กรมควบคุมโรคเตือนระวัง ‘โรคไอกรน’ ในเด็ก หลังพบผู้ป่วยแล้ว 6 ราย

กรมควบคุมโรคเตือนระวัง ‘โรคไอกรน’ ในเด็ก หลังพบผู้ป่วยแล้ว 6 ราย

กรมควบคุมโรคเตือนผู้ปกครองพาบุตรหลานฉีดวัคซีนระวัง ‘โรคไอกรน’ ในเด็กหลัง เดือนมกราคมปี 2563 พบผู้ป่วยแล้ว 6 ราย

จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไอกรน ในปี 2562 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วย "โรคไอกรน" 83 ราย เสียชีวิต 2 ราย พบมากที่สุดในกลุ่มอายุแรกเกิด ถึง 4 เดือน (ร้อยละ 35) โดยพบผู้ป่วยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 ราย และสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปี ย้อนหลัง (74 ราย ตั้งแต่ปี 2557-2561)

ส่วนในปีนี้ เดือนมกราคม 2563 มีรายงานจำนวนผู้ป่วย โรคไอกรนแล้ว 6 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนตามเกณฑ์ และรายล่าสุดเป็นเด็กชายอายุ 2 เดือน ในจังหวัดตาก

โดยการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพในสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้จะยังพบผู้ป่วยโรคไอกรนได้ และคาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคไอกรนเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลการรายงานโรคพบ ว่าเด็กที่ป่วยด้วยโรคไอกรนส่วนใหญ่ติดเชื้อจากสมาชิกในครอบครัวที่ไม่แสดงอาการป่วย ดังนั้น ผู้ที่มีอาการไอ จาม ไม่ควรคลุกคลีกับเด็กแรกเกิด หากจําเป็นต้องใกล้เด็กควรสวมหน้ากากอนามัย หรือไม่ควรพาเด็กเล็กไปในสถานที่ชุมนุมหรือแออัด หากพบเด็กมีอาการไอเป็นชุดๆ ไอมาก หายใจไม่ทัน หรือไอมีเสียงวีป ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที

ทั้งนี้ โรคไอกรนเป็นโรคติดต่อที่สามารถพบได้ตลอดทั้งปี มักพบในเด็กแรกเกิด ติดต่อโดย การหายใจเอาเชื้อจากการไอ จาม ของบุคคลที่มีเชื้อโรคในร่างกาย ทั้งที่มีอาการป่วยหรือไม่แสดง อาการ สามารถป้องกันได้ด้วยการรับวัคซีน ดังนั้น ขอแนะนําพ่อแม่ ผู้ปกครองพาบุตรหลานของท่านไปฉีดวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ตามช่วงเวลาที่กําหนด ถึงแม้วัคซีนจะไม่ได้ป้องกัน โรคได้ทั้งหมด แต่ทําให้อัตราการเกิดโรคและความรุนแรงของโรคลดลงได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ข้อมูลจาก รายการพบหมอรามา ระบุว่า โรคไอกรนเป็นโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งชื่อว่า Bordetella pertussis (B. pertussis) เป็นโรคที่ปัจจุบันพบน้อยเพราะมีวัคซีนป้องกันโรค ทำให้ผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวมีจำนวนไม่มากนัก สามารถเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สถานการณ์โรคไอกรนในประเทศไทยจากสถิติปี 2560 ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา พบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคไอกรนทั้งหมด 76 ราย คิดเป็น 0.1 รายต่อประชากร 1 แสนราย และประมาณ 50% ของผู้ป่วยเป็นเด็กเล็กอายุ 1-3 เดือน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตัวเลขดังกล่าวยังไม่มีความแม่นยำเท่าที่ควร เนื่องจากตัวโรคมีการวินิจฉัยค่อนข้างยาก

อาการของโรคไอกรน หากเกิดในผู้ใหญ่ไม่มีความรุนแรง สามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ ไม่มีอาการเหนื่อยหอบ ไม่มีไข้ มีเพียงอาการไอเท่านั้น แต่ถ้าหากโรคไอกรนเกิดกับเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 3 ขวบ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ที่พบบ่อยคือไอหนักจนตัวเขียวหรือไอจนหยุดหายใจ ทำให้สมองขาดออกซิเจน และอาจเสียชีวิตได้ ส่วนอาการชักสามารถพบได้เช่นกันแต่พบไม่บ่อยนัก

การเกิดไอกรนในวัยเด็กมักเกิดจากการได้รับวัคซีนป้องกันที่ยังไม่ครบหรือบางรายอาจยังไม่เคยได้รับวัคซีนเลย ทำให้เด็กยังขาดภูมิคุ้มกัน เนื่องจากวัคซีนป้องกันไอกรนเข็มแรกจะได้รับเมื่ออายุ 2 เดือน ส่วนการรับเชื้อส่วนมากมักมีการรับมาจากผู้ใหญ่ที่ป่วยและมีอาการไอ ซึ่งในวัยผู้ใหญ่มักไม่ยอมไปพบแพทย์ เนื่องจากอาการไม่รุนแรง ทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปยังเด็กที่อยู่ใกล้ชิดในที่สุด