ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ ทำ 'ฝีดาษวานร'พุ่ง ร่วมเอชไอวี

ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ ทำ 'ฝีดาษวานร'พุ่ง ร่วมเอชไอวี

ผู้ติดเชื้อ’ฝีดาษวานร’(ฝีดาษลิง)พุ่ง และมีผู้เสียชีวิตรายแรกในไทยที่มาพร้อมกับการติดเชื้อเอชไอวี และติดตามผู้สัมผัสไม่ได้ เพราะต้นเหตุจากการ’ไม่รู้จักฉันไม่รู้จักเธอ’ ขณะไทยเป็น 1 ในประเทศได้ยารักษาเฉพาะมาใช้-ศึกษา

Keypoints:

  •  สถานการณีฝีดาษวานรที่พุ่งเพิ่มขึ้น จากช่วงราว 1 ปีก่อนมีผู้ป่วย 20 กว่าราย แต่ช่วงมิ.ย.-ก.ค.2566 เจอผู้ป่วยหลักร้อยราย  และมีติดเชื้อเอชไอวีร่วม                             
  •       แม้ฝีดาษวานรจะรักษาตามอาการและหายได้เอง แต่ความสัมพันธ์แบบไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ เป็นสาเหตุทำให้ติดตามผู้สัมผัสไม่ได้  ส่งผลให้ตัวเลขคนป่วยเพิ่มขึ้นและมีผู้เสียชีวิตรายแรกในไทยและเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีด้วย
  •     อาการและการรักษาล่าสุดของฝีดาษวานร  ซึ่งองค์การอนามัยโลก(WHO) กำลังศึกษาการใช้ยาตัวหนึ่งในการรักษา และไทยเป็น 1 ในประเทศที่ได้รับมอบยานี้นำมาใช้

ฝีดาษวานรพุ่ง-ติดเอชไอวีร่วม  

        โรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ของประเทศไทย เจอในประเทศไทยตั้งแต่ปีที่แล้ว ตั้งแต่เดือน ก.ค.2565 จนถึง เม.ย. 2566 เจอแค่ 20 กว่าราย แต่พอเดือน พ.ค.เจอ 20 กว่าราย เดือน มิ.ย.เจอเกือบ 50 ราย ก.ค.เจอเป็นร้อย ส่วนเดือนส.ค. คาดว่าก็น่าจะเป็นหลักร้อยรายเช่นกัน

     ข้อมูล ณ วันที่ 8 ส.ค. 2566 มีรายงานผู้ป่วยรวม 189 รายในไทย เป็นสัญชาติไทย 161 ราย ชาวต่างชาติ 28 ราย  

     จากเอกสารการกรมควบคุมโรค รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -15 ส.ค. 2566 มีผู้ป่วย 217 ราย เป็นชาวต่างชาติ 30 ราย คนไทย 187 ราย อายุเฉลี่ยตั้งแต่ 20 - 64 ปี ในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 ราย อายุ 34 ปี มีการติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้รับการรักษา

รายงานการติดเชื้อใน 19 จังหวัด โดยมี 3 จังหวัดที่อยู่ในระดับสีแดงคือกรุงเทพฯ 136 ราย นนทบุรี 14 ราย ชลบุรี 9 ราย

สีส้มมี 3 จังหวัดคือ สมุทรปราการ 9 ราย ภูเก็ต 8 ราย ปทุมธานี 7 ราย 

สีเหลืองมี 13 จังหวัด คือ สมุทรสาคร ลพบุรี มหาสารคาม ขอนแก่น พะเยา จังหวัดละ 2 ราย นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี นครนายก เชียงราย อยุธยา จังหวัดละ 1 ราย และระยอง 3 ราย

ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ ทำ \'ฝีดาษวานร\'พุ่ง ร่วมเอชไอวี

  ผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มระบาดเพิ่มขึ้น ซึ่งระยะแรกพบผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ก่อนแพร่ไปจังหวัดอื่นผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และมีติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยจำนวน 82 ราย (ร้อยละ 43)

ในช่วงแรกจะเป็นต่างชาติจำนวนหนึ่ง แต่ในการติดเชื้อช่วงหลังๆ นี้ผู้ติดเชื้อเป็นคนไทยเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนต่างชาติที่ติดเชื้อช่วงหลังก็เป็นการมาติดเชื้อในประเทศไทย ไม่ใช่เป็นการนำเชื้อมาจากต่างประเทศแล้ว

     นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคฝีดาษวานรระบาดเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยฝีดาษวานรรายใหม่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีเกือบครึ่งหนึ่ง

     ผู้ป่วยกลุ่มนี้ภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่แล้ว มักมีการติดเชื้อฉวยโอกาสอื่นร่วมด้วยได้ง่ายทำให้เกิดอาการรุนแรงจนเสียชีวิต

    “สถานการณ์ขณะนี้ถือว่าน่าเป็นห่วง ในกลุ่มเสี่ยงที่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ส่วนคนทั่วไปที่ไม่มีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงไม่น่าห่วงนัก โดยพื้นที่ที่มีการติดเชื้อค่อนข้างมากคือ กรุงเทพ ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงมาก” นพ.โสภณกล่าว 

 

ติดเอชไอวี-ฝีดาษลิงตายรายแรก

     ทั่วโลกมีรายงานผู้ป่วยฝีดาษวานรเสียชีวิต 152 รายแล้วตั้งแต่เริ่มการระบาดในยุโรปและหลายประเทศตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565

     ในประเทศไทย เมื่อกลางเดือนส.ค.2566 กรมควบคุมโรค ได้รับรายงานการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรจากสถาบันบำราศนราดูร จึงส่งทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค กองระบาดวิทยาและสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี ลงพื้นที่สอบสวนโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ พบว่า

      ผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย อายุ 34 ปี มีประวัติเป็นไข้ ปวดศีรษะ คัน และมีผื่นและตุ่มขึ้นบริเวณผิวหนังตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี  ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 แพทย์สงสัยเป็นโรคฝีดาษวานร จึงส่งตัวอย่างตรวจยืนยันผลพบสารพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษวานร และขณะเดียวกันยังตรวจพบการติดเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิส

      ต่อมาผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอตรวจพบภาวะติดเชื้อรา ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสของเอชไอวี ส่วนบริเวณผิวหนังมีผื่นแผลจากโรคฝีดาษวานรกระจายทั่วตัว ได้รับการรักษา จนครบ 4 สัปดาห์แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย หายใจลำบาก ญาติจึงนำผู้ป่วยมารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร

    ตรวจพบว่ามีผื่นจากโรคฝีดาษวานรกระจายทั่วตัว และมีการตายของเนื้อเยื่อที่จมูกและคอเป็นบริเวณกว้าง มีการติดเชื้อแทรกซ้อนที่แขนและขา มีภาวะปอดอักเสบ และอาการสมองอักเสบ ผลตรวจเม็ดเลือดขาว CD4 เท่ากับ 16 เซลล์ต่อ มล. แสดงถึงภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง แพทย์ได้ให้ยาต้านไวรัสฝีดาษวานรและยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ต่อมาผู้ป่วยอาการทรุดลงและเสียชีวิตในคืนวันที่ 11 สิงหาคม 2566

ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ ทำ \'ฝีดาษวานร\'พุ่ง ร่วมเอชไอวี

            นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายว่า กรณีการติดเชื้อฝีดาษวานรร่วมกับการติดเชื้อไอเอชวี จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวีแต่ได้รับยาต้านไวรัส สามารถควบคุมระดับภูมิคุ้มกันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เมื่อติดเชื้อฝีดาษวานรก็จะมีอาการของโรคฝีดาษคือ เป็นตุ่มหนอง ลักษณะคล้ายฝีเล็กๆ กระจายตามร่างกาย

2.กลุ่มผู้ป่วยเอชไอวี ที่มีการติดเชื้อฉวยโอกาสแล้ว ระดับภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำมาก เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบจากเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย เมื่อติดเชื้อฝีดาษวานรร่วมด้วย จะทำให้ตุ่มหนองมีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นกระจุกๆ มีจำนวนตุ่มฝีมาก

“การเสียชีวิตอาจเกิดได้จากเชื้อเอชไอวี แต่ด้วยลักษณะที่ติดเชื้อฝีดาษวานรร่วมด้วยทำให้อาการที่แสดงออกมาจะมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยหรือติดเชื้อเอชไอวีแต่คุมได้ จึงไม่สามารถระบุได้ชัดว่าเสียชีวิตจากเชื้อตัวไหน” นพ.จักรรัฐ กล่าว

ไม่จักฉัน-เธอติดตามผู้สัมผัสไม่ได้

       จากการสอบสวนโรคผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมทางเพศที่มาจากการนัดพบกันผ่านแอปพลิเคชันนัดพบ/หาคู่ จึงเป็นความเสี่ยงว่าอาจจะติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จักกัน

       เมื่อพบว่ามีผู้ติดเชื้อรายใดรายหนึ่ง ก็ไม่สามารถติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยได้ เพราะเมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรม ก็มีการยกเลิกบัญชีผู้ใช้งานไปแล้ว ทำให้การสอบสวนโรคทำได้ยากขึ้นหรือบางรายก็มีเพศสัมพันธ์ลักษณะ One Night Stand

      “ บางรายเปลี่ยนคู่นอนทุกวันโดยไม่รู้จักชื่อกัน หลายคนปิดบังตัวตนจริงในการใช้งานแอปพลิเคชันด้วย ซึ่งเป็นความน่ากังวลว่า การติดเชื้อฝีดาษวานรจะเริ่มเหมือนเทรนด์ของโรคเอดส์ ที่เริ่มจากคนกลุ่มหนึ่ง แล้วมีการกระจายไปกลุ่มอื่นๆ” นพ.จักรรัฐ กล่าว

ปัจจัยเสี่ยง-อาการฝีดาษวานร

ปัจจัยเสี่ยงหลักของการติดเชื้อและแพร่เชื้อ คือการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักที่เป็นผู้ติดเชื้อฝีดาษวานร โดยความเสี่ยงแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ

 1.สัมผัสแนบชิด เช่น การมีกิจกรรมทางเพศ ที่แม้จะสวมถุงยางอนามัย ก็ติดเชื้อได้เพราะตุ่มหนองของผู้ป่วยอาจจะโดนผิว ทำให้เกิดการติดเชื้อ

2.สัมผัสใกล้ชิด เช่น นอนเตียงร่วมกัน ใช้ห้องน้ำร่วมกัน การอยู่ใกล้กันหรือแค่จับมือกัน ความเสี่ยงจะลดลงมา

 และ 3.สัมผัสทางอ้อม เช่น ผู้ป่วยไปนอนโรงแรม แล้วพนักงานมาทำความสะอาดห้อง การกินเลี้ยงทั่วไปที่ไม่ได้ใกล้มากจนแนบชิดกัน การนั่งกินข้าวร่วมโต๊ะกัน

ต่อๆ

     ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถตรวจสอบ

  • อาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง มีผื่น/ตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ปาก หรือตามร่างกาย และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด สัมผัสแนบชิด หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้สงสัยฝีดาษวานร หรือผู้ป่วยฝีดาษวานร
  •  ให้สังเกตตนเองภายหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน
  • หากมีอาการ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย
  • ต่อมน้ำเหลืองโตมีผื่น หรือ ตุ่มน้ำหรือ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือ ทวารหนัก หรือ บริเวณรอบๆ ตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า หรือบริเวณปาก
  • ให้รีบเข้ารับการตรวจที่สถานบริการสุขภาพ หรือโรงพยาบาลทันที โดยแจ้งอาการและประวัติเสี่ยงประกอบการวินิจฉัย
  • ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ ทำ \'ฝีดาษวานร\'พุ่ง ร่วมเอชไอวี

ยาเฉพาะรักษาฝีดาษวานร

      ฝีดาษวานรปัจจุบันยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะก็จะใช้วิธีการรักษาตามอาการ อย่างไรก็ตามประเทศไทยได้รับมอบยาต้านไวรัสชื่อ Tecovirimat (หรือ TPOXX) จำนวน 100 คน จากองค์การอนามัยโลก(WHO)มาใช้รักษาผู้ป่วยฝีดาษวานรที่มีอาการมากที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน และจะต้องมีการวัดประสิทธิผลของยานี้ไปพร้อมกัน

         ขณะนี้อยู่ระหว่างการใช้และเก็บข้อมูลที่สถาบันบำราศนราดูร โดยเกณฑ์ผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรที่จะได้รับยา คือ มีการติดเชื้อเอชไอวีที่ระดับภูมิคุ้มกันต่ำ มีการภาวะแทรกซ้อนจากโรคฉวยโอกาส ผู้ที่ปอดอักเสบร่วมด้วย ซึ่งยาชนิดนี้เป็นชนิดรับประทาน ผู้ป่วย 1 คนจะกินเพียง 2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ยังอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลการใช้จริงในประเทศไทย รวมถึงข้อมูลผลข้างเคียงจากการได้รับยาด้วย

     “ผู้ป่วยฝีดาษวานรที่ไม่มีความเสี่ยง สามารถใช้การรักษาตามอาการได้ ซึ่งโรคจะใช้เวลารักษาประมาณ 2-4 สัปดาห์แล้วก็จะหายได้เอง”นพ.จักรรัฐกล่าว

การติดต่อ-ป้องกันฝีดาษวานร

     โรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการสัมผัสโดยตรงโดยไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ก็ได้ เช่น ไปสัมผัสผิวหนังบริเวณที่เป็นตุ่มหนอง แล้วรับเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง ที่อาจจะมีผิวแตก หรือเป็นแผลก็ได้

      อีกทั้ง โรคฝีดาษวานร เริ่มพบในกลุ่มชายรักชาย ที่แม้จะมีการป้องกันด้วยถุงยางอนามัย แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อฝีดาษวานรได้ เพราะตุ่มฝีเกิดขึ้นตามร่างกาย หากไปสัมผัสก็รับเชื้อได้  

       และหากไปมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มรสนิยมทางเพศแบบ Bisexual เชื้อก็จะแพร่ไปในกลุ่มผู้หญิง และมีความเสี่ยงกระจายไปกลุ่มอื่นๆ ด้วย

     โรคฝีดาษวานร สามารถป้องกันได้

  • โดยงดเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ไม่สัมผัสแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหรือหนอง
  •  แนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ
  • ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำในการปฏิบัติตนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422