อายุยืน (ตอน2) ว่าด้วย ยีน พันธุกรรม | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

อายุยืน (ตอน2) ว่าด้วย ยีน พันธุกรรม | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ครั้งที่แล้ว ผมสรุปว่า การดูแลร่างกายและสุขภาพให้ดีนั้น น่าจะสามารถทำให้คนเราอายุยืนยาวได้ประมาณ 80-85 ปี แต่ผมมีข้อสังเกตว่า ทำไมมีคนในโลกนี้ประมาณ 593,000 คนที่อายุเกิน 100 ปี

คนกลุ่มนี้ที่อายุเกิน 100 ปี  องค์การสหประชาชาติคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.68 ล้านคน ในปี 2593 และหนึ่งใน 3.68 ล้านคนดังกล่าว อาจเป็นหลายท่านที่เป็นผู้อ่านบทความนี้ก็ได้

แม้ว่าการดูแลร่างกายสุขภาพให้แข็งแรง อาจจะยังไม่สามารถทำให้อายุยืนถึง 100 ปีได้ แต่การไม่ดูแลสุขภาพให้ดีนั้น จะทำให้อายุสั้นลงอย่างมาก

เช่น คนอายุ 30 ปีที่สูบบุหรี่ โดยเฉลี่ยจะมีอายุต่อไปได้อีก 35 ปี (ตายอายุ 65 ปี) เทียบกับคนที่อายุ 30 ปีที่ไม่สูบบุหรี่ จะมีอายุยืนต่อไปได้อีก 53 ปีถึงอายุ 88 ปี แปลว่า การสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียว ทำให้อายุสั้นลงไปประมาณ 23 ปี 

 

กล่าวคือ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงนั้นให้ผลตอบแทนที่ทำให้อายุยืนไปอีก 35% ตรงนี้งานวิจัยนับร้อย ยืนยันว่าการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงนั้น ทำให้อายุยืนยาวไปได้อีกประมาณ 15-20 ปี ในแทบจะทุกกรณี

คำถามที่ตามมาคือ การมีอายุยืนถึงหรือเกิน 100 ปีนั้นจะต้องทำอย่างไร และ/หรือมีปัจจัยอะไร คำตอบคือการมียีนหรือพันธุกรรม ที่ทำให้อายุยืนผิดปกติ ซึ่งที่สหรัฐได้วิจัยคนอายุเกิน 100 ปีอย่างครอบคลุมและเป็นระบบมาประมาณ 30 ปีแล้ว 

โดยเริ่มต้นจาก การรับสมัคร ติดตาม เก็บข้อมูลและศึกษาคนอายุมาก (ใกล้ 100 ปีหรือมากกว่า) เพื่อตอบคำถามว่า ทำไมคนกลุ่มนี้จึงหลีกเลี่ยงการเป็นโรคสมองเสื่อม 

แต่มาถึงวันนี้ New England Centenarian Study กำลังศึกษาคนอายุใกล้และเกิน 100 ปีกว่า 800 คน (จากจำนวนคนอเมริกัน ประมาณ 89,740 คน คิดเป็นสัดส่วน 0.027% ของประชากรทั้งหมด แปลว่าจากคน 100,000 คน จะมีเพียง 270 คนที่มีอายุยืนถึง 100 ปี )

งานวิจัยของ New England Centenarian Study ในเบื้องต้น สรุปว่า ยีนนั้นมีส่วนในการทำให้อายุยืนประมาณ 25% อีก 75% เป็นเรื่องของการดำเนินชีวิตที่ดูแลสุขภาพ

อายุยืน (ตอน2) ว่าด้วย ยีน พันธุกรรม | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

แต่ในกรณีที่อายุยืนเกินกว่า 100 ปีนั้น ยีนหรือพันธุกรรมจะมีบทบาทสำคัญกว่าการดำเนินชีวิต

โดยงานวิจัยพบยีนประมาณ 130 ยีนและลักษณะของยีน (genetic markers) รวมทั้งหมด 281 ลักษณะ รวมกันเรียกว่า รูปโครงร่างของกลุ่มยีน (genetic profile) ที่สามารถอธิบายการมีอายุยืน กล่าวคือในคนที่อายุยืน 100 คนนั้น

1.ในกลุ่มคนอายุ 100 ปี มี genetic profile ดังกล่าว 61%

2.ในกลุ่มคนอายุ 102 ปี มี genetic profile ดังกล่าว 73%

3.ในกลุ่มคนอายุ 105 ปี หรือมากกว่า มี genetic profile ดังกล่าว 85%

ที่น่าสนใจคือ คนที่อายุยืนนับ 100 ปีนั้น ก็มียีนที่ทำให้มีความเสี่ยงที่จะมีโรคภัยต่างๆ ไม่ได้แตกต่างไปจากคนปกติอื่นๆ แต่ยีนและรูปโครงร่างของกลุ่มยีน ที่ทำให้คนอายุยืน 100 ปีหรือมากกว่านั้น เป็นยีนที่

- ทำหน้าที่ในการซ่อมแซมดีเอ็นเอ การพิทักษ์ให้หางเทโลเมียร์ยาว และการป้องกันความเสียหายต่อเซลล์จากสารอนุมูลอิสระ (free radicals)

- อีกส่วนหนึ่ง ความเกี่ยวข้องกับการควบคุมระดับไขมันในเลือด อาการอักเสบเรื้อรัง ระบบหัวใจและหลอดเลือด และ

- ระบบภูมิคุ้มกัน (immune system) ของร่างกาย

หมายความว่า คนที่อายุยืนมากผิดปกตินั้น เขาก็ต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บและการแก่ตัว ไม่แตกต่างจากคนอื่นๆ

แต่เขามีระบบซ่อมแซม และป้องกันความเสียหายต่อเซลล์ ระบบการเผาผลาญของร่างกายที่ (metabolism) ที่แข็งแรงและยั่งยืน และระบบภูมิคุ้มกัน ที่ทำงานดีเป็นเลิศจนใกล้วาระสุดท้ายของชีวิต

ข้อมูลดังกล่าว ชวนให้คิดต่อไปได้ว่า คนที่อายุยืนมากเป็นพิเศษนั้น คือคนที่อยู่ไปได้เรื่อยๆ (ไม่ตาย) แม้ว่าจะต้องเผชิญกับโรคนั้นโรคนี้ ไม่แตกต่างจากคนอื่นๆ ตรงนี้ New England Centenarian Study พบว่าสำหรับคนอายุ 100 ปีหรือมากกว่านั้น

- 15%ไม่เป็นโรคอะไรเลย กลุ่มที่เลี่ยงได้ทุกโรค กลุ่มนี้เรียกว่า escapers แต่เป็นส่วนน้อย

- 43% เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ แต่เริ่มเป็นโรคดังกล่าวเมื่ออายุมากแล้ว (ตอนอายุ 85-90 ปี) เรียกว่ากลุ่ม delayers

- 42% คือกลุ่มที่เป็นโรคเหมือนกับผู้สูงอายุอื่นๆ ก่อนอายุ 80 ปี แต่แม้ว่าจะเป็นโรคดังกล่าว ก็ยังมีชีวิตอยู่ต่อมาได้เรื่อยๆ

อายุยืน (ตอน2) ว่าด้วย ยีน พันธุกรรม | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เมื่อเห็นข้อมูลดังกล่าวก็ทำให้มีแนวคิดว่า “เคล็ดลับ” ของการมีอายุยืน คือการมีระบบการเผาผลาญของร่างกายที่ (metabolism) ที่แข็งแรง และระบบภูมิคุ้มกัน (immune system) ที่มีศักยภาพสูงเป็นพิเศษในวัยแก่

ครั้งต่อไปผมจะเขียนถึงระบบภูมิคุ้มกันที่ต้องขอเตือนว่า ค่อนข้างมีความสลับซับซ้อนและเข้าใจยาก ความรู้ในด้านนี้ ณ ปัจจุบันก็ยังไม่ตกผลึกทั้งหมด (ยังรู้เรื่องไม่หมด)

แต่ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์นั้นประมาณ 70% อยู่ในระบบย่อยอาหาร เพราะตรงนั้นเป็นส่วนของร่างกายที่ต้องเผชิญกับสิ่งแปลกปลอม (ที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของร่างกาย) มากที่สุดทุกๆ วัน (คืออาหารที่เรากินเข้าไปอย่างหลากหลาย)

นอกจากนั้น ระบบย่อยอาหารนั้นจะต้องทำงานร่วมกับแบคทีเรียมากมายหลายล้านล้านตัวที่เรียกว่า gut microbiome ครับ.

อายุยืน (ตอน2) ว่าด้วย ยีน พันธุกรรม | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร