รู้หรือไม่ 'บรอกโคลี' ผักแสนอร่อย ก็ทำให้เกิด 'กลิ่นตัว' ได้

รู้หรือไม่ 'บรอกโคลี' ผักแสนอร่อย ก็ทำให้เกิด 'กลิ่นตัว' ได้

บรอกโคลี ผักสีเขียวแสนอร่อยที่มีประโยชน์หลากหลาย ทั้งช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน บำรุงและรักษาสายตา กระดูกและฟัน ฯลฯ ขณะเดียวกัน การทานมากเกินไปหรือทานไม่ถูกวิธีอาจส่งผลเสียได้ นอกจากนี้ ยังพบว่า 'บรอกโคลี' ทำให้มีกลิ่นตัวได้อีกด้วย

Key Point :

  • บรอกโคลี นับเป็นหนึ่งในผักที่สารพัดประโยชน์ รสชาติดี หาง่าย และทานง่าย อย่างไรก็ตาม หากทานดิบอาจทำให้ท้องอืด รวมถึงกระตุ้นโรคไทรอยด์ได้
  • ขณะเดียวกัน บรอกโคลี และพืชในตระกูลเดียวกันอย่างกะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ ซึ่งมีซัลเฟอร์ สามารถทำให้เกิดกลิ่นตัวได้เช่นกัน แม้จะไม่รุนแรงเท่ากระเทียม
  • อย่างไรก็ตาม การทานอาหารอย่างพอเหมาะ ทานถูกวิธี และเลือกวัตถุดิบที่สด สะอาด ย่อมส่งผลดีต่อร่างกาย  

 

บรอกโคลี (Broccoli) ผักสีเขียวที่หาทานได้ง่าย ทำอาหารได้หลากหลาย และมีประโยชน์ ไม่ว่าจะช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ช่วยบำรุงผิวพรรณ เพิ่มความยืดหยุ่นชะลอผิวพรรณไม่ให้เหี่ยวย่น บำรุงและรักษาสายตา บำรุงกระดูกและฟันเนื่องจากเป็นผักที่มีแคลเซียมสูง

 

ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง ป้องกันอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมองได้ (Strokes) ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ช่วยทำให้หลอดเลือดแข็งแรงยิ่งขึ้น ช่วยลดความถี่ของอาการไมเกรน เนื่องจากเป็นผักที่มีแมกนีเซียมสูง

 

อีกทั้งยังมี สารซัลโฟราเฟน สามารถช่วยป้องกันการทำลายของหลอดเลือดที่เกิดจากโรคเบาหวาน มีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล เป็นตัวช่วยทำให้ตับขับสารพิษในร่างกาย เป็นต้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

บรอกโคลี มีผลเสียหรือไม่

อย่างไรก็ตาม การรับประทานบางอย่างที่มากจนเกินไป หรือทานไม่ถูกวิธี ก็สามารถส่งผลเสียได้ และ “บรอกโคลี” ก็เป็นหนึ่งในผักที่ยังคงมีข้อควรระวัง เนื่องจากบรอกโคลี เป็นพืชตระกูลเดียวกันกับกะหล่ำปลี จึงมีน้ำตาลที่ส่งโทษทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ หากมีการนำมารับประทานแบบดิบๆ

 

อีกทั้ง ในบรอกโคลี ยังคงมีฮอร์โมนบางชนิด ที่กระตุ้นทำให้เกิดโรคไทรอยด์ได้อีกเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ผักอย่างบรอกโคลี จึงเป็นผักอีกหนึ่งชนิด ที่เราไม่ควรนำมารับประทานแบบดิบๆ ในปริมาณมากนั่นเอง

 

บรอกโคลี ทำให้มีกลิ่นตัว จริงหรือ

ปัญหากลิ่นตัวเป็นปัญหาที่หลายคนกำลังเผชิญ “กลิ่นตัว” เกิดจากสารที่สร้างมาจากต่อมกลิ่น (apocrine gland) ซึ่งพบมากที่บริเวณรักแร้และหัวหน่าว ต่อมกลิ่นพบได้ตั้งแต่เกิด แต่จะเริ่มทำงานในช่วงวัยรุ่น มีหน้าที่ในมนุษย์ คือ การสร้างกลิ่นซึ่งเป็นลักษณะทางเพศแบบหนึ่ง

 

สารที่หลั่งจากต่อมกลิ่นประกอบด้วย กรดไขมันหลายชนิด มีลักษณะเหลวข้นไม่มีกลิ่น เมื่อหลั่งออกมาด้านนอกของผิวหนังสารดังกล่าวจะถูกเชื้อแบคทีเรีย (Corynebacteria spp.) เปลี่ยนให้เป็นสารที่มีกลิ่นซึ่งคือแอมโมเนียและกรดไขมันสายสั้น

 

การมีกลิ่นตัวที่มากหรือแรงจะทำให้ไม่เป็นที่น่าพอใจของผู้คนรอบข้าง กลิ่นตัวที่มากนี้จะทำให้บุคคลขาดความมั่นใจหรือมีคุณภาพชีวิตที่ลดลง อากาศร้อนหรือการรักษาสุขอนามัยที่ไม่สะอาดจะทำให้กลิ่นตัวมากขึ้น

 

 

ทั้งนี้ หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีกลิ่นตัว คือ “อาหาร” ซึ่งแต่เดิมหลายคนอาจเข้าใจว่ามีแค่ กระเทียม หัวหอม และเครื่องเทศ เท่านั้นที่ทำให้มีกลิ่นตัว แต่รู้หรือไม่ว่า ผักจำพวก บรอกโคลี กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ ก็ซึ่งเป็นอาหารที่สามารถทำให้เกิดกลิ่นตัวได้เช่นกัน แม้จะไม่รุนแรงเท่ากระเทียมก็ตาม

 

นอกจากนี้ การบริโภคเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ เพราะกรดอะมิโนในเนื้อแดง เมื่อถูกย่อยจะก่อให้เกิดสารชนิดหนึ่งซึ่งมีผลต่อการเกิดกลิ่นตัว และถูกขับออกมาทางต่อมเหงื่อทำปฏิกิริยากับแบคทีเรียบนผิวหนัง ซึ่งเราสามารถหลีกเลี่ยงหรือทานอาหารประเภทเนื้อแดงให้น้อยลงก็สามารถช่วยได้ รวมถึง อาหารประเภทชีส และ นม เนย ซึ่งเป็นตัวการอันก่อให้เกิดสารไฮโดรเจน ซัลไฟด์ในร่างกาย อาจส่งผลต่อกลิ่นตัวกวนใจคุณได้เช่นกัน

 

ปัจจัยกระตุ้นกลิ่นตัว

1. อาหารรสจัด เช่น แกงกะหรี่ แกงเผ็ดต่างๆ ที่มีส่วนผสมของขมิ้น กระเทียม และเครื่องเทศที่มีกลิ่นแรง เมื่อผ่านการย่อยจะเกิดแก๊สซัลเฟอร์ปนอยู่กับออกซิเจนในเลือดที่ไปอยู่ตามรูขุมขน หากทานอาหารรสจัดทำให้ร่างกายขับเหงื่อออกมาโดยเฉพาะใต้วงแขน

 

2. โรคอ้วน คนอ้วนมักมีกลิ่นตัวแรงกว่าคนที่ผอมกว่า เพราะคนอ้วนมีโอกาสที่อวัยวะภายนอกมีส่วนอับชื้น สร้างกลิ่นไม่พึงประสงค์ ตามรักแร้ ชั้นพุง ขาหนีบ มากกว่าคนผอม และต่อมเหงื่อยังผลิตเหงื่อมากกว่าคนที่ผอมอีกด้วย

 

3. โรคเบาหวาน ในกรณีโรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษา ร่างกายจะเริ่มขับไขมันเพื่อใช้เป็นพลังงานส่งผลให้ระดับคีโตน (Ketone) ในร่างกายสูงขึ้น หลังจากนั้นสิ่งที่สะสมไว้ก็จะเปลี่ยนเป็นกลิ่นตัว

 

4. ยาบางชนิด ยาสามารถรักษาโรคได้แต่ก็สามารถทำให้มีกลิ่นได้ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น มอร์ฟีน หรือยาลดไข้ ที่สามารถทำให้เหงื่อออกจนเกิดกลิ่นตัวขึ้นได้

 

5. ความเครียด เหงื่อที่ออกตามปกติจะมีกลิ่นน้อยกว่าเหงื่อที่ออกจากความเครียด ต่อมเหงื่อชนิดนี้เรียกว่า ต่อมอะโพไครน์ (Apocrine glands) ของเหลวจากต่อมนี้มีน้ำน้อยกว่า แต่ดึงดูดแบคทีเรียได้สูงกว่า ทำให้เกิดกลิ่นได้มากกว่า

 

สามารถลดกลิ่นตัวได้อย่างไร

1. รักษาสุขภาพอนามัย ล้างบริเวณรักแร้บ่อยๆ ด้วยน้ำสะอาดจะลดปริมาณสารก่อกลิ่น การล้างด้วยสบู่ฆ่าเชื้อจะช่วยลดปริมาณแบคทีเรียได้แต่ไม่ควรล้างบ่อยเพราะอาจะเกิดการระคายเคือง

2. หลีกเลี่ยงภาวะที่ร้อนจัด ภาวะอับชื้น การใช้ยาระงับกลิ่นกลาย (deodorants) จะมีส่วนประกอบสารต่างๆ เช่น สารลดเหงื่อ สารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สารลดกลิ่นที่สร้างขึ้น และน้ำหอมจะช่วยลดกลิ่นตัวได้

3. การใช้ยาระงับเหงื่อ (antiperspirants) ส่วนมากจะมีส่วนประกอบของโลหะ เช่น อลูมิเนียมคลอไรด์ ( aluminium chloride) ซึ่งจะไปอุดท่อต่อมเหงื่อ ลดการหลั่งเหงื่อ ทำให้ผิวแห้งแบคทีเรียเติบโตได้ไม่ดี สามารถช่วยลดกลิ่นตัวได้

 

อ้างอิง : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลโรงพยาบาลบางปะกอก