ลดน้ำหนัก IF 16:8 ระวัง! วิจัยใหม่ชี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจอย่างมาก

ลดน้ำหนัก IF 16:8 ระวัง! วิจัยใหม่ชี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจอย่างมาก

ช็อกวงการลดน้ำหนัก วิจัยใหม่ชี้ การลดน้ำหนักด้วยวิธี IF แบบ 16:8 เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ทั้งนี้ยังเป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ายังต้องศึกษาเชิงลึกต่อไป

KEY

POINTS

  • วิจัยใหม่ล่าสุด ชี้ การลดน้ำหนักด้วยวิธี IF แบบ 16:8 เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นอย่างมาก 
  • แต่ผลการวิจัยนี้ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากอาศัยข้อมูลจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับเวลาการกินอาหารของพวกเขาเท่านั้น และไม่ได้ควบคุมปัจจัยอื่นๆ 
  • โดยรวมแล้ว การศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการจำกัดเวลากินอาหาร 8 ชั่วโมงต่อวัน อาจให้ประโยชน์ในระยะสั้น แต่ส่งผลเสียในระยะยาว หากมีการศึกษาเชิงลึกเพิ่มเติม จะน่าสนใจและเป็นประโยชน์กว่านี้

ช็อกวงการลดน้ำหนัก วิจัยใหม่ชี้ การลดน้ำหนักด้วยวิธี IF แบบ 16:8 เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ทั้งนี้ยังเป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ายังต้องศึกษาเชิงลึกต่อไป

สั่นสะเทือนวงการลดน้ำหนักไปทั่วโลก! เมื่อมีงานวิจัยใหม่ล่าสุดจาก American Heart Association เปิดเผยว่า การทำ IF หรือการอดอาหารเป็นระยะๆ ตามแผน 16:8 ซึ่งจำกัดการกินเพียง 8 ชั่วโมงต่อวันนั้น มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น 91%

สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักการทำ IF ต้องขออธิบายคร่าวๆ ก่อนว่า การทำ IF หรือ Intermittent Fasting แบบ 16:8 เป็นเทรนด์การลดน้ำหนักอย่างหนึ่งที่ฮอตฮิตมากในวงการคนรักสุขภาพ โดยเน้นแบ่งเวลาการกินอาหารและอดอาหารเป็นระยะๆ กล่าวคือ ใน 1 วันมีเวลา 24 ชั่วโมง จะแบ่งเวลากินอาหาร 8 ชั่วโมงโดยไม่จำกัดเมนูอาหารและเครื่องดื่ม ไม่ต้องนับแคลอรี ส่วนอีก 16 ชั่วโมงที่เหลือของวันต้องอดอาหาร ดื่มน้ำเปล่าได้ แต่ต้องไม่เอาแคลอรีใดๆ เข้าไปในร่างกาย

ข้อดีของการทำ IF แบบ 16:8 มีอะไรบ้าง?

การลดน้ำหนักด้วยวิธีนี้ ว่ากันว่าจะช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาโรคอ้วนสามารถลดน้ำหนักได้ ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ป้องกันความไวของอินซูลิน ลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน ป้องกันการอักเสบในร่างกายจากการกินมากเกินไป และในช่วงการอดอาหาร 16 ชั่วโมง ร่างกายจะเผาผลาญแคลอรีไปได้หมด ก่อนที่จะรับแคลอรีใหม่เข้าไปในร่างกาย จึงช่วยลดความเสี่ยงโรคเรื้อรังต่างๆ ได้

อีกทั้งก่อนหน้านี้ก็มีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันถึงข้อดีของการทำ IF ยกตัวอย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Annals of Internal Medicine ในเดือนมิถุนายน 2023 โดยได้ศึกษาและวิเคราะห์ถึงผลการลดน้ำหนัก สำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอ้วน ซึ่งเข้าร่วมการอดอาหารเป็นระยะ (ทำ IF แบบ 16:8) โดยเปรียบเทียบกับการลดน้ำหนักด้วยการนับแคลอรีอาหารแบบดั้งเดิม ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มผู้ที่รับประทานอาหารโดยจำกัดเวลา 8 ชั่วโมง มีความไวต่ออินซูลินดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่กินอาหารแบบควบคุมแคลอรีแบบ 10 ชั่วโมงหรือมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน 

ทำ IF แบบ 16:8 วิจัยใหม่ชี้ อาจเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจ 91%

ประกอบกับช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักวิชาการ นักโภชนาการ หรือแม้แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การทำ IF หรือ Intermittent Fasting แบบ 16:8 นั้น ส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมอย่างไม่ต้องสงสัย

วิจัยใหม่ล่าสุด ชี้ การทำ IF อาจมีผลเสีย และเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

แต่ล่าสุด.. ในงานประชุมวิชาการด้านสุขภาพจากเวที Epidemiology and Prevention : Lifestyle and Cardiometabolic Scientific Sessions 2024 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-21 มีนาคม 2567 ในเมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา ได้มีการนำเสนอผลการศึกษาของสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา (American Heart Association) ที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา 

กลับพบข้อมูลใหม่ล่าสุดที่น่าแปลกใจ ว่า การทำ IF โดยจำกัดเวลารับประทานอาหารให้เหลือเพียง 8 ชั่วโมงต่อวัน มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 91% ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารใดๆ และเป็นเพียงงานวิจัยเบื้องต้นเท่านั้น

เปิด 4 ข้อค้นพบจากงานวิจัย ที่บ่งชี้ว่า การทำ IF 16:8 อาจไม่ดีต่อสุขภาพ

นักวิจัยผู้ศึกษาเรื่องดังกล่าว นำโดย “นายแพทย์วิกเตอร์ จง” แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวถง เขาได้วิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันประมาณ 20,000 คน ที่มีอายุเฉลี่ย 49 ปี โดยได้ติดตามผลลัพธ์ทางสุขภาพจากการอดอาหารเป็นระยะ หรือที่เรียกว่าการทำ IF ในแผน 16:8 คือ จำกัดเวลาการกินแค่ 8 ชั่วโมงต่อวัน  ซึ่งพบว่ามีข้อค้นพบหลายอย่าง ได้แก่ 

1. คนทั่วไปหากจำกัดการรับประทานอาหารให้เหลือ 8 ชั่วโมงต่อวัน มีแนวโน้มร้อยละ 91 ที่จะเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ มากกว่าผู้ที่รับประทานอาหารตลอด 12-16 ชั่วโมงต่อวัน 

2. ในกรณีคนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่ก่อนแล้ว และหากทำ IF ในแผน 16:8 ร่วมด้วย ก็จะยิ่งมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง สูงขึ้นร้อยละ 66

3. ผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง และหากได้รับประทานอาหารมากกว่า 16 ชั่วโมงต่อวันก็มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคนี้น้อยลง แปลว่า ถ้าลดเวลาการกินอาหารลงแค่ 8 ชั่วโมงต่อวันก็อาจจะยิ่งเสี่ยงเสียชีวิตจากมะเร็งมากขึ้น 

4. การรับประทานอาหารแบบจำกัดเวลา (ทำ IF ในแผน 16:8) ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงโดยรวมของการเสียชีวิตจากสาเหตุใดๆ ก็ตาม

[หมายเหตุ: ทีมวิจัยใช้ชุดข้อมูลจาก การสำรวจสุขภาพและโภชนาการแห่งชาติสหรัฐระหว่างปี 2546-2561 และเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2546-2562]

ทำ IF แบบ 16:8 วิจัยใหม่ชี้ อาจเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจ 91%

งานวิจัยชิ้นนี้ยังมีข้อจำกัด ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

อย่างไรก็ตาม ดร.จง อธิบายเพิ่มว่า ผลการศึกษานี้เป็นเพียงผลที่พบในระยะสั้น ส่วนในระยะยาว หากจะหาคำตอบว่าการกินอาหารแบบจำกัดเวลา 8 ชั่วโมงต่อวันนั้น จะเชื่อมโยงกับความเสี่ยงโรคหัวใจหรือไม่? ยังไม่ทราบแน่ชัด ต้องศึกษาต่อเนื่องต่อไป

เขายอมรับว่า การศึกษาวิจัยนี้ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากอาศัยข้อมูลจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับเวลาการกินอาหารของพวกเขาเท่านั้น และไม่ได้ควบคุมปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีบทบาทต่อสุขภาพของผู้เข้าร่วม เช่น อาหารที่กิน หรือสุขภาพพื้นฐานของกลุ่มตัวอย่าง

“เราประหลาดใจที่พบว่า ผู้ที่ทำ IF แบบจำกัดเวลาการกินอาหาร 8 ชั่วโมงต่อวัน มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ แม้ว่าการรับประทานอาหารวิธีนี้อาจมีประโยชน์ในระยะสั้น แต่การวิจัยของเราแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงรับประทานอาหารโดยทั่วไปที่ 12-16 ชั่วโมงต่อวัน ระยะเวลารับประทานอาหารที่สั้นลงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการมีอายุยืนยาวขึ้น” ดร.จง กล่าว 

ด้าน ดร.คริสโตเฟอร์ ดี การ์ดเนอร์ ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ Rehnborg Farquhar แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัย) ออกมาให้ความเห็นต่อผลการวิจัยชิ้นนี้ว่า โดยรวมแล้ว การศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการจำกัดเวลากินอาหาร 8 ชั่วโมงต่อวัน อาจให้ประโยชน์ในระยะสั้น แต่ส่งผลเสียในระยะยาว หากมีการศึกษาเชิงลึกเพิ่มเติมและนำเสนอการศึกษาอย่างครบถ้วน จะน่าสนใจและเป็นประโยชน์กว่านี้ 

ทำ IF แบบ 16:8 วิจัยใหม่ชี้ อาจเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจ 91%

นักโภชการให้ความเห็น การทำ IF แบบ 16:8 อาจนำไปสู่การบริโภคมากเกินไปในเวลาอันจำกัด จึงเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากขึ้น

ด้าน ทริสต้า เบส นักโภชนาการที่มีใบรับรองจากสถาบัน Balance One Nutrition แสดงความคิดเห็นต่องานวิจัยนี้ ว่า สาเหตุที่ผลวิจัยออกมาว่าคนที่ทำ IF 16:8 เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้นนั้น อาจเนื่องมาจากพฤติกรรมการเลือกกินที่ผิดวิธี 

“การกำหนดให้กินอาหารได้แค่ 8 ชั่วโมงต่อวัน อาจนำไปสู่การบริโภคมากเกินไปในช่วงระยะเวลาอันจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางคนจะรู้สึกว่า ยิ่งมีเวลากินน้อยลง ก็ต้องกินชดเชยให้มากขึ้นด้วยการกินอาหารมื้อใหญ่ขึ้น หรือกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ สิ่งนี้อาจส่งผลต่อความผิดปกติของระบบเผาผลาญ รวมถึงการดื้อต่ออินซูลิน ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น และการอักเสบที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ” เธออธิบาย 

นอกจากนี้ ข้อสังเกตอีกอย่างคือ การอดอาหาร 16 ชั่วโมงต่อวันอาจหมายถึงการอดอาหารเป็นเวลานาน ซึ่งมันสามารถกระตุ้นการตอบสนองต่อความเครียดในร่างกาย จนปล่อยฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมามากขึ้น และส่งผลต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดตามไปด้วย 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนักโภชนาการ ทริสต้าแนะนำว่า การลดน้ำหนักอย่างสุขภาพดี อาจไม่ได้หมายถึงการอดอาหารหลายชั่วโมง เพราะนั่นอาจนำไปสู่การขาดสารอาหารหรือความไม่สมดุลในร่างกายได้ ดังนั้น แม้ว่าการทำ IF 16:8 จะให้ประโยชน์จริง เช่น ช่วยลดน้ำหนักและทำให้การเผาผลาญที่ดีขึ้น แต่ก็ต้องทำอย่างเหมาะสมและมีสติ ที่สุดแล้วก็ควรเลือกกินอาหารที่มีคุณภาพ (โปรตีนสูง ไขมันต่ำ โลว์คาร์บ เน้นผักผลไม้ธัญพืช) และดูแลปัจจัยการดำเนินชีวิตให้ดีต่อสุขภาพโดยรวมด้วย