เตือน 'โรคไอกรน' ระบาด 3 จังหวัดชายแดนใต้ พบป่วยพุ่งกว่า 100 ราย

เตือน 'โรคไอกรน' ระบาด 3 จังหวัดชายแดนใต้ พบป่วยพุ่งกว่า 100 ราย

น่าห่วง! 'โรคไอกรน' ระบาด 3 จังหวัดชายแดนใต้ พบป่วยพุ่งกว่า 100 ราย เตือนเด็กเล็กติดเชื้ออาการจะรุนแรงมากและมีอัตราตายสูง

วันที่ 2 ธันวาคม 2566 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ 'โรคไอกรน' ในประเทศไทย มีจำนวนผู้ติดเชื้อโรคไอกรนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จำนวนมาก มีผู้ป่วยยืนยันมากกว่า 100 ราย ซึ่งผู้ป่วยทุกรายเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน และรายงานข้อมูลยืนยันว่ามีเด็กอายุเพียง 18 วัน เสียชีวิตจากการติดเชื้อไอกรนแล้ว จำนวน 1 ราย 

 

 

นายคารม กล่าวต่อว่า ไอกรนเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จาม รดกันโดยตรง ผู้สัมผัสโรคที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจะติดเชื้อและเกิดโรคเกือบทุกราย โรคนี้พบได้บ่อยในเด็ก ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากผู้ใหญ่ในครอบครัวซึ่งมีการติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ (carrier) หรือมีอาการไม่มาก 

 

โรคไอกรนเป็นได้กับทารกตั้งแต่เดือนแรก ทั้งนี้เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากแม่ผ่านมายังลูกไม่ได้หรือได้น้อยมาก ในเด็กเล็กอาการจะรุนแรงมากและมีอัตราตายสูง ส่วนใหญ่ของผู้ที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และเป็นเด็กที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน 

 

 

โดยทั่วไปแล้วโรคนี้เป็นได้ทุกอายุถ้าไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่ในวัยหนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่อาจไม่มีอาการ หรือไม่มีอาการแบบไอกรน ส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอกรน 

 

นายคารม กล่าวตอนท้ายว่า รัฐบาลห่วงใยปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะผลกระทบจากโรคต่อเด็ก แนะนำให้ประชาชนการสวมหน้ากากอนามัยป้องกันโรคไอกรน สิ่งสำคัญที่สุดคือ การฉีดวัคซีน แต่ถ้ามีการติดเชื้อแล้วก็ต้องรักษาตามอาการ เพราะเป็นโรคที่รักษาได้ แต่จะต้องไปพบแพทย์ให้ทันเวลา เพื่อรับการวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็วป้องกันเชื้อลงปอด 

 

สำหรับ โรคไอกรนเป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจและเกิดอาการไอ ที่มีลักษณะพิเศษคือ ไอซ้อนๆ ติดๆกัน 5-10 ครั้ง หรือมากกว่านั้น จนเด็กหายใจไม่ทัน จึงหยุดไอ และมีอาการหายใจเข้าลึกๆ เป็นเสียงวู๊ป (Whooping cough) สลับกันไปกับการไอเป็นชุดๆ จึงมีชื่อเรียกว่า 'โรคไอกรน' บางครั้งอาการอาจจะเรื้อรังนานเป็นเวลา 2-3 เดือน ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 6-20 วัน ที่พบบ่อย 7-10 วัน ถ้าสัมผัสโรคมาเกิน 3 สัปดาห์แล้วไม่มีอาการแสดงว่าไม่ติดโรค