ไขปมดราม่า กระดาษทิชชู่ รหัส 810/808 ห้ามเช็ดร่างกาย จริงหรือ ?

ไขปมดราม่า กระดาษทิชชู่ รหัส 810/808 ห้ามเช็ดร่างกาย จริงหรือ ?

อาจารย์เจษฎ์ ไขปมดราม่า "กระดาษทิชชู่" ราคาถูกและขายดีจากจีน รหัส 810/808 คืออะไรกันแน่ ห้ามเช็ดร่างกาย จริงหรือ ??

กลายเป็นที่กล่าวถึงบนโลกโซเชียล อย่างกว้างขวาง กรณี กระดาษทิชชู่ ที่มีราคาถูกและขายดี คือทิชชู่ที่ใช้แล้วนำกลับมารีไซเคิลฟอกขาว ไม่เหมาะที่จะนำมาเช็ดปาก เช็ดมือ หรือห้ามเช็ดร่างกาย แต่เหมาะกับการเช็ดโต๊ะเช็ดสิ่งของที่เปื้อน โดยให้ดูเลขรหัสบนซอง ถ้าลงท้ายด้วย 810 คือกระดาษทิชชูที่นำกลับมารีไซเคิล / ถ้าลงท้ายด้วย 808 จะใช้เช็ดปากเช็ดผิวหรือร่างกายได้ นั้น

ล่าสุด วันที่ 13 กันยายน 2566 ผศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้โพสต์ถึงกรณีดังกล่าวในเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุใจความว่า "GB/T 20810 คือ มาตรฐาน กระดาษชำระในห้องน้ำ , GB/T 20808 คือ มาตรฐาน กระดาษทิชชู่ทั่วไป ของประเทศจีน (แค่นั้นครับ)

  • เลขรหัส 810/808 นี้คืออะไรกันแน่ ?

ข้อความที่แชร์กันเตือนเรื่องให้ดูเลขรหัส 810 หรือ 808 บนซองกระดาษทิชชู่นั้น จริงๆ แล้วมาจากตัวรหัสเต็มๆ คือ GB/T 20810-2018 และ GB/T 20808-2022

ซึ่งมันคือเลขรหัส ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศจีน ที่เรียกว่า GuoBiao Standards (หรือ GB standards) โดยประเทศจีนได้กำหนดมาตรฐานไว้ 2 ขั้น คือ ขั้นบังคับ (Mandatory) ตามที่กฎหมายบังคับให้ทำตามเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ และขั้นแนะนำ (Recommended) ซึ่งเป็นข้อกำหนด ที่ไม่ได้มีการบังคับด้วยกฏหมาย โดยสามารถดูได้จากตัวรหัส ถ้าขึ้นต้นด้วย "GB" จะเป็นมาตรฐานบังคับ แต่ถ้าเป็น GB/T จะเป็นมาตรฐานแนะนำ

 

 

และเมื่อเราเข้าไปตรวจสอบเลขรหัส GB standards แล้ว จะพบว่า GB/T 20810-2018 เป็นมาตรฐานของ กระดาษชำระในห้องน้ำ Toilet tissue paper (including toilet tissue base paper) ขณะที่ GB/T 20808-2022 เป็นมาตรฐานของ กระดาษทิชชู่ทั่วไป tissue (เลข 2018 และ 2022 เป็นปี ค.ศ. ที่ปรับปรุงมาตรฐานนั้นล่าสุด)

สำหรับมาตรฐาน GB/T 20808 นั้น ก่อนนี้ เคยระบุว่าเป็น กระดาษทิชชู่สำหรับใบหน้า Facial tissue (GB/T 20808-2011) และ ทิชชู่ม้วนไว้สำหรับเช็ดของเปียก Toweling paper (including wet wipes) (GB/T 20808-2006)

ซื่งมาตรฐานเหล่านี้ จะมีเอกสารระบุอย่างละเอียดถึงข้อกำหนดต่างๆ ตั้งแต่วัตถุดิบ คุณสมบัติ ไปจนถึงระดับการอนุญาตให้มีสารต่างๆ ปนเปื้อน ถ้าใครสนใจดูรายละเอียด สามารถจ่ายเงินเข้าไปดาวน์โหลดไฟล์ pdf ที่มีข้อมูลของมาตรฐานทั้งหมด มาดูได้ครับ (เป็นภาษาอังกฤษ)

สำหรับประเทศไทยเราเอง ก็มีเลขรหัสมาตรฐานสำหรับกระดาษทิชชู่แบบต่างๆ มอก 214-2560 สำหรับกระดาษชำระ , มอก 215-2560 สำหรับกระดาษเช็ดหน้า , มอก 239 กระดาษเช็ดมือ , มอก 240 กระดาษเช็ดปาก และ มอก 2925 กระดาษอเนกประสงค์

ตามที่เขียนมาข้างต้น ถ้ากระดาษทิชชู่จากประเทศจีน ห่อไหน บอกว่าผลิตตามมาตรฐาน GB/T 20810-2018 แสดงว่ามันผลิตบนมาตรฐานสำหรับ "กระดาษชำระในห้องน้ำ" และถ้าเขียนว่าผลิตตามมาตรฐาน GB/T 20808-2022 แสดงว่ามันใช้มาตรฐานสำหรับ "กระดาษทิชชู่ทั่วไป"

เรื่องเลข 810/808 บนกระดาษทิชชู่นั้น เป็นแค่รหัสมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศจีน ใช้พิจารณากับกระดาษทิชชู่จากจีนเท่านั้น โดยถ้ามีเลข 808 จะหมายถึงกระดาษทิชชู่ทั่วไป ขณะที่ 810 จะหมายถึงกระดาษชำระในห้องน้ำ ซึ่งคุณภาพและความสะอาดจะต่ำกว่า มีสารเจือปนได้มากกว่า (แต่ไม่ใช่ว่า เอากระดาษชำระที่ใช้แล้ว มารีไซเคิลทำนะครับ)

วิธีการเลือกซื้อ "กระดาษทิชชู่" ให้เหมาะสม

- ควรเลือกซื้อกระดาษทิชชู่ชนิดต่างๆ ตามลักษณะงานที่จะใช้ ไม่ใช่เลือกเพราะราคาถูก และควรเลือกยี่ห้อที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี

- สังเกตรายละเอียดของผลิตภัณฑ์จากฉลาก พิจารณาถึงวัตถุดิบ วิธีการผลิต และระดับความพรีเมียม ของสินค้า

- กระดาษทิชชู่ที่ดี เนื้อต้องนุ่มละเอียด เวลาลองถูแล้ว ไม่มีเศษผง ขุยกระดาษ หรือผงแป้งออกมา ลองทดสอบความเหนียวของเนื้อกระดาษ โดยการใช้มือจับกระดาษแล้วลองดึงดูว่าขาดง่ายหรือไม่

- ลองดมกลิ่นของกระดาษ ซึ่งต้องไม่ได้กลิ่นของสารเคมีปนมาด้วย (ถ้าเป็นไปได้ จึงไม่ควรซื้อกระดาษทิชชู่ที่ใส่กลิ่นหอมมากลบ) และเวลานำไปเช็ดปาก ต้องไม่ได้รสชาติอะไรปนมา ซึ่งอาจมาจากสารเคมีปนเปื้อน

ไขปมดราม่า กระดาษทิชชู่ รหัส 810/808 ห้ามเช็ดร่างกาย จริงหรือ ?