ธันวาคมนี้ รับรองว่า PM 2.5 ในกรุงเทพฯสีแดงเถือก

ธันวาคมนี้ รับรองว่า PM 2.5 ในกรุงเทพฯสีแดงเถือก

ต้นเดือนพฤศจิกายนยังไม่ทันถึงเดือนธันวาคมก็เริ่มมีสัญญาณว่าปัญหา PM 2.5 กำลังกลับมา เพราะมีบางวันที่แผนที่แสดงค่า AQI ในกรุงเทพมีสีส้มเกือบทั้งเมือง

แม้ประชาชนบางกลุ่มจะเริ่มชินชาและไม่รู้สึกอะไรนักกับแผนที่ AQI สีส้มสีแดงนี้ แต่ก็มีประชาชนอีกกลุ่มโดยเฉพาะคนที่ชอบออกกำลังกายกังวลว่า ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 สีแดงนี้จะมีผลต่อปอดและหัวใจของตนมากเพียงไร

และเมื่อถึงเดือนธันวาคม-มกราคมที่ปกติจะมีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงกว่าเดือนพฤศจิกายนเหตุการณ์จะเลวร้ายลงไปมากกว่านี้อีกเท่าใด 

          ถ้าเรามองในมุมมลพิษอากาศที่มีผลต่อสุขภาพ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจะมองไปที่ค่าความเข้มข้นเฉลี่ยใน 24 ชั่วโมงของ PM 2.5 ว่ามีมากน้อยเพียงใด มากกว่าที่จะเพ่งไปที่ค่า AQI

เพราะตัวเลขที่มีการวัดจริงและมีผลกระทบต่อสุขภาพจริงคือ ค่าความเข้มข้นของฝุ่นในอากาศรอบตัว มิใช่ค่า AQI ที่ไม่ใช่ค่าวัดจริง   

ทว่าค่าความเข้มข้นของ PM 2.5 ที่วัดได้จริงนั้นเป็นตัวเลขที่ต้องไปเทียบกับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่และแต่ละประเทศ จึงจะรู้ว่าอันตรายหรือเสี่ยงอันตรายแล้วหรือยัง หากไม่เกินก็ไม่อันตราย หากเกินมากก็เสี่ยงอันตรายมาก หากเกินน้อยก็เสี่ยงอันตรายน้อย

อย่างไรก็ตาม คงเป็นการคาดหวังมากเกินไปที่จะให้ประชาชนมานั่งจำตัวเลขมาตรฐานคุณภาพอากาศ ซึ่งมิใช่มีเพียง PM 2.5 แต่มีอีกถึง 6-7 ตัว

วิศวกรรวมทั้งนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จึงได้กำหนดเป็นค่า AQI  (Air Quality Index) หรือดัชนีคุณภาพอากาศขึ้นมา

ธันวาคมนี้ รับรองว่า PM 2.5 ในกรุงเทพฯสีแดงเถือก

โดยให้ค่า AQI เท่ากับ 100 หาก PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่วัดได้มีค่าเท่ากับค่ามาตรฐาน PM 2.5 ในอากาศ   หากค่าที่วัดได้น้อยกว่าค่ามาตรฐานค่า AQI จะต่ำกว่าร้อย  ถ้ามากกว่าค่ามาตรฐานค่า AQI จะสูงกว่าร้อย  ถ้าเกินมากค่า AQI ก็จะยิ่งสูงมากตามไปด้วย 

 

ด้วยวิธีนี้ประชาชนก็ไม่จำเป็นต้องจำค่ามาตรฐาน  และเพียงแต่ดูค่า AQI ว่าต่ำหรือสูงกว่า 100 ก็จะเข้าใจได้ว่าสถานการณ์คุณภาพอากาศโดยเฉพาะ PM 2.5 นั้นเป็นอย่างไร 

และเพื่อให้สะดวกขึ้นทางการของแต่ละประเทศจะกำหนดให้ง่ายขึ้นไปอีก คือกำหนดเป็นสีตามค่า AQI ที่ได้มา 

สำหรับประเทศไทยจะเรียงจากค่าน้อยไปมาก จากสีฟ้าไปสีเขียว เหลือง ส้ม และแดงตามลำดับ  แล้วเอาสีต่างๆ นี้ไปวางลงบนพื้นที่ต่างๆบนแผนที่  ประชาชนเพียงแค่เหลือบตาดูสีก็จะรู้ได้ว่าบ้านตนหรือที่ทำงานตน ณ ขณะนั้น มีความเสี่ยงจาก PM 2.5 มากน้อยเพียงใด 

ค่ามาตรฐาน PM 2.5 ในอากาศจะกำหนดไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ  ที่รวยแล้วและแก้ปัญหาได้ดีแล้วก็มักกำหนดค่ามาตรฐานโดยใช้ตัวเลขต่ำเพื่อที่จะได้ปลอดภัยในเชิงสุขภาพแก่ประชาชนของตน 

ธันวาคมนี้ รับรองว่า PM 2.5 ในกรุงเทพฯสีแดงเถือก

ส่วนบางประเทศที่สถานะทางเศรษฐกิจไม่ดีนักรู้ดีว่าหากกำหนดค่ามาตรฐานให้เข้มงวดเฉกเช่นประเทศรวย ตัวเองก็จะทำไม่ได้อยู่ดี จึงเลือกที่จะกำหนดค่ามาตรฐานที่อะลุ่มอล่วยกว่า 

ค่ามาตรฐานนี้ยังปรับได้ ไม่ตายตัว หากเศรษฐกิจดีขึ้นหรือมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนมากขึ้น ทางการก็อาจปรับตัวเลขให้ต่ำลงหรือเข้มงวดขึ้น ประเทศไทยก็ได้ดำเนินการมาในแนวนี้

ดังจะเห็นได้ว่ากรมควบคุมมลพิษได้เปลี่ยนค่ามาตรฐาน PM 2.5 ในอากาศเฉลี่ย 24 ชม.จาก 50 เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่ได้เริ่มใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา

         ผลสืบเนื่องที่ตามมาคือแถบสีของ PM 2.5 บนแผนที่จะเปลี่ยนไปทันที  ยกตัวอย่างเช่น สมมติค่า PM 2.5 ที่วัดได้เท่ากับ 42 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  ซึ่งหากเทียบกับค่ามาตรฐานเดิมที่ 50 ค่า AQI จะเท่ากับเพียง 67 และสีของความเสี่ยงจะเป็นสีเหลือง

แต่ถ้าเอาตัวเลขเดียวกันที่ 42 นี้ไปเทียบกับค่ามาตรฐานที่ปรับใหม่เป็น 37.5 ค่า AQI จะกลายเป็น 113 และสีเหลืองจะเปลี่ยนเป็นสีส้มที่ดูอันตรายมากขึ้นทันที 

ธันวาคมนี้ รับรองว่า PM 2.5 ในกรุงเทพฯสีแดงเถือก

          นั่นคือ เราต้องเข้าใจว่าเรากำลังพูดถึงอะไร  หากถามว่าค่า PM 2.5 ที่ยังเป็นค่าเดิมคือ 42 นั้นตอนนี้กลับหมายถึงอันตรายต่อสุขภาพเราสูงมากขึ้นกว่าเดิมดื้อๆเลย ใช่หรือไม่  คำตอบคือไม่ใช่ครับ   

ความรุนแรงต่อสุขภาพยังเหมือนเดิมเพราะค่า PM2.5 นั้นเข้มข้นเท่าเดิม  แต่เพราะเรามีมาตรการการคุ้มครองสุขภาพของเราดีขึ้นโดยการเปลี่ยนมาตรฐานให้เข้มขึ้น แม้ค่า PM 2.5 จะเป็นค่าเดิมแต่เมื่อค่า AQI และสีเปลี่ยนไปก็เป็นสัญญาณเตือนที่ง่ายและดี ต่อทางการให้เร่งแก้ไขและประชาชนเร่งปรับตัว 

          ทั้งหมดทั้งปวงนี้เพียงเพื่อจะบอกว่าการปรับค่ามาตรฐานให้เข้มงวดขึ้นนั้นเป็นเรื่องดี เพราะประชาชนจะปลอดภัยขึ้นและช่วยบอกเราว่าเราต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้เร็วด่วนแค่ไหนและอย่างไร 

แต่ระหว่างนั้นเราก็ต้องเข้าใจที่มาที่ไปของมัน ไม่เกิดความตระหนกจนเกินเหตุ จนไปสร้างเป็นสถานการณ์อื่นที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้นตามมา