สุขภาพดี ไม่ใช่แค่เรื่องการแพทย์: มุมมองจากเบเวอร์ริจ

สุขภาพดี ไม่ใช่แค่เรื่องการแพทย์: มุมมองจากเบเวอร์ริจ

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920-1930 “วิลเลียม เบเวอร์ริจ” ถือเป็นหนึ่งนักเศรษฐศาสตร์ด้านสวัสดิการที่มีอิทธิพลในอังกฤษ ในหลายตอนก่อนหน้านี้

ผู้เขียนได้พูดถึงความคิดของเขาในด้านต่างๆ ที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของรัฐสวัสดิการ ได้แก่ การขจัดความเกียจคร้าน และความขลาดเขลา (ที่ไม่ใช่เป็นแค่ประเด็นด้านปัจเจก แต่เป็นเรื่องการปรับโครงสร้างทางสังคมที่เอื้อให้ผู้คนไม่อยากขี้เกียจทำงานและเรียนรู้) ในครั้งนี้ ผู้เขียนขอพูดถึงมุมมองของเบเวอร์ริจที่มีต่อด้านสุขภาพบ้าง

ความเจ็บป่วยเป็นความเสี่ยงสังคม

โรคภัยไข้เจ็บตามมุมมองของเบเวอร์ริจเป็นเรื่องของความเสี่ยงระดับปัจเจกและสังคม อีกทั้งสัมพันธ์กับภาคอุตสาหกรรมในระบบเศรษฐกิจ ความเจ็บป่วยส่งผลกระทบต่อการผลิตทั้งระดับโรงงานและระดับชาติ

เนื่องจากสมัยนั้น อาชีวอนามัย (Occupational hygiene) ยังไม่แพร่หลาย สภาพแวดล้อมการทำงานจึงไม่มีการตรวจสอบและดูแลดีเพียงพอ แรงงานจึงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง กระบวนการผลิตจึงเกิดการติดขัดไม่ต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ความสามารถการผลิตของประเทศลดลง

โรคภัยไข้เจ็บในรูปแบบที่สอง เขาให้ความสำคัญกับโรคที่เกิดขึ้นในเด็กเล็กที่เป็นวัยเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและการตายสูง แต่สามารถป้องกันได้ด้วยบริการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน เช่น โรคท้องร่วง โรคขาดสารอาหาร เป็นต้น เขาจึงมองว่าการบริบาลมารดา (Maternal care) จึงมีความสำคัญและควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานแก่สตรีทุกคน

ป้องกันดีกว่ารักษา

เบเวอร์ริจมองว่าการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บด้วย “ประกันเอกชน” เป็นเครื่องมือไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เพราะช่วยเฉพาะด้านการสร้างความมั่นคงทางการเงินกรณีเกิดการเจ็บป่วย กล่าวคือ เมื่อใดก็ตามที่ผู้ทำประกันเข้าโรงพยาบาลก็ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล แต่ไม่ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรค และไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายทางร่างกายจากการเจ็บป่วย 

อีกทั้งประกันเอกชนอาศัยการเก็บสะสมเงินมากๆ ในช่วงต้นของชีวิตเพื่อมาต่อสู้กับความเสี่ยงที่มากขึ้นในบั้นปลายชีวิต ซึ่งเงินทุนที่แต่ละคนสะสมมากๆ นี้ไม่ได้ถูกจัดการลงทุนให้ผลงอกเงยมา มันก็หมายถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสที่มากขึ้น 

เขาจึงเสนอว่าให้รัฐเป็นผู้รับผิดชอบการจัดสรรบริการรักษาพยาบาลให้กับประชาชน โดยใช้แหล่งเงินจากภาษีของคนทั้งประเทศแทน รวมถึงต้องมีประกันการชดเชยจากอุบัติเหตุจากการทำงานให้กับแรงงาน และมาตรการฟื้นฟูเพื่อให้กลับเข้ามาทำงานได้อีก

อย่างไรก็ตาม ระบบสุขภาพแห่งชาติที่เขาฝันต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันก่อนการรักษา โดยที่การป้องกันโรคด้วยบริการสุขภาพอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องอาศัยสุขาภิบาล ความสะอาดของที่อยู่อาศัย การเข้าถึงอาหาร ซึ่งรัฐมีบทบาทรับผิดชอบ ในด้านการป้องกันอุบัติเหตุในที่ทำงานก็ต้องมีการออกกฎหมายให้โรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มมาตรการความปลอดภัย

ส่วนการรักษานั้น รัฐต้องปฏิรูประบบขึ้นใหม่ ให้การรักษาพยาบาลระดับชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ โรงพยาบาลขนาดใหญ่มิใช่เป็นพระเอกหลักของระบบ ประชาชนรับการรักษาที่บ้านหรือสถานให้บริการการแพทย์โดยไม่ขึ้นอยู่กับรายได้ ดังนั้น ระบบสุขภาพของอังกฤษจึงให้ความสำคัญผลิตแพทย์ทั่วไป แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ชุมชน เป็นหลัก

จากเบเวอร์ริจแล้วมองย้อนระบบสุขภาพไทย

ประเทศไทย สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้สำเร็จ ทั้งๆ ที่เป็นประเทศรายได้ปานกลาง อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ก็ส่งผลให้ความต้องการและความคาดหวังประชาชนเปลี่ยนไปด้วย ระบบสุขภาพไทยเองก็จำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาเพื่อตอบสนองประชาชน

สาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยได้เปลี่ยนไป จากเดิมที่โรคติดต่อเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญ มาวันนี้กลายเป็นโรคไม่ติดต่อและอุบัติเหตุบนท้องถนน อีกทั้งประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยซึ่งต้องการบริการพยาบาลเฉพาะแก่คนชรามากขึ้น

ทั้งสามสาเหตุที่กล่าวมามีค่าใช้จ่ายสูง และต้องเพิ่มการผลิตแพทย์เฉพาะทางหลากหลายสาขา อีกทั้งต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างโรงพยาบาลเพื่อรองรับการพักฟื้น รวมถึงต้องสั่งนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์เพื่อใช้ประกอบการรักษา

แน่นอนว่าการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิของประชาชนไทย อีกทั้งไม่มีการป้องกันโรควิธีไหนที่สมบูรณ์แบบจนลดความเสี่ยงการเกิดโรคเป็นศูนย์ การรักษาจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แต่จะดีกว่าไหม ถ้าการรักษาถ้วนหน้านั้นมีระบบป้องกันโรคที่ดีส่งเสริม? จะดีกว่าไหม ถ้าการดูแลพยาบาลคนชรา ไม่ใช่การทิ้งให้อยู่โรงพยาบาลในสภาพแวดล้อมที่ไม่ใช่บ้าน?

การป้องกันโรคเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของปัจเจก การออกกฎหมายบังคับอย่างเดียวเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพก็เป็นการยากในปัจจุบัน แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเช่นกัน

รัฐจึงต้องมีบทบาทให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนและผู้ปฏิบัติหน้างาน เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข ให้มีความฉลาดทางสุขภาพ (Health literacy) ในการจัดการความเสี่ยงสุขภาพได้ถูกต้อง

รัฐควรมีการฝึกอบรมส่งเสริมความรู้ทางการแพทย์ และเวชปฏิบัติพื้นฐานให้อาสาสมัครชุมชน พร้อมทั้งเสนอเส้นทางการเติบโตทางสายอาชีพนี้ได้ เช่น การสนับสนุนศึกษาต่อระดับอนุปริญญา และมีค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นตามความสามารถ รัฐต้องเอื้อให้ครอบครัวและชุมชนเพิ่มสมรรถนะในการดูแลรักษาพยาบาลพื้นฐานแก่ คนชรา สมาชิกครอบครัวหรือชุมชนในกรณีเจ็บป่วยไม่ร้ายแรง 

รวมถึงการสร้างค่านิยมในสังคมขึ้นมาใหม่ว่า สุขภาพมิใช่เป็นเรื่องของแพทย์เท่านั้น สุขภาพที่ดีต้องมาจากความรับผิดชอบและการทำงานร่วมกันของรัฐและประชาชน