'อุ่นใจไซเบอร์' รู้ไว้ไม่โดนหลอก ติดอาวุธ 'สูงวัย' สู่พลเมืองดิจิทัล

'อุ่นใจไซเบอร์' รู้ไว้ไม่โดนหลอก ติดอาวุธ 'สูงวัย' สู่พลเมืองดิจิทัล

กระทรวง พม. ร่วมกับ เอไอเอส กรมสุขภาพจิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เดินหน้าขับเคลื่อน สร้างภูมิคุ้มกันรับมือปัญหาภัยไซเบอร์อย่างยั่งยืน ส่งต่อ “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” สร้างสูงวัย และประชาชนทุกกลุ่ม สู่พลเมืองดิจิทัล

KEY

POINTS

  • ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล พบว่า 44.04% ของคนไทยยังเสี่ยงภัยไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ท้าทาย ขณะที่ “กลุ่มผู้สูงอายุ” (อายุมากกว่า 60 ปี) คือ กลุ่มที่ต้องได้รับการพัฒนาทักษะดิจิทัล 
  • กระทรวง พม. ร่วมกับ AIS กรมสุขภาพจิต  และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ถ่ายทอด “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” ติดวุธสูงวัย และบุคลากร พม. สร้างพลเมืองดิจิทัล
  • ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าว ได้ปรับให้มีความกระชับมากขึ้น จาก 31 Module เป็น 4 Module โดยใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง ครอบคลุม 4P ได้แก่ Practice Personality Protection  และ Participation 

กระทรวง พม. ร่วมกับ เอไอเอส กรมสุขภาพจิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เดินหน้าขับเคลื่อน สร้างภูมิคุ้มกันรับมือปัญหาภัยไซเบอร์อย่างยั่งยืน ส่งต่อ “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” สร้างสูงวัย และประชาชนทุกกลุ่ม สู่พลเมืองดิจิทัล

 

ภัยไซเบอร์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่เราจะต้องให้ความสำคัญและสร้างความตระหนักรู้ เพราะปัจจุบัน มิจฉาชีพ สร้างกลลวงใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลตำรวจไซเบอร์ พบว่า ปี 2566 ภัยไซเบอร์ สร้างความเสียหายมูลค่าสูงกว่า 49,000 ล้านบาท

 

ผลการศึกษา ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล (Thailand Cyber Wellness Index) ของคนไทย ในปี 2566 จากกลุ่มตัวอย่าง 21,862 คนทั่วประเทศ พบว่า 44.04% ของคนไทยยังเสี่ยงภัยไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ท้าทายมากทีเดียว (อยู่ในระดับพื้นฐาน 33.51% และในระดับแอดวานซ์ 22.45%)

 

เมื่อพิจารณาจากแกนต่างๆ ทั้ง 7 แกน ได้แก่

  • ทักษะการใช้ดิจิทัล (Digital Use)
  • ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy)
  • ทักษะด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล (Digital Communication and Collaboration)
  • ทักษะด้านสิทธิทางดิจิทัล (Digital Rights)
  • ทักษะด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security and Safety)
  • ทักษะด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying)
  • ทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล (Digital Relationship)

 

พบว่า แกนที่คนไทยยังขาดทักษะสูงสุด ได้แก่ การสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล, สิทธิทางดิจิทัล และทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล อีกทั้ง “กลุ่มผู้สูงอายุ” (อายุมากกว่า 60 ปี) คือ กลุ่มที่ต้องได้รับการพัฒนาทักษะดิจิทัล

 

\'อุ่นใจไซเบอร์\' รู้ไว้ไม่โดนหลอก ติดอาวุธ \'สูงวัย\' สู่พลเมืองดิจิทัล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

ติดอาวุธ ด้วย “อุ่นใจไซเบอร์”

โดยเมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมมือกับ AIS และภาคีเครือข่ายทั้งกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เดินหน้าขับเคลื่อนสร้างภูมิคุ้มกันรับมือปัญหาภัยไซเบอร์อย่างยั่งยืน

 

พร้อมส่งต่อทักษะความฉลาดทางดิจิทัล “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” ไปยังบุคลากรของ พม. และประชาชนคนทุกช่วงวัย เพื่อสร้างพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen) ที่มีภูมิคุ้มกัน สามารถใช้งานสื่อออนไลน์ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และสร้างสรรค์ อันจะนำมาสู่การยกระดับสุขภาวะดิจิทัลให้กับคนไทยที่รู้เท่าทันทุกภัยไซเบอร์

 

สำหรับ อุ่นใจไซเบอร์ เป็นโครงการของ “เอไอเอส” ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ในปี 2562 จากการนำหลักสูตรจากสิงคโปร์ เข้ามาถ่ายทอดโดยการเดินสายไปตามโรงเรียน โดยหลังจากนั้นมีการปรับให้เหมาะกับบริบทของคนไทย โดยทำงานร่วมกับ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พัฒนาหลักสูตรโดยใช้ Framework วิชาการที่ได้รับการยอมรับมาตรฐานสากล รวมถึงทำการทดลองกับนักวิชาการในหลากหลายสาขา ปรับแก้ไขจนกระทั่งนำมาสู่ยื่นขอการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ

 

พร้อมกับทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งมีโรงเรียนในสังกัดกว่า 20,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ และ MOU ร่วมกับโรงเรียนสังกัดกทม. 437 แห่ง เพื่อให้นักเรียน และครูเข้าถึงหลักสูตรได้ ผ่านเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม LearnDi ทั้งหมด 31 Module ใช้เวลาราว 6-8 ชั่วโมง เข้าถึงบุคลากรทางการศึกษา นักเรียนกว่า 320,000 คน

 

\'อุ่นใจไซเบอร์\' รู้ไว้ไม่โดนหลอก ติดอาวุธ \'สูงวัย\' สู่พลเมืองดิจิทัล

 

 

การขยายผลสู่สูงวัย

สำหรับการร่วมมือกับ กระทรวง พม. ในครั้งนี้ ถือเป็นการขยายจากเป้าหมายเด็กนักเรียนและครู ไปสู่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเริ่มจาก กรมกิจการผู้สูงอายุ และจะขยายในทุกช่วงวัยต่อไป พร้อมกับมีการปรับหลักสูตรให้สั้นลงแบบเร่งรัด 4 Module แต่ครอบคลุมโดยใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง

 

“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอส ได้พัฒนาการเรียนรู้ด้านทักษะดิจิทัล หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ที่มีเนื้อหาแกนหลักสำคัญที่ถูกแบ่งออกเป็น 4P 4ป ประกอบไปด้วย 

Practice ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม

Personality ปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์

Protection เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์

Participation รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม

 

“ถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือครั้งสำคัญในการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ที่ครอบคลุมทุกทักษะในโลกดิจิทัลอย่างแท้จริง เข้าไปให้บุคลากรของกระทรวงฯ ได้ศึกษาเรียนรู้ และส่งต่อไปยังประชาชนคนไทยทุกช่วงวัยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงฯ ได้เสริมทักษะดิจิทัล รู้เท่าทันภัยไซเบอร์ สามารถใช้งานออนไลน์ได้อย่างถูกต้องปลอดภัยและสร้างสรรค์”

 

\'อุ่นใจไซเบอร์\' รู้ไว้ไม่โดนหลอก ติดอาวุธ \'สูงวัย\' สู่พลเมืองดิจิทัล

 

สร้างครูแม่ไก่ ถ่ายทอดความรู้

การทำงานร่วมกันระหว่าง เอไอเอส และ กระทรวง พม. ครั้งนี้ จะมีการ Train the Trainer สร้าง “ครูแม่ไก่” ราว 11,500 คน จากเครือข่ายของกระทรวง พม. ทั่วประเทศ โดยใช้แพลตฟอร์มในการเทรน ทดลอง ทดสอบ เมื่อได้ครูแม่ไก่ เอไอเอส จะเป็นพี่เลี้ยงเพื่อขยายผลไปสู่ประชาชนทุกกลุ่ม

 

“แรมรุ้ง วรวัธ” อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีการใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น และมีมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาทางสื่อออนไลน์ในหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่กลุ่มผู้สูงอายุจะถูกหลอกจำนวนมาก และคดีความต่างๆ วิธีการที่จะต้องทำ คือ ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่มีองค์ความรู้และช่องทางที่เข้าถึงพี่น้องประชาชนได้มากที่สุด เป็นที่มาของการทำงานร่วมกันกับ “เอไอเอส” ในการนำหลักสูตรที่เรียนรู้ได้เร็วและเข้าถึงง่าย ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง

 

สร้างการรู้เท่าทันปัญหา นำมาสู่การป้องกัน สื่อสาร รับสารอย่างปลอดภัย และการปฏิเสธ โดยนำสิ่งเหล่านี้เข้ามาเริ่มต้นกับบุคลากรทั้งเจ้าหน้าที่ พม. และ กลุ่มอาสาสมัคร เพื่อถ่ายทอดให้กับผู้สูงอายุในพื้นที่ต่างๆ ล่าสุด มีการนำร่อง ณ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมผู้สูงอายุ ต.นาพู่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี โดยผู้สูงอายุให้ความสนใจจำนวนมาก

 

พร้อมกันนี้ ยังเตรียมขยายผลไปในโรงเรียนผู้สูงอายุที่มีกว่า 2,500 แห่งทั่วประเทศ โดยมีผู้สูงอายุราว 200-300 คนต่อแห่ง เพื่อให้ความรู้ครอบคลุมทั้งเรื่องของสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และเติมเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้าไปในโรงเรียนผู้สูงอายุอีกด้วย

 

“ประเทศไทยมีผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคน และทุกคนมีโอกาสถูกหลอก เพราะฉะนั้น จะต้องรีบดำเนินการในเรื่องนี้” อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าว

 

\'อุ่นใจไซเบอร์\' รู้ไว้ไม่โดนหลอก ติดอาวุธ \'สูงวัย\' สู่พลเมืองดิจิทัล

 

ใช้งานโลกออนไลน์ อย่างปลอดภัย

“วราวุธ ศิลปะอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า อาชญากรรมทางไซเบอร์ถือเป็นภัยคุกคามที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชนอย่างมาก ทุกฝ่ายจึงจำเป็นต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน กระทรวง พม. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับคนไทย พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการส่งเสริมความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนใช้งานโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย

 

“โดยครั้งนี้เป็นความร่วมมือกับ AIS ในการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ให้บุคลากรของเราได้เรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะทางดิจิทัล ตลอดจนการขยายผลองค์ความรู้ไปยังประชาชนคนทุกช่วงวัย อาทิ ผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ สตรี และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย และไม่ตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในโลกออนไลน์”

 

 

\'อุ่นใจไซเบอร์\' รู้ไว้ไม่โดนหลอก ติดอาวุธ \'สูงวัย\' สู่พลเมืองดิจิทัล