'หัวใจสลาย' อกหัก เสียใจ เศร้าใจ เครียดรุนแรง อันตรายถึงชีวิตได้

'หัวใจสลาย' อกหัก เสียใจ เศร้าใจ เครียดรุนแรง อันตรายถึงชีวิตได้

‘อกหักไม่ถึงตาย’ ดูท่าจะไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป เมื่อภาวะอกหัก เสียใจ เศร้าใจ หรือมีความเครียดอย่างรุนแรง  อาจทำให้เกิด ‘โรคหัวใจสลาย (Broken heart syndrome)’ แล้วเสียชีวิตได้

Keypoint:

  • อกหัก เครียด เศร้า เสียใจ  อาการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ควรปล่อยผ่าน เพราะหากมีอาการรุนแรงจะทำให้เกิดภาวะหัวใจสลาย และเสียชีวิตได้ 
  • แม้โรคหัวใจสลายจะยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน แต่ที่แน่ชัดคือเกิดขึ้นจากสภาพจิตใจ และความเครียด หากคนใกล้ตัวมีภาวะอกหัก เครียดอย่างรุนแรง ควรให้กำลังใจ ดูแล และพาไปพบแพทย์ 
  • การป้องกัน Broken Heart Syndrome ทำใจให้สบาย ไม่เครียด ปรับมุมมอง เปลี่ยนความคิด นั่งสมาธิพูดคุยกับคนในครอบครัวและเพื่อน สนุกกับชีวิต

โรคหัวใจสลาย’ยังระบุสาเหตุการเกิดได้ไม่ชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากการที่จิตใจหรือร่างกายมีความเครียดอย่างรุนแรง (emotional and physical stress) เช่น สูญเสียคนรัก มีสถานการณ์ที่สะเทือนอารมณ์อย่างรุนแรง การผ่าตัดใหญ่ การติดเชื้อในร่างกายอย่างรุนแรง เป็นต้น

ภาวะเครียดรุนแรงเหล่านี้ทำให้ร่างกายหลั่งสารกลุ่ม catecholamine เช่น อะดรีนาลินออกมามาก ส่งผลให้มีการสะสมของประจุแคลเซียมในกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หลอดเลือดฝอยของหัวใจเกิดการหดตัวเฉียบพลันทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ซึ่งภาวะนี้สามารถหายได้เองเมื่อภาวะเครียดนั้นหายไป แต่หากเป็นมากอาจร้ายแรงจนเสียชีวิตได้

โดยภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดการกระตุ้น สมองส่วน ก้านสมอง แล้วส่งสัญญาณ มายังต่อมใต้สมอง ให้หลั่ง ฮอร์โมน มากระตุ้นต่อมหมวกไต  ทำให้ต่อมหมวกไต หลั่งสารความเครียด ได้แก่ คอร์ติซอล (cortisol), แอดรินาริน(adrenalin) ซึ่งสารเหล่านี้ ก็จะมาทำให้ กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วน ลดการบีบตัวลง ชั่วคราว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

คุณเสี่ยง ‘หัวใจอ่อนแอ’ หรือไม่? สัญญาณเตือนโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดหัวใจ

ทำไม? 'โรคหัวใจ' ยิ่งอายุน้อย-วัยทำงานยิ่งเสี่ยง เช็กสัญญาณเตือนที่ควรรู้

 

รู้จักภาวะหัวใจสลาย (Broken heart syndrome)

มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Stress-induced Cardiomyopathy, Takotsubo Cardiomyopathy หรือ Apical ballooning syndrome คือ ภาวะที่ความสามารถในบีบตัวของหัวใจลดลงอย่างเฉียบพลัน โดยสาเหตุของโรคยังเป็นที่ถกเถียงกัน แต่ทางการแพทย์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเกิดจากฮอร์โมน Catecholamine ที่สูงขึ้นเฉียบพลันจากความเศร้าเสียใจหรือความเครียดอย่างมาก เช่น ความสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักกระทันหันจากอุบัติเหตุ หรือเกิดจากการใช้ยาบางชนิด

ความเครียดที่สร้างมาจากภายใน ความรุนแรงของความเครียด อาจจะไม่ได้สัมพันธ์ กับ เนื้อหาเรื่องราวที่เกิดขึ้น อย่างเดียว แต่ยังขึ้นกับ ลักษณะบุคลิกภาพ, วิธีการคิด, ความผิดปกติของจิตใจ รวมทั้ง การขาดการช่วยเหลือ ประคับประคองของคนในครอบครัว เพราะหลายครั้ง การคิดที่เป็นลบมากเกินไป ต่อเรื่องราวที่เกิด ก็เป็นตัวเร่งให้ ความเครียด รุนแรงมากขึ้น

โดยผู้ป่วยโรคนี้จะมีระดับฮอร์โมนความเครียดหลั่งออกมาสูงมากอย่างเฉียบพลัน (stress-induced catecholamine release) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด

\'หัวใจสลาย\' อกหัก เสียใจ เศร้าใจ เครียดรุนแรง อันตรายถึงชีวิตได้

โรคหัวใจสลายมักเกิดกับใคร

จากการศึกษาพบว่า ประมาณ 90% ของผู้ป่วยเป็นผู้หญิง และ 80% เป็นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน  ช่วงอายุที่พบบ่อย 58-77 ปี

 

เช็กอาการโรคหัวใจสลาย

อาการของหัวใจสลาย จะไม่สามารถแยกโรคออกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ จนกว่าจะได้รับการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiogram) ซึ่งในผู้ป่วยที่แพทย์สงสัยว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันนั้น มีประมาณ 1% ที่เป็น Stress-induced Cardiomyopathy

"โรคใจสลาย ส่วนใหญ่ 70% จะมาด้วยอาการแน่นหน้าอก, เหนื่อย หายใจไม่ทัน หรือ น้ำท่วมปอดได้ ซึ่งอาการเหล่านี้ เหมือน กับ อาการของ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน จาก หลอดเลือดหัวใจอุดตัน ตลอดจน การเปลี่ยนแปลงที่ตรวจพบได้จาก คลื่นไฟฟ้าหัวใจ, ระดับเอนไซด์ ในเลือด ก็สามารถพบได้เหมือน โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน"

นพ.ไพศาล บุญศิริคำชัย แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด เฉพาะทางด้านการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจอาการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค เล่าว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ เนื่องจากมีภาวะหัวใจล้มเหลว เลือดไหลเวียนไม่พอ บวม นอนราบไม่ได้ ในกรณีที่รุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะหากมีความเจ็บป่วยร่างกายอื่นที่รุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

\'หัวใจสลาย\' อกหัก เสียใจ เศร้าใจ เครียดรุนแรง อันตรายถึงชีวิตได้

วินิจฉัยอย่างไร?เข้าข่ายโรคหัวใจสลาย

นพ.ไพศาล เล่าต่อว่า นอกจากประวัติและการตรวจร่างกายโดยละเอียดแล้วผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจพิเศษทางหัวใจโดยเฉพาะคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) การตรวจเลือด การเอ็กซเรย์หัวใจและปอด คลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram)

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยในภาวะหัวใจสลายมักมีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ผลเลือดเอนไซม์กล้ามเนื้อหัวใจที่ผิดปกติคล้ายผู้ป่วยจากโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน (Heart attack) การวินิจฉัยแยกโรคมักต้องใช้การตรวจสวนหัวใจและฉีดสารทึบแสงดูเส้นเลือดหัวใจ ซึ่งในภาวะหัวใจสลายจะไม่พบเส้นเลือดหัวใจอุดตัน

รักษาโรคหัวใจสลายได้

เนื่องจากไม่ได้มีเส้นเลือดหัวใจอุดตันจึงไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการขยายเส้นเลือดหัวใจเหมือนกรณีโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน (Heart attack) การรักษาจึงเป็นการรักษาด้วยยา ประคับประคอง รักษาระดับความดัน ชีพจร ระดับออกซิเจนให้เหมาะสมเพียงพอและรักษาความผิดปกติทางร่างกายที่เป็นสาเหตุกระตุ้นภาวะเครียดรุนแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่กล้ามเนื้อหัวใจที่อ่อนแอ จะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นและกลับมาปกติได้ใน 4-8 สัปดาห์

\'หัวใจสลาย\' อกหัก เสียใจ เศร้าใจ เครียดรุนแรง อันตรายถึงชีวิตได้

แพทย์อาจสั่งให้ใช้ยาในการรักษาเพื่อลดความตึงเครียดในการทำงานของหัวใจและป้องกันการเกิดภาวะอื่นๆในอนาคต เช่น การใช้ยาลดความดันโลหิตสูง (ประเภท ACE) หรือ (ARBs) การใช้เบต้าบล็อกเกอร์ ยาขับปัสสาวะ หรือ ยาละลายลิ่มเลือดในกรณีที่พบว่าคนไข้มีลิ่มเลือดในหัวใจ

หากเกิดภาวะหัวใจวาย จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น การทำบอลลูน หรือการสอดขดลวด จะไม่สามารถช่วยในการรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงได้ เนื่องจากการรักษาประเภทดังกล่าว จะมุ่งเน้นไปที่การแก้อาการตีบของหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งไม่ใช่สาเหตุของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง

เตรียมตัวก่อนการพบแพทย์

คนไข้ควรเข้ารับการรักษาในทันที หรือให้บุคคลใกล้ชิดพาไปห้องฉุกเฉินโดยด่วนหากพบว่าตนเองมีอาการเจ็บหน้าอกโดยไร้สาเหตุ และที่สำคัญในการพบแพทย์ควรพาบุคคลในครอบครัวมาด้วย

ข้อมูลที่ควรเตรียมมา

  • อาการต่างๆที่มีในปัจจุบัน รวมถึงระยะเวลาที่มีอาการดังกล่าว
  • ข้อมูลส่วนตัว เช่น การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิตหรือภาวะความเครียดในชีวิต เช่น การสูญเสียบุคคลที่รักหรือการตกงาน
  • ข้อมูลประวัติการรักษาของตนเองและบุคคลในครอบครัว ซึ่งจะรวมถึงประวัติการรักษาโรคอื่นๆด้วย เช่น โรคเบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง หรือโรคหัวใจ
  • ยาที่คนไข้รับประทานในปัจจุบัน ทั้งยาโดยแพทย์สั่งและที่ซื้อตามร้านขายยาทั่วไป
  • อาการบาดเจ็บบริเวณหน้าอกในช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายภายในร่างกาย เช่น กระดูกหักหรือเส้นประสาทถูกกดทับได้
  • แพทย์จะตรวจสอบอาการของคนไข้ตามผลจาก ECG และการตรวจเลือดเพื่อดูว่าอาการของคนไข้เกิดจากภาวะดังกล่าวหรืออาการหัวใจวาย

\'หัวใจสลาย\' อกหัก เสียใจ เศร้าใจ เครียดรุนแรง อันตรายถึงชีวิตได้

ป้องกันไม่ให้หัวใจสลาย

การป้องกัน Broken Heart Syndrome

  • ทำใจให้สบาย ไม่เครียด ปรับมุมมอง เปลี่ยนความคิด นั่งสมาธิ
  • พูดคุยกับคนในครอบครัวและเพื่อน เพื่อแบ่งปันเรื่องราวและปัญหา อย่าแบกความเครียดไว้คนเดียว
  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • สนุกกับชีวิต ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการท่องเที่ยว ทำอาหาร เดินป่า ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ
  • ตรวจเช็กสุขภาพหัวใจ นอกจากตรวจเช็กสุขภาพทุกปี ควรต้องตรวจเช็กสุขภาพหัวใจตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ

"Broken Heart Syndrome สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้จากความเครียด ทางที่ดีที่สุดคือดูแลหัวใจให้เข้มแข็ง ตั้งรับกับทุกปัญหาด้วยความเข้าใจ จัดการความเครียดอย่างถูกวิธี หากมีอาการผิดปกติแนะนำให้รีบพบแพทย์ทันที"

อ้างอิง: โรงพยาบาลพระรามเก้าโรงพยาบาลสมิติเวช  ,  โรงพยาบาลกรุงเทพ ,โรงพยาบาลเมดพาร์ค