เช็กสัญญาณเตือน 'เนื้องอกต่อมใต้สมอง' วัยทำงานอย่านิ่งนอนใจ

เช็กสัญญาณเตือน 'เนื้องอกต่อมใต้สมอง' วัยทำงานอย่านิ่งนอนใจ

ประจำเดือนขาด-มาไม่ปกติในผู้หญิง ภัยเงียบ "เนื้องอกต่อมใต้สมอง" ชนิดฮอร์โมนโปรแลคติน ทั้งนี้ต้องมีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย ส่วนในผู้ชายก็เป็นโรคนี้ได้โดยมีอาการบ่งชี้ คือ สมรรถภาพทางเพศลดลง

หญิงสาวที่มีอาการ "ประจำเดือนมาไม่ปกติ" หรือ "ประจำเดือนขาดหลายเดือน" บวกกับมีน้ำนมไหล ทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ ไม่ได้ให้นมบุตร อย่านิ่งนอนใจ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือน "เนื้องอกต่อมใต้สมอง" ชนิดฮอร์โมนโปรแลคติน อีกทั้งในผู้ชายก็สามารถเกิดโรคนี้ได้เช่นกัน โดยมีอาการผิดปกติคือ "สมรรถภาพทางเพศลดลง"

จริงๆ แล้ว เนื้องอกต่อมใต้สมองมีอยู่หลายชนิดมาก ข้อมูลจาก "ดร.นพ.ศรัณย์ นันทอารี" อาจารย์สาขาวิชาประสาทศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายในบทความวิชาการไว้ว่า ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) เป็นส่วนเล็กๆ ของสมองที่อยู่บริเวณฐานกะโหลกศีรษะเหนือต่อโพรงจมูก มีหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนชนิดต่างๆ เช่น ฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต (growth hormone), ฮอร์โมนเพศ (FSH, LH), ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมน้ำนม (Prolactin), ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมหมวกไต (ACTH), ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) 

 

  • อาการบ่งชี้ "เนื้องอกต่อมใต้สมอง" มีอะไรบ้าง? 

บางครั้งต่อมใต้สมองนี้อาจจะมีความผิดปกติกลายเป็น "เนื้องอก" ได้ โดยมักจะพบเนื้องอกชนิดนี้ได้ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งอาการที่บ่งชี้ถึง "โรคเนื้องอกของต่อมใต้สมอง" อาจมีอาการแสดงออกได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าเนื้องอกนั้นผลิตฮอร์โมนชนิดใด 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเนื้องอกนั้นเป็นเนื้องอกชนิดผลิตฮอร์โมนกระตุ้นต่อมน้ำนม (Prolactinoma) จะส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนโปรแลคตินมากผิดปกติ ในผู้หญิงจะมีอาการขาดประจำเดือน หมดประจำเดือนก่อนวัย อาจมีน้ำนมไหลทั้งๆ ที่ไม่ได้ให้นมบุตร ส่วนผู้ชายจะมีสมรรถภาพทางเพศลดลง หรือบางรายอาจจะมีอาการตามัวลง หรือปวดศีรษะร่วมด้วย

หากปล่อยไว้นานโดยไม่ได้รับการรักษา เนื้องอกต่อมใต้สมองก็จะมีขนาดโตขึ้น เนื้องอกจะไปกดเบียดเส้นประสาทตาที่อยู่ใกล้เคียงกับต่อมใต้สมอง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการตามัวลง มีลานสายตาแคบผิดปกติ โดยมองทางด้านข้างทั้งสองข้างไม่เห็น ผู้ป่วยบางรายมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดหัวและตามัวลงฉับพลัน (มีเลือดออกในก้อนเนื้องอก หรือ Pituitary apoplexy) อาจมีหนังตาตก ระดับความรู้สึกตัวลดน้อยลง เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้หญิงที่มีอาการประจำเดือนขาดหลายเดือนหรือประจำเดือนมาไม่ปกติ ไม่ได้เสี่ยงเป็นเนื้องอกต่อมใต้สมองเพียงอย่างเดียว จากข้อมูลของ "โรงพยาบาลนครธน" อธิบายว่า สัญญาณดังกล่าวสามารถบ่งชี้ถึงโรคอื่นๆ ได้ด้วย เช่น เนื้องอกในรังไข่, ความผิดปกติของต่อมหมวกไต, โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ฯลฯ ดังนั้น จึงควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยให้ตรงจุด

 

  • เนื้องอกต่อมใต้สมอง ชนิดฮอร์โมนโปรแลคติน รักษาด้วยยาได้ ไม่ต้องผ่าตัด

สำหรับวิธีการรักษานั้น หากแพทย์วินิจฉัยพบว่าเป็นเนื้องอกต่อมใต้สมอง ชนิดที่สร้างฮอร์โมนโปรแลคติน ก็สามารถให้ "ยาต้านฮอร์โมน" (Bromocriptine) ในการรักษาได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ก้อนเนื้องอกมักจะมีขนาดเล็กลงหลังจากได้ยา รวมทั้งน้ำนมที่ไหลก็จะหยุดไป และประจำเดือนสามารถกลับมาเป็นปกติ แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยจะต้องกินยาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เนื่องจากว่าหากหยุดกินยาเนื้องอกก็จะโตกลับขึ้นมาใหม่ 

นอกจากนี้ ยังมีอาการที่บ่งชี้ถึง "เนื้องอกต่อมใต้สมอง" ชนิดอื่นๆ อีก ที่วัยทำงานควรรู้ เพื่อเป็นข้อมูลในการสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายตนเอง ได้แก่ 

1. ถ้าเนื้องอกนั้นผลิตฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต คนไข้ที่เป็นวัยรุ่นจะมีร่างกายสูงมากผิดปกติ (Giantism) ส่วนคนไข้ที่เป็นผู้ใหญ่จะมีร่างกายใหญ่โตผิดปกติ (Acromegaly) คือ มีมือเท้าใหญ่  รูปร่างใบหน้าผิดปรกติ หน้าผากยื่น กรามใหญ่ อาจมีความดันโลหิตสูงหรือเบาหวานร่วมด้วย 

2. ถ้าเนื้องอกนั้นผลิตฮอร์โมนกระตุ้นต่อมหมวกไต คนไข้จะมีลักษณะใบหน้าและลำตัวอ้วนกลม มีสิวขึ้น ผิวหนังบางมีรอยแตก กระดูกบาง ภูมิต้านทานลดลง

3. ถ้าเนื้องอกนั้นไม่ผลิตฮอร์โมนใดๆ เลยก็จะไม่มีอาการต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น แต่จะมีอาการของการขาดฮอร์โมนต่อมใต้สมอง เนื่องจากก้อนเนื้องอกจะไปทำลายต่อมใต้สมองจนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้  คนไข้จะมีอาการอ่อนเพลียง่ายผิดปกติ คลื่นไส้อาเจียน หน้ามืดเป็นลม ง่วงซึม ทนอากาศหนาวไม่ได้ ขาดประจำเดือนหรือสมรรถภาพทางเพศลดลง อาจจะมีเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติทำให้ซึมลงหรือชัก 

อย่างไรก็ตาม เนื้องอกต่อมใต้สมองจัดว่าเป็นเนื้องอกชนิดที่ไม่ร้ายแรง หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ และพบก้อนเนื้องอกที่ยังมีขนาดเล็กอยู่ ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยหากเป็นเนื้องอกชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชนิดฮอร์โมนโปรแลคติน ส่วนใหญ่แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านทางโพรงจมูก ถ้าเนื้องอกมีขนาดเล็กก็มักจะสามารถผ่าตัดออกได้หมด แต่ถ้าเนื้องอกก้อนใหญ่ ผ่าตัดออกไม่หมด ก็จะใช้การฉายรังสีรักษาร่วมด้วย

-----------------------------------
อ้างอิง : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลรพ.จุฬาลงกรณ์รพ.นครธน