BMI ล้าสมัยแล้ว ล่าสุดวงการแพทย์ใช้ WHtR | วรากรณ์ สามโกเศศ

BMI ล้าสมัยแล้ว ล่าสุดวงการแพทย์ใช้ WHtR | วรากรณ์ สามโกเศศ

ในช่วงเวลาประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา คนไทยรู้จักตัวอักษรอังกฤษสามตัว BMI กันดีว่าเป็นตัวชี้หนึ่งของสภาวะสุขภาพ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันมีการพูดกันมากในระดับโลก ว่ามันมีจุดอ่อนอยู่มากในการนำมาใช้เป็นตัวชี้สุขภาพ และเป็นอันตรายเพราะสร้างความเข้าใจผิด

เหตุใด BMI จึงเกิดใช้ไม่ได้ขึ้นมาล้าสมัยและควรมีตัวอื่นมาทดแทน 

BMI ย่อมาจาก Body Mass Index ซึ่งคำนวณโดยใช้น้ำหนักที่มีหน่วยเป็นกิโลกรัมตั้ง และหารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง (BMI = น้ำหนัก ÷ ความสูงยกกำลังสอง เช่น หนัก 62 กิโลกรัม สูง 1.67 เมตร : ค่า BMI = 62 ÷ (1.67 x 1.67) = 22.23)

เจ้าของสูตรหาความเหมาะสมระหว่างน้ำหนักและความสูงนี้คือ Adolphe Quetelet นักสถิติและนักสังคมวิทยาชาวเบลเยียมพัฒนาขึ้นระหว่างปี 2373-2390 ซึ่งตรงกับประมาณรัชกาลที่ 3 โดยตั้งใจใช้เป็นเครื่องมือแสวงหามนุษย์ธรรมดาที่มีความงดงามในทางสังคม มิได้ตั้งใจใช้เป็นตัววัดสุขภาพแต่อย่างใด

ต่อมา BMI ได้กลายมาเป็นตัววัดทางการแพทย์ เมื่อมีการตีพิมพ์บทความใน Journal of Chronic Diseases โดย Ancel Keys กับคณะ ในปี 2515 และเสนอให้ใช้ BMI เป็นดัชนีวัดความอ้วน

โลกตะวันตกในยุคนั้นสนใจความอ้วนที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน พร้อมกับความร่ำรวยของสังคม บทความระบุอย่างชัดเจนว่า BMI เป็นตัววัดที่เหมาะสมต่อการศึกษาประชากรในภาพรวม และไม่เหมาะสมหากนำไปใช้ในการประเมินบุคคล

อย่างไรก็ดี ด้วยความง่ายของการคำนวณ ทำให้มันถูกใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินเบื้องต้นของสภาวะสุขภาพรายบุคคลอย่างกว้างขวาง ตลอดเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากพบว่าความอ้วนเป็นบ่อเกิดของหลายโรค

WHO องค์กรระดับโลกด้านสุขภาพมีบทบาทสำคัญในการแบ่งระดับ BMI ไว้เป็นช่วงๆ เพื่อประเมินความอ้วน กล่าวคือ

(1) ต่ำกว่า 18.5 ถือว่าผอม

(2) 18.5-24.9 ปกติ

(3) 25-29.9 น้ำหนักเกินพอดี

(4) 30 หรือมากกว่า อ้วน

เมื่อความอ้วนมีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง ความดันโลหิต ฯลฯ จึงเกิดความเข้าใจกันไปว่า BMI ชี้สภาวะของสุขภาพไปโดยปริยายและอย่างชัดแจ้ง 

 ใครมีค่า BMI อยู่ระหว่าง 18.5-24.9 ก็แสดงว่ามีสุขภาพดี คนทั่วไปมักเข้าใจกันตามนี้จนมีพฤติกรรมผิดไปจากที่ควรจะเป็น เช่น สบายใจและอาจใช้ชีวิตอย่างผิดๆ เมื่อมีค่า BMI ปกติ หรือกังวลใจจนเกินเหตุเมื่อ ค่า BMI สูงเกินกว่า 24.9

มิไยที่แพทย์จะยืนยันว่า BMI เป็นเพียงตัวชี้คร่าวๆ ในเบื้องต้นของสภาวะสุขภาพ แต่มนุษย์นั้นชอบที่จะเชื่ออย่างที่ตัวเองอยากจะเชื่ออยู่แล้วจึงพอใจสุขภาพของตนเองเมื่อค่า BMI ดีทั้งที่มันมิได้หมายความเช่นนั้นอย่างเต็มที่

BMI ล้าสมัยแล้ว ล่าสุดวงการแพทย์ใช้ WHtR | วรากรณ์ สามโกเศศ

อะไรที่ทำให้ต้องระวังการตีความค่า BMI?

มีเหตุผลใหญ่อย่างน้อย 3 ประการ

1.ค่า BMI ที่ถือว่าปกติแตกต่างกันในแต่ละชาติพันธุ์ ในปัจจุบันมีการแบ่งค่า BMI ย่อยลงไปโดยแยกตามชาติพันธุ์ ประเทศ เพศ อายุ ฯลฯ เพื่อความแม่นยำ 

เพราะตระหนักมากขึ้นว่าแต่ละประเภทมีสภาวะของร่างกายตามธรรมชาติที่แตกต่างกัน โดยให้ความสนใจแก่ BMI ที่ถือว่าปกติ เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ คือ 18.5-22.9/คนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 18.5-23 ฯลฯ

2.BMI ให้ความเอนเอียงสำหรับคนตัวเตี้ยมากและคนตัวสูงมาก เนื่องจากใช้ความสูงยกกำลังสองเป็นตัวหาร ทำให้ค่า BMI สูงหรือต่ำมากเกินไปสำหรับคนสุดโต่ง คนตัวเตี้ยมากจะได้รับคำแนะนำว่าผอมเกินไปตามค่า BMI ที่ระบุว่าผอมกว่าที่เป็นจริง และคนตัวสูงว่าอ้วนเกินกว่าที่เป็นจริง ทั้งสองหากเชื่อค่า BMI มากจะช้ำใจเพราะต้องกินอาหารเพิ่มและลดอย่างตรงข้ามกับความเป็นจริง

3.BMI ตั้งใจวัดไขมันของร่างกายผ่านน้ำหนัก โดยไม่คำนึงถึงโครงกระดูก หรือน้ำหนักกล้ามเนื้อ ร่างกายมีไขมันที่เรียกว่า belly fat (เรียกอีกอย่างว่า visceral fat) ซึ่งฝังตัวอยู่ในอวัยวะและกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นอันตรายและไขมันอีกชนิดที่อยู่ใต้ผิวหนัง ซึ่งไม่มีอันตราย

BMI ของสองคนอาจเท่ากัน แต่หากคนหนึ่งเต็มไปด้วยไขมันชนิดแรกก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่า ข้อเสีย ของ BMI ก็คือมิได้วัดโดยแยกประเภทไขมันหรือวัดแยกมวลกล้ามเนื้อจากไขมัน

งานวิจัยพบว่า คนผิวสีมีทางโน้มที่จะมีน้ำหนักจากกล้ามเนื้อมากกว่าไขมัน ดังนั้น จึงมักมีค่า BMI สูงหรืออ้วนกว่าที่เป็นจริง ในขณะที่คนเอเชียมีลักษณะตรงกันข้าม โดยมีไขมันมาก ถึงแม้ BMI ต่ำก็ตาม ดังนั้น หากพิจารณา BMI แต่เพียงตัวเดียวก็จักผิดพลาด

BMI ล้าสมัยแล้ว ล่าสุดวงการแพทย์ใช้ WHtR | วรากรณ์ สามโกเศศ

ขอย้ำว่า BMI เป็นตัวชี้ระดับความอ้วน และสามารถเป็นตัวตรวจสภาวะสุขภาพเบื้องต้นเท่านั้น อย่าได้ดีใจอย่างปลอมๆ ว่าสุขภาพดีหาก BMI อยู่ในระดับปกติ 

ปัจจุบันมีเครื่องมือวัดและวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกาย (ไขมันประเภทต่างๆ กล้ามเนื้อ และน้ำ) ที่แม่นยำคือ Bioelectrical Impedance Analyzer (BIA) หรือง่ายสุดคือวัดรอบเอวผ่านสะดือ เพื่อประเมินปริมาณของ Visceral Fat โดยคำนวณหาค่า WHtR (Weight-to-Height Ratio)

กล่าวคือ (WHtR = ความยาวรอบเอว ÷ ความสูง) หากอยู่ในระดับ 0.4 ถึง 0.49 ก็ถือว่าน่าพอใจในเรื่องความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับหนึ่ง

BMI นั้นมีประโยชน์แต่กำลังล้าสมัย วงการแพทย์นิยมใช้ WHtR มากขึ้นเพื่อประเมินสุขภาพทั่วไปในขั้นต้น สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือความยินดีเมื่อค่า BMI และ WHtR อยู่ในช่วงปกติ จนละเลยการตรวจสุขภาพอย่างครบถ้วน.