หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 'อาสาบำรุงราษฎร์' ยกโรงพยาบาล ลงสู่ชุมชน

หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 'อาสาบำรุงราษฎร์' ยกโรงพยาบาล ลงสู่ชุมชน

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และ มูลนิธิโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เดินหน้าโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ “อาสาบำรุงราษฎร์” สานต่อโครงการจิตอาสาที่มอบบริการตรวจรักษาเบื้องต้นแก่ชุมชน ณ ชุมชนสุเหร่าบ้านดอน

KEY

POINTS

  • โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และ มูลนิธิโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เดินหน้าโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ “อาสาบำรุงราษฎร์” ณ ชุมชนสุเหร่าบ้านดอน สุขุมวิท 49
  • นับเป็นการสานต่อโครงการจิตอาสาที่มอบบริการตรวจรักษาเบื้องต้นแก่ชุมชนโดยรอบโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 22 ปี ให้การดูแลรักษาประชาชนมาแล้วกว่า 400,000 ราย ใน 42 ชุมชน 
  • การออกหน่วยฯ ในครั้งนี้ มีทีมแพทย์ 5 คน พยาบาล 20 คน เภสัชกร 10 คน ครอบคลุมการตรวจสุขภาพ การรักษา การใช้ยา และการดูแลสุขภาพระยะยาว โดยมีประชาชนลงทะเบียนกว่า 460 คน 

เมื่อเร็วๆ นี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และ มูลนิธิโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เดินหน้าโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ “อาสาบำรุงราษฎร์” ณ ชุมชนสุเหร่าบ้านดอน สุขุมวิท 49 สานต่อโครงการจิตอาสาที่มอบบริการตรวจรักษาเบื้องต้นแก่ชุมชนโดยรอบโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 22 ปี

 

โดยให้การดูแลรักษาประชาชนมาแล้วกว่า 400,000 ราย ใน 42 ชุมชน เพื่อยกมาตรฐานการให้บริการ และกระจายความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง ด้วยความมุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมแห่งสุขภาวะที่ดี ภายใต้มาตรฐานของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ สู่ชุมชนทั่วประเทศ

 

บ้านดอน ชุมชนเก่าแก่ 200 ปี

สำหรับ ชุมชนสุเหร่าบ้านดอน นับเป็นชุมชนเก่าแก่ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ แต่เดิมก่อตั้งอยู่ปากทางสุขุมวิท 37 เป็นพื้นที่ดอน จึงเรียกว่า “บ้านดอน” หลังจากที่ชุมชนเล็งเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวทำไร่ทำนาลำบาก จึงย้ายมาอยู่บริเวณริมคลองแสนแสบ เรียกว่า บ้านต้นไทร แต่ยังใช้ชื่อ “บ้านดอน” จนถึงปัจจุบัน

 

ท่านอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรีฯ แห่งราชอาณาจักรไทย ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ชุมชนสุเหร่าบ้านดอนมีอายุยาวนานกว่า 200 ปี มีการสร้างมัสยิด และเป็นชุมชนที่ขยายตัว จากพื้นที่ซอยกลางจนถึงซอยแสงเงิน สุขุมวิท 25 อีกด้านติดคลองแสนแสบ ประชากรราว 4,000 คน ที่นับถือศาสนาอิสลาม และอยู่ร่วมกับศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์ อยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข ไม่มีความขัดแย้ง

 

หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ \'อาสาบำรุงราษฎร์\' ยกโรงพยาบาล ลงสู่ชุมชน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

กิจการของมัสยิด คือ การดูแลโรงเรียนสอนศาสนา ให้ทุนแก่นักศึกษา ทุกปีมีทุนเล่าเรียนให้กับนักเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลาย 2,000 บาททุกคนในชุมชน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องสอบให้ได้เกรดเฉลี่ย 3.5 ขึ้นไป โดยไม่เลือกว่านับถือศาสนาใดก็ตาม ส่วนคนที่เรียนในระดับอุดมศึกษา จะได้ทุนเล่าเรียนคนละ 5,000 บาท

 

ทั้งนี้ ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชน มีหลายช่วงวัยส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยกลางคน เยาวชน และเด็ก รวมถึงผู้ป่วยติดเตียง ขณะนี้ คนที่สูงอายุสูงที่สุดในชุมชนอายุราว 87 ปี การเข้าถึงการแพทย์มีทั้งบัตรทอง 30 บาท หรือคนที่มีกำลังจ่ายจะไปใช้บริการที่โรงพยาบาลเอกชนใกล้เคียง

 

“ท่านอรุณ” กล่าวเสริมว่า การที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มาออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทั้งหมดเป็นจิตอาสาที่มาร่วมบริการตรวจรักษาโรค มอบยาสามัญประจำบ้านต่อผู้ป่วยเพื่อดูแลสุขภาพของตนเอง ขอขอบคุณไปยัง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ คณะแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ทุกคน

 

จุดเริ่มต้น โครงการฯ ในปี 2544

“นภัส เปาโรหิตย์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของ โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้กับชุมชนว่า เป็นโครงการที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2544 แรงบันดาลใจจาก คุณทอมสัน (ทอมสัน ฮอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์ไลท์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด) ที่มองว่าหากเป็นนักธุรกิจ ทำเงินได้ พอจะมีกำลังทรัพย์ก็ควรจะช่วยเหลือคนอื่น เป็นที่มาของ โครงการคลินิกเคลื่อนที่กองทุนทอมสัน (Thomson Fund Mobile Free Clinic) ในปี 2544 ร่วมกับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

 

หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ \'อาสาบำรุงราษฎร์\' ยกโรงพยาบาล ลงสู่ชุมชน

 

โครงการฯ จะเข้าไปยังชุมชนโดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ใกล้โรงพยาบาล เพราะเราถือคติว่า เวลาที่เราดูแลใคร เราจะดูแลชุมชนที่ใกล้ตัวก่อน นอกจากนี้ เวลาดูแลชุมชน ควรจะดูแลในเรื่องที่เราถนัดและทำได้ดี และแน่นอนว่า โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ทำได้ดีในเรื่องของการดูแลสุขภาพ ออกคลินิกเคลื่อนที่ไปตามชุมชนต่างๆ ใน กทม. โดยตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้น ช่วยประชาชนไปแล้วกว่า 400,000 ราย โดยให้บริการตรวจสุขภาพทั่วไป รับทั้งคนไข้ที่อาจจะมีปัญหาสุขภาพ และ คนที่ไม่ป่วยแต่ช่วยให้เขาดูแลสุขภาพให้แข็งแรง

 

“เราเชื่อว่าประโยชน์ของการทำกิจกรรมดังกล่าว นอกจากจะทำให้ชุมชนมีสุขภาพที่แข็งแรง และโรงพยาบาลก็ได้มอบการรักษาในมาตรฐานของ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์แล้ว ขณะเดียวกัน คนในชุมชนยังได้มีโอกาสรวมตัวกันทำกิจกรรม สานสัมพันธ์ เนื่องจากในการจัดงานแต่ละครั้งต้องอาศัยชุมชนในการจัดการด้วย ทำให้ความสัมพันธ์ชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้น”

 

หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ \'อาสาบำรุงราษฎร์\' ยกโรงพยาบาล ลงสู่ชุมชน

 

ยกโรงพยาบาล สู่ชุมชน

สำหรับการคัดเลือกพื้นที่ในการออกหน่วย “นภัส” กล่าวว่า เรามุ่งมั่นในพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงพยาบาล เนื่องจากเราดูแลชุมชนใกล้ชิดก่อน ชุมชนนั้นมีความต้องการการเข้าถึงการบริบาลอย่างแท้จริง นอกจากนี้ บำรุงราษฎร์ ยังมีความใกล้ชิดกับชุมชนมุสลิม จะเห็นได้ว่าแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ มีความเชี่ยวชาญในการดูแลคนไข้หลากหลายเชื้อชาติกว่า 190 ประเทศ ดังนั้น เราเชื่อมั่นว่าเวลาออกหน่วย เราเข้าใจถึงความหลากหลาย ความแตกต่างทางวัฒนธรรม และเข้าใจถึงประเด็นอ่อนไหวต่างๆ

 

“ในวันนี้ บำรุงราษฎร์ มีทีมแพทย์ออกหน่วย 5 คน ไม่ว่าจะแพทย์เด็ก กระดูก อายุรกรรม รวมถึง พยาบาล 20 คน เภสัชกร 10 คน มีประชาชนลงทะเบียนกว่า 460 คน ให้บริการตรวจสุขภาพทั่วไป โดยก่อนหน้านี้มีการสำรวจปัญหาสุขภาพของทุกคนที่ลงทะเบียนเพื่อให้จัดทีมแพทย์ได้อย่างเหมาะสม โดยส่วนใหญ่ พบว่า คนในชุมชนเป็นโรคในกลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรัง เบาหวาน ไขมัน ความดันโลหิต และอาการปวดเมื่อย เป็นต้น”

 

หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ \'อาสาบำรุงราษฎร์\' ยกโรงพยาบาล ลงสู่ชุมชน

 

ท้ายนี้ “นภัส” กล่าวว่า สิ่งที่เราทำสะท้อนถึงวัฒนธรรมองค์กรของบำรุงราษฎร์ ประกอบด้วย ความคล่องตัว การโอบรับความแตกต่าง การใช้นวัตกรรมใหม่ๆ และสุดท้ายต้องส่งมอบการบริบาลด้วยความเอื้ออาทร ทั้งต่อพนักงานด้วยกันเอง ต่อผู้ป่วย และต่อชุมชน ขณะเดียวกัน ยังเคารพเรื่องความแตกต่างและหลากหลาย หวังว่าเมื่อชุมชนสุขภาพดี แข็งแรง ชุมชนก็จะมีแรงในการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

 

“การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ช่วยให้คนในชุมชนเข้าถึงการบริบาลระดับสูง และมีอาจารย์แพทย์คอยให้คำแนะนำ เภสัชกรเฉพาะทางช่วยจ่ายยาได้ถูกต้อง เหมาะสม ให้คำแนะนำในการป้องกันดูแลสุขภาพ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นระยะยาว”

 

อาสาบำรุงราษฎร์ ขยายสู่ภูเก็ต

นอกจากนี้ ในไตรมาส 4 ของปีนี้ โครงการออกหน่วยเคลื่อนที่ฯ จะเดินหน้าให้บริการที่ จ.ภูเก็ต เนื่องจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กำลังจะขยายสาขาไปยังภูเก็ต นับเป็นสาขาแห่งแรกในประเทศไทย ตอบโจทย์ความต้องการการเข้าถึงการแพทย์ระดับสูงในภูเก็ต รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็นกระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการราว 2 ปี อีกทั้ง ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ ที่อยู่ในเครือของบำรุงราษฎร์ ซึ่งดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน จะเปิดตัวในภูเก็ต เร็วๆ นี้

 

หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ \'อาสาบำรุงราษฎร์\' ยกโรงพยาบาล ลงสู่ชุมชน