ฝุ่นPM2.5 กระตุ้นภูมิแพ้ รบกวนร่างกาย ใช้ชีวิตต้องระวัง!!

ฝุ่นPM2.5 กระตุ้นภูมิแพ้ รบกวนร่างกาย ใช้ชีวิตต้องระวัง!!

แม้ตอนนี้อากาศในกรุงเทพฯ จะเย็นลง แต่การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ไม่ดี และปริมาณฝุ่นPM2.5 กลับมาแนวโน้มเพิ่มขึ้น

KEY

POINTS

  • ฝุ่นPM 2.5 มีความสัมพันธ์กับโรคภูมิแพ้อย่างมาก เพราะกลไกการอักเสบที่ลงลึกไปที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนและระบบทางเดินหายใจส่วนล่างส่งผลต่อภูมิแพ้ทางเดินหายใจและภูมิแพ้ผิวหนัง
  • ไม่ควรมองว่าโรคภูมิแพ้เป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะอาการแพ้ที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 ควรต้องพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจเช็กอย่างละเอียดและปฏิบัติตามคำแนะนำ 
  • การป้องกันฝุ่นPM2.5 ที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงสูดฝุ่น PM2.5 เข้าสู่ร่างกาย แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นที่เหมาะสม ได้มาตรฐาน สะอาด ไม่มีกลิ่นผิดปกติหรือฉีกขาด ขนาดต้องเหมาะกับใบหน้า และกิจกรรมที่ทำ

แม้ตอนนี้อากาศในกรุงเทพฯ จะเย็นลง แต่การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ไม่ดี และ ปริมาณฝุ่น PM2.5 กลับมาแนวโน้มเพิ่มขึ้น เกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ หลายคนต้องออกมาทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง อย่าง  เด็กเล็กที่ต้องออกไปโรงเรียน หญิงตั้งครรภ์ที่ต้องออกไปทำงาน หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด

รวมถึงผู้สูงอายุ และผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ตำรวจจราจร แม่ค้าริมถนน พนักงานกวาดถนน คนขับรถรับจ้างทั้งรถจักรยานยนต์และรถสามล้อ พนักงานส่งอาหาร และผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง ล้วนกำลังเผชิญกับ ฝุ่นพิษ PM 2.5 ทั้งสิ้น

ขณะที่ หลายๆ คนที่ได้รับ ฝุ่น PM2.5 เป็นระยะเวลานานหรือ เพียงแค่สัมผัสก็เกิดอาการแพ้ฝุ่น PM2.5 หรือเป็น ผื่น PM2.5 ได้

ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานครรายงาน สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 วันที่ 20 มกราคม 2568 เวลา 07.00 น. ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 54.1 มคก./ลบ.ม. โดยตรวจวัดได้ 37.6-73 มคก./ลบ.ม. พบว่าเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (มาตรฐานไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.)  จำนวน 70 พื้นที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

มทร.ล้านนา เปิด 'Green Room' พื้นที่ปลอดฝุ่น รับมือวิกฤตฝุ่น PM2.5

ฝุ่นพุ่ง 73.0 มคก./ลบ.ม. เกินเกณฑ์เกือบ 2 เท่า PM 2.5 กทม. วันนี้ สีส้ม 70 พื้นที่

ฝุ่น PM2.5 ตัวกระตุ้นอาการแพ้

“ฝุ่นPM 2.5” เป็นสารพิษในชั้นบรรยากาศที่มีขนาดเล็กมาก เมื่อร่างกายได้รับฝุ่นชนิดนี้เข้าไปจึงลงลึกไปถึงหลอดลม ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณหลอดลมและถุงลม ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่อาจมีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าเดิม

ด้วยขนาดที่เล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนนี้ ทำให้สามารถผ่านการกรองของขนจมูกและเข้าสู่ชั้นในของปอดได้ ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นอันตรายทันทีหลังได้รับฝุ่นเข้าไป แต่หากได้รับฝุ่นเป็นเวลานานนั้นสามารถแสดงผลกระทบออกมาได้และในบางรายนั้นได้เกิดอาการแพ้ฝุ่นPM2.5 ขึ้น ซึ่งด้วยขนาดของฝุ่นที่เล็กและเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายนั้นทำให้เป็นอันตรายจากการที่ฝุ่นเป็นตัวกลางในการนำสารอื่นเข้ามาได้

ซึ่งฝุ่นPM2.5 นั้น เกิดจากมลพิษต่าง ๆ สะสมมาเป็นเวลานานเช่น ไอเสียจากรถยนต์จากการจราจร, อากาศเสียที่โรงงานอุตสาหกรรมหรือโรงไฟฟ้าปล่อยออกมาจาก, และเกิดจากการเผาวัสดุต่าง ๆ ที่เหลือใช้ของภาคการเกษตร การเผาป่า และการเผาขยะ

ฝุ่นPM2.5 นั้นนอกจากจะเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจแล้ว หลาย ๆ คนที่ได้รับฝุ่น PM2.5 นั้นได้มีอาการแพ้ฝุ่น PM2.5 ซึ่งควรได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและหาวิธีเลี่ยงเพื่อไม่ให้สัมผัสฝุ่น PM2.5

ฝุ่นPM2.5 กระตุ้นภูมิแพ้ รบกวนร่างกาย ใช้ชีวิตต้องระวัง!!

ฝุ่น PM 2.5 สัมพันธ์กับโรคภูมิแพ้

นพ.จิรวัฒน์ เชี่ยวเฉลิมศรี อายุรศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันทางคลินิก โรงพยาบาลกรุงเทพ อธิบายว่า ฝุ่นPM 2.5 มีความสัมพันธ์กับโรคภูมิแพ้อย่างมาก เพราะกลไกการอักเสบที่ลงลึกไปที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนและระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ส่งผลต่อภูมิแพ้ทางเดินหายใจและภูมิแพ้ผิวหนัง เวลาที่สูดเข้าไปจะเกิดการอักเสบทั้งทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ภูมิแพ้โพรงจมูก จาม น้ำมูก คัดจมูก ลามไปถึงโพรงไซนัสอักเสบ

ส่วนการอักเสบทางเดินหายใจส่วนล่างคือ บริเวณหลอดลมกับถุงลม ดังนั้นฝุ่น PM 2.5 นอกจากสัมพันธ์กับภูมิแพ้ยังสัมพันธ์กับโรคหอบหืดอีกด้วย ที่น่าสนใจคือมีข้อมูลระบุว่า เมื่อร่างกายได้รับฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้เดิมได้ไวขึ้น และเกิดการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดใหม่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งทำให้โรคภูมิแพ้โพรงจมูก โรคหอบหืดกำเริบรุนแรงขึ้นได้

อันตรายต่ออาการแพ้ ต้องเฝ้าระวัง

นพ.จิรวัฒน์ อธิบายต่อว่า ฝุ่นPM 2.5 สามารถทำให้เกิดการอักเสบใน 2 รูปแบบคือ

อักเสบเฉียบพลัน มีอาการจาม น้ำมูก คัดจมูก แสบตา คันตา น้ำมูกไหล

ยิ่งคนที่เป็นหอบหืดจะเหนื่อยขึ้น จากภาวะหลอดลมตีบอักเสบ มีหายใจเสียงหวีด ส่วนคนที่ไม่เคยเป็นหอบหืดมาก่อนหรือคนที่เป็นหอบหืดตอนเด็กหายแล้วสามารถกลับมาเป็นซ้ำอีกได้เพราะความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ที่สูงกระตุ้นให้โรคกลับมาและกระตุ้นให้เป็นโรคใหม่ได้ นอกจากนี้ยังส่งผลกับภูมิแพ้ผิวหนัง กระตุ้นผื่นภูมิแพ้ผิวหนังและลมพิษได้ด้วย

อักเสบเรื้อรัง มีอาการคัดจมูกมากจนทนไม่ไหว ปวดมาก ปวดซีกเดียว มีมูกสีเหลืองเขียวออกมา การได้กลิ่นลดลง

ซึ่งเป็นอาการของโพรงไซนัสอักเสบหรือภูมิแพ้กำเริบรุนแรงได้ นอกจากนี้ที่สำคัญมากการเกิดการอักเสบเรื้อรังในทางเดินหายใจ ทำให้เกิดเซลล์ผิดปกติกลายเป็นมะเร็งต่าง ๆ ในอนาคต อาทิ มะเร็งปอด เป็นต้น

ฝุ่นPM2.5 กระตุ้นภูมิแพ้ รบกวนร่างกาย ใช้ชีวิตต้องระวัง!!

ค่าฝุ่น PM 2.5 ยิ่งพุ่ง ยิ่งกระตุ้นภูมิแพ้

หัตถการทางภูมิแพ้ที่ช่วยในการวินิจฉัยและติดตามการรักษาโรคทางภูมิแพ้ทางเดินหายใจ เช่น โรคภูมิแพ้โพรงจมูก โพรงไซนัสอักเสบ โรคหอบหืด การตรวจเพิ่มเติมที่จะช่วยหาต้นเหตุการณ์เกิดโรคต่าง ๆ ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ได้แก่

  • ทดสอบหาสารก่อภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Prick Test)

โดยในผู้ป่วยกลุ่มภูมิแพ้โพรงจมูก โรคหอบหืด อาจมีต้นเหตุมาจากการแพ้ไรฝุ่น แพ้รังแคน้องแมว แพ้รังแคน้องสุนัข แพ้ขนแมลงสาบ หรือแม้แต่แพ้ละอองเกสรหรือหญ้าต่าง ๆ โดยแพทย์จะหยดน้ำยาที่ต้องการทดสอบบนผิวหนังบริเวณท้องแขนแล้วใช้ปลายเข็มสะกิดเพื่อให้น้ำยาซึมเข้าใต้ผิวหนัง ทิ้งไว้ 20 – 30 นาทีแล้วอ่านผลทดสอบ ข้อดีของวิธีนี้คือทราบผลตรวจเลยหลังทดสอบเสร็จ แต่วิธีนี้ผู้ป่วยต้องหยุดยาแก้แพ้ชนิดรับประทานก่อนอย่างต่ำ 5 – 7 วัน

  • ทดสอบภูมิแพ้ด้วยการตรวจเลือด (Blood Test for Specific IgE)

โดยทำการเจาะเลือดเพื่อหาภูมิต้านทานที่จำเพาะชนิด IgE ต่อสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิดในเลือด เช่น ต่อไรฝุ่น ต่อรังแคน้องแมว รังแคน้องสุนัข หรือละอองหญ้าต่าง ๆ วิธีนี้ไม่ต้องงดยาแก้แพ้ก่อนตรวจ แต่รอผลตรวจประมาณ 5 วัน

  • การตรวจสมรรถภาพปอด (Spirometry Pre – and Post – Bronchodilator)

ในผู้ป่วยที่มีการไอเรื้อรัง เหนื่อยเรื้อรัง มีหลอดลมตีบ หายใจมีเสียงหวีด ที่อาจสงสัยโรคหอบหืดหรือโรคทางหลอดลมอื่น ๆ การตรวจชนิดนี้จะเป็นประโยชน์ สามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคดังกล่าว สามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยมีหลอดลมตีบความรุนแรงขนาดไหนได้ และใช้ติดตามการรักษาดูว่าหลังใช้ยาพ่นต่อเนื่อง ผู้ป่วยมีสมรรถภาพปอดที่ดีขึ้นหรือไม่

  • การตรวจหาค่าอักเสบในปอดจากลมหายใจ (Exhaled Nitric Oxide)

วิธีนี้สามารถบอกได้ว่าในหลอดลมของผู้ป่วยมีการอักเสบอยู่เยอะหรือไม่ ช่วยในการวินิจฉัยโรคหอบหืด และใช้ในการติดตามการรักษาได้

ฝุ่นPM2.5 กระตุ้นภูมิแพ้ รบกวนร่างกาย ใช้ชีวิตต้องระวัง!!

แนวทางรักษาโรคภูมิแพ้กลุ่มภูมิแพ้ทางเดินหายใจ

เลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เป็นวิธีที่ดีที่สุด

โดยหลังจากได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าแพ้สารก่อภูมิแพ้ใดบ้าง เราจะรู้วิธีและสามารถหลีกเลี่ยงการก่อภูมิแพ้ดังกล่าวได้อย่างถูกวิธี รวมถึงควรหลีกเลี่ยงมลพิษและฝุ่น PM 2.5 ร่วมด้วย เพื่อลดการกำเริบของโรคและลดการเกิดการแพ้สารก่อภูมิแพ้ใหม่ ๆ อีกได้

การใช้ยาพ่นต่อเนื่อง

โรคภูมิแพ้โพรงจมูก หรือโพรงไซนัสอักเสบ หากเป็นรุนแรงมีเยื่อบุโพรงจมูกบวม หรือเป็นถึงโพรงไซนัสอักเสบ แนะนำการใช้ยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์ต่อเนื่องไปช่วงหนึ่ง เพื่อลดการบวมอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก ลดอาการคัดจมูก ปวดโพรงใบหน้าได้ โดยไม่แนะนำในการใช้ยาพ่นจมูกชนิดลดบวมจมูกที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ต่อเนื่อง เพราะถ้าเป็นชนิดนี้จะไปหดเส้นเลือด ส่งผลให้ผนังโพรงจมูกไม่ตอบสนองต่อยาพ่นใด ๆ หรือภาวะ Rhinitis Medicamentosa

โรคหอบหืด จำเป็นต้องมีการใช้ยาพ่นชนิดควบคุมอาการต่อเนื่องทุกวัน (Controller) เพื่อช่วยป้องกันการเสื่อมลงของสมรรถภาพปอด ลดการกำเริบ ลดการเกิดระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน โดยมักเป็นกลุ่มยาสูดพ่นชนิดสเตียรอยด์และยาขยายหลอดลม และหากมีอาการกำเริบให้ใช้ยาพ่นเฉียบพลันชนิดออกฤทธิ์เร็ว (Reliever) และถ้าไม่ดีขึ้นให้มาโรงพยาบาล

การล้างจมูก

ต้องล้างให้ถูกวิธีด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกในโพรงจมูก

การใช้วัคซีนภูมิแพ้ (Immunotherapy)

เพื่อให้ร่างกายแพ้สารก่อภูมิแพ้น้อยลงหรือหายจากการแพ้สารก่อภูมิแพ้นั้น เช่น ต่อไรฝุ่น ต่อรังแคน้องแมว เกิดภูมิคุ้มกันที่ดีต่อสารก่อภูมิแพ้ ใช้เวลารักษาประมาณ 3 – 5 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับการตอบสนองและผลข้างเคียงของผู้ป่วย ปัจจุบันมีทั้งวิธีฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และอมใต้ลิ้น

การผ่าตัด

ในกรณีที่เป็นไซนัสอักเสบรุนแรงหรือมีผนังกั้นช่องจมูกคด หรือมีติ่งเนื้อ Polyp โดยต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและประเมินการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น

ยาเสริมอื่น ๆ ตามอาการ

เช่น ยาแก้แพ้ชนิดรับประทานแบบไม่ง่วง ยาหยอดตาแก้แพ้ หากมีอาการภูมิแพ้เยื่อบุตาอักเสบร่วม

วิธีป้องกันหลีกเลี่ยงมลพิษฝุ่น PM 2.5

  • เช็กดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index – AQI) ก่อนออกจากบ้าน หากอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ควรเลี่ยงการออกนอกบ้านและทำกิจกรรมกลางแจ้ง
  • สวมใส่หน้ากาก N95 ที่ได้มาตรฐานช่วยป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ดีที่สุดและควรสวมใส่ให้ถูกต้อง หากสวมหน้ากากอนามัยควรเลือกที่ครอบหน้าได้ทั้งหมด
  • ล้างจมูกทุกวันอย่างถูกวิธี เพื่อให้โพรงจมูกสะอาด ลดโอกาสการติดเชื้อและการเกิดโรค
  • ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองอากาศ HEPA Filter เพื่อให้การกรองอากาศมีความละเอียดสูงกว่าแผ่นกรองอากาศปกติ สกัดกั้นสารก่อภูมิแพ้ได้ เพราะแม้จะปิดประตูหน้าต่าง ฝุ่น PM 2.5 ก็ยังเล็ดลอดเข้ามาได้
  • รณรงค์เรื่องลดการเผาไหม้ ทั้งในชีวิตประจำวันอย่างการใช้รถให้น้อยลง การทำอาหารแบบครัวปิด การลดหรืองดการจุดธูป ไปจนถึงการทำการเกษตรและอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ทำให้เกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์

ฝุ่นPM2.5 กระตุ้นภูมิแพ้ รบกวนร่างกาย ใช้ชีวิตต้องระวัง!!

อย่างไรก็ตาม การป้องกันฝุ่น PM2.5 ที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงสูดฝุ่น PM2.5 เข้าสู่ร่างกาย แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นที่เหมาะสม โดยต้องเลือกหน้ากากที่ได้มาตรฐาน สะอาด ไม่มีกลิ่นผิดปกติหรือฉีกขาด ขนาดของหน้ากากต้องเหมาะสมกับใบหน้า และกิจกรรมหรือลักษณะงานของผู้สวมใส่

เช่น หน้ากาก N95 เหมาะสำหรับกลุ่มทำงานกลางแจ้ง เช่น คนงานก่อสร้าง ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับจราจร พนักงานกวาดถนน แนะนำให้สวมหน้ากาก N95 หากทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน และมีค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง)

ทั้งนี้ ให้ถอดหน้ากาก หากรู้สึกอึดอัด หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก เมื่อยล้า หรือปวดศีรษะ และเปลี่ยนวิธีป้องกันตนเอง เช่น เข้าไปอยู่ในอาคารหรือหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีฝุ่นสูง

สำหรับกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ ไม่แนะนำให้สวมหน้ากาก N95 สำหรับหน้ากากอนามัย แนะนำสำหรับทุกคน สามารถสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่น เมื่อออกนอกอาคารได้ ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้สวมหน้ากากทุกประเภทขณะออกกำลังกายกลางแจ้ง

ที่สำคัญ ต้องสวมหน้ากากให้ถูกต้อง ใส่ให้กระชับใบหน้า ครอบทั้งจมูกและปาก ซึ่งจะช่วยป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ประชาชนควรติดตามสถานการณ์ฝุ่นเป็นกิจวัตรประจำวันทุกเช้า ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ airbkk.com หรือแอปพลิเคชัน Air4Thai และ Life Dee หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่สายด่วน กรมอนามัย 1478

 

 

อ้างอิง:โรงพยาบาลกรุงเทพ , กรมอนามัย