'นวดบิดคอ' ถึงแก่ชีวิตได้ สธ.เร่งสอบกรณี 'ผิง ชญาดา'
“ผิง ชญาดา”เสียชีวิต พบประวัติเคย“นวดบิดคอ” สธ.เร่งสอบร้านนวด เปิดถูกกฎหมาย-วิธีนวดถูกต้องหรือไม่ ขณะที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเตือน บิดคอ อาจถึงแก่ชีวิตได้ สธ.เร่งสอบกรณีผิงชญาดา
เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2567 ผิง ชญาดา นักร้องสาวค่าย Guitar Record เสียชีวิต โดยมีการโพสต์ระบุถึง อาการก่อนเสียชีวิต ว่า ถูกนำส่งรักษาตัวที่ห้องผู้ป่วยหนัก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เนื่องจาก ติดเชื้อในกระแสเลือด แล้วเกิดอาการช็อก ก่อนถูกส่งเข้าห้อง ICU กระทั่งตรวจพบว่าสมองบวม แล้วน้องจากไปอย่างสงบในช่วงเช้าวันนี้
ผิง ชญาดา มีประวัติไปนวดบิดคอ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2567 ผิง ชญาดา ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ไปนวดที่ๆ หนึ่ง ในอุดร (อุดรธานี) อาการตอนก่อนไปนวดคือหนูปวดแค่ไหล่ ไปนวดครั้งแรกอาการตอนนวดเสร็จปกติผ่านมา 2 วัน เริ่มปวดท้ายทอย หนูนึกว่าเป็นอาการปวดของการนวดปกติ (มีบิดคอนะคะ) หลังจากนั้นหนูกินยาระงับอาการ ผ่านไปอีก 1 สัปดาห์หนูเริ่มมีอาการชาลงแขน ไปนวดอีกหมอคนเดิมห้องเดิม รอบนี้ (บิดคอ) อีก
ผ่านไป 2 สัปดาห์หนูเริ่มปวดตึงมากๆ มากๆ จนนอนหงายคว่ำไม่ได้ แต่แม่หนูเป็นหมอนวด หนูเรียนนวดมาตั้งแต่เด็กๆ หนูชอบนวดมาก หนูยังไม่เอะใจอะไรค่ะ นึกว่าเป็นเอฟเฟคจากการนวดอีก (ปวดตัวแบบนี้)
หนูไปอีกห้องเดิม เบอร์เดิม แต่เป็นคนใหม่ คนนี้นวดแรงบวมช้ำอยู่เป็นสัปดาห์ (ไม่ใช่คนที่บิดคอ) มีล้วงใต้ราวนม (จั๊กแร้) หลังจากนั้นหนูกินยาเพื่อบรรเทาอาการมาตลอด เริ่มมีอาการไฟซ๊อตไปปลายนิ้ว คันมากจนอยากตัดมือทิ้ง ร้อนๆหนาวๆ ตลอดเวลา ก้มแล้วร้าวลงขา ซีกขวารู้ว่าตัวเองชาก็ตอนทาโคโลญจน์หลังจากรอบที่ 3 ที่ไปนวด เริ่มลามไปท้อง ราวนม อาการชาเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ผ่านไปอีก 2 อาทิตย์แขนขวาหนูเริ่มยกไม่ได้ (อ่อนแรง) จนถึงตอนนี้ร่างกายหนู ใช้งานได้ไม่ถึง 50% หนูมาเล่าเพราะมีคนถามมาเยอะ อยากฝากไว้เป็นอุทาหรณ์สำหรับใครที่ชอบนวดมากๆ นะคะ หนูจะต้องหายค่ะ หนูทรมานมาก อยากทำงานแล้วค่ะ แต่ตอนนี้รอแค่เวลา ขอบคุณที่อ่านจนจบนะคะ"
กรณีผิงชญาดา สธ.เร่งสอบร้านนวด
ทพ.อาคม ประดิษฐ์สุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า เพิ่งทราบข่าวเรื่อง การนวด ที่มีคนเสียชีวิต ขณะนี้อยู่ระหว่างให้เจ้าหน้าที่ของกรม สบส.ตรวจสอบว่า ร้านนวด ดังกล่าวมีการขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ โดยปกติ ร้านนวดแพทย์แผนไทย อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมสบส. แต่ใช้กฎหมายของ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ โดยในพื้นที่ต่างจังหวัด ต้องมีการขออนุญาตกับทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)
"สิ่งที่จะมีการตรวจสอบ คือ การนวดที่เกิดขึ้นถูกต้องตามแบบแผนการนวดหรือไม่ เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันมักการประยุกตฺนวดในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน หรือ การนวดทำให้ผู้รับบริการได้รับบาดเจ็บหรือไม่"ทพ.อาคมกล่าว
ด้านนพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี (นพ.สสจ.) กล่าวว่า ได้ส่งทีมลงไปตรวจสอบเบื้องต้นในอำเภอเมืองมีประมาณ 14 แห่ง กำลังตรวจสอบว่า เป็นร้านนวดใด และผ่านมาตรฐาน ผ่านการรับรองจากกรมสบส.หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นรพ.อุดรธานี ที่ดูแลกรณีดังกล่าวแจ้งว่ามาจากปอดบวม ติดเชื้อในกระแสเลือด แต่ยังไม่แน่ชัดว่า มาจากการนวดด้วยหรือไม่ ซึ่งกำลังตรวจสอบเรื่องนี้ กำลังหาข้อมูลให้ครบวงจรที่สุด
“บางร้าน เจ้าของผ่าน การฝึกอบรมหลักสูตรนวดไทย 372 ชั่วโมง แต่ไม่รู้ว่าหมอนวดในร้านผ่านการอบรมจนครบหลักสูตรหรือไม่ ที่สำคัญหลักสูตรนวดไทย 372 ชั่วโมง ไม่มีการนวดบิดคอ หรือนวดดัดเสี่ยงๆ แบบนี้ การนวดตามหลักสูตร ไม่ได้แนะนำให้ต้องดัดหลัง ดัดคอ จะตรวจสอบให้หมดว่า เป็นลักษณะใด ควบคู่กับการเสียชีวิตของผู้ป่วยว่ามีสาเหตุเชื่อมโยงจากการนวดด้วยหรือไม่”นพ.สมชายโชติกล่าว
นพ.สมชายโชติ กล่าวด้วยว่า หากร้านนวดอยู่ในระบบของสธ.มีการรับรองหลักสูตร มีการตรวจสอบก็ไม่น่ากังวล แต่ที่ต้องกังวลคือ หมอนวดมีความเชี่ยวชาญขนาดไหน ผ่านหลักสูตรอย่างไร ขอย้ำว่า หลักสูตรการนวดไทย 372 ชั่วโมงไม่เคยมี การสอนนวดบิด นวดจุด หรือ ดัดคอ สะบัดคอ
บิดคอ อาจถึงแก่ชีวิตได้
ขณะที่ พญ.ศรัญญา ยุทธโกวิท นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวว่า ต้นคอเป็นศูนย์รวมของอวัยวะสำคัญ มีเส้นเลือดใหญ่เลี้ยงสมอง ต้นคอจึงมีความสำคัญมาก แม้แต่การกายภาพบำบัดที่บริเวณต้นคอต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ ต้องมีการประเมินเป็นระยะ เพราะหากมีการจับกดหรือใช้แรงมาก การนวดที่บริเวณต้นคอ หากผิดพลาดหรือแรงไป อาจส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณต้นคอฉีกขาด กลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ซึ่งการพบในคนที่มีอายุน้อย 20-30 ปี ก็เกิดขึ้นมาแล้ว
ส่วนกรณี ผิง ชญาดา ที่เสียชีวิตนั้น พญ.ศรัญญา กล่าวว่า การดูฟิล์มเอ็กซ์เรย์ของผู้เสียชีวิตที่ปรากฎจากข่าว คาดว่ามีภาวะหมอนรองกระดูกคอเสื่อมอยู่ก่อนแล้ว เมื่อมีการนวดมาประกอบกันกับภาวะความเสื่อมของหมอนรองกระดูกคอ อาจเป็นกดทับเส้นประสาทที่มีการเชื่อมต่อ ส่งผลไปไขสันหลัง
“ความเสื่อมของหมอนรองกระดูกคอเป็นไปตามวัย เกิดจากการก้มเงย ใช้คอบ่อย เมื่อมีภาวะเสื่อมมีอาการปวดเมื่อย ไม่แนะนำให้นวดหรือบิดคอ เพราะโดยปกติคอของคนมีข้อกระดูก 7 ข้อ และมีแค่ข้อที่ 1-2 ที่สามารถหมุนได้ 150 องศา ส่วนข้ออื่นๆได้ 50-60 องศา เท่านั้น จึงไม่ควรบิด หรือ หมุนอย่างเด็ดขาด เสี่ยงได้รับผลกระทบถึงแก่ชีวิตได้” พญ.ศรัญญากล่าว
หากมีอาการปวดเมื่อยคอ หรือปวดร้าวเมื่อยแขนร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจประเมิน โดยจะมีวิธีการรักษาที่ปลอดภัยภายใต้การกำกับดูแลของสถานพยาบาล ดีกว่าไปนวดเองที่ไม่ได้รับการตรวจประเมิน เพราะบริเวณต้นคอมีหลอดเลือด ไม่ได้มีแค่กล้ามเนื้อและกระดูกเท่านั้น หากฉีกขาดจะเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
4 ข้อแนะนำเคลื่อนไหวคอ
นพ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมผู้ชำนาญการเพื่อกีฬาและสุขภาพ กล่าวว่า แม้การบิดหรือสะบัดคอจะเป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่ใช้ เพื่อลดอาการตึงกล้ามเนื้อคอ แต่พฤติกรรมนี้หากทำบ่อยหรือแรงเกินไป อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพระยะยาว การระวังในการเคลื่อนไหวคอ จึงมีคำแนะนำ คือ
1.หลีกเลี่ยงการสะบัดคอแรงๆ
2.เลือกบริหารกล้ามเนื้อคออย่างปลอดภัย ด้วยการตั้งคอตรง ดันศีรษะต้านกับฝ่ามือในทิศทาง ซ้าย ขวา หน้า หลัง โดยจะทำวันละ 10-15 รอบ ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอโดยไม่เสี่ยง
3.รักษาอาการปวดคอด้วยวิธีการที่เหมาะสม หากมีอาการปวดคอเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านกายภาพบำบัดเพื่อตรวจหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ
4.หลีกเลี่ยงการนวดแรงบริเวณคอ เช่น การนวดที่ไม่เหมาะสมอาจไปกระทบต่อหลอดเลือดคู่หลังและทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ