"กระดาษทิชชู่ก่อมะเร็งจริงหรือไม่” วิทยาศาสตร์มีคำตอบ

"กระดาษทิชชู่ก่อมะเร็งจริงหรือไม่” วิทยาศาสตร์มีคำตอบ

กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ไขข้อสงสัย “กระดาษทิชชู่ก่อมะเร็งจริงหรือไม่” แนะหลีกเลี่ยงการใช้กระดาษทิชชู่ที่มีส่วนผสมของเยื่อรีไซเคิลเพราะอาจได้รับอันตรายจากสารเรืองแสง

KEY

POINTS

  • กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ไขข้อสงสัย “กระดาษทิชชูก่อมะเร็งจริงหรือไม่” จากกรณีต่างประเทศที่หญิงรายหนึ่งได้กล่าวอ้าง
  • ไม่มีหลักฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันแน่ชัดว่า การใช้กระดาษทิชชูเช็ดทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์เป็นประจำทำให้เกิดโรคมะเร็ง
  • เทคนิคตรวจพิสูจน์ส่วนผสมของกระดาษทิชชูระหว่างเยื่อกระดาษรีไซเคิลกับเยื่อกระดาษบริสุทธิ์

กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ไขข้อสงสัย “กระดาษทิชชู่ก่อมะเร็งจริงหรือไม่” แนะหลีกเลี่ยงการใช้กระดาษทิชชู่ที่มีส่วนผสมของเยื่อรีไซเคิลเพราะอาจได้รับอันตรายจากสารเรืองแสง

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตามที่มีข่าวหญิงสาวรายหนึ่งในต่างประเทศ ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก

โดยชี้สาเหตุมาจากการเลือกใช้กระดาษชำระหรือกระดาษทิชชู่ที่มีส่วนผสมของเยื่อรีไซเคิลมาเช็ดทำความสะอาดร่างกายและอวัยวะสืบพันธุ์เป็นประจำ สร้างความตกใจแก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่มีการใช้กระดาษทิชชู่เป็นประจำ

จากข่าวดังกล่าว ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันแน่ชัดว่าการใช้กระดาษทิชชูเช็ดทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์เป็นประจำ ทำให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์

อย่างไรก็ตาม หากต้องการใช้ทิชชูเช็ดทำความสะอาดร่างกายควรเลือกใช้ที่ผลิตจากเยื่อกระดาษบริสุทธิ์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานและใช้ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ตามการใช้งาน

กระดาษทิชชู่แบ่งออกได้เป็นหลายประเภทตามประโยชน์ใช้สอย ได้แก่ กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า  กระดาษเช็ดปาก กระดาษเช็ดมือ และกระดาษเช็ดอเนกประสงค์  ซึ่งมีทั้งที่ผลิตจากเยื่อกระดาษบริสุทธิ์ (เยื่อกระดาษจากต้นไม้) และจากเยื่อรีไซเคิล

\"กระดาษทิชชู่ก่อมะเร็งจริงหรือไม่” วิทยาศาสตร์มีคำตอบ

กระดาษทิชชู่ที่มีเยื่อรีไซเคิลเป็นส่วนผสม จะทำมาจากจากกระดาษที่ใช้งานแล้ว นำมาถูกให้ความร้อน ผ่านขั้นตอนการกำจัดหมึก (Deinking) และขึ้นรูปใหม่ ด้วยความร้อนที่สูงมาก

ทิชชู่จากเยื่อรีไซเคิลจึงมีสีขาวขุ่น รวมถึงความขรุขระ ไม่ค่อยเรียบ มีคุณภาพต่ำกว่าทิชชูประเภทอื่น ราคาถูก บางชนิดมีการใส่สีสันลงไป เช่น สีชมพู สีน้ำตาล เพื่อปกปิดให้ผู้ใช้งานมองข้าม

โดยทั่วไปแล้วมีสารเรืองแสงตกค้าง เพราะในขั้นตอนการกำจัดหมึกจะทำให้ความขาวสว่างของเยื่อกระดาษลดลงจึงใส่สารฟอกนวล หรือสารเพิ่มความความเข้าไป ทำให้มีสารเรืองแสงตกค้าง

การเลือกใช้กระดาษทิชชูที่มีเยื่อรีไซเคิลเป็นส่วนผสมซึ่งอาจมีสารเรืองแสงตกค้างอยู่ เมื่อใช้เช็ดทำความสะอาดผิวสารเรืองแสงซึ่งเป็นสารที่ละลายในน้ำได้ จะหลงเหลือสารตกค้างอยู่บนผิวหนังอาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองในบางคน

และจากการศึกษาพบว่าเมื่อสารเรืองแสงได้รับรังสี อัลตราไวโอเลต (UV) จากแสงแดดอาจเหนี่ยวนำให้เกิดสารก่อมะเร็งที่ผิวหนัง ทำให้เกิดมะเร็งที่ผิวหนังในระยะยาวได้

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.)

 อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ แนะนำประชาชนควรเลือกซื้อทิชชูที่ไม่มีเยื่อรีไซเคิลเป็นส่วนผสม โดยดูที่ฉลากที่ระบุว่าผลิตจากเยื่อบริสุทธิ์และไม่มีสารเรืองแสง

แต่อย่างไรก็ตามบางยี่ห้อไม่ได้ระบุไว้ว่าทำมาจากเยื่อชนิดใด มีวิธีทดสอบแบบง่ายๆ ด้วยตัวเอง คือ นำกระดาษทิชชู่จุ่มน้ำ แล้วนำมาพักทิ้งไว้สักครู่ สีบนเนื้อกระดาษทิชชูจะเปลี่ยนไป

หากกระดาษทิชชู่ใดที่มีการเปลี่ยนแปลงสีของเนื้อกระดาษจากขาวเปลี่ยนเป็นดำคล้ำแสดงว่ากระดาษทิชชูนั่นมีส่วนผสมของเยื่อรีไซเคิล ส่วนกระดาษทิชชูที่ทำจากเยื่อกระดาษบริสุทธิ์จะไม่มีการเปลี่ยนสี

วิธีทดสอบทิชชูแบบง่ายๆ

หรือหากที่บ้านมีเครื่องหรือไฟฉายที่ใช้ตรวจธนบัตรปลอม ซึ่งเครื่องเหล่านี้มีแหล่งกำหนดแสงเป็น UV  ก็สามารถนำมาส่องที่กระดาษทิชชูเพื่อตรวจหาสารเรืองแสงได้ ถ้ากระดาษทิชชูมีการเติมสารเรืองลงไปก็จะเรืองแสงออกมาแสดงว่ากระดาษทิชชูนี้มีเยื่อรีไซเคิลเป็นส่วนผสม

หากต้องใช้ทิชชูทำความสะอาดร่างกายและอวัยวะสืบพันธุ์ นอกจากควรเลือกใช้กระดาษทิชชูที่ผลิตจากเยื่อบริสุทธิ์แล้วต้องเป็นทิชชูที่สะอาด แห้ง ไม่เปียกชื้น เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรีย รา ไวรัส หรือเชื้ออื่นๆ ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในกระดาษทิชชูที่เปียก สัมผัสหรือเข้าสู่ร่างกายก่อให้โรคร้ายตามมาได้.