นวดจัดกระดูก ควรทำหรือไม่? ใครเหมาะ ปลอดภัยหรืออันตราย

นวดจัดกระดูก ควรทำหรือไม่? ใครเหมาะ  ปลอดภัยหรืออันตราย

ปัญหาปวดเมื่อย ไม่ว่าจะเป็น ปวดคอ ปวดบ่า ปวดไหล่ ปวดหลัง หรือแม้กระทั่งปวดไมเกรน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในกลุ่มชาวออฟฟิศ มนุษย์ทำงานเกือบจะทุกคน

KEY

POINTS

  • การนวดจัดกระดูกหรือไคโรแพรกติก เน้นการรักษาโดยคำนึงถึงความสมดุลของกระดูกสันหลัง โดยใช้มือดัด ดึง กระแทกให้ข้อต่อต่างๆ อยู่ในตำแหน่งเหมาะสม ร่วมกับการใช้เครื่องมือช่วย
  • ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะไปจัดกระดูก ควรเป็นผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการคอเคล็ด ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดหลัง มีอาการกล้ามเนื้ออักเสบ และปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ เป็นต้น
  • คนที่ต้องการเข้ารับการรักษาด้วยการจัดกระดูก ก่อนการเข้ารับการรักษาควรปรึกษาแพทย์ถึงความจำเป็นและความเหมาะสม รวมไปถึงความปลอดภัยในการรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกก่อน

ปัญหาปวดเมื่อย ไม่ว่าจะเป็น ปวดคอ ปวดบ่า ปวดไหล่ ปวดหลัง หรือแม้กระทั่งปวดไมเกรน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในกลุ่มชาวออฟฟิศ มนุษย์เงินเดือนเกือบจะทุกคน ยิ่งต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ เหล่าอาการออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ หรือใครที่มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกายไปจนถึงปวดไมเกรน ค้นหาแนวทางในการรักษา บรรเทาอาการปวดเหล่านี้ จนเกิดกรณีอย่าง น้องผิง ชญาดา นักร้องเสียชีวิต หลังจากการไปนวดคลายเส้นจนทำให้กระดูกคอเคลื่อนไปทับเส้นประสาท ทำให้สังคมคาดว่า สาเหตุน่าจะเกิดจากการนวด แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้นอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับการนวด

 ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์เวชปฏิบัติทางประสาทวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านสมองและความผิดปกติทางประสาทวิทยาได้โพสผ่านเฟซบุ๊ก ‘สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์‘ ระบุว่า update 9 Dec ข่าวคนไข้ ที่เสียชีวิต น่าไม่ใช่จากการนวดนะครับ เห็นว่า น่าจะมีอักเสบและติดเชื้อ “x ray ไม่พบมีกระดูกกดสันหลัง”  ดังนั้น การจะไปนวดจัดกระดูก ควรจะรู้ว่าใครที่ควรจะไปนวด และในความเป็นจริงปลอดภัย หรืออันตราย?

ปัจจุบันมีแพทย์ทางเลือกที่จะช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ให้ดีขึ้นได้โดยการ “การจัดกระดูก” หรือเรียกว่า “ไคโรแพรคติก” (Chiropractic Adjustment)นั่นเอง ซึ่งเป็นการรักษาทางกายภาพบำบัดที่ใช้ในการปรับโครงสร้างของกระดูกสันหลังและข้อต่ออื่น ๆ ในร่างกาย เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมและมีประสิทธิภาพในการบรรเทาลดอาการปวดและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับข้อต่อและกล้ามเนื้อ โดยการจัดกระดูกนั้นจะช่วยกระตุ้นระบบประสาทและกล้ามเนื้อให้ทำงานได้ดีขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'นวดบิดคอ' ถึงแก่ชีวิตได้ สธ.เร่งสอบกรณี 'ผิง ชญาดา'

แพทย์ เตือน 'บิด-สะบัดคอ' อาจเป็นอัมพฤกษ์ แนะวิธีแก้เมื่อยคอที่ถูกต้อง

การจัดกระดูกช่วยกายภาพบำบัดได้

1. บรรเทาอาการปวดหลังและคอ

การจัดกระดูกช่วยลดอาการปวดหลังและคอที่เกิดจากการขยับผิดท่าหรืออาการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณกระดูกสันหลังและคอ การปรับตำแหน่งของกระดูกสันหลังช่วยลดความตึงเครียดและความกดดันในบริเวณที่มีปัญหา ทำให้อาการปวดบรรเทาลง

2. แก้ไขท่าทางและการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ

ท่าทางที่ไม่ถูกต้องหรือการเคลื่อนไหวที่ไม่สมดุล เช่น การนั่งทำงานนาน ๆ หรือท่าทางที่ผิดท่า อาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยและกล้ามเนื้อตึงเครียด การจัดกระดูกช่วยปรับปรุงท่าทางเหล่านี้และทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายสมดุลมากขึ้น 

3. บรรเทาอาการปวดศีรษะ

อาการปวดศีรษะบางประเภท เช่น ปวดศีรษะจากความเครียดหรือจากการขยับผิดปกติของกระดูกสันหลังส่วนคอ สามารถบรรเทาได้ด้วยการจัดกระดูก การปรับตำแหน่งของกระดูกสันหลังช่วยลดแรงกดดันและความตึงเครียดในบริเวณคอ ทำให้อาการปวดศีรษะลดลง

4. เพิ่มความยืดหยุ่นและการเคลื่อนไหวของข้อต่อ

การจัดกระดูกช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อและกล้ามเนื้อ ทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายดีขึ้น ลดการแข็งตัวของกล้ามเนื้อและข้อต่อที่อาจเกิดจากการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง

5. ลดอาการชาที่แขนและขา

อาการชาหรืออาการปวดที่แขนและขาอาจเกิดจากการกดทับของเส้นประสาทที่กระดูกสันหลัง การจัดกระดูกช่วยลดการกดทับของเส้นประสาทและช่วยบรรเทาอาการชาและปวดเหล่านี้ได้

6. ช่วยฟื้นฟูการบาดเจ็บ

สำหรับผู้ที่มีอาการบาดเจ็บจากกีฬา หรือการบาดเจ็บอื่น ๆ การจัดกระดูกสามารถช่วยให้ฟื้นฟูได้เร็วขึ้นโดยการปรับสมดุลของกระดูกและลดการอักเสบในบริเวณที่บาดเจ็บ

นวดจัดกระดูก ควรทำหรือไม่? ใครเหมาะ  ปลอดภัยหรืออันตราย

เช็กให้ชัวร์!ใครเหมาะนวดจัดกระดูก 

การนวดจัดกระดูกเป็นการรักษาแบบไม่ใช้ยา และไม่มีการผ่าตัดเช่นเดียวกับกายภาพบำบัด แต่ทั้ง 2 การรักษานี้แตกต่างกัน คือ

  • การนวดจัดกระดูกหรือไคโรแพรกติก เน้นการรักษาโดยคำนึงถึงความสมดุลของกระดูกสันหลัง โดยใช้มือดัด ดึง กระแทกให้ข้อต่อต่างๆ อยู่ในตำแหน่งเหมาะสม ร่วมกับการใช้เครื่องมือช่วย
  • ส่วนการรักษาด้วยกายภาพบำบัด คือการใช้ศาสตร์ฟื้นฟูสุขภาพด้วยการออกกำลังกายและใช้อุปกรณ์เสริม เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยลดอาการบาดเจ็บของร่างกาย และสามารถกลับมาใช้ร่างกายให้เป็นปกติให้มากที่สุด

นวดจัดกระดูก (Chiropractic)

ไคโรแพรคติก (Chiropractic) ถือเป็นศาสตร์วิชาการแพทย์แขนงหนึ่งของการดูแลสุขภาพที่ คำนึงถึงความสมดุลของกระดูกสันหลังโดยเน้นความสัมพันธ์ระหว่างสรีรวิทยาและความสมบูรณ์ของโครงสร้าง ไปจนถึงการรักษาฟื้นฟูโครงสร้างที่นำไปสู่สุขภาพที่ดีโดยรวม ส่วนที่จะได้รับการเน้นเป็นสำคัญในการทำไคโรแพรคติก หรือนวดจัดกระดูก จะเน้นการจัดกระดูกสันหลังตลอดแนว ตั้งแต่ส่วนคอลงไปถึงก้นกบ ไคโรแพรคติก ให้ความสนใจกับส่วนสำคัญของร่างกาย 4 ส่วนใหญ่ๆ คือ

  1. กระดูกสันหลัง (Spine) 
  2. ระบบประสาท (Nervous System) 
  3. ลักษณะโครงสร้างของร่างกาย (Structure) 
  4. โภชนาการด้านอาหาร วิตามิน (Nutrition) 

ผู้ที่เหมาะกับการรักษานวดจัดกระดูก

หลักของการรักษาด้วยไคโรแพรคติก คือ การจัดเรียงกระดูกให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูตนเองจากการเจ็บป่วย แนวทางการรักษานั้น แพทย์ไคโรแพรคติกจะนำเทคนิคการบำบัดข้อกระดูกและการฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่มีปัญหามาใช้ในการปรับโครงสร้างด้วยวิธีการปรับ เพื่อทำให้กระดูกสันหลังขยับได้ปกติและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องอาศัยยาและการผ่าตัด ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการรักษาแบบ Non-Invasive โดยการนวดจัดกระดูกสามารถรักษาผู้ป่วยที่มีอาการต่างๆ ดังนี้  

  • ผู้ที่มีอาการคอเคล็ด ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดหลัง
  • ผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้ออักเสบ และปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ อาทิ คอ บ่า ไหล่ หลัง และแขน
  • ผู้ที่มีอาการปวดจากโรคข้อกระดูกอักเสบหรือเสื่อมสภาพ
  • ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน โดยเฉพาะชนิดรุนแรง
  • ผู้ป่วยกระดูกทับเส้น
  • ผู้ป่วยมะเร็งกระดูกสันหลัง
  • ผู้ที่มีอาการแขนขาชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับกระดูกลำคอส่วนบน
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง

สำหรับคนที่ต้องการเข้ารับการรักษาด้วยการจัดกระดูก ก่อนการเข้ารับการรักษาควรปรึกษาแพทย์ถึงความจำเป็นและความเหมาะสม รวมไปถึงความปลอดภัยในการรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกก่อน และควรแจ้งโรคประจำตัว ยาที่ใช้รวมไปถึงประวัติการรักษาโดยละเอียดด้วย

นวดจัดกระดูก ควรทำหรือไม่? ใครเหมาะ  ปลอดภัยหรืออันตราย

ส่วนกายภาพบำบัด (Physical Therapy)

คือ ศาสตร์ฟื้นฟูสุขภาพด้วยการออกกำลังกายและใช้อุปกรณ์พิเศษ ทั้งในแง่ของการส่งเสริม, ป้องกัน, รักษา และฟื้นฟูสุขภาพร่างกาย โดยใช้วิธีตามหลักวิทยาศาสตร์และการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางกายภาพบำบัดโดยมีเป้าหมายทั้งในด้านการดูแลสุขภาพร่างกาย การป้องกันภาวะโรคต่าง ๆการฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและการเคลื่อนไหวของร่างกาย รวมทั้งช่วยให้รู้จักวิธีป้องกันการได้รับบาดเจ็บอันเป็นสาเหตุให้ร่างกายเสื่อมสมรรถภาพในการเคลื่อนไหว 

การรักษาทางกายภาพบำบัด 

การทำกายภาพบำบัดมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น โดยการตรวจประเมินผู้ป่วยแต่ละราย วิเคราะห์ปัญหาของผู้ป่วย โดยใช้หลักการของการเคลื่อนไหวกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยาและทฤษฎีต่างๆ ที่ผสมผสาน เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วย อาทิ

  • การออกกำลังกาย คือกิจกรรมที่เพิ่มเติมมาจากกิจกรรมทั่วไปที่ทำในแต่ละวัน ซึ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ความแข็งแรง ความทนทานของร่างกายและการทำงานประสานกันระหว่างระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ประกอบไปด้วย การยืดกล้ามเนื้อ เพิ่มความแข็งแรงร่างกาย และ ยกน้ำหนัก เป็นต้น
  • การนวด คือการทำกายภาพบำบัดด้วยมือ เพื่อช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดอาการเจ็บปวด และเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ร่างกาย โดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น ขยับข้อต่อ (Mobilization) ดัดข้อต่อ (Manipulation) เป็นต้น
  • การใช้เครื่องมือต่างๆ งานกายภาพบำบัดมีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อช่วยในการฟื้นฟูผู้ป่วยแต่ละรายให้มีพัฒนาการของอาการที่ดีขึ้น เพื่อช่วยให้การบริการมีประสิทธิภาพสูงสุด ได้แก่ รักษาด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ (Ultrasound Therapy) กระตุ้นด้วยไฟฟ้า (Electrical Stimulation) เครื่องเลเซอร์กำลังสูง (High Power Laser Therapy) เครื่องรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Shock wave Therapy)เป็นต้น

ผู้ที่เหมาะกับการทำกายภาพบำบัด 

การทำกายภาพบำบัดสามารถทำได้ทั้งก่อน-หลังมีอาการผิดปกติต่างๆ เพราะเป็นการดูแลและฟื้นฟูระบบการทำงานในร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อ กระดูก การไหลเวียนเลือด ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การทำกายภาพบำบัดใช้รักษาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับอาการปวดหลัง ปวดคอ ได้รับบาดเจ็บ หรือป่วยเป็นโรคอื่นๆ ที่ทำให้ต้องเข้ารับการรักษา ดังนี้

  • ฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายหลังได้รับบาดเจ็บ 
  • ผู้ที่มีอาการของโรคออฟฟิศซินโดรม
  • ผู้ที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อต่อได้สุดช่วงการเคลื่อนไหว เช่น ข้อไหล่ติด ข้อเข่าติด นิ้วล็อค 
  • ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำกิจกรรม เช่น ออกกำลังกาย  เล่นกีฬา   
  • ผู้ที่เริ่มมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่น ปวดคอ ปวดบ่า ปวดไหล่ ปวดแขน ปวดหลัง  ปวดสะโพก  ปวดเข่า  ปวดขา ปวดข้อเท้า  

นวดจัดกระดูก ควรทำหรือไม่? ใครเหมาะ  ปลอดภัยหรืออันตราย

ข้อควรระวังในการจัดกระดูก

แม้ว่าการจัดกระดูกจะมีประโยชน์มากมาย แต่ควรดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์เท่านั้น เนื่องจากการจัดกระดูกที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ ดังนั้น ก่อนเริ่มการรักษาควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อความปลอดภัย

การจัดกระดูก เป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดและส่งเสริมการฟื้นฟูสุขภาพ โดยเฉพาะอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลัง หากคุณมีอาการปวดหรือความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลังหรือข้อต่อ การจัดกระดูกอาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการฟื้นฟูสุขภาพ

อ้างอิง: โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ ,primocare