สูงวัยเสี่ยงอ้วนง่าย ภัยเงียบใกล้ตัว รับประทาน ดูแลอย่างไรให้สุขภาพดี

สูงวัยเสี่ยงอ้วนง่าย ภัยเงียบใกล้ตัว รับประทาน ดูแลอย่างไรให้สุขภาพดี

ปัญหาโรคอ้วน  เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคนหลายๆ วัย โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ ที่มีความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย รวมถึงระบบการเผาผลาญที่ต่ำลง

KEY

POINTS

  • ผู้สูงอายุต้องระวังภาวะ “อ้วนลงพุง” จากการสะสมของไขมันในช่องท้องมากเกินไป ซึ่งเกิดจากการเผาผลาญอาหารผิดปกติ
  • การดูแลและป้องกันที่ดี ผู้สูงอายุต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จัดโภชนาการอาหารให้ถูกต้อง มีปริมาณที่พอเหมาะเท่ากับที่ร่างกายต้องการ
  • ลดน้ำหนักผู้สูงอายุให้ห่างไกลกับความอ้วน เป็นหน้าที่ของสมาชิกในบ้านที่ต้องคอยช่วยกันดูแลและควบคุมน้ำหนักของผู้สูงอายุให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

ปัญหาโรคอ้วน  เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคนหลายๆ วัย โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ ที่มีความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย รวมถึงระบบการเผาผลาญที่ต่ำลง

ปัญหาโรคอ้วน  เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคนหลายๆ วัย โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ ที่มีความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย รวมถึงระบบการเผาผลาญที่ต่ำลง

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักไม่ค่อยใส่ใจหรือคำนึงถึงรูปร่างของตนเอง จึงมักปล่อยปละละเลย และมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารในแบบที่เคยชิน ตลอดจนไม่รู้จักการดูแลโภชนาการให้ตัวเอง รวมถึงการไม่ออกกำลังกาย ทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักเผชิญกับปัญหาโรคอ้วน ส่งผลกระทบให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา

ยิ่งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายที่คอยช่วยอำนวยความสะดวกแก่มนุษย์จนทำให้เกิดการปลูกฝังพฤติกรรมรักความสะดวกสบาย เกิดพฤติกรรมการนั่ง กิน นอน  มีการบริโภคที่มากจนเกินความต้องการ ไม่มีการออกกำลังกาย อันส่งผลให้เกิดกลุ่มอาการอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome) ตามมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เช็กก่อนเสี่ยง อ้วนแค่ไหน ถึงเข้าเกณฑ์ ‘โรคอ้วน’ น้ำหนักเกิน

คนกรุงฯ มีภาวะอ้วนมากสุด แนะ "โรคอ้วน" ป้องกันได้ อย่ารอโรคแทรก

เฝ้าระวังสูงวัยเป็นโรคอ้วน

กลุ่มอาการอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome) คือ กลุ่มความผิดปกติที่พบร่วมกัน ได้แก่ ความผิดปกติของไขมันในเลือด ความดันโลหิต ระดับน้ำตาล ตลอดจนปัจจัยที่เป็นสารตั้งต้นของการอักเสบ (Proinflammatory, prothrombotic) ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือด และโรคเรื้อรังต่าง ๆ

ในสหรัฐอเมริกา พบกลุ่มคนในช่วงอายุ 20 – มากกว่า 70 ปี มีกลุ่มอาการอ้วนลงพุงโดยรวมประมาณร้อยละ 22 โดยพบว่าหากอายุมากขึ้นจะยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

ส่วนข้อมูลกลุ่มอาการอ้วนลงพุงในประเทศไทย (Interasia study) ในประชากรอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 35 ปี จำนวน 5,091 ราย พบประมาณร้อยละ 21.9 (NCEP ATP III) พบว่าเพศหญิงมีกลุ่มอาการอ้วนลงพุงมากกว่าเพศชายโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ และความผิดปกติที่พบบ่อยสุด คือ ไขมันดี (HDL) ต่ำ

ผู้สูงอายุที่จัดว่าอยู่ในภาวะโรคอ้วน

  • สามารถดูได้จากรอบเอวที่มากเกินไป
  • ความดันโลหิตมากกว่า 130/85 มิลลิเมตรปรอท
  • ระดับไตรกลีเซอไรด์มากกว่า 150 มิลลิกรัม %
  • ต้องกินยาลดไขมันระดับ HDL (ไขมันตัวดี) มากกว่า 40 และ 50 มิลลิกรัม %
  • ระดับน้ำตาลสูงกว่า 100 มิลลิกรัม % (หรือระดับเสี่ยงเป็นเบาหวาน)โดยเฉพาะคนที่เสี่ยงเป็นเบาหวานร่างกายดื้อต่ออินซูลิน
  • การเผาผลาญต่ำลงมาก และกลุ่มผู้สูงอายุที่ 60 ปีขึ้นไป

สูงวัยเสี่ยงอ้วนง่าย ภัยเงียบใกล้ตัว รับประทาน ดูแลอย่างไรให้สุขภาพดี

โรคที่มาพร้อมกับ “ความอ้วน”

ผู้ที่มีภาวะอ้วน จะส่งผลเสียกับร่างกาย และเพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังและอาการต่างๆ ตามมา เช่น

  • โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคไขมันในเลือดสูง
  • โรคเบาหวาน
  • โรคหัวใจ
  • โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
  • โรคมะเร็งต่างๆ

ค่า BMI ที่เหมาะสมมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงตามอายุ

ผลการวิจัยล่าสุดต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปีในกลุ่ม ผู้สูงอายุ ที่มีอายุเฉลี่ย 93 ปี จำนวนกว่า 27,000 คนในประเทศจีนชี้ให้เห็นว่า ประชากรสูงอายุที่ดัชนีมวลกาย (BMI) สูงกว่าปกตินั้น เชื่อมโยงกับอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำลง พร้อมแนะว่าควรป้องกันและใส่ใจมากขึ้นเพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุมีน้ำหนักน้อยเกินไป

โดยปกติแล้วคะแนน BMI ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าอยู่ในระดับปกติคือไม่เกิน 25 คะแนน หากเกินกว่านี้จะถือว่ามีน้ำหนักเกิน และหากมากกว่า 30 จะถือว่าเป็นโรคอ้วน แต่ด้วยการศึกษานี้ได้แสดงให้เห็นว่าน้ำหนักและค่า BMI ในอุดมคติสำหรับประชากรสูงวัยอาจต้องได้รับการแก้ไขให้สูงขึ้น

“ความย้อนแย้งของโรคอ้วนนี้ ชี้ให้เห็นว่าค่า BMI ที่เหมาะสมนั้นมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ ซึ่งอาจมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนเล็กน้อยในผู้สูงอายุ” ทีมวิจัยกล่าวผ่านรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Aging ซึ่งระบุถึงค่า BMI ที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มอายุนี้คือ 29

สูงวัยเสี่ยงอ้วนง่าย ภัยเงียบใกล้ตัว รับประทาน ดูแลอย่างไรให้สุขภาพดี

ภาวะทุพโภชนาการในผู้สูงอายุ

ภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) เป็น สภาวะของร่างกายที่เกิดจากการได้รับอาหารที่ไม่ครบถ้วน หรือมีปริมาณ ที่ไม่เหมาะกับความต้องการของร่างกาย หรืออาจเกิดจากที่ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนพอเหมาะ แต่ร่างกายไม่สามารถใช้สารอาหารนั้นได้ จึงทำให้เกิดภาวะผิดปกติขึ้น โภชนาการที่ไม่ดีแบ่งออกเป็น ภาวะโภชนาการต่ำ และภาวะโภชนาการเกิน ผู้ที่มีภาวะโภชนาการไม่ดีส่วนใหญ่จะมีร่างกายที่ผอมหรือ อ้วนเกินไป

  • ภาวะโภชนาการต่ำ หรือ ภาวะขาดสารอาหาร

เป็นผลมาจากการได้รับพลังงานจากโปรตีน หรือสารอาหารรองไม่เพียงพอ ทำให้ความแข็งแรงน้อยลง เกิดภาวะแคระแกร็น และน้ำหนักไม่เหมาะสมกับอายุ ผอมเกินไป

  • ภาวะโภชนาการเกิน หรือ ภาวะอ้วน

สภาวะของร่างกาย ที่เกิดจากการได้รับอาหารหรือสารอาหารบางอย่างเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ เกิดการสะสมพลังงาน หรือสารอาหารบางอย่างไว้จนเกิดโทษแก่ร่างกาย เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคหัวใจ และหลอดเลือด เป็นต้น

สาเหตุการเกิดภาวะทุพโภชนาการในผู้สูงอายุ

ในผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น มีความผิดปกติของระบบประสาทสัมผัส การมองเห็น การได้ยิน การรับรส และการบดเคี้ยวอาหารและการกลืน เป็นต้น ทางจิตใจ เศรษฐกิจและสังคม เช่น ฐานะยากจน สูญเสียรายได้หรืออาชีพ การถูกทอดทิ้ง ทำให้ไม่สามารถจัดหาอาหารมาบริโภคให้เพียงพอต่อความต้องการได้ และการมีโรคประจำตัว สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อภาวะโภชนาการของผู้สูงอายุ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพโภชนาการได้ง่าย

ผลกระทบของภาวะทุพโภชนาการในผู้สูงอายุ เช่น เกิดภาวะขาดสารอาหารในผู้สูงอายุ มีความอยากอาหารลดลง เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ง่วงซึม ไข้สูง มีอาการอาเจียนที่ไม่สามารถควบคุมได้ และถ้าเกิดบาดแผลจะหายช้ากว่าปกติ มีจ้ำเลือดขึ้นตามตัวง่าย การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันบกพร่องและเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ เป็นต้น

สูงวัยเสี่ยงอ้วนง่าย ภัยเงียบใกล้ตัว รับประทาน ดูแลอย่างไรให้สุขภาพดี

ดูแลและควบคุมน้ำหนักให้กับผู้สูงอายุ

  • ดูแลให้ผู้สูงอายุกินอาหารให้ตรงเวลา และครบทุกมื้อ

เพื่อรักษาระบบเผาผลาญอาหารให้เป็นปกติ แต่ต้องลดปริมาณในแต่ละมื้อลง

  • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว

เพื่อกระตุ้นระบบเผาผลาญอาหาร และลดความอยากกินอาหาร

  • วิธีปรุงประกอบอาหาร

โดยแนะนำให้ประกอบด้วยวิธีต้ม ตุ๋น นึ่ง อบ แทนการทอด เพื่อลดการใช้น้ำมัน เช่น แกงจืด แกงส้ม แกงเลียง

  • เลือกอาหารที่มีใยอาหาร

เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด อย่างข้าวกล้อง หรืออาหารเช้าซีเรียลโฮลเกรนผสมนมไขมันต่ำ เพราะใยอาหารจะช่วยให้อิ่มนาน ลดการกินจุบจิบ และสามารถช่วยดูดซับน้ำตาลและโคเลสเตอรอลในเลือดได้

  • ให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายเบาๆ เป็นประจำ

เช่น การเดิน หรือวิ่งเหยาะๆเพื่อให้รู้สึกสดชื่น และร่างกายเผาผลาญพลังงานได้ดี อย่างไรก็ตาม การควบคุมน้ำหนักให้กับผู้สูงอายุควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่าหักโหม ลูกหลานควรดูแลและให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยให้ภารกิจควบคุมน้ำหนักนี้สำเร็จได้ด้วยดี

  • ควรลดการดื่มแอลกอฮอล์

เพราะนอกจากแอลกอฮอล์จะเข้าไปกระตุ้นระบบสมอง และระบบการทำงานต่างๆ ภายในร่างกายแล้ว ยังส่งผลถึงโรคอ้วน ความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย

  •  ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และอาหารที่มีปริมาณแป้งและน้ำตาลสูง

อย่างไรก็ตาม  การดูแลและป้องกันที่ดีที่สุดคือ หมั่นให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จัดโภชนาการอาหารให้ถูกต้อง มีปริมาณที่พอเหมาะเท่ากับที่ร่างกายต้องการ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทาน พฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลดน้ำหนัก ตลอดจนนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด หรือกังวลกับสิ่งต่างๆ

อ้างอิง:โรงพยาบาลเปาโล ,ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ธนบุรี เฮลท์ วิลเลจ ,โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ,โรงพยาบาลนครธน