'ภาวะหัวใจล้มเหลว' ภัยสุขภาพ ที่ไม่ควรมองข้าม

'ภาวะหัวใจล้มเหลว'  ภัยสุขภาพ ที่ไม่ควรมองข้าม

ทำความเข้าใจ 'ภาวะหัวใจล้มเหลว' โรคที่เกิดจากหัวใจทำงานเสื่อมลง ในเอเชียแปซิฟิก มีผู้ป่วยสูงขึ้นกว่า 32 ล้านคน ขณะที่ไทย มีผู้คนไข้นอนโรงพยาบาลด้วย ภาวะหัวใจล้มเหลว 20 คนต่อแสนประชากร

Key Point : 

  • โรคหัวใจ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของไทยและทั่วโลก ขณะที่ สาเหตุการเสียชีวิตสำคัญของโรคหัวใจ คือ ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ในเอเชียแปซิฟิก มีผู้ป่วยสูงขึ้นรวมกว่า 32 ล้านคน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัย อัตราการกลับมารักษาซ้ำสูงกว่า 6 ล้านคน
  • หากคนไข้ดูแลตัวเองเหมาะสม จะสามารถควบคุมได้ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายหัวใจใหม่ โดยกุญแจสำคัญ คือ การตรวจวินิจฉัย

 

ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือ (Heart Failure) คือ ภาวะที่หัวใจอ่อนแรง ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างปกติ เนื่องจากหัวใจมีการบีบตัวหรือคลายตัวที่ผิดปกติ บางครั้งหัวใจมีขนาดโตหรือหนากว่าปกติ ในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น การใช้ชีวิตเปลี่ยนไป เช่น มีโรคอ้วน ความดัน เบาหวาน ผลักดันให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเพิ่มสูงขึ้น

 

ภาวะหัวใจล้มเหลว ถือเป็นภาระที่หนักหนาในแง่ของการรักษาพยาบาล การสูญเสียชีวิต รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งที่เป็นค่าใช้จ่ายทางตรงและทางอ้อม จากการวบรวมข้อมูลจาก บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า ในเอเชียแปซิฟิก มีผู้ป่วยสูงขึ้นรวมกว่า 32 ล้านคน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัย อัตราการกลับมารักษาซ้ำสูงกว่า 6 ล้านคน และค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า 8,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อการรักษาแต่ละครั้ง ค่าใช้ในการรักษาตัวในเอเชียแปซิฟิกมีมูลค่าถึง 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในปี 2022 ประเทศสิงคโปร์ มีงบประมาณด้านสาธารณสุขทั้งสิ้นราว 1.44 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

นพ.เอกราช อริยะชัยพาณิชย์ อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และกรรมการสมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศไทย ตัวแทนแพทย์โรคหัวใจจากประเทศไทยที่เข้าร่วมงานประชุม APSC (ASIAN PACIFIC SOCIETY OF CARDIOLOGY CONGRESS) ณ ประเทศสิงคโปร์ อธิบายว่า โรคหัวใจ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทยและทั่วโลก พอๆ กับโรคมะเร็งในบางประเทศที่พัฒนาแล้ว จากการการรักษาทางการแพทย์ที่ดีขึ้น และคนไข้มีอายุยืนยาวขึ้น สังคมผู้สูงอายุทำให้เจอโรคหัวใจเยอะขึ้น และสาเหตุการเสียชีวิตสำคัญของโรคหัวใจ คือ ภาวะหัวใจล้มเหลว

 

สถานการณ์ความชุกของภาวะหัวใจล้มเหลวทั่วโลกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า 1% ของประชากรจะเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว โดยเฉพาะในผู้สูงอายุพบว่าสูงขึ้น 10% และ 1 ใน 5 คนมีโอกาสเป็น ภาวะหัวใจล้มเหลว ขณะที่ประเทศไทย ข้อมูลจาก โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีคนไข้นอนโรงพยาบาลด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว 20 คนต่อแสนประชากร และกว่า 50% ของคนไข้ที่ตรวจพบว่าเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว เสียชีวิตภายใน 5 ปี

 

“สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว คือ หัวใจทำงานเสื่อมลง เป็นเหตุผลที่ว่าพบมากในคนอายุเยอะ โดยกว่า 50% สาเหตุมากจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และอีก 50% มาจากสาเหตุอื่น เช่น พันธุกรรม การติดเชื้อในหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ ฯลฯ รวมถึง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต เบาหวานครอบครัว เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรม เช่น ขาดการออกกำลังกาย การบริโภคอาหาร หวาน เค็ม การบริโภคแอลกอฮอล์มากเกินไป ภาวะอ้วน ทั้งหมดอยู่ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) นำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว เส้นเลือดหัวใจตีบ”

 

\'ภาวะหัวใจล้มเหลว\'  ภัยสุขภาพ ที่ไม่ควรมองข้าม

 

 

การรักษาหัวใจล้มเหลว

 

ทั้งนี้ ภาวะหัวใจล้มเหลว สามารถรักษาได้ โดยในต่างประเทศ พบว่า คนไข้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ประมาณ 30% อาการจะดีขึ้นจนถึงหายขาดได้ อีกประมาณ 1 ใน 3 ไม่แย่ลง คงที่ ควบคุมได้ และ 1 ใน 3 อาการแย่ลง

 

นพ.เอกราช กล่าวต่อไปว่า ในอดีตภาวะหัวใจล้มเหลว มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 50% ภายใน 5 ปี แปลว่าคนไข้ 10 คน 5 ปีหลังวินิจฉัย จะเสียชีวิต 5 คน ขณะเดียวกัน องค์ความรู้ใหม่ๆ การดูแลตัวเองของคนไข้ การทานยาที่เหมาะสม หรือการรักษาทันสมัย เช่น การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ รวมถึงการวินิจฉัยใหม่ๆ ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้

 

“การดูแลคนไข้หัวใจล้มเหลวรูปแบบที่ดีที่สุด คือ การจัดตั้งคลินิกหัวใจล้มเหลว โดยปัจจุบันมีในโรงพยาบาลศูนย์ หัวเมืองใหญ่ และ โรงเรียนแพทย์ หากมองด้านเครื่องมือ ยา และเทคโนโลยี ประเทศไทยมีครบ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการปลูกถ่ายหัวใจ และในอนาคตต้องขยายอีกไกลให้ทุกภูมิภาค ให้สามารถรักษาคนไข้ภาวะหัวใจล้มเหลวได้ดีขึ้น ขณะที่ แพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านหัวใจล้มเหลวที่มีการรับรอง ในสหรัฐเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2014”

 

ขณะที่ ประเทศไทยแม้จะยังไม่มีหลักสูตรหรือประกาศนียบัตรที่บอกว่าแพทย์คนนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจล้มเหลว แต่มีการสอนความรู้เหล่านี้ให้กับอายุรแพทย์โรคหัวใจ ฉะนั้น เรายังขาดแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจล้มเหลวอยู่ อย่างไรก็ตาม ภาวะหัวใจล้มเหลว อายุรแพทย์โรคหัวใจก็สามารถรักษาได้ แต่หากหนักขึ้นจนถึงระยะสุดท้าย ควรจะส่งเข้ามาอยู่ในการดูแลของแพทย์เชี่ยวชาญด้านหัวใจล้มเหลว ซึ่งปัจจุบันอยู่ในโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลหัวเมืองใหญ่

 

ไทยเปลี่ยนหัวใจ 30 คนต่อปี

 

ปัจจุบันพบว่ามีคนไข้ที่ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจราว 30 คนต่อปี นพ.เอกราช อธิบายต่อไปว่า สำหรับคนไข้ที่ต้องปลูกถ่ายหัวใจ คือ คนไข้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาหรือเครื่องกระตุ้นหัวใจ คนไข้เหล่านี้มักจะมีอาการเยอะ ทำอะไรก็เหนื่อย มีการนอนโรงพยาบาลมากกว่า 2 ครั้งใน 6 เดือน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะแปรไปสู่การเสียชีวิต 50 % ใน 1 ปี เมื่ออาการรุนแรงจะเริ่มประเมินการปลูกถ่ายหัวใจ

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการปลูกถ่ายหัวใจที่เป็นการรักษาที่มีข้อจำกัด จึงมีข้อบ่งห้ามในการปลูกถ่ายอวัยวะ อย่างแรก คือ อายุที่เยอะ ในประเทศไทยมากกว่า 65-70 ปี จะไม่แนะนำ ถัดมา คือ การปลูกถ่ายอวัยวะเป็นสิ่งที่ต้องให้ยากดภูมิ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายผู้รับทำร้ายหัวใจที่ได้มา แต่ผลกลับกัน คือ ทำให้มีการติดเชื้อเยอะขึ้น มีโอกาสเป็นมะเร็งเยอะขึ้น ฉะนั้น คนไข้ที่มีภาวะติดเชื้อหรือเป็นมะเร็งไม่สามารถปลูกถ่ายได้

 

รวมถึง คนไข้ที่มีโรคอื่นๆ ซ้อนอยู่กับโรคหัวใจที่จะทำให้คุณภาพชีวิตไม่ดี เช่น ตับแข็ง การล้างไต จะไม่สามารถปลูกถ่ายได้ และคนไข้ที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เช่น กินยาไม่ครบ หรือ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ถือเป็นคนไข้ที่ไม่ผ่านการประเมิน ซึ่งคนไข้ที่กล่าวไป การไม่ผ่านการประเมิน จะต้องดูว่าคนไหนที่สามารถรักษาให้หายได้ เช่น คนไข้ที่ติดเชื้อ หากสามารถรักษาการติดเชื้อได้ก็สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนหัวใจได้ในที่สุด

 

การวินิจฉัยในปัจจุบัน

 

สำหรับคนไข้ภาวะหัวใจล้มเหลวส่วนมากหากดูแลตัวเองเหมาะสม สามารถควบคุมได้ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายหัวใจใหม่ เรียกว่ามีส่วนน้อยที่อาการรุนแรงจนถึงต้องเปลี่ยนถ่ายหัวใจ ดังนั้น กุญแจสำคัญ คือ การตรวจวินิจฉัย

 

นพ.เอกราช กล่าวว่า ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา การวินิจฉัยเริ่มจากแพทย์ซักประวัติ ตรวจร่างกายหาความผิดปกติ หากสงสัยจะต้องอัลตราซาวน์หัวใจ หรือ Echocardiogram ซึ่งไม่ได้เข้าถึงได้ง่ายในประเทศไทย ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ และต่างจังหวัดอาจต้องรอคิวนาน 3-4 เดือน ในปัจจุบัน มีการตรวจค่า NT-proBNP ซึ่งเป็นการตรวจโปรตีนในเลือด สามารถวัดได้โดยง่ายในการเจาะเลือด ซึ่งแล็บใน กทม. และต่างจังหวัด สามารถทำได้ ช่วยให้คัดกรองกลุ่มเสี่ยง วินิจฉัย ให้แพทย์ตัดสินใจการปรับยา ทำให้คนไข้นอนโรงพยาบาลน้อยลง อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติการตรวจค่า NT-proBNP มีคำแนะนำในเวชปฏิบัติว่าควรตรวจในรายที่สงสัย หรือ มีความเสี่ยงที่จะเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น เบาหวาน เคยเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบ คนที่เคยได้รับการรักษามะเร็ง เป็นต้น

 

ทั้งนี้ นวัตกรรมการตรวจโปรตีนในเลือด เพื่อวินิจฉัยภาวะหัวใจล้มเหลวดังกล่าว ถือเป็นตัวช่วยให้แพทย์สามารถทำการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การตรวจค่า NT-proBNP นับว่ามีบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว และช่วยลดระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาลลงได้ถึง 12% ลดค่ารักษาโดยตรงได้ถึง 10% และลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลกระทันหันลงได้ 50%

 

\'ภาวะหัวใจล้มเหลว\'  ภัยสุขภาพ ที่ไม่ควรมองข้าม

 

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อหัวใจล้มเหลว

 

คนไข้ภาวะหัวใจล้มเหลว ต้องกลับมานอนโรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้งในคนไข้อายุเยอะ ที่ผ่านมา รพ.จุฬาลงกรณ์ ได้มีการทำวิจัยพบว่า คนที่นอนโรงพยาบาลด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวบางคนเสียชีวิตในโรงพยาบาล และกว่า 1 ใน 5 ของคนไข้ที่ออกจากโรงพยาบาล กลับมานอนโรงพยาบาลซ้ำภายใน 30 วัน

 

สาเหตุจากการกลับบ้านแบบที่ยังไม่ได้รับการรักษาที่ดีที่สุด เช่น คนไข้อาจจะยังมีภาวะน้ำเกินก่อนกลับบ้าน ถัดมา คือ การดูแลต่อเนื่องหลังกลับบ้าน แนะนำว่าคนไข้ต้องกลับมาเจอแพทย์ภายใน 7 วันหลังกลับบ้าน การตรวจ ติดตามใกล้ชิดหลังกลับบ้านสำคัญ และ การให้การรักษาแบบด้วยยากลุ่มใหม่ๆ ก็สามารถลดอัตราการนอนโรงพยาบาลได้ ดังนั้น ยาเหล่านี้ ควรจะเริ่มตั้งแต่ก่อนที่คนไข้จะกลับบ้าน และปรับยาอย่างเร่งรีบและรัดกุมเพื่อป้องกันการนอนโรงพยาบาลซ้ำ

 

นพ.เอกราช แนะนำการดูแลตัวเองของคนไข้ว่า คนไข้ต้องทราบว่าโรคนี้เป็นโรคของปั๊มน้ำที่ปั๊มเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ และขอให้เริ่มปรับการใช้ชีวิต ที่ รพ.จุฬาฯ จะใช้ตัวย่อว่า '3น. 1 บ.' ได้แก่

1. เหนื่อย หอบ

2.นอนราบไม่ได้ ทุกครั้งที่นอนลงไปเพราะน้ำท่วมปอด

3.น้ำหนักขึ้น

และ 1. บ คือ บวม ต้องสังเกตตัวเอง

 

“ส่วนการปฏิบัติตัว ขอให้คนไข้ กินเกลือและน้ำไม่มากจนเกินไป คือ เกลือไม่เกิน 2 กรัม และ น้ำไม่เกิน 2 ลิตรต่อวัน และให้ชั่งน้ำหนักทุกวันเพื่อตรวจหาภาวะน้ำเกิน รวมถึงการมาพบแพทย์ประจำ ทานยาให้ครบ ไม่ดื่มเหล้า และสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ภาวะหัวใจล้มเหลว สามารถออกกำลังกายได้ปกติ แนะนำให้ ออกกำลังกาย จะช่วยให้ดีขึ้น เป็นการปฏิบัติตัวและการสังเกตอาการของคนไข้”