'นั่งนาน' เกิน 8 ชม.ต่อวัน เสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคหัวใจ

'นั่งนาน' เกิน 8 ชม.ต่อวัน เสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคหัวใจ

"นั่งนาน" เกินไป เพิ่มความเสี่ยง "ตายเร็ว" จากทั้งโรคอ้วน, โรคหัวใจ, เบาหวาน, ความดันสูง วิจัยชี้ คนที่ติดนิสัยนั่งนานเกิน 8 ชม./วัน โดยไม่ออกกำลังกาย เสี่ยงตายเร็วได้พอๆ กับคนที่ติดสูบบุหรี่,กินเหล้า

Key Points:

  • วิจัยพบความเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรม “นั่งนาน” เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน กับ “การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร” จากการเกิดโรคหัวใจ เบาหวาน และความดันสูง
  • การนั่งนานมากเกินไป ในที่นี้ไม่ใช่แค่นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่รวมถึงหน้าดูทีวีนานๆ และนั่งขับรถนานๆ หลายชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเสี่ยงตายเร็วได้พอๆ กับผู้ที่เป็นโรคอ้วนและผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
  • วิธีแก้ไขนิสัยนั่งนานในเบื้องต้น คือ ลุกขึ้นยืนหลังจากการนั่งทุกๆ 30 นาที, ยืนคุยโทรศัพท์หรือยืนดูโทรทัศน์แทนการนั่ง, ลองใช้โต๊ะสูงสำหรับยืนทำงานหน้าจอ ฯลฯ

ชาวออฟฟิศอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงของภาวะ “นั่งนาน” เกินไป หรือนั่งนานติดต่อกันเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งภาวะดังกล่าวถูกวิจัยพบว่าเป็นสาเหตุของการ “เสียชีวิตก่อนวัยอันควร” ของคนหนุ่มสาววัยทำงาน โดยล่าสุด.. สักชี วาร์มา (Sakshi Verma) รายงานประเด็นนี้ผ่าน IndiaTVnews ไว้ว่า หลายปีที่ผ่านมามีงานวิจัยในวารสารการแพทย์หลายชิ้นค้นพบความเชื่อมโยงระหว่าง “นิสัยการนั่งนานๆ” กับ “การเสียชีวิตก่อนวัย” ซึ่งมีความร้ายแรงเทียบเท่ากับผู้ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ 

 

  • วิถีชีวิตคนเมืองยุคใหม่ ตัวเร่งการ "นั่งนาน" จนเสี่ยงตายเร็ว

ในยุคปัจจุบันผู้คนมีวิถีชีวิตและอาหารการกินที่เปลี่ยนไปจากอดีต (ใช้ชีวิตเร่งรีบ, ไม่มีเวลาออกกำลังกาย, ไม่มีเวลาทำอาหารกินเอง, นั่งหน้าจอนานหลายชั่วโมงต่อวัน, พักผ่อนไม่เพียงพอ ฯลฯ) ซึ่งถือเป็นการเพิ่มปัญหาสุขภาพหลายประเภท ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกันและนักวิจัยในสายงานนี้พบว่า นี่อาจเป็นปัจจัยสำคัญของโรคร้ายแรงและเรื้อรังหลายชนิดที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

หากปล่อยพฤติกรรมเหล่านี้ไว้นานๆ โดยไม่เร่งแก้ไข ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และเพิ่มการอักเสบตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกายมากขึ้น รวมไปถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล โรคเหล่านี้ไม่เพียงทำให้เจ็บป่วยหรือทุกข์ทรมานเท่านั้น แต่ยังทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรอีกด้วย 

\'นั่งนาน\' เกิน 8 ชม.ต่อวัน เสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคหัวใจ

ขณะเดียวกัน นายแพทย์เอ็ดเวิร์ด ลาสโคว์สกี้ (Edward Laskowski) แพทย์สาขาเวชศาสตร์การกีฬา ที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์แห่ง Mayo Clinic และผู้อำนวยการร่วมของ Mayo Clinic Sports Medicine Center ก็ให้ข้อมูลในทำนองเดียวกันว่า เมื่อคนเรานั่งนิ่งนานๆ จะใช้พลังงานน้อยกว่าเมื่อยืนหรือเคลื่อนไหว

โดยมีการวิจัยพบเชื่อมโยงระหว่างการนั่งนานกับปัญหาด้านสุขภาพหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในร่างกายส่วนเกินบริเวณเอว และระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาด้านเมตาบอลิซึมหรือกระบวนการเผาผลาญไขมันที่เสื่อมถอยลง

 

  • "นั่งนาน" ไม่ใช่แค่นั่งทำงานหน้าจอ แต่รวมถึงนั่งดูทีวี นั่งขับรถนานๆ ก็ใช่ด้วย!

อีกทั้ง การนั่งนานมากเกินไป ในที่นี้ไม่ใช่แค่นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่รวมถึงหน้าดูทีวีนานๆ และนั่งขับรถนานๆ หลายชั่วโมงต่อวัน ดูเหมือนจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการ “เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคมะเร็ง”

นายแพทย์เอ็ดเวิร์ดอธิบายว่า นักวิจัยได้วิเคราะห์การศึกษา 13 เรื่องเกี่ยวกับเวลานั่งและระดับกิจกรรม ซึ่งพวกเขาพบว่า

ผู้ที่นั่งมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันโดยไม่มีการออกกำลังกาย จะมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูงได้พอๆ กับผู้ที่เป็นโรคอ้วนและผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ

อย่างไรก็ตาม ผลการวิเคราะห์ข้อมูลยังพบด้วยว่า การออกกำลังกายที่เข้มข้นปานกลาง (Moderate exercise intensity) เช่น วิ่งจ็อกกิง เดินเร็ว เต้นแอโรบิก ปั่นจักรยาน ฯลฯ เป็นเวลา 60-75 นาทีต่อวัน สามารถช่วยแก้ไขผลของการนั่งมากเกินไปได้

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ พบว่า ผู้ที่ใช้เวลาในการนั่งอย่างกระฉับกระเฉงมากที่สุด (นั่งแล้วลุกยืนบ่อยๆ หรือลุกเดินบ่อยๆ) มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพียงเล็กน้อย 

\'นั่งนาน\' เกิน 8 ชม.ต่อวัน เสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคหัวใจ

 

  • แก้นิสัยนั่งนานให้หายไป ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ลุกยืน-ลุกเดินให้บ่อยขึ้น และตั้งใจทำจริง!

โดยรวมแล้ว การวิจัยดูเหมือนจะชี้ให้เห็นว่า การนั่งน้อยลงและการเคลื่อนไหวที่มากขึ้นมีส่วนช่วยให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ดังนั้นหากอยากปรับปรุงพฤติกรรมการนั่งนานๆ ให้ลดน้อยลงในแต่ละวัน คุณอาจเริ่มต้นด้วยการลุกยืนให้บ่อยขึ้นแทนการนั่งนานๆ หรือหาวิธีลุกออกจากที่นั่งบ้างในระหว่างขณะทำงาน ยกตัวอย่างเช่น

1. ลุกขึ้นยืนจากการนั่งทุกๆ 30 นาที

2. เปลี่ยนจากนั่งเป็นยืนขณะคุยโทรศัพท์หรือยืนดูโทรทัศน์

3. หากคุณทำงานที่โต๊ะ ให้ลองใช้โต๊ะสูงสำหรับยืนทำงาน หรือจัดวางโต๊ะหรือเคาน์เตอร์สูงๆ

4. เดินกับเพื่อนร่วมงานเพื่อประชุมแทนที่จะนั่งอยู่ในห้องประชุม

5. หาที่วางหน้าจอมือถือ แทปเล็ต หรือแลปท็อปไว้เหนือลู่วิ่งไฟฟ้า เพื่อให้คุณสามารถเข้าโหมดตรวจเช็กงานหรือเช็กข้อความต่างๆ ในขณะที่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายไปพร้อมกันได้

นายแพทย์เอ็ดเวิร์ดทิ้งท้ายไว้ว่า การเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำดีต่อสุขภาพมากกว่าการอยู่นิ่งๆ แน่นอน แม้จะเป็นการเคลื่อนไหวสบายๆ ไม่ต้องถึงขั้นออกกำลังกายหนัก ก็สามารถส่งผลได้อย่างลึกซึ้ง ข้อดีอย่างแรกเลย คุณจะเผาผลาญแคลอรีได้มากขึ้น นำไปสู่การลดน้ำหนักและเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังช่วยรักษาความสามารถในการเคลื่อนไหว และดูแลสุขภาพจิตให้ดีขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณอายุมากขึ้น