BDMS Wellness Clinic ดันไทยท็อป5-ศูนย์กลางWellness Hubโลก

BDMS Wellness Clinic  ดันไทยท็อป5-ศูนย์กลางWellness Hubโลก

ปัจจุบัน เทรนด์การดูแลสุขภาพ หรือ เวลเนส (Wellness)ได้กำลังเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนกลายมาเป็นเทรนด์ที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่

KEY

POINTS

  • การเติบโตของเทรนด์ Wellness ในปัจจุบัน ถือเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการทั่วโลกในการพัฒนาธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการด้านการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  • ยุคเปลี่ยนผ่านจากการรักษาโรค มาสู่การป้องกันก่อนเกิดโรค และเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง หรือเรียกได้ว่าเปลี่ยนจากการรักษาคนป่วยให้หายดี สู่การรักษาคนแข็งแรงดีให้ไม่ป่วย
  • BDMS Wellness Clinic ผลักดันไทยสู่ Wellness Destination of the World เนื่องจากมีศักยภาพ อุดมสมบูรณ์ทั้งในด้านธรรมชาติ วัฒนธรรม อาหาร สมุนไพร การบริการอันเปี่ยมไปด้วยความเป็นไทย และการแพทย์แผนไทย ผสมผสานกับเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัย

ปัจจุบัน เทรนด์การดูแลสุขภาพ หรือ เวลเนส (Wellness)ได้กำลังเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนกลายมาเป็นเทรนด์ที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การเลือกทานอาหารเพื่อสุขภาพ และการให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลในชีวิตประจำวัน (Work-life balance)ในขณะเดียวกัน การดูแลสุขภาพเชิงป้องกันก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนทั่วโลก รวมถึงประชากรชาวไทยหันมาใส่ใจสุขภาพ คืออัตราการเกิดโรค Non-Communicable Disease (NCDs) หรือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยในปี 2565 ตัวเลขของผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศไทยมีจำนวนสูงถึง 380,400 คนต่อปี เฉลี่ยชั่วโมงละ 44 คน หรือคิดเป็น 77 % ของประชากรไทยทั้งหมด

นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ หรือ หมอแอมป์ ประธานคณะผู้บริหารBDMS Wellness ClinicและBDMS Wellness Resortบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรค NCDs อย่าง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคเส้นเลือดสมองตีบ/แตก โรคมะเร็ง และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆไม่เพียงแค่สร้างความทุกข์ทรมาน ทั้งทางกายและทางใจจากอาการเจ็บป่วยให้กับผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังเพิ่มอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตเมื่อเกิดเหตุการณ์โรคระบาดอีกด้วย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ดันไทยเป็นศูนย์กลาง 'เวลเนสฮับ' ดึงนักท่องเที่ยวพรีเมี่ยม

BDMS หนุนสุขภาพดีชีวิตยืนยาว ปักธง Medical and Wellness Hub of Thailand

ธุรกิจWellness โอกาสโตเฉลี่ย7.3%ทั่วโลก

ผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูงมีความเสี่ยงในการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตมากกว่าคนที่มีสุขภาพดีถึง 2 เท่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคเบาหวานมีความเสี่ยงสูงถึง 3 เท่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)เสี่ยงมากถึง 4 เท่า และผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีความเสี่ยงมากที่สุด โดยมีความเสี่ยงเสียชีวิตมากถึง 7 เท่า

ปัจจุบันประชากรชาวไทยกำลังเผชิญกับปัญหาโรคอ้วนและน้ำหนักเกินสูงถึง 48.3% การหันมาดูแลสุขภาพและควบคุมโรคอ้วนจึงเป็นเรื่องที่ผู้คนควรหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ผลการวิจัยจาก Global Wellness Institute (GWI) เผยว่าในปี 2566 ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพมีมูลค่าสูงถึง 6.3 ล้านล้านดอลลาร์  และคาดว่าในปี 2571 มีมูลค่าสูงขึ้นเป็น 9 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.3 % สูงกว่าGDP โลกซึ่งอยู่ที่ 4.8 % ภาคธุรกิจในกลุ่ม Wellness ที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ Wellness Real Estate (เติบโตเฉลี่ย15.8%) Mental Wellness (12.2%) และWellness Tourism (10.2%) ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 10 % 

การเติบโตของเทรนด์ Wellness ในปัจจุบัน ถือเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการทั่วโลกในการพัฒนาธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการด้านการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่หมายถึงการดูแลสุขภาพในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพร่างกาย ไปจนถึงการดูแลสุขภาพจิตใจ 

BDMS Wellness Clinic  ดันไทยท็อป5-ศูนย์กลางWellness Hubโลก

Wellness Tourism:สุขกาย สบายใจ

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Wellness Tourism คือการท่องเที่ยวที่มากกว่าการไปเยี่ยมเยียนสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว เพราะเป็นการท่องเที่ยวที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ตั้งแต่สุขภาพกาย สุขภาพใจ รวมถึงส่งเสริมจิตวิญญาณ

จากข้อมูลของ Global Wellness Institute (GWI) ซึ่งเริ่มเก็บข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพตั้งแต่ปี 2555 พบว่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยในปี 2562 มูลค่าตลาดของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเติบโตสูงถึง 6.9 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเติบโตเร็วกว่าผลรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยรวมถึง 50 % ก่อนที่การท่องเที่ยวจะหยุดชะงักลงจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด 19 เมื่อมีการผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทาง การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้กลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยในคราวนี้มูลค่าตลาดพุ่งขึ้นไปสูงถึง 8.3 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2566 และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 10.2 % ต่อปี โดยมีมูลค่าสูงถึง 1.35 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2571

ในส่วนของประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างปรารถนาที่จะมาเยี่ยมเยียน ด้วยศักยภาพด้านทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ อาหารที่หลากหลายและสมุนไพรเมืองร้อน การให้บริการที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ของความเป็นไทย การแพทย์แผนไทยที่เป็นเอกลักษณ์ ตลอดจนเทคโนโลยีด้านการแพทย์ที่ทันสมัย ซึ่งช่วยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub)ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก

ขนาดของธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทยในปี 2566 มีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 15 ของโลก ทั้งนี้ประเทศไทยเคยขึ้นสู่อันดับสูงสุดที่อันดับ 7 ก่อนที่สถานการณ์โควิด-19จะเกิดขึ้นในปลายปี.2562ด้วยมูลค่าตลาด 1.7 หมื่นล้านดอลลา หรือ มากกว่า6.1แสนล้านบาท ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก 

Preventive Medicineดูแลเฉพาะบุคคล

ปัจจุบันเข้าสู่ยุคสมัยของการเปลี่ยนผ่านจากการรักษาโรค (Reactive Healthcare) มาสู่การป้องกันก่อนเกิดโรค และเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง (Proactive Healthcare) หรือเรียกได้ว่าเปลี่ยนจากการรักษาคนป่วยให้หายดี สู่การรักษาคนแข็งแรงดีให้ไม่ป่วย ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยและมีการวิจัยรองรับ หรือที่เรียกว่า Scientific Wellness มายกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนให้สุขภาพดีขึ้น

ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์นำไปสู่การเติบโตของการแพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive Medicine) และการดูแลสุขภาพตามหลักเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine)เพื่อเป้าหมายของการมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน ช่วย “ออกแบบ” การดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคลหรือที่เราเรียกว่า “การแพทย์เฉพาะบุคคล (Personalized Medicine)”โดยนำผลจากการตรวจเลือด หรือการตรวจหาภาวะความผิดปกติในระดับเซลล์และระดับพันธุกรรม การขาดวิตามิน และแร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ และความสมดุลของฮอร์โมนของแต่ละบุคคลมาประเมินความเสี่ยงและทำนายการเกิดโรค เพื่อวางแผนปรับไลฟ์สไตล์ให้เข้ากับผู้รับบริการแต่ละบุคคลให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

รวมทั้งความก้าวหน้าด้านการแพทย์เฉพาะบุคคล จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยต่อยอดธุรกิจการท่องเที่ยวสุขภาพของแต่ละประเทศให้เติบโตขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ไม่เพียงติดท็อป 15 ของโลกในด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเติบโตของธุรกิจสปา ที่ถูกจัดอันดับขนาดธุรกิจอยู่ในที่ 16 ของโลก ธุรกิจการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกที่โตเป็นอันดับที่ 18 ของโลก ธุรกิจอาหารสุขภาพและการลดน้ำหนักที่ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 22 ของโลก และธุรกิจอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ถูกออกแบบมาเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ให้กับผู้คนทั่วโลก 

สานต่อ Wellness Hub Thailand

นพ.ตนุพล กล่าวว่า BDMS Wellness Clinic จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น Wellness Destination of the World เนื่องจากไทยมีศักยภาพไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ทั้งในด้านธรรมชาติ วัฒนธรรม อาหาร สมุนไพร การบริการอันเปี่ยมไปด้วยความเป็นไทย และการแพทย์แผนไทย ผสมผสานกับเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัย ที่ช่วยส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในประเทศที่พร้อมนำเสนอบริการสุขภาพแบบองค์รวมให้กับผู้คนทั่วโลก โดยตั้งเป้าว่าประเทศไทยจะติดTop5 ของโลก เป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางที่ผู้คนทั่วโลกต้องการที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม การจะผลักดันให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้นั้น ต้องทำงานร่วมกันเป็น#TeamThailand โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ ชุมชน รวมถึงประชาชนในประเทศ ในการร่วมสร้างประเทศให้น่าดึงดูดให้คนทั่วโลกเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศของเรา เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการเป็นWellness Hubของโลกในที่สุด