'นิ่วในถุงน้ำดี' โรคสุดฮิตของสายปิ้งย่าง คนรักบุฟเฟต์

'นิ่วในถุงน้ำดี' โรคสุดฮิตของสายปิ้งย่าง คนรักบุฟเฟต์

พฤติกรรมของเหล่ามนุษย์เงินเดือน  เมื่อเงินเดือนออก นอกจากเป็นคนทรงคุณค่า ทั้งค่าห้องค่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่ารถ และค่าใช้จ่ายประจำต่างๆ แล้ว มักจะชดเชยด้วยการให้รางวัลตนเอง ไม่ว่าจะเป็น ช้อปปิ้ง หรือรับประทานอาหาร อย่าง ชาบู บุฟเฟ่ต์ ปิ้งย่าง ฯลฯ

Keypoint:

  • ของอร่อยมักจะมาพร้อมด้วยโรค เช่นเดียวกับบุฟเฟต์ ชาบู ปิ้งย่าง ของมันของทอดที่มาพร้อมด้วย'นิ้วในถุงน้ำดี'
  • โรคนิ่วในถุงน้ำดี หลายคนอาจจะมองว่าไม่อันตราย แต่จริงๆ แล้ว เป็นอีกโรคร้ายที่มักเกิดขึ้นได้บ่อย โดยเฉพาะสายปิ้งย่าง บุฟเฟต์ ชาบู แถมทางเดียวที่ดีที่สุดของการรักษา คือ ต้องผ่าตัด
  • ดูแลป้องกันตนเองไม่ให้เป็น 'นิ่วถุงน้ำดี' ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เน้นทางปลา ผัก ผลไม้ และงดเนื้อสัตว์บางชนิด เนื้อที่ผ่านการแปรรูป กุ้ง หมึก หอย ขนมขบเคี้ยว และน้ำอัดลม 

'อาหารการกิน' ช่วยทำให้หลายๆ คนผ่อนคลายและหายจากความเหนื่อยล้า มีความสุข ยิ่ง 'บุฟเฟต์ ชาบู ปิ้งย่าง' ด้วยรสชาติอาหารเหล่านี้ทำให้หลายคนมองข้ามอันตรายจากการรับประทานอาหารที่ไขมันสูง ที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคร้ายหลายๆ โรค  

หนึ่งในโรคอันตรายที่หลายคนอาจไม่คุ้น แต่ปัจจุบันพบว่าเป็นกันมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ‘นิ่วในถุงน้ำดี’  ซึ่งทางเดียวที่ดีที่สุดของการรักษา คือ ต้องผ่าตัดเท่านั้น 

การใช้ชีวิต และการทำงานในปัจจุบันเลือกรับประทานอาหารที่เน้นความสะดวก รวดเร็ว โดยไม่คำนึงถึงพลังงาน โซเดียม ไขมัน น้ำตาล สารอื่น ๆ ที่ได้รับในแต่ละวัน ‘นิ่วในถุงน้ำดี’ ที่ดูเหมือนไม่อันตราย แต่ถ้าประสบกับภาวะแทรกซ้อนจะทำให้ร่างกายเจ็บป่วย เสียทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาในการรักษา การรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะอนามัย เพื่อป้องกันรวมทั้งแนวทางดูแลสุขภาพของผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

รู้ทัน 'นิ่วในถุงน้ำดี' โรคใกล้ตัวผู้หญิงวัย 40+

ไม่อยากเสี่ยง 'โรคมะเร็ง' ลดอาหารกลุ่มเสี่ยง ช่วยได้ 30-40 %

 

ทำไม? เป็น 'นิ่วในถุงน้ำดี' 

พญ. นรสรา วิทยาพิพัฒน์ ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง ศูนย์ศัลยกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง (ASIT) โรงพยาบาลพญาไท 3  อธิบายว่า นิ่วในถุงน้ำดี คือ ตะกอนของแข็งที่เกิดสะสมขึ้นภายในถุงน้ำดี อาจมีขนาดเล็กเท่ากับเม็ดทรายหรือจะใหญ่ทำกับลูกมะกรูดก็ได้ ซึ่งตะกอนดังกล่าวจะมีจำนวนมากเป็นร้อยๆ ก้อน อุดตันอยู่ในถุงน้ำดี

ทั้งนี้ ถุงน้ำดีมีหน้าที่ทำให้น้ำดีเข้มข้น ไว้พร้อมใช้สำหรับขับน้ำดีออกมาคลุกเคล้ากับอาหาร โดยน้ำดีจะทำหน้าที่ดักจับไขมันเพื่อดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย นั่นเองจึงทำให้เมื่อเกิดนิ่วขึ้น การทำงานของถุงน้ำดีจึงผิดปกติและส่งผลระบบทำงานของถุงน้ำดี ซึ่งถ้าหากนิ่วตกลงไปอุดที่ท่อน้ำดีใหญ่ อาจส่งผลต่อการทำให้ตับอ่อนอักเสบ ซึ่งอันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

นิ่วในถุงน้ำดีสามารถจำแนกได้ออกเป็น 2 ชนิด คือ

  • ชนิดที่เกิดจากคอเรสเตอรอล พบได้บ่อยมากที่สุดคือร้อยละ 80 ของผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดีจะเป็นชนิดนี้ เกิดจากการมีคอเรสเตอรอลมากเกินไป จึงไปเกาะจับกันจนทำให้ถุงน้ำดีทำงานผิดปกติ
  • ชนิดที่เกิดจากเม็ดสีบิลิรูบิน พบได้น้อยกว่าชนิดแรก โดยก้อนนิ่วจะมีขนาดเล็กกว่าชนิดคอเรสเตอรอลมักพบในผู้ป่วยโรคตับแข็ง หรือผู้ป่วยที่มีภาวะผิดปกติของเลือด อย่างโรคโลหิตจาง

 

ปัจจัยเสี่ยงโรคนิ่วในถุงน้ำดี

สังเกตจากชนิดของโรคนิ่วในถุงน้ำดี เราจะพบว่าชนิดที่เป็นกันมากที่สุดคือชนิดที่เกิดจากคอเรสเตอรอล นั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนได้ว่า พฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนเรามีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้อย่างชัดเจน แต่ก็ยังมีสาเหตุอื่นๆ ประกอบกันด้วย ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่มีส่วนทำให้เราเสี่ยงเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี ได้แก่

  • ความอ้วน ถือเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคนี้ได้มากที่สุด เพราะเป็นสาเหตุของการทำให้คอเรสเตอรอลในน้ำดีเพิ่มมากขึ้น
  • การทานอาหารไขมันสูง ชอบทานบุฟเฟต์ ปิ้งย่าง ฯลฯ เป็นสาเหตุของความอ้วนและนำไปสู่ภาวะคอเรสเตอรอลในน้ำดีสูง
  • ไม่ชอบออกกำลังกาย ไม่ชอบทานผัก
  • อายุ 40 ปี ขึ้นไป ระบบเผาผลาญในร่างกายที่แย่ลง ทำให้การสะสมคอเรสเตอรอลมีสูงขึ้น จึงเสี่ยงมากขึ้น
  • โรคนิ่วในถุงน้ำดีพบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
  • ผู้หญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิด หรือฮอร์โมนทดแทน จะมีความเสี่ยงเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีเพิ่มมากขึ้น เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจน มีส่วนในการเพิ่มปริมาณคอเรสเตอรอลในถุงน้ำดี
  • หากพบว่าในครอบครัวมีคนเคยเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี เราก็จะยิ่งมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้น

สังเกตอาการ กำลังเสี่ยงภัยเกิดโรค

ความอันตรายของโรคนิ่วในถุงน้ำดีคือเป็นโรคไม่แสดงอาการให้เราเห็นชัดเจนมากนักในช่วงแรก ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะทราบก็เมื่อได้รับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด แต่ทั้งนี้ เราสามารถสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ที่อาจเป็นสัญญาณของการเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้ จากหลายๆ อาการ ได้แก่

  • คลื่นไส้ อาเจียน บ่อยๆ
  • มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย
  • รู้สึกแสบร้อนที่อก มีลมในกระเพาะอาหาร
  • หลังรับประทานอาหารมันๆ มักมีอาการเสียดท้อง แน่นท้องบริเวณลิ้นปี่
  • ปวดท้องอย่างรุนแรงบริเวณช่วงท้องส่วนบนด้านขวา โดยปวดต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  • ในรายผู้ป่วยที่ถุงน้ำดีอักเสบ อาจมีไข้ ปวดท้องใต้ชายโครงด้านขวา

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อเป็นนิ่วในถุงน้ำดี

เนื้อสัตว์

  • ติดมัน
  • บริเวณหนัง
  • เครื่องใน
  • เนื้อที่ผ่านการแปรรูป เช่น ไส้กรอก แหนม เบคอน

อาหารทะเล

  • หมึก
  • กุ้ง
  • หอย

ของที่ผ่านกรรมวิธีการทอด

  • ขนมขบเคี้ยวที่ขายตามร้านสะดวกซื้อ
  • ปาท่องโก๋
  • บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
  • ผัดซีอิ๊ว
  • เฟรนช์ฟรายส์

อาหารที่มีส่วนประกอบของคอเลสเตอรอลสูง

  • ไข่แดง
  • ชีส
  • เนย
  • พิซซ่า
  • วิปปิ้งครีม
  • ซอสมายองเนส
  • ไอศกรีม
  • กะทิ

เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และคาเฟอีน

  • น้ำอัดลม
  • ชา
  • กาแฟ
  • เครื่องดื่มชูกำลัง

อาหารที่ควรรับประทานสำหรับผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดี

จากกรรมวิธี

  • ต้ม
  • ยำ
  • ตุ๋น
  • นึ่ง
  • อบ

มีโปรตีนสูง

  • ปลา
  • อกไก่
  • เต้าหู้
  • ไข่ขาว

ธัญพืชไม่ขัดสี

  • ข้าวกล้อง
  • ขนมปังโฮลวีท
  • ซีเรียลโฮลเกรน
  • ถั่วลิสง
  • เมล็ดทานตะวัน
  • อัลมอนด์

ผัก ผลไม้ ที่มีกากใยสูง รสหวานน้อย

  • แครอท
  • ข้าวโพด
  • บรอกโคลี
  • ผักโขม
  • แอปเปิล
  • อะโวคาโด
  • ฝรั่ง
  • มะม่วงมัน
  • ไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ไม่เกิน 3 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค

ผ่าตัดผ่านกล้องนิ่วในถุงน้ำดี 

สำหรับโรคนิ่วในถุงน้ำดีนั้น หากแพทย์ตรวจวินิจฉัยทราบแล้วว่าเป็นจริง วิธีการรักษาเดียวที่ดีที่สุดคือ 'การผ่าตัด' ซึ่งการผ่าตัดแบบเดิมจะเป็นการผ่าตัดแบบเปิดช่องท้อง ทำให้เกิดแผลใหญ่ ผู้ป่วยบอบช้ำมาก เสียเลือดมาก มีภาวะความเสี่ยงมาก และต้องใช้เวลาในการพักฟื้นนาน

แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าขึ้น ด้วย 'การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก'จึงทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น เสี่ยงน้อยลง ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า ทั้งนี้ การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีผ่านกล้อง จะทำโดยการเจาะรูเล็กๆ ขนาดไม่ถึง 1 ซม.  รวม 3 จุด แล้วสอดกล้องพร้อมเครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็ก ผ่านรูหน้าท้องที่เจาะ เข้าไปทำการผ่าตัดรักษา ซึ่งการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยจะฟื้นตัวเร็วมาก เพียงแค่ 1-2 วันก็สามารถกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้แล้ว และภายในไม่เกิน 1  สัปดาห์ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติตามเดิม

ดูแลป้องกันตัวเองอย่างไรให้ไกลโรค

ปัจจุบันการผ่าตัดผ่านกล้องถุงน้ำดี ถือเป็นมาตรฐานหลักที่ใช้ในการรักษา เพื่อหากปล่อยไว้ไม่ทำการผ่าตัด อาการก็จะรุนแรงจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ แต่ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี ยังมีสิ่งที่ควรรู้และทำความเข้าใจเพิ่มเติม ดังนี้

  • ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดผ่านกล้องนิ่วในถุงน้ำดีแล้ว ควรรับประทานอาหารจำพวกผัก ปลา มากขึ้น และลดของมันลง เพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับตัวเอง

หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร แต่มีอาการควรมาทำการพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี 

อ้างอิง: โรงพยาบาลพญาไท 3,โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน , โรงพยาบาลเพชรเวช