ฝีดาษลิง ติดซ้ำได้หรือไม่ หลังพบตัวเลขในไทยพุ่ง เผยติดเชื้อได้หลายช่องทาง

ฝีดาษลิง ติดซ้ำได้หรือไม่ หลังพบตัวเลขในไทยพุ่ง เผยติดเชื้อได้หลายช่องทาง

สถานการณ์โรคฝีดาษลิง หรือ Mpox กับคำถามที่ว่าสามารถติดเชื้อซ้ำได้หรือไม่ ซึ่งล่าสุดในไทยพบตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้น โดยข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค เผยตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 มีรายงานผู้ป่วยรวม 316 คน และเสียชีวิต 1 คน

สถานการณ์ โรคฝีดาษลิง หรือ Mpox กับคำถามที่ว่าสามารถติดเชื้อซ้ำได้หรือไม่ ซึ่งล่าสุดในไทยพบตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้น โดยข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค เผยตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 มีรายงานผู้ป่วยรวม 316 คน และเสียชีวิต 1 คน แบ่งเป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย 271 คน หรือคิดเป็น 85.8% และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) 143 คน หรือคิดเป็น 45.3%

นอกจากนั้น กรมควบคุมโรค ยังเผยข้อมูลกลุ่มผู้ติดเชื้อ "ฝีดาษลิง" ส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ กทม. , ชลบุรี , นนทบุรี และสมุทรปราการ พร้อมเตือนกลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี มีความเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มขึ้นด้วย

โรคฝีดาษลิง สามารถติดเชื้อซ้ำได้หรือไม่?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์เฟซบุ๊กพูดถึงประเด็นดังกล่าว พร้อมยกงานวิจัยเกี่ยวกับ Mpox เพิ่งตีพิมพ์ใน The Lancet Infectious Diseases เกี่ยวกับเคสติดเชื้อ (n =37) โดยกลุ่มผู้ป่วยเป็นการติดเชื้อซ้ำ (เคยติดมาแล้วรักษาหายไปช่วงปีที่แล้ว) 7 คน และกลุ่มผู้ป่วยที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม 29 คน และ มี 1 คน คือ ติดเชื้อซ้ำและเคยฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มมาแล้ว

อาการของผู้ป่วยกลุ่มนี้น้อยกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีภูมิมาก่อนอย่างชัดเจน ซึ่งบ่งชี้ว่าภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ หรือจากการรับเชื้อวัคซีน (วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์) มีส่วนสำคัญต่อการลดความรุนแรงของโรค

แต่ภูมิคุ้มกันทั้งจากธรรมชาติ (สายพันธุ์ตรงจากไวรัส) และจากวัคซีน (สายพันธุ์ Poxvirus อื่นที่ใกล้เคียงกัน) ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้ออย่างสมบูรณ์ได้ ผู้ที่มีภูมิสามารถติดเชื้อและแพร่ต่อให้คนอื่นได้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลให้ภูมิคุ้มกันหมู่ต่อ Mpox อาจจะไม่ง่าย วัคซีนที่สร้างจาก Mpox โดยตรงอาจมีความจำเป็นถ้าจะควบคุมไวรัสตัวนี้อย่างจริงจัง

หลายๆคนที่ติด Mpox มักมีภูมิคุ้มกันไม่ปกติจากการติดเชื้อ HIV-1 ร่วมด้วย เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของผู้พัฒนาวัคซีน เพราะการจะเอาประสบการณ์ที่สามารถทำให้ไข้ทรพิษหายไปจากโลกด้วยวัคซีนมาใช้กับ Mpox อาจจะไม่เหมือนกันซะทีเดียว

นอกจากนี้ยังระบุเพิ่มเติมว่า เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อ Mpox หรือ ฝีดาษลิง เพิ่มขึ้นเดือนนี้แล้ว รู้สึกกังวลครับว่าตอนนี้ผู้ติดเชื้อคงมีอยู่พอสมควร ทั้งที่แสดงอาการชัดแต่ไม่แสดงตัวมาหาหมอ หรือ แสดงอาการน้อยพอทนได้ปะปนกันไป

ข้อมูลออกมาเยอะขึ้นเรื่อยๆครับว่า ไวรัสไม่ได้ติดต่อกันเฉพาะทางเพศสัมพันธ์อย่างเดียว กิจกรรมอื่นๆที่มีการสัมผัสกัน หรือ แม้กระทั่งความเป็นไปได้จากการติดเชื้อ ถ้าอยู่ใกล้ชิดกันทางละอองฝอยน้ำลายที่ฟุ้งในอากาศที่ปิด ถ่ายเทไม่สะดวกอย่างสถานบันเทิงก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน ตอนช่วงที่ผู้ป่วยน้อยๆการติดด้วยช่องทางนี้คงเกิดขึ้นได้ยาก แต่ถ้ามีผู้ป่วยเยอะขึ้นโอกาสก็จะสูงขึ้นด้วยนะครับ คงต้องระวังความเสี่ยงตรงนี้ด้วยครับ

ด้าน หมอธีระ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "โรคฝีดาษลิง" โดยระบุว่า ด้วยจำนวนเคสฝีดาษลิงของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จำนวนเคสต่อประชากรล้านคนของไทยเราตอนนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทวีปเอเชียราว 10 เท่า และสูงกว่าทวีปแอฟริการาว 3 เท่า

แม้จะยังน้อยกว่าทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป แต่หากไม่ควบคุมป้องกันให้เข้มข้นกว่าเดิม ไทยอาจเป็น hot spot ของฝีดาษลิงในระยะยาว เหมือนที่เราเคยประสบกับเรื่องเอชไอวี

เพราะไม่ได้ติดแค่ในกลุ่มชายรักชาย แต่รวมไปถึงต่างเพศ และเยาวชนวัยรุ่นด้วย อุตสาหกรรมบริการ และการท่องเที่ยวจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการป้องกันในกิจการของตนให้ดีครับ

ในขณะที่ประชาชนก็ควรระแวดระวัง คอยสังเกตสังกาคนที่เราพบปะคลุกคลีใกล้ชิด รักษาความสะอาดเวลาไปใช้สถานที่สาธารณะ ที่ท่องเที่ยว พักแรม สุขา ฯลฯ

 

ข้อมูลประกอบจาก

Anan Jongkaewwattana

Thira Woratanarat

กรมควบคุมโรค