เช็ค สัญญาณเตือน "โรคหัวใจ" ปรับพฤติกรรม ลดความเสี่ยง

เช็ค สัญญาณเตือน "โรคหัวใจ" ปรับพฤติกรรม ลดความเสี่ยง

คนไข้ที่เป็น "โรคหัวใจ" มากขึ้นเรื่อยๆ ตามการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ขณะเดียวกัน โรคหัวใจสามารถพบเจอได้ตั้งแต่แรกเกิด รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต ก็มีผลต่อความเสี่ยงให้เกิดโรคหัวใจได้เช่นกัน

ภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้น "หัวใจ" นับเป็นอวัยวะหนึ่งที่เกิดภาวะวิกฤติขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่เลือกสถานที่ ยิ่งในสภาวการณ์ปัจจุบันของประชากรในประเทศไทย ที่มีคนก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยมากขึ้น จึงทำให้มีสัดส่วนของคนไข้ที่เป็นโรคหัวใจมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเงาตามตัว

 

ตามสัดส่วนแล้วผู้ชายจะเริ่มเป็นโรคหัวใจได้เร็วกว่าผู้หญิง โดยจะเริ่มตั้งแต่อายุ 40 ปี ขึ้นไป ในขณะที่ ด้วยสรีระ ฮอร์โมน กายภาพของผู้หญิงทำให้ปกป้องร่างกายของผู้หญิงได้ดีกว่า จึงทำให้ผู้หญิงกว่าจะเริ่มเป็นโรคหัวใจจริงๆ จะเห็นได้ในวัย 60 ปีขึ้นไป

 

นพ.อรรถภูมิ สู่ศุภอรรถ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ อธิบายว่า ในปัจจุบันการทำงานมีความเครียดมากขึ้น มีการแข่งขันกันสูง รวมทั้ง อาหารการกินที่หันเหไปรับประทานเลียนแบบชาติทางตะวันตกมากขึ้น ทำให้ร่างกายมีไขมันเพิ่มขึ้น อีกทั้ง การกินดีอยู่ดีของประชากรไทยในบางส่วนที่พอทำงานหนักก็อยากจะรับประทานมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อหลอดเลือด และหัวใจ ทำให้ทุกวันนี้เราเห็นคนไข้ที่เป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น

 

โรคหัวใจแต่กำเนิด

 

เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 15 ปี โรคหัวใจที่พบจะเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด ซึ่งหลีกเลี่ยงและแก้ไขไม่ได้ โดยในเด็กเกิดใหม่ 100 คน จะมี 0.5-1 % ที่มีความผิดปกติของหัวใจโดยกำเนิดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ปัจจุบันเด็กเกิดน้อยลงอัตราการเกิดของโรคก็น้อยลงไปด้วยตรงกันข้ามกับผู้ใหญ่ที่มีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นตามวัยก็จะพบการอุบัติของโรคหัวใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

15- 40 ปี กับโรคลิ้นหัวใจรูมาติก

 

ส่วนประชากรไทยที่มีอายุ 15- 40 ปี วัยกลางๆ จะเจอโรคลิ้นหัวใจรูมาติกค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นธรรมดาของประเทศกำลังพัฒนาที่จะเจอกับปัญหานี้ด้วยกันทั้งนั้น โดยโรคลิ้นหัวใจรูมาติกเกิดจากการรับยาฆ่าเชื้อที่ไม่เพียงพอ มีการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดทำให้มีปฏิกิริยาต่อร่างกาย ต่อลิ้นหัวใจ ซึ่งการเกิดของโรคจะใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี และมักจะแสดงอาการในช่วงอายุ 30-40 ปี ก็เลยทำให้ลิ้นหัวใจเสียหายจนกระทั่งใช้งานไม่ได้ หากเป็นมากก็ต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจ โดยในแต่ละปีทั่วประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเปลี่ยนลิ้นหัวใจประมาณ 3-4 พันคน

 

50 ปีขึ้นไป โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

 

ส่วนในวัย 50 ปีขึ้นไป จะไปเน้นหนักที่ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ด้วยอายุที่มากขึ้น ร่วมกับ การสูบบุหรี่ หรือมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน มีประวัติไขมันสูง มีประวัติหลอดเลือดเสื่อม ก็จะส่งผลทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบ พอหลอดเลือดหัวใจตีบเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้ กล้ามเนื้อหัวใจก็ตาย ถ้าไปตีบในตำแหน่งที่สำคัญมากๆ เป็นทางหลัก ก็จะไม่มีเลือดไปเลี้ยงหัวใจทั้งแถบ คนไข้ก็จะเสียชีวิตทันที

 

รวมทั้ง ความเสื่อมของร่างกาย หากไม่เป็นโรคของลิ้นหัวใจตีบในช่วงนี้ก็จะไปเป็นในวัย 70-80 ปี สืบเนื่องมาจากความเสื่อมของร่างกาย โดย 2-3% ของประชากรวัย 70 ปีขึ้นไป จะเป็นโรคนี้

 

ปัจจัยโรคหัวใจในผู้ใหญ่

 

โรคหัวใจ ในผู้ใหญ่ที่เจอบ่อยจะมีปัจจัยมาจาก การเสื่อมของหลอดเลือด ซึ่งมีสาเหตุหลักๆ คือ จากความดันโลหิตสูงนานๆ ซึ่งการที่ความดันสูงบ่อยครั้งเกิดจากการรับประทานอาหารเค็มหรือหวาน หรือปล่อยให้ร่างกายมีไขมันสูงนานๆ พนังหลอดเลือดจะแข็ง และทำให้ความดันสูง หรือในคนที่เป็นเบาหวานแล้วไม่ควบคุมน้ำตาลให้ดี ก็จะทำให้เกิดการเสื่อมของหลอดเลือดได้เร็ว

การที่หลอดเลือดเสื่อมนั้น จะไม่ได้เสื่อมแค่หัวใจ แต่จะเสื่อมทั้งร่างกาย เพียงแต่ว่าเวลาแสดงออกมาจะแสดงออกมาที่อวัยวะสำคัญๆ ก่อน เช่น หัวใจ ไต สมอง เราจึงเห็นบางคนนั่งกินข้าวอยู่ดีๆ ล้มฟุบไปเลย หมดสติ หัวใจวาย แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันกะทันหัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือว่าเสียชีวิตโดยที่ยังไม่ทันได้มาที่โรงพยาบาล เพราะไม่เคยตรวจร่างกายมาก่อนจึงไม่รู้ว่าเกิดการเสื่อมของหลอดเลือด

 

อาการเบื้องต้นของโรคหัวใจ

 

การเหนื่อยง่าย สามารถสังเกตตัวเองได้ เช่น การขึ้นบันได 3 ชั้น เมื่อก่อนขึ้นสบายๆ โดยไม่ต้องหยุดพัก แต่วันนี้เดินแค่ชั้นเดียวก็ต้องยืนหอบแล้ว หากมีอาการอย่างนี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย

 

ปรับพฤติกรรม ห่างไกลโรคหัวใจ

 

สำหรับการดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรคหัวใจ สามารถทำได้ ดังนี้

  • ในส่วนของการรับประทาน ไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง หรือใส่น้ำมันเยอะ
  • หลีกเลี่ยงของทอด อาหารเค็ม
  • ลดปริมาณการใส่โซเดียมให้น้อยลง
  • หันไปรับประทานอาหารที่มีรสชาติจืด ถ้าเปลี่ยนได้จะเป็นเรื่องที่ดีต่อหัวใจ
  • คนที่เป็นเบาหวานจะต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี
  • หลีกเลี่ยงการกินแป้ง การกินน้ำตาลมากๆ ใน 1 มื้อ ต้องลดปริมาณลง โดยเฉลี่ยๆ ให้เท่าๆ กันในทุกมื้อ น้ำตาลจะได้ไม่สูง

 

ออกกำลังกาย หาวิธีคลายเครียด

 

  • ออกกำลังกายครั้งละครึ่งชั่วโมง อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงอยู่ตลอด
  • โดยจะต้องพิจารณาในเรื่องของวัยและสภาพร่างกายของแต่ละคน เช่น ในคนที่น้ำหนักตัวมากจะให้ไปวิ่งก็คงไม่ไหว จะต้องทำกิจกรรมที่ไม่ลงน้ำหนักในข้อเข่า เพื่อหลีกเลี่ยงการเสื่อมของข้อเข่า แนะนำให้ว่ายน้ำหรือปั่นจักรยาน
  • หากไม่ถนัดให้หันไปเดินเร็ว โดยเริ่มจากการเดินธรรมดาก่อนไปจนถึงเดินเร็ว พร้อมกับการควบคุมปริมาณอาหารไปด้วย
  • ตลอดจน ทำจิตใจให้แจ่มใส หลีกเลี่ยงหรือลดความเครียดให้น้อยลง เพราะการทำงานหนัก เครียดมากๆ ส่งผลให้มีความดันโลหิตสูงอยู่บ่อยๆ ซึ่งจะส่งผลต่อหัวใจ
  • ควรหาวิธีคลายเครียดมาใช้ ซึ่งแต่ละคนจะเลือกวิธีคลายเครียดที่แตกต่างกันไป อย่าง เล่นกีฬา บางคนนั่งสมาธิ บางคนชอบดูหนัง ดูละคร ลองเลือกหามุมที่ตนเองทำแล้วรู้สึกสบายที่สุด เพื่อจะได้เป็นการบาลานซ์ชีวิตให้เกิดความพอดี

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์