'ฟิวเจอร์ฟู้ด'ไปได้ไกลถึง 'เนื้อสัตว์3D พรินต์' ไม่หยุดแค่ 'แพลนต์เบส'

'ฟิวเจอร์ฟู้ด'ไปได้ไกลถึง 'เนื้อสัตว์3D พรินต์' ไม่หยุดแค่ 'แพลนต์เบส'

‘ฟิวเจอร์ฟู้ด’ จะไปได้ไกลถึงขนาดที่มี 'เนื้อสัตว์จากการเพาะเซลล์' หรือ 'เนื้อสัตว์3Dพรินต์'  รวมถึง อาหารที่เหมาะเฉพาะบุคคลแต่ราย ไม่ใช่แค่เรื่องของแพลนต์เบส หรือโปรตีนทางเลือกจากพืช

keypoints:

  • เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคจะมุ่งเน้นเรื่องของ “3SAVE”ทั้งสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและสัตว์ ซึ่ง “ฟิวเจอร์ฟู้ด”หรืออาหารอนาคตจะเข้ามาตอบรับความต้องการ 
  • ฟิวเจอร์ฟู้ด ที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จัก อาจจะยังมีเพียง “แพลนต์เบส” แต่ในตลาดมีถึง 4 กลุ่ม และในอนาคตอาจไปไกลถึงขั้น “เนื้อสัตว์”ที่ได้จากการเพาะเซลล์ ไม่ต้องเลี้ยงปศุสัตว์
  • ประเทศไทยมีการส่งออกฟิวเจอร์ฟู้ด มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม“อาหารฟังก์ชั่น”มีมูลค่าส่งออกสูงที่สุด ส่วน “อาหารอินทรีย์” มีอัตราการขยายตัวดีที่สุด  ปี 2566 ไทยมีเป้าหมายส่งออกราว 137,654 ล้านบาท 

      ดูแลสุขภาพ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคมผู้สูงอายุ สภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  การพัฒนาที่มีเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน  นวัตกรรม และความขัดแย้งในโลก ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ 2-3 ปีที่ผ่านมา เรื่องของ “อาหารอนาคต”หรือฟิวเจอร์ฟู้ด(Future Food)  ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคและตลาดเติบโตขึ้น
       การที่จะกำหนดเป็นอาหารอนาคต(ฟิวเจอร์ฟู้ด) จะพิจารณา 3 ประเด็นหลัก คือ ความเป็นอยู่ที่ดี(Well being) ความยั่งยืน(Sustainability) และนวัตกรรม(Innovation)
      ในตลาดแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม  1. อาหารฟังก์ชัน (Functional Food) แยกเป็น กลุ่มอาหารที่มีการแต่งเติมสารอาหารหรือลดสารอาหารที่เป็นประโยชน์น้อยเพื่อให้มีผลต่อการสร้างเสริมสุขภาพ สามารถบริโภคเป็นอาหารประจำวัน
    เช่น อาหารและเครื่องดื่มที่ เสริมด้วยวิตามินหรือแร่ธาตุต่างๆ และไข่ไก่เสริม โอเมก้า-3 เป็นต้น และกลุ่มอาหารที่แปรรูปจากวัตถุดิบธรรมชาติที่มีคุณสมบัติเฉพาะที่ส่งผลดีต่อร่างกาย เช่น ถั่วเหลือง กระเทียม มะเขือเทศ โยเกิร์ต โดยไม่ได้เพิ่มหรือลดสารอาหารอื่นๆ

\'ฟิวเจอร์ฟู้ด\'ไปได้ไกลถึง \'เนื้อสัตว์3D พรินต์\' ไม่หยุดแค่ \'แพลนต์เบส\'

    2. อาหารใหม่ (Novel Food) การผลิตรูปแบบใหม่ โดยวัตถุที่ใช้เป็นอาหารหรือส่วนประกอบที่ปรากฏหลักฐานทางวิชาการว่ามีประวัติการบริโภคเป็นอาหารน้อยกว่า15ปี เช่น โปรตีนจากพืช เนื้อจากพืช  

3.อาหารทางการแพทย์ (Medical Food) ช่วยผู้ป่วย ผู้สูงอายุให้ได้รับสารอาหารที่ถูกต้อง เหมาะสมต่อโรค มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน  

4.อาหารอินทรีย์ (Organic Food) ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงที่สังเคราะห์ทางเคมี ไม่มีการตัดแต่งพันธุกรรม ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยที่มาจากกากของระบบบำบัดน้ำเสีย

มูลค่าส่งออกกว่าแสนล้านบาท
       ข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร   แสดงการส่งออกอาหารอนาคตของไทย

  •   ปี 2564  มูลค่าราว 113,694ล้านบาท แยกเป็น อาหารฟังก์ชั่น 74,744 ล้านบาท  อาหารใหม่ 36,953ล้านบาทอาหารทางการแพทย์ 76.12 ล้านบาท และอาหารอินทรีย์ 1,919 ล้านบาท
  • ปี 2565 มูลค่าราว 129,111 ล้านบาท เป็น อาหารฟังก์ชั่น 85,765ล้านบาท  อาหารใหม่ 38,673 ล้านบาท อาหารทางการแพทย์  96.88ล้านบาท และอาหารอินทรีย์ 4,576ล้านบาท
  • ส่วนปี 2566 มีเป้าหมายอยู่ที่  137,654 ล้านบาท 
  • และปี 2570 ตั้งเป้าที่ 157,000 ล้านบาท

ตอบรับ 3 SAVE เทรนด์บริโภค
        จะเห็นได้ว่าข้อมูลปี 2564 เทียบกับ 2565 แนวโน้มการส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทั้ง 4 กลุ่ม  อาหารฟังก์ชั่นมีมูลค่าส่งออกสูงที่สุด และอาหารอินทรีย์มีแนวโน้มขยายตัวสูงถึง 138.40 %  
          เป็นไปตามเทรนด์การบริโภคของโลก ซึ่งแผนกวิจัยอุตสาหกรรมและกลยุทธ์ สถาบันอาหาร  กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า  พฤติกรรมผู้บริโภคในปี  2563-2573 จะใส่ใจ “3 SAVE” ได้แก่  Health SAVE ,Environmental SAVE และ Animal SAVE ซึ่งอาหารอนาคตจะตอบโจทย์ผู้บริโภคเรื่องสุขภาพที่ดี รักษาสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน

14 แนวโน้มที่ส่งผลต่อรูปแบบอาหารอนาคต

     อ้างอิงข้อมูลจาก สถาบันอาหาร และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มี 14 ข้อจะเป็นแนวโน้มที่ส่งผลต่อรูปแบบอาหารอนาคต ประกอบด้วย

1. Immunity Boosting การรับประทานผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารอาหารและแร่ธาตุ ที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย เช่น Probiotics เพิ่มลงในอาหาร เพื่อช่วยในเรื่องระบบการย่อย

2. Personalized Nutrition โภชนาการเฉพาะบุคคล การออกแบบโภชนาการให้เหมาะสมกับร่างกาย แบบเฉพาะบุคคล

3. Well-Mental Eating กินเพื่อสุขภาพจิตใจผลิตภัณฑ์ที่ใส่สารบางอย่างที่ช่วยลดความเสียหายจากอนุมูลอิสระและการอักเสบของสมอง หรือ การกินเพื่อช่วยส่งเสริมการทำงานของสารสื่อประสาท

4. Gastronomy Tourism หรือ Food Tourism นักท่องเที่ยวกว่า 53% เลือกสถานที่ท่องเที่ยวจากอาหารและเครื่องดื่ม

 5. Elderly Food : ตลาดอาหารสำหรับผู้สูงอายุมีการเติบโต เช่น 3D Printed Food ขึ้นรูปอาหารจากวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อการย่อยอาหารของผู้สูงอายุ เป็นต้น

6. Bountiful Choice  แบรนด์สร้างสินค้าที่มีความสร้างสรรค์และมีนวัตกรรมที่ตรงกับความต้องการผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

7. Rising of Food & Agri-Tech เทคโนโลยีและงานวิจัยต่างๆ จะเข้ามามีบทบาทในการเกษตรมากขึ้น

8. AI จะเข้ามามีบทบาทในการผลิตมากขึ้น 

9. Bio-diverse Dining  อาหารที่ให้ความสำคัญกับการรักษาความหลากหลายและช่วยให้การกินของผู้บริโภคเกิดความสมดุลมากขึ้น

10. Flexitarianism การรับประทานพืชและเนื้อสัตว์สลับกันไป ไม่ยึดติดประเภทของอาหาร เปลี่ยนแปลงได้

\'ฟิวเจอร์ฟู้ด\'ไปได้ไกลถึง \'เนื้อสัตว์3D พรินต์\' ไม่หยุดแค่ \'แพลนต์เบส\'

11. Newtrition  โภชนาการรูปแบบใหม่การไม่บริโภคอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์ เลือกบริโภคเฉพาะอาหาร หรือผลิตภัณฑ์ที่มาจากผัก ผลไม้ และธัญพืชแบบ 100%  

12. Food Waste Rescue แก้ปัญหาการทิ้งอาหารให้เป็นขยะ

13. Foodie Influencer โซเชียลมีเดียและการรีวิวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ

และ14. Climate Change การบริโภคเนื้อสัตว์จากภาคปศุสัตว์ทำให้เกิดก๊าซมีเทนจากกระบวนการเลี้ยงสัตว์ ฉะนั้น นวัตกรรมอาหาร เช่น เนื้อสัตว์3D พรินต์ ,เนื้อสัตว์ทดแทนที่มาจากพืชหรือการเพาะเซลล์จะเป็นที่สนใจมากขึ้น 

อย.ส่งเสริมพร้อมควบคุมคุณภาพ
    สำหรับฟิวเจอร์ฟู้ดภายในประเทศ นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ให้ข้อมูลว่า อย. ส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารกลุ่มนี้โดยมีมาตรการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย อีกทั้ง ส่งเสริมให้มีการกล่าวอ้างทางสุขภาพได้ตามความเหมาะสม โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

     เช่น การกล่าวอ้างทางสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 182) พ.ศ. 2541 เรื่อง ฉลาก โภชนาการ กำหนดให้กล่าวอ้างหน้าที่ของสารอาหารได้ 28 รายการ  ส่วนอาหารใหม่ ต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยก่อนได้รับอนุญาตตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 376) พ.ศ. 2559 เรื่อง อาหารใหม่ (Novel food)

         การออกกฎกติกาใหม่ที่จะมารองรับ อาทิ การกล่าวอ้างทางสุขภาพมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 447) พ.ศ. 2566 เรื่อง การ กล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารบนฉลาก จะมีผลบังคับใช้ 2 กรกฎาคม 2567 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ
         และเงื่อนไขการกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหาร เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและอำนวยความสะดวกทาง การค้า การกล่าวอ้างหน้าที่ของสารอาหาร (nutrient function claims) 28 รายการ การกล่าวอ้างหน้าที่อื่น (other function claims) 6 รายการและการกล่าวอ้างการลดความเสี่ยงของการเกิดโรค (reduction of disease risk claims) 2 รายการ

         ออกประกาศกำหนดหน่วยงานประเมินประสิทธิผลและความเหมาะสม ของการกล่าวอ้างทางโภชนาการและสุขภาพ รวมถึงหลักฐานประกอบการยื่นขอพิจารณาผลการประเมินการ กล่าวอ้างทางสุขภาพ -อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขสำหรับการอนุญาต อาหารจากเซลล์เพาะเลี้ยง (cell based food) และเพิ่มรายการ positive list ของโปรตีนทางเลือกให้มากขึ้น กว่าเดิม
\'ฟิวเจอร์ฟู้ด\'ไปได้ไกลถึง \'เนื้อสัตว์3D พรินต์\' ไม่หยุดแค่ \'แพลนต์เบส\'
แนวโน้มขออนุญาตมากขึ้น

         ทั้งนี้ การขออนุญาตสถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า ผลิตภัณฑ์อาหารและการโฆษณาสามารถยื่นคำขอผ่าน ระบบออนไลน์ (e-submission) เพื่อให้กับผู้ประกอบการดำเนินการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งอาหารใน กลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะมีการขออนุญาตมากขึ้น มีอาหารที่ได้รับอนุญาต ดังนี้

  • อาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล (Medical food & Personalised food) เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคไต อาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักตัว อาหารสำหรับผู้สูงอายุ อาหาร สำหรับสตรีมีครรภ์ มี153 รายการ
  • อาหารโปรตีนทางเลือก (Alternative protein) อาหารทั่วไปและอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคมี 122 รายการ,
  • ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 570 รายการ
  • อาหารอินทรีย์ (Organic) ที่เป็นอาหารทั่วไปและอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคจำนวน 3678 รายการ , น้ำนมถั่วเหลือง organic 26 รายการ, เครื่องดื่ม organic 31 รายการ

        นพ.ณรงค์ ย้ำว่า  อย. มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลภายใต้พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งคุ้มครองความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และส่งเสริมการค้าทั้งในและต่างประเทศ
   

 "อาหารที่ได้อนุญาตจะต้องมีความปลอดภัย และมีคุณภาพหรือมาตรฐานเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากไม่มีประวัติการบริโภคเป็นอาหาร ต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยก่อนและสถานที่ผลิตผ่านตามหลักเกณฑ์ GMP"

          แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารอนาคต มีทิศทางที่ดีมีแนวโน้มจะขยายตัวสูง ถือว่าเป็นโอกาสในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารภายในประเทศ เพื่อให้ผู้ผลิตในประเทศสามารถส่งออกอาหารกลุ่มนี้ได้มากขึ้น เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ