เข้าใจ 'ลิ่มเลือดอุดตัน' ภาวะที่ไม่ได้เกิดแค่ที่สมองและหัวใจ

เข้าใจ 'ลิ่มเลือดอุดตัน' ภาวะที่ไม่ได้เกิดแค่ที่สมองและหัวใจ

วันหลอดเลือดอุดตันโลก (World Thrombosis Day) 13 ตุลาคมของทุกปี ทำความเข้าใจ ‘ลิ่มเลือดอุดตัน’ ภาวะที่ไม่ได้มีแค่ โรคหลอดเลือดสมอง หรือ หลอดเลือดหัวใจ ซึ่งจะเกิดกับหลอดเลือดแดง แต่ยังมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ซึ่งมักเกิดขึ้นที่ 'ขา' และ 'ปอด'

Key Point :

  • เวลาที่พูดถึง ‘ลิ่มเลือดอุดตัน’ คนทั่วไปมักจะนึกถึงโรคหลอดเลือดสมอง หรือ หลอดเลือดหัวใจ ที่จะเกิดกับหลอดเลือดแดงเป็นหลัก เช่น ตีบ แตก ตัน
  • น้อยคนที่จะรู้จัก ‘ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ’ หรือ Venous Thromboembolism (VTE) ซึ่งมักเกิดขึ้นที่ ขา หรือที่ปอด
  • ประเทศไทย 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันในปอดเพิ่มขึ้น 2 เท่า และลิ่มเลือดอุดตันที่ขาเพิ่มขึ้น 1.3 เท่า

 

เนื่องในวันหลอดเลือดอุดตันโลก หรือ World Thrombosis Day ซึ่งตรงกับวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี โดยในปี 2566 นี้ สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง และซาโนฟี่ ประเทศไทย จัดงานเสวนา ‘ลิ่มเลือดอุดตัน ภัยเงียบที่ป้องกันได้’ เพื่อสร้างความเข้าใจถึงภาวะลิ่มเลือดอุดตันอย่างถูกต้อง โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลและสถาบันชั้นนำกว่า 10 ท่าน มาให้ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ที่ได้รับการผ่าตัด และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เพื่อเป็นแนวทางการดูแลรักษาและป้องกัน

 

ศ.นพ.พลภัทร โรจน์นครินทร์ นายกสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ พบมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลกในประชากร 1 ใน 1,000 ต่อปี และ 1 ใน 4 ของประชากรโลกเสียชีวิตจากลิ่มเลือดอุดตัน ข้อมูลจากต่างประเทศ พบว่า โรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำจะถูกวินิจฉัยเป็นลำดับ 3 รองจาก โรคหลอดเลือดแดงหัวใจ และ โรคหลอดเลือดแดงสมอง

 

เข้าใจ \'ลิ่มเลือดอุดตัน\' ภาวะที่ไม่ได้เกิดแค่ที่สมองและหัวใจ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

โดยร้อยละ 60 ของโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ เกิดขึ้นระหว่างการนอนอยู่ในโรงพยาบาลหรือหลังออกจากโรงพยาบาลใหม่ๆ และทั่วโลกมีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ที่เชื่อมโยงกับการนอนโรงพยาบาล 10 ล้านคนต่อปี

 

ขณะที่ประเทศไทย 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันในปอดเพิ่มขึ้น 2 เท่า และลิ่มเลือดอุดตันที่ขา 1.3 เท่า อีกทั้ง ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปัจจัยแวดล้อมและวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้ กว่าร้อยละ 80 ของผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ จะไม่แสดงอาการใดๆ หรือมีอาการที่ไม่ชัดเจน บางรายที่มีภาวะอุดตันที่ขา (Deep Vein Thrombosis หรือ DVT) อาจมีอาการปวดขา ขาบวม ผิวหนังที่ขาเปลี่ยนสีไปจากเดิม

 

ส่วนรายที่เกิดขึ้นในปอด (PE) อาจมีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว หน้ามืด หมดสติ ไอเป็นเลือด เป็นต้น ฉะนั้นการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมในวงกว้าง จึงช่วยให้ประชาชนเกิดการรับรู้อย่างเข้าใจและปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง หรือหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็สามารถให้ข้อมูลและขอคำแนะนำจากแพทย์เพื่อหาแนวทางป้องกันหรือรักษาได้อย่างทันท่วงที

 

เข้าใจ \'ลิ่มเลือดอุดตัน\' ภาวะที่ไม่ได้เกิดแค่ที่สมองและหัวใจ

 

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ

ศ.นพ. พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ อาจเกิดขึ้นจากการที่เลือดจับตัวแข็งและสะสมในหลอดเลือดดำ (Venous System) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดได้จากการอักเสบในเส้นเลือดดำ

 

กลุ่มเสี่ยงสูงที่มีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ได้แก่ ผู้ป่วยมะเร็ง จากข้อมูลผู้ป่วยในทวีปเอเซียรวมถึงประเทศไทย ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดดำอุดตันมีราวๆ ร้อยละ 20 ที่มีโรคมะเร็งอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมด้วย ผู้ที่ต้องผ่าตัดหรือผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุ และต้องนอนโรงพยาบาลมีการเคลื่อนไหวทางร่างกายน้อย เป็นเวลานานๆ ก็เป็นกลุ่มเสี่ยง

 

และอีกกลุ่มที่มักถูกมองข้ามคือ หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงในการเกิด VTE มากกว่าคนปกติ ถึง 4 เท่า และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของมารดาถึงร้อยละ 10 นอกจากนี้ การเกิด VTE ยังมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวได้ ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกิน ผู้ที่มีประวัติ VTE ในครอบครัว การใช้ยาคุมกำเนิด สูบบุหรี่จัด เป็นต้น

 

เข้าใจ \'ลิ่มเลือดอุดตัน\' ภาวะที่ไม่ได้เกิดแค่ที่สมองและหัวใจ

 

สัญญาณเตือน 

โรคหลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน

  • ขาบวมข้างเดียว
  • อาจร่วมกับอาการปวด กดเจ็บ แดง และอุ่นขึ้นได้

โรคหลอดเลือดที่ปอดอุดตัน

  • หอบเหนื่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • หายใจเร็ว
  • เจ็บหน้าอก
  • เป็นมากขึ้นเวลาหายใจเข้าลึกๆ
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • มึนงงและอาจหมดสติ

*หากรักษาไม่ทันลิ่มเลือดที่ขาอาจหลุดลอยไปอุดที่ปอด

*ต้องได้รับการรักษาทันท่วงที มีโอกาสเสียชีวิตได้

 

ปัจจัยเสี่ยงหลอดเลือดอุดตัน

  • การตั้งครรภ์
  • ความอ้วน
  • การสูบบุหรี่
  • อายุที่เพิ่มขึ้น
  • โรคมะเร็ง
  • โรคทางกายอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ
  • หลังผ่าตัดที่ต้องนอนพักบนเตียงนาน
  • การนั่งอยู่ท่าเดิมนานหลายชั่วโมง

 

ลดโอกาสเสี่ยง

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ภาวะอ้วน การดื่มเหล้า
  • ระวังการขาดน้ำเวลาเจ็บป่วย ทำให้เลือดข้น การไหลเวียนลดลง
  • ออกกำลังกาย ให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
  • เคลื่อนไหวสม่ำเสมอ เมื่อต้องอยู่กับที่นานๆ
  • แจ้งข้อมูลแก่แพทย์เมื่อต้องนอน รพ. หากเคยเป็นโรคหลอดเลือดอุดตันมาก่อน
  • ใส่ถุงน่องชนิดยืดหยุ่น ช่วยให้เลือดไหวเวียนดีขึ้น

 

การเกิด ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ในผู้ป่วย

รศ.พญ. ปิยนุช พูตระกูล ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้แชร์ข้อมูลและสถิติที่น่าสนใจว่า ความเสี่ยงของการเกิด ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (VTE) ในผู้ป่วยหลังการผ่าตัดจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางหัตถการและปัจจัยจากตัวผู้ป่วยเองด้วย โดยหัตถการที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิด VTE คือ การเปลี่ยนข้อสะโพกและข้อเข่า และการผ่าตัดระบบประสาท นอกจากนี้ ระยะเวลาของการผ่าตัด ระดับความรุนแรงของเนื้อเยื่อที่ได้รับบาดเจ็บและระยะเวลาที่ไม่ได้ลุกเดินหลังผ่าตัด ก็ส่งผลต่อการเกิดภาวะ VTE ด้วยเช่นกัน

 

ทุกวันนี้ วงการแพทย์สามารถป้องกันการเกิด VTE ในผู้ป่วยผ่าตัดได้หลายวิธี เช่น การให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ปัจจุบันการป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันด้วยยาในโรงพยาบาลทำได้ด้วยการใช้ยาฉีดและยารับประทานเพื่อป้องกันการแข็งตัวของ การพยายามให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหว การใส่เครื่องกระตุ้นบีบนวดกล้ามเนื้อบริเวณขา ใส่ถุงน่องทางการแพทย์ หรือลุกเดินอย่างเหมาะสม รวมถึงการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยเกี่ยวกับการป้องกัน

 

เข้าใจ \'ลิ่มเลือดอุดตัน\' ภาวะที่ไม่ได้เกิดแค่ที่สมองและหัวใจ

 

ประเมินความเสี่ยงผู้ป่วย 

โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้นำร่องการทำแบบประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด โดยระบุว่า ผู้ป่วยคนไหนที่มีความเสี่ยงในการเกิด VTE และให้การป้องกันอย่างเหมาะสมเพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากภาวะ VTE มากที่สุด ยาฉีดคาดว่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีความเหมาะสมกับสภาพผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือฉีดต่อเนื่องที่บ้านมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยกับผู้ป่วยทุกกลุ่ม ทั้งผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยผ่าตัด และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งชนิดของยาฉีดบางตัวบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว ครอบคลุมสิทธิการเบิกจ่ายทุกสิทธิทั้งบัตรประกันสุขภาพ ประกันสังคม และข้าราชการ

 

จากข้อมูลของ โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า หลังจากที่ออกมาตราการกระบวนการการป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำหลังผู้ป่วยแผนกศัลยกรรม อัตราการเกิด VTE ลดลงอย่างน่าพอใจและสามารถป้องกันการเสียชีวิตจากภาวะหลอดเลือดดำอุดตันได้ โดยมาตรการในการป้องกันดังกล่าวทำให้เห็นว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์มากคือเสียค่าใช้จ่ายน้อยแต่เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นสิ่งที่ทีมบุคลากรทางการแพทย์สามารถปฏิบัติได้

 

เมื่อเทียบกับมูลค่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหากปล่อยให้โรคเกิดขึ้นโดยไม่ได้ป้องกัน การป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ นับเป็นสิ่งที่ภาคการบริหารจัดการของโรงพยาบาล หน่วยงานต่างๆ ควรยกระดับการดูแลเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ