'สูงวัย-โรคเรื้อรัง' ดันชีวเภสัชภัณฑ์โต คาดปี 68 มูลค่า 526 พันล้านเหรียญ

'สูงวัย-โรคเรื้อรัง' ดันชีวเภสัชภัณฑ์โต คาดปี 68 มูลค่า 526 พันล้านเหรียญ

การก้าวเข้าสู่ 'สังคมผู้สูงอายุ' และ 'โรคเรื้อรัง' ไม่ว่าจะเบาหวาน มะเร็ง ส่งผลให้ อุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) เติบโต มีการคาดการณ์ว่าในปี 2568 จะเติบโตไปถึง 526 พันล้านเหรียญสหรัฐ อัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีอยู่ที่ 13.8 %

Key Point : 

  • ในปี 2560 อุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 186 พันล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2568 คาดว่าจะเติบโตไปถึง 526 พันล้านเหรียญสหรัฐ
  • ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ตลาดโต คือ การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และ โรคมะเร็ง ที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น 
  • ผู้ประกอบการมักมองหาพันธมิตรในการรับจ้างผลิต ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนแล้วยังช่วยให้เข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น

 

ประเทศไทย นับเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นในภาคส่วนของชีวเภสัชภัณฑ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลาดยาในไทยนับว่าใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค ปัจจัยการเติบโตของอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ คือ การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงโรคเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นเบาหวานและโรคมะเร็ง ในปี 2563 เพียงปีเดียว ไทยมีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งรายใหม่ถึง 190,636 ราย

 

ข้อมูลจาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) เผยว่า ในปี 2560 อุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 186 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตไปถึง 526 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 หรือมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีอยู่ที่ 13.8 % (ปี 2561 - 2568) ซึ่งตลาดที่ใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมนี้เป็นของอเมริกาเหนือ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการวิจัยและพัฒนาที่ทันสมัย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ทั้งนี้ แนวโน้มล่าสุดของอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ คือ ผู้ประกอบการมักมองหาพันธมิตรในการรับจ้างผลิต ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนแล้วยังช่วยให้เข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้นด้วย และหากแบ่งตามประเภทของอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์จะพบว่าโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibodies) มีอัตราการเติบโตสูงสุด ส่วนในด้านของการรักษา พบว่า โรคมะเร็งมีสัดส่วนใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมนี้

 

สังคมสูงวัย ดันตลาดโต

ปัจจัยการเติบโตของอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์มาจากหลายสาเหตุได้แก่ การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ การเพิ่มขึ้นของโรคเรื้อรัง เช่นโรคมะเร็งและเบาหวาน ส่งผลให้การปรับตัวในอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการในตลาดยังร่วมมือกันในเชิงกลยุทธ์เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอีกด้วย

 

แม้ว่าต้นทุนในการพัฒนายาและความล้มเหลวจากการทดลองยังคงเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของตลาด แต่ในขณะเดียวกันตลาดเกิดใหม่อย่างอินเดียและจีนก็ยังคงเป็นความหวังของผู้ประกอบการที่จะเข้าไปขยายธุรกิจ ส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยคาดการณ์ว่าอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีจะอยู่ที่ 17.2%

 

ข้อมูลจาก TCELS ยังระบุอีกว่า ตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนับเป็นความหวังของอุตสาหกรรมยาด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีที่สูงถึง 12-14% อีกทั้ง ยังสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ขณะที่กลุ่มประเทศตะวันออกกลางก็ยังเป็นอีกตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตและมีความสามารถในการผลักดันอุตสาหกรรมยาที่ดีต่อไปในอนาคต

 

\'สูงวัย-โรคเรื้อรัง\' ดันชีวเภสัชภัณฑ์โต คาดปี 68 มูลค่า 526 พันล้านเหรียญ 'รามัน ซิงห์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จูนิเปอร์ไบโอโลจิคส์

 

 

สอดคล้องกับ 'รามัน ซิงห์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จูนิเปอร์ไบโอโลจิคส์ ในฐานะบริษัทดำเนินธุรกิจด้านสุขภาพมุ่งเน้นที่วิธีรักษาแบบใหม่ ให้สัมภาษณ์กับ 'กรุงเทพธุรกิจ' ว่า จูนิเปอร์ ซึ่งมีสำนักงานกว่า 20 ประเทศ ทั้งในเอเชีย ตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย มุ่งเน้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มเนื้องอก (Oncology) กลุ่มการดูแลสสนับสนุนผู้ป่วยเนื้องอก (Oncology supportive care) กลุ่มโรคหายาก (Rare diseases) และการรักษาบำบัดด้วยยีน (Gene Therapy) สำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม

 

“ประเทศที่มีขนาดตลาดใหญ่ที่สุด ได้แก่ ออสเตรเลีย ส่วนกลุ่มที่เติบโตเร็วที่สุด คือ กลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ตลาดในเมืองไทยนับเป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากการแพทย์ในเมืองไทยมีความก้าวหน้ามาก ไม่ใช่แค่เฉพาะในเมืองไทยแต่เป็นศูนย์การรักษา Medical Tourism”

 

อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงการรักษาพยาบาลและยาใหม่ ในแต่ละประเทศค่อนข้างแตกต่างกัน เช่น เมื่อมีตัวยาใหม่ออกมาประเทศทางฝั่งยุโรป ออสเตรเลีย จะสามารถได้ใช้ตัวยาใหม่ก่อนฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อุปสรรคและความท้าทาย คือ ราคายา เนื่องจากการวิจัยและพัฒนายาขึ้นมาหนึ่งตัวต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ดังนั้น การตั้งราคายาก็เป็นส่วนสำคัญเช่นกัน สำหรับจูนิเปอร์ จึงพยายามที่จะยืดหยุ่นในการตั้งราคายา เพื่อให้ผู้ป่วยทั้งในโรงพยาบาลเอกชน และ โรงพยาบาลรัฐ สามารถเข้าถึงตัวยาใหม่ๆ ได้

 

นวัตกรรมใหม่ จากบริษัทเล็ก

ในฐานะที่อยู่ในวงการ Healthcare มากว่า 20 ปี 'รามัน' กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือมีนวัตกรรมเกิดขึ้นจากบริษัทขนาดเล็ก ในสมัยก่อนจะมีแค่บริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นที่สามารถคิดค้นนวัตกรรมได้ เช่น จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา บริษัทที่คิดค้นวัคซีนโควิด-19 อย่าง โมเดอร์นา และ ไบโอเอ็นเทค จะเห็นว่านวัตกรรมเกิดขึ้นในบริษัทขนาดเล็กนี่เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด

 

สำหรับ จูนิเปอร์ ไบโอโลจิคส์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2564 โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศสิงคโปร์ เป็นสตาร์ตอัปเกี่ยวกับสุขภาพเฉพาะทาง ที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ มุ่งเน้นวิธีรักษาแบบใหม่ วิจัย พัฒนา และทำการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ขึ้นไป ด้วยความเชื่อมั่นที่ว่า “การดูแลสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานโดยกำเนิด” เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาแบบใหม่ได้

 

ในปี 2566 จูนิเปอร์ ถือว่ามีการเติบโตมากกว่า 70 % จากปี 2565 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตมาจากขยายตลาดออกไปในหลายประเทศ การดำเนินงาน และการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยในปี 2567 ตั้งเป้าการเติบโตอยู่ที่ 35 %

 

“ตอนที่ก่อตั้งบริษัทจูนิเปอร์ขึ้นมาไม่ได้คิดไว้ว่าจะเติบโตได้อย่างรวดเร็วขนาดนี้ เราเป็นบริษัทที่มีความเฉพาะทางที่โฟกัสในการทำตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม บรูไน รวมถึง ออสเตรเลีย อีกทั้ง ประเทศลาว และ กัมพูชา ก็เป็นอีกสองประเทศที่น่าสนใจ”

 

การแพทย์ดั้งเดิมและสมัยใหม่

แม้ปัจจุบันจะมีการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่ แต่ในบางประเทศยังมีการรักษาแบบดั้งเดิม เช่น การแพทย์แผนไทย หรือ การแพทย์แผนจีน 'รามัน' มองว่า การรักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่และแพทย์ดั้งเดิมหรือแผนโบราณสามารถที่จะทำควบคู่ขนานกันไปได้ ไม่จำเป็นต้องตัดอย่างใดอย่างหนึ่งออก เช่นเดียวกับการรักษาด้วยแพทย์แผนจีนก็สามารถที่จะทำควบคู่กันไปได้ เพราะการแพทย์แผนจีนได้รับความนิยมค่อนข้างมาก การแพทย์สมัยใหม่ก็ไม่สามารถทดแทนการแพทย์แผนจีนได้ เราสามารถที่จะใช้การแพทย์ทั้ง 2 ทางทำควบคู่ขนานกันไปได้

 

 

\'สูงวัย-โรคเรื้อรัง\' ดันชีวเภสัชภัณฑ์โต คาดปี 68 มูลค่า 526 พันล้านเหรียญ