เตือน ยาน้ำลดไข้สำหรับเด็กตามท้องตลาด ทำเด็กเสี่ยงรับพาราเซตามอลเกินขนาด

เตือน ยาน้ำลดไข้สำหรับเด็กตามท้องตลาด ทำเด็กเสี่ยงรับพาราเซตามอลเกินขนาด

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แนะผู้ปกครองระมัดระวังการใช้ยาน้ำลดไข้สำหรับเด็กที่จำหน่ายในท้องตลาด เผยทำเด็กเสี่ยงรับพาราเซตามอลเกินขนาด ย้ำ ใช้ยาให้ถูกต้องตามหลักการใช้ยา 5 ถูก

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แนะผู้ปกครองระมัดระวังการใช้ยาน้ำลดไข้สำหรับเด็กที่จำหน่ายในท้องตลาด อ่านฉลากและเอกสารกำกับยาให้ละเอียด ลดความเสี่ยงได้รับยาพาราเซตามอลเกินขนาด ย้ำประชาชนใช้ยาให้ถูกต้องตามหลักการใช้ยา 5 ถูก จากกรณีที่มีผู้ใช้งานสื่อโซเชียลมีเดียแชร์โพสต์ซึ่งมีข้อความแนะนำยาน้ำลดไข้สำหรับเด็กพาราเซตามอล ว่าเป็นยาน้ำเด็กที่ควรมีติดบ้านไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินนั้น

นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ยาน้ำสำหรับเด็กที่จำหน่ายในท้องตลาดถึงแม้ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีตัวยาเดียวกันแต่อาจมีขนาดความแรงที่แตกต่างกัน จึงมีความเสี่ยงที่เด็กอาจจะได้รับยาเกินขนาดได้จากความเข้าใจผิดที่คลาดเคลื่อน

ยาน้ำแก้ปวด ลดไข้ พาราเซตามอลมีจำหน่ายหลายความแรง สังเกตจากฉลากซึ่งจะแสดงความเข้มข้นจากน้อยไปมาก ดังนี้ 120 มก./5 มล., 160 มก./5 มล. และ 250 มก./5 มล. (5 มล. = 1 ช้อนชา) ซึ่งแต่ละความแรงมีขนาดรับประทานที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของเด็ก

ดังนั้น ผู้ปกครองควรอ่านฉลากและเอกสารกำกับยาอย่างละเอียดก่อนใช้ยา เพื่อให้ได้รับขนาดยาที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัวของเด็ก และป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการได้รับยาเกินขนาด หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของโรคที่ทำให้เกิดไข้ได้หลายโรค อาทิ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และโควิด-19 แต่ละโรคมีความรุนแรงที่แตกต่างกันและมีความซับซ้อนในการประเมินแยกโรคจากอาการที่แสดง 

ดังนั้น หากใช้ยาลดไข้แล้วอาการไม่ดีขึ้นใน 5 วัน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม และหากมีอาการผิดปกติซึ่งอาจบ่งบอกถึงการแพ้ยา เช่น บวมที่ใบหน้า เปลือกตา ริมฝีปาก ลมพิษ หน้ามืด ผื่นแดง ตุ่มพอง ผิวหนังหลุดลอก ให้หยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ทันที

อย. ยังคงมุ่งมั่นในการดูแลสุขภาพของประชาชนและส่งเสริมให้ประชาชนใช้ยาได้อย่างถูกต้อง ตามหลักการใช้ยา 5 ถูก ได้แก่ ถูกโรค ถูกคน ถูกขนาด ถูกเวลา ถูกวิธี กรณีที่พบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าจะเป็นอันตราย สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: [email protected] ตู้ ปณ.1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

 

ข้อมูลประกอบจาก : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)