เด็กเล็กตาแป๋ว ตาโตน่ารัก อาจเสี่ยง 'ต้อหิน' อาการแบบไหนที่พ่อแม่ต้องรู้

เด็กเล็กตาแป๋ว ตาโตน่ารัก อาจเสี่ยง 'ต้อหิน' อาการแบบไหนที่พ่อแม่ต้องรู้

เมื่อพูดถึง 'ต้อหิน' 'โรคต้อกระจก' คนส่วนใหญ่ มักมองว่าเป็นโรคผู้สูงอายุ แต่จริงๆ แล้ว โรคต้อหิน ต้อกระจก สามารถเป็นกันได้ไม่ว่าจะคนวัยไหน หรือเป็นมาตั้งแต่เกิด แต่อย่าพึ่งตกใจ โรคนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพียงแต่พ่อแม่ต้องคอยสังเกตเพื่อทำการรักษาให้ทันท่วงที

Keypoint:

  • ต้อหิน เป็นโรคที่สามารถเกิดได้ทุกวัยและเป็นได้ตั้งแต่แรกเกิด ไม่ใช่เพียงเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น 
  • สิ่งสำคัญที่ทำให้โรคต้อหินมักถูกละเลย ถูกมองข้าม หรือได้รับการตรวจรักษาช้า เนื่องจากการที่เด็กมีลูกตาหรือตาดำโต แล้วคนทั่วไปกลับมองว่าเป็นลักษณะที่ดี น่ารัก และไม่ตระหนักว่าเป็นภาวะอันตราย
  • การตรวจพบโรคต้อหินแต่เนิ่นๆ มีความสำคัญและมีผลต่อผลการรักษามาก หากพบว่าเด็กมีอาการที่น่าสงสัย คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองควรรีบพาไปพบจักษุแพทย์ทันที

เด็กเล็กตาแป๋ว ตาโต หลายๆ คนมองว่าน่ารัก แต่หากเด็กมีอาการน้ำตาไหลมากผิดปกติ หรือสู้แสงไม่ได้ นั่นไม่ใช่เรื่องที่น่ารักอีกต่อไป เพราะเด็กเล็กตาแป๋ว ตาโต อาจเสี่ยงเป็นโรคต้อหิน ต้อกระจกได้ 

โรคต้อหินในทารกและเด็กเล็ก ถือเป็นกลุ่มโรคย่อยอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความพิเศษทั้งในแง่ของการเกิดโรค ลักษณะโรค การดำเนินโรค หรือแม้แต่วิธีการรักษา อาจพบตั้งแต่แรกคลอดหรือภายหลังก็ได้ พบอุบัติการณ์ของโรคในเด็กแรกเกิดประมาณ 1:10,000-1:20,000 โดยพบได้ในเด็กทุกเชื้อชาติ มักพบในเด็กผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และ 75% ของผู้ป่วยมักเป็นทั้งสองตา

ส่วนใหญ่จะเกิดจากการพัฒนาของระบบระบายน้ำภายในลูกตาที่ผิดปกติไป ทำให้เกิดภาวะความดันลูกตาสูง ส่งผลเส้นประสาทตาถูกทำลาย และเกิดการสูญเสียการมองเห็นในที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

รู้เท่าทัน "โรคต้อหิน" สัญญาณอันตรายเสี่ยงตาบอดถาวร

เลี้ยงลูกปฐมวัยในยุค VUCA World เพิ่มการลงทุน เติมทักษะ 5H – Coding

 

พ่อแม่หมั่นสังเกตอาการของโรคต้อหินในเด็ก 

ถึงแม้โรคนี้ยังไม่สามารถหาทางป้องกัน เพราะในบางครั้งก็ไม่สามารถวินิจฉัยได้ทันทีตั้งแต่เกิดจึงต้องอาศัยการตรวจประวัติ และสังเกตอาการผิดปกติร่วมด้วย เพื่อช่วยให้วางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที

นี่คืออาการผิดปกติ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกต

  • ลูกตามีขนาดใหญ่ผิดปกติ 
  • มีน้ำตาไหลมากผิดปกติ หรือ น้ำตาไหลตลอดเวลาเมื่อตาโดนแสง
  • เลนส์ตาขุ่นเมื่อดูด้วยไฟฉายจะเห็นว่ารูม่านตามีสีขาว
  • มีอาการแพ้แสง
  • แสงสะท้อนจากลูกตามีความผิดปกติ ดูได้จากเวลาที่ถ่ายรูปแสงสะท้อนจากแฟลชจะทำให้เห็นบริเวณรูม่านตาเป็นสีแดง ซึ่งจะเรียกกันว่า red reflex
  • มีความดันตาสูง เพราะลูกตาของเด็กเล็กๆยังมีความยืดหยุ่นสูง พอความดันตาสูงขึ้น ลูกตาก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นได้

ทุกอาการเหล่านี้ ต่างเป็นอาการที่แสดงได้ถึงโรคต้อกระจก และต้อหินที่เป็นแต่กำเนิด ซึ่งคุณแม่จะต้องหมั่นสังเกตอาการ ถ้าลูกน้อยมีอาการอย่างที่บอกมาสักหนึ่ง หรือสองอาการ ควรรีบปรึกษาจักษุเเพทย์ก่อนที่จะทำให้ลูกน้อยต้องสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร

เด็กเล็กตาแป๋ว ตาโตน่ารัก อาจเสี่ยง \'ต้อหิน\' อาการแบบไหนที่พ่อแม่ต้องรู้

ทั้งนี้ นอกจากเป็นตั้งแต่กำเนิดแล้ว โรคต้อหินในเด็กยังอาจจะเกิดในเด็กที่ได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน หรือในเด็กที่เคยมีประวัติการบาดเจ็บที่ตา หรือเคยได้รับการผ่าตัดตามาก่อน

ถ้าสังเกตุเห็นว่าบุตรหลานของท่านมีอาการผิดปกติเหล่านี้ จำเป็นที่จะต้องพาน้องมาพบจักษุแพทย์ ถ้าคุณหมอสงสัยว่าเด็กอาจจะเป็นโรคต้อหิน และเด็กยังไม่ให้ความร่วมมือ อาจจะต้องใช้การดมยาสลบเพื่อให้คุณหมอสามารถตรวจตาได้อย่างละเอียด ซึ่งมักจะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที

ส่วนการรักษาโรคต้อหินในเด็ก ส่วนมากคุณหมอจะต้องทำการผ่าตัดเพื่อเปิดทางระบายน้ำในลูกตา ซึ่งบางกรณีอาจจะต้องทำการผ่าตัดหลายครั้ง ร่วมกับการใช้ยาหยอดตาเพื่อลดความดันลูกตาด้วย

 

 

เกณฑ์วินิจิฉัยทางการแพทย์ 'ต้อหินในเด็ก'

คำจำกัดความของคำว่า 'เด็ก' โดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health: NIH) ประเทศสหรัฐอเมริกา และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (United Nations Convention on the Rights of the Child: CRC, UNCRC) ได้กำหนดว่า หมายถึงผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ส่วนคำจำกัดความของโรค 'ต้อหินในเด็ก' อ้างอิงตามเครือข่ายการวิจัยต้อหินในเด็ก (Childhood Glaucoma Research Network: CGRN) จะหมายถึงโรคที่มีอาการแสดงอย่างต่ำ 2 ข้อ จากเกณฑ์การวินิจฉัยทั้งหมด 5 ข้อ ดังนี้

1.ความดันตามากกว่า 21 มิลลิเมตรปรอท

2.มีความผิดปกติของขั้วประสาทตาที่เกิดจากโรคต้อหิน เช่น แอ่งหรือหลุมตรงกลางใหญ่ขึ้น มีร่องหรือรอยบากที่ขอบของขั้วประสาทตา หรือขนาดของแอ่งขั้วประสาทตา 2 ข้างมีสัดส่วนต่างกันเกินกว่า 0.2

3.มีการเปลี่ยนแปลงของกระจกตา เช่น ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่ขึ้น มีรอยฉีกขาดลักษณะโค้งในแนวนอนของชั้นในเนื้อเยื่อกระจกตา (Haab’s striae) กระจกตาบวม

4.สายตาสั้นมากขึ้นเรื่อยๆ (progressive myopia)

5.มีความผิดปกติของลานสายตาที่เข้ากันได้กับความผิดปกติของขั้วประสาทตาที่มีลักษณะของต้อหิน และไม่พบ สาเหตุอื่นที่ทำให้ลานสายตาผิดปกติ

โอกาสในการเกิดต้อหินในเด็ก

ต้อหิน ทำให้เกิดภาวะตาบอดราว 5% ในประชากรเด็ก และมีผลกระทบต่อเด็กมากกว่า 300,000 คนทั่วโลก โดยพบได้ในเด็กทุกเชื้อชาติ มักพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง และ 70-75% ของผู้ป่วยมักเป็นกับตาทั้งสองข้าง ทั้งนี้อุบัติการณ์ของโรคต้อหินมีความแตกต่างไปตามกลุ่มประชากรเด็กแรกเกิดในแต่ละภูมิภาค ตามสถิติดังนี้

  • ประเทศตะวันตก พบประมาณ 1:10,000 ถึง 1:20,000
  • ประเทศที่พัฒนาแล้ว พบประมาณ 1:17,000 ถึง 1:43,000
  • ประเทศตะวันออกกลางอย่างประเทศปาเลสไตน์ พบประมาณ 1:8,200
  • ประเทศซาอุดิอาระเบีย พบประมาณ 1:2,500
  • รายงานที่พบสูงสุด คือ 1:1,250 ในกลุ่มชนเร่ร่อนสโลวาเกีย (Slovakian Gypsies)

เด็กเล็กตาแป๋ว ตาโตน่ารัก อาจเสี่ยง \'ต้อหิน\' อาการแบบไหนที่พ่อแม่ต้องรู้

ประเภทของต้อหินในเด็กที่ควรรู้

ต้อหินในเด็กแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามหลักเกณฑ์ของเครือข่ายการวิจัยต้อหินในเด็ก คือ

1.คล้ายต้อหิน (glaucoma suspect)

2.ชนิดปฐมภูมิ (primary glaucomas) ไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค และไม่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติอื่นของร่างกาย สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อยตามระยะเวลาของการเกิด ได้แก่

  • ต้อหินแต่กำเนิด (primary congenital glaucoma) เกิดก่อนอายุ 3 ปี
  • ต้อหินในเด็กโต (juvenile open-angle glaucoma) พบในช่วงอายุ 3-35 ปีหรือ 3-40 ปี แล้วแต่คำจำกัดความ เป็นชนิดที่พบน้อยกว่าต้อหินแต่กำเนิดและต่างจากต้อหินในผู้ใหญ่ คือ ต้อหินในเด็กโตจะเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรม เริ่มเป็นตั้งแต่อายุยังน้อย ความดันตาสูงมาก ไม่ค่อยมีอาการ และตรวจพบโดยบังเอิญ มีการแกว่งของ ความดันตาเป็นช่วงกว้างในระยะยาว ทำให้ลานสายตาแย่ลงเร็วมากขึ้น

3.ชนิดทุติยภูมิ (secondary glaucomas) ทราบสาเหตุของการเกิดโรค เป็นชนิดที่พบมากที่สุด เช่น หลังผ่าตัดต้อกระจก มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มโรคทางกายหรือทางตา มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

สาเหตุของการเกิดโรคต้อหินในเด็ก

เกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยจากการศึกษาพบว่า 90% ของผู้ป่วยโรคต้อหินไม่จำเป็นต้องมีประวัติครอบครัวเป็นโรคต้อหิน แม้จะสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้แต่พบเป็นส่วนน้อย และอาจมีการแสดงออกของลักษณะทางพันธุกรรมในรูปแบบที่แตกต่างกันไป หรืออาจมีอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง

โดยการแต่งงานในเครือญาติเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ และอาจมีส่วนทำให้เกิดโรค การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เพื่อรักษาโรค เช่น โรคภูมิแพ้ โดยรู้เท่าไม่ถึงการ หรือไม่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

อย่างไรก็ตาม การมีน้ำตาไหลโดยไม่มีขี้ตา แพ้แสง และหนังตากระตุก อาจเกิดจากโรคอื่น เช่น มีการอุดตันของท่อน้ำตา ม่านตาอักเสบ กระจกตาเสื่อม การได้รับการบาดเจ็บขณะคลอด ดังนั้นการวินิจฉัยแยกโรคจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ รวมถึงการซักประวัติของโรคต้อหินในครอบครัว และการแต่งงานในเครือญาติด้วย

เมื่อสงสัยว่าเป็นต้อหินควรทำอย่างไร?

การตรวจพบโรคต้อหินแต่เนิ่นๆ มีความสำคัญและมีผลต่อผลการรักษามาก หากพบว่าเด็กมีอาการที่น่าสงสัย คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองควรรีบพาไปพบจักษุแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง จะได้เริ่มต้นการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของโรค ช่วยชะลอโรค และเก็บรักษาการมองเห็นให้คงอยู่ได้ยาวนานขึ้นเมื่อรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่และพี่น้องของเด็กที่เป็นโรคต้อหินเข้ารับการตรวจด้วยเช่นกัน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีโรคต้อหินแฝงอยู่ในคนอื่นของครอบครัว

อาการสำคัญที่ทำให้โรคต้อหินมักถูกละเลย ถูกมองข้าม หรือได้รับการตรวจรักษาช้า คือการที่เด็กมีลูกตาหรือตาดำโต เพราะมีการขยายขนาดจากความดันในลูกตาที่สูงขึ้น แต่คนทั่วไปกลับมองว่าการที่เด็กมีตาโตเป็นลักษณะที่ดี น่ารัก และไม่ตระหนักว่าเป็นภาวะอันตรายนั่นเอง

เด็กเล็กตาแป๋ว ตาโตน่ารัก อาจเสี่ยง \'ต้อหิน\' อาการแบบไหนที่พ่อแม่ต้องรู้

การรักษาโรคต้อหินในเด็ก

วิธีการรักษาต้อหินทำได้หลายวิธีคือ

1. การใช้ยา

มีทั้งยาหยอดตา ยารับประทาน และยาฉีดเข้าเส้นเลือดเพื่อลดการผลิตของน้ำหล่อเลี้ยงภายในลูกตา หรือไปขยายช่องถ่ายเทให้น้ำไหลออกสะดวกขึ้น  แต่เนื่องจากยาออกฤทธิ์อยู่ได้ไม่นาน ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องคอยหมั่นใช้ยาตามเวลาที่ได้รับการแนะนำอย่างเคร่งครัด ถ้าใช้ยาไม่สม่ำเสมอ ความดันตาจะสูงขึ้นในช่วงที่ยาหมดฤทธิ์ และทำลายการมองเห็นไปเรื่อยๆจนตาบอดได้

นอกจากนี้ต้องไปรับการตรวจรักษาจากจักษุแพทย์เป็นระยะๆ เพื่อดูความดันตา และลานสายตา รวมทั้งการตรวจอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่ายาที่ให้เพียงพอที่จะควบคุมโรคได้ จักษุแพทย์จะช่วยปรับวิธีการรักษาให้เหมาะสมตามความรุนแรงของโรค

2. การใช้แสงเลเซอร์และการผ่าตัด

ในรายที่ใช้ยาไม่ได้หรือไม่ได้ผล อาจเป็นเพราะยาไม่สามารถลดความดันตาลงได้พอ หรือแพ้ผลข้างเคียงของยา ต้องใช้วิธีฉายแสงเลเซอร์หรือการผ่าตัด โดยการทำช่องทางถ่ายเทน้ำหล่อเลี้ยงใหม่ เพื่อให้ไหลได้สะดวกขึ้น ใช้ในรายที่พบว่าประสาทตายังถูกทำลายไปเรื่อยๆ แม้ความดันตาไม่สูงมากก็ตาม หรือรายที่ใช้ยาไม่ได้หรือใช้แล้วไม่ได้ผล และผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลไม่สามารถมารับการรักษาเป็นประจำได้

อย่างไรก็ตาม การจะเลือกรักษาโดยวิธีใด ขึ้นอยู่กับชนิด ความรุนแรงและอาการของโรค และขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของจักษุแพทย์

อ้างอิง: โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน ,โรงพยาบาลนวเวช , โรงพยาบาลพญาไท