วนหลัง (Posterior epistaxis) ซึ่งมีโอกาสเกิด เลือดกำเดาไหลรุนแรง และไม่สามารถห้ามเลือดให้หยุดได้ด้วยตนเอง เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ มีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
  4. มีเลือดกำเดาไหล ร่วมกับมีภาวะเลือดออกที่ระบบอื่นๆ เช่น จุดน้ำเลือดที่ผิวหนัง ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะมีเลือดปน ซึ่งอาจเกิดจากโรคที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด
  5. มีภาวะเลือดกำเดาไหล ร่วมกับความดันโลหิตสูง ควรได้รับการตรวจประเมินสาเหตุและตำแหน่งของเลือดกำเดาไหล รวมถึงประเมินการรักษาเรื่องความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นสาเหตุร่วมด้วย
  6. มีอาการทางจมูกอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คัดแน่นจมูกมากขึ้นเรื่อยๆ หรือ มีหูอื้อ จำเป็นต้องส่องกล้องตรวจในโพรงจมูกและหลังจมูกเพื่อตรวจก้อนเนื้อในจมูกเพิ่มเติม หรือ มีอาการของภูมิแพ้จมูก เช่น คันจมูก จาม น้ำมูกใส ที่พบได้ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จมูก เป็นต้น
  • ค่าฝุ่นPM 2.5 กับภาวะเลือดกำเดาไหลที่รักษาได้

เนื่องจาก ภาวะเลือดกำเดาไหล ที่มีสาเหตุปัจจัยจากPM 2.5 มักจะตรวจพบพยาธิสภาพความผิดปกติของเยื่อบุในโพรงจมูก บริเวณ ผนังกั้นจมูกด้านหน้า (Little’s area) และสามารถให้การรักษาได้ ดังนี้

  1. รักษาด้วยยา ในกรณีที่ เลือดกำเดาไหลหยุดแล้ว สามารถรักษาแบบประคับประคองโดยใช้ยา เช่น ยาป้ายขี้ผึ้งที่ตำแหน่งจุดเลือดออก ยาพ่นจมูกเพื่อยุบบวมเฉพาะที่ น้ำเกลือพ่นจมูกเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในจมูก
  2. รักษาด้วยการจี้ ในกรณีที่ ตรวจพบจุดเลือดออก และยังมีเลือดออกอยู่ตลอด หรือมีเลือดออกซ้ำๆ ที่เดิมบ่อยๆ รักษาด้วยยาไม่เป็นผล แพทย์จะแนะนำให้ทำการจี้จุดเลือดออกเพื่อหยุดเลือด และลดการเกิดเลือดไหลซ้ำ ซึ่งสามารถทำได้ที่ ห้องตรวจผู้ป่วยนอก หรือห้องผ่าตัดเล็กทันที โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ ไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล
  3. การรักษาอื่นๆ เช่น การ Pack จมูกห้ามเลือด การจี้ผูกเส้นเลือดในห้องผ่าตัด เป็นการรักษาเพื่อหยุดเลือดกำเดาไหลที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ หรือมีความรุนแรงที่มากขึ้นตามแต่ละกรณีไป

เลือดกำเดาไหล สามารถป้องกันได้หรือไม่ ?

สามารถป้องกันได้ โดยวิธีป้องกันขึ้นกับสาเหตุและปัจจัยกระตุ้น ในกรณีสาเหตุที่ถูกกระตุ้นจาก ฝุ่นPM2.5 ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัส สูดดมฝุ่นมลภาวะ ควันบุหรี่ หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แนะนำล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อขจัดฝุ่นมลภาวะ หลังสัมผัส และช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้เยื่อบุในโพรงจมูก หากมีโรคภูมิแพ้จมูกร่วมด้วยควรรักษาภูมิแพ้อย่างต่อเนื่อง และหลีกเลี่ยงการแคะ แกะ เกา ขยี้จมูกแรงๆ หรือสั่งน้ำมูกแรงๆ

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

  1. นั่งโน้มตัวมาข้างหน้า ไม่แหงนหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลลงไปในคอ และหลอดลม เนื่องจากจะเพิ่มโอกาสให้เลือดเข้าไปปิดกั้นทางเดินหายใจและเกิดอาการสำลักได้
  2. ใช้มือบีบปีกจมูกทั้ง 2 ข้างประมาณ 10 นาที จนกว่าเลือดจะหยุดไหลและหายใจทางปากแทน
  3. ประคบเย็น ที่บริเวณหน้าผากและรอบๆ จมูก
  4. หากเลือดหยุดไหลแล้ว งดแคะแกะเกา ขยี้จมูก หรือจาม สั่งน้ำมูกแรงๆ
  5. หากเลือดยังไม่หยุดไหล หรือเลือดไหลปริมาณมาก ไหลลงคอร่วมด้วย มีอาการหน้ามืดวิงเวียนศีรษะ ให้รีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยทันที

อาการผลกระทบจากค่าฝุ่น PM2.5 สูง ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้

     1. เกิดระคายเคืองเยื่อบุจมูก

     2. เกิดการบวม และอักเสบ

     3. จาม คัดจมูก คันจมูก ทำให้เลือดฝอยแตก

     4. เมื่อขยี้ หรือ แคะจมูกทำให้เลือดออก

อย่างไรก็ตาม ควรเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็นควรสวมหน้ากากป้องกัน โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัวอาจเลือกใช้หน้ากากอนามัยแทนหน้ากาก N95 (กลุ่มเสี่ยงที่ควรระวัง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคภูมิแพ้ หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด)

อ้างอิง : คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,โรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น  , กรมอนามัย