ง่ายๆ 'สมุนไพรประจำบ้าน' ปลูกไว้กินเอง ดูแลสุขภาพ ป้องกันโรค

ง่ายๆ 'สมุนไพรประจำบ้าน' ปลูกไว้กินเอง ดูแลสุขภาพ ป้องกันโรค

พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนที่ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพ ป้องกันการเกิดโรคมากกว่าการรักษาโรค ‘สมุนไพรไทย’จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้บริโภคให้ความนิยมอย่างมาก 

Keypoint:

  • การดูแลสุขภาพเริ่มได้ง่ายๆ จากพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการรับประทานอาหาร กินอย่างไร สุขภาพได้อย่างนั้น กินดีย่อมมีสุขภาพที่ดี
  • 'สมุนไพรประจำบ้าน' สามารถปลูกได้ง่ายๆ รอบรั้วริมบ้าน หรือในสวนหลังบ้าน จะนำมาประกอบอาหาร หรือทำเป็นเครื่องดื่มทำได้ ไม่ยุ่งยากแถมราคาไม่แพง
  • แม้สมุนไพรจะมีประโยชน์มากมาย แต่ทั้งนี้ก็มีข้อจำกัดที่บางโรค บางอาการไม่ควรใช้ และการใช้ต้องทำให้ถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นใช้ถูกต้น ถูกส่วน ถูกขนาด ถูกวิธี และถูกโรค

ปัจจุบันมีการต่อยอดสมุนไพรทั้งรูปแบบของยาและผลิตภัณฑ์อาหารเสริม  โดยปี 2565 มูลค่าการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทย สูงกว่า 5 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน ยาจากสมุนไพรอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติจำนวนกว่า 94 รายการ แต่ในระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทย ทั้งระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการข้าราชการ และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) พบว่าสัดส่วนการใช้ยาจากบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร เพียง 1% 

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทย ปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 52,104.3 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจาก ปี 2564 มูลค่าราว 48,108. ล้านบาท, ปี 2563 มูลค่าราว 45,997.9 ล้านบาท, ปี 2562 มูลค่าราว 53,396.2 ล้านบาท, ปี 2561 มูลค่าราว 49,071.9 ล้านบาท, ปี 2560 มูลค่าราว 44,176.3 ล้านบาท และ ปี 2559 มูลค่าราว 39,831.8 ล้านบาท 

การใช้สมุนไพรนั้น สามารถนำมาใช้ได้หลากหลายรูปแบบไม่ได้จำกัดเพียงการใช้ในรูปแบบของยาเท่านั้น อาจจะใช้เป็นอาหาร เครื่องดื่มที่สามารถทำเองได้ การปลูกหรือมีสมุนไพรคู่บ้าน ติดบ้านเอาไว้มีประโยชน์มากมาย 

ง่ายๆ \'สมุนไพรประจำบ้าน\' ปลูกไว้กินเอง ดูแลสุขภาพ ป้องกันโรค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

คนรักสุขภาพห้ามพลาด!! ‘มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 20’ 28มิ.ย.-2ก.ค.นี้

รวมให้แล้ว ไฮไลท์ 'มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 20' ปีนี้มีอะไรต๊าซบ้าง?

หน้าร้อนระวัง ‘ฮีทสโตรก' ยาไทยคลายร้อนผู้สูงอายุ

 

 สมุนไพรประจำบ้าน ดูแลสุขภาพป้องกันโรค

วันนี้ 'กรุงเทพธุรกิจ' ได้รวบรวมสมุนไพรที่ทุกคนสามารถปลูกไว้รอบรั้วริมบ้าน หรือใส่กระถางเล็กๆ ไว้เมื่อต้องการหยิบใช้ นำมาประกอบอาหาร ทำเป็นเครื่องดื่ม หรือใช้ป้องกันแมลง ให้กลิ่นที่สดชื่นก็สามารถเลือกสรรปลูกไว้ได้ เริ่มจาก 

  • กะเพรา 

 หลังปลูกเป็นพืชผักสวนครัว อายุ 70 วัน สามารถเก็บส่วนยอดและใบมาทำอาหารได้ ยิ่งเด็ดก็ยิ่งแตกยอดใหม่ทดแทน เมื่อออกดอกควรตัดช่อดอกที่แก่ออกบ้างเพื่อช่วยยืดอายุของต้น เนื่องจากกะเพรามีกลิ่นและรสที่รุนแรง จึงช่วยกระตุ้นต่อมน้ำลายเรียกน้ำย่อย นิยมใช้ปรุงแต่งกลิ่นและดับคาวในอาหารจานเนื้อ  แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ 

ในแง่คุณค่าทางอาหาร มีเบต้าแคโรทีนสูง เสริมด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัส ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน รวมทั้งใช้เป็นน้ำมันหอมระเหยใช้หยดในอ่างอาบน้ำ มีกลิ่นที่หอมสดชื่น กะเพราะที่นิยมปลูกมีทั้งกะเพราะขาว ซึ่งมีใบสีเขียว และกะเพราะแดงที่มีใบสีม่วงเข้มแกมน้ำตาล

ง่ายๆ \'สมุนไพรประจำบ้าน\' ปลูกไว้กินเอง ดูแลสุขภาพ ป้องกันโรค

  • ตะไคร้ 

ปลูกเป็นผักสวนครัว ทั้งปลูกลงดินและปลูกในภาชนะ ใช้ปรุงกลิ่นแกงหรือยำให้หอม ความหอมจากน้ำมันหอมระเหยมีคุณสมบัติลดการบีบตัวของลำไส้ แก้จุกเสียดแน่นท้อง ควรกินเสริมกันไปในอาหารให้สมดุล กลิ่นหอมของตะไคร้ยังช่วยไล่ยุงไล่แมลงบางชนิดได้ด้วย

  • ข่า 

ข่า ผักสวนครัว ในงานจัดสวนสามารถปลูกประดับแปลงตามแนวรั้วได้ มีสรรพคุณเป็นได้ทั้งอาหารและยา ทุกส่วนของต้นมีน้ำมันหอมระเหย โดยเฉพาะเหง้าที่ใช้ปรุงแกง ช่วยดับกลิ่นคาวเนื้อสัตว์ทำให้แกงมีกลิ่นหอมชวนกิน ข่าอ่อนและดอกมีรสเผ็ดซ่า กินได้อร่อยเช่นกัน นอกจากนี้ยังช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด

 

สรรพคุณสมุนไพรแต่ละชนิดที่ควรรู้

  • ขิง

ยอดอ่อนกินเป็นผักสดกับอาหารรสจัดต่าง ๆ และใช้เป็นสารกันบูดกันหืนได้ดี มีมากในฤดูฝน เหง้าอ่อนใช้ปรุงอาหาร ช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อปลา เหง้าขิงและใบขิงมีรสเผ็ดร้อน ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร แก้ท้องอืดท้องเฟ้อที่เกิดจากอาหารไม่ย่อย รวมถึงแก้อาการเมารถ ไมเกรน ลดคอเลสเตอรอล และอาการปวดตามข้อได้ด้วย หน่ออ่อนของขิงจะมีรสเผ็ดร้อนควรขุดขึ้นมาหลังจากต้นเริ่มแตกหน่อ 3 – 5 เดือน

  • ถั่วพู 

ปลูกเป็นผักสวนครัว โดยปักค้างหรือทำรั้วสูง 1 – 1.20 เมตร ให้ต้นเลื้อยพัน เพราะระบบรากตื้น หลังปลูกอายุ 40 วัน หรือหลังดอกบาน 15 วัน ทยอยเก็บฝักอ่อนเรื่อยๆ จนต้นโทรมแล้วรื้อทิ้ง หัวใต้ดินจะแตกต้นใหม่ต่อไป ถั่วพูกินได้เกือบทั้งต้น ตั้งแต่ยอด ใบอ่อน ดอก แม้กระทั่งหัวใต้ดิน โดยที่ดอกและยอดใช้แกงส้มหรือต้มจืดเหมือนตำลึง ฝักกินทั้งสดและลวกจิ้มน้ำพริก หรือยำถั่วพู หัวแก่ใช้เชื่อมเป็นของหวานหรือเผารับประทานเช่นเดียวกับมันเทศหรือมันสำปะหลัง อุดมไปด้วยแคลเซียม วิตามินเอ บี1 ซี และมีโปรตีนสูง ด้านสมุนไพร ช่วยบำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย บรรเทาอาการปวดเมื่อย แก้ตัวร้อน ลดไข้

  • โหระพา

จัดเป็นพืชผักที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับกะเพรา และแมงลัก แต่ใบจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวจึงทำให้นิยมนำมาปรุงอาหารหลายชนิดเพื่อให้อาหารมีกลิ่นหอม และช่วยดับกลิ่นคาว รวมถึงการกินสดคู่กับอาหารชนิดอื่น นอกจากนั้น ใบโหระพาจะมีน้ำมันหอมระเหยจำนวนมาก สามารถนำใบไปสกัดน้ำมันหอมระเหยเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องสำอางได้เช่นกัน

ง่ายๆ \'สมุนไพรประจำบ้าน\' ปลูกไว้กินเอง ดูแลสุขภาพ ป้องกันโรค

  • สะระแหน่ 

สะระแหน่ปลูกเป็นไม้คลุมดินหรือไม้กระถาง เป็นไม้ล้มลุก อายุหลายปี ใบใช้โรยหน้าอาหารรสจัด เช่น ลาบ ก้อย พล่า น้ำตก เพื่อดับกลิ่นคาวและปรุงแต่งกลิ่นอาหารให้น่ากินยิ่งขึ้น ใบทำให้ชุ่มคอ เป็นยาขับลม ถอนพิษไข้ ปวดศีรษะ ตาแดง แก้เจ็บคอ ตำพอกหรือทาแก้ปวดบวม ผื่นคัน

  • ตำลึง

ต้นตำลึงจัดเป็นไม้เลื้อย โคนใบมีลักษณะเหมือนรูปหัวใจ มีมือเกาะที่ยื่นออกมาจากที่ข้อ ดอกมีทั้งดอกเดี่ยวและดอกคู่ กลีบดอกมีสีขาว และดอกมีลักษณะคล้ายรูประฆัง

ประโยชน์ทางยาของตำลึงมีมากมาย ใบตำลึง ใช้แก้คัน แมลงกัดต่อย โดยเอาใบตำลึงสด 1 กำมือ ล้างให้สะอาด ตำละเอียดแล้วผสมน้ำเล็กน้อย คั้นเอาน้ำตำลึงข้นๆ มาทาบริเวณที่คัน ทาซ้ำบ่อยๆ อีกทั้งใช้ลดน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยัง ช่วยกำจัดกลิ่นตัว ด้วยการใช้ต้นตำลึง (ทั้งเถาและใบ) นำมาตำผสมกับปูนแดงแล้วทาบริเวณรักแร้ และนิยมใช้ยอดและใบกินเป็นผักสด อาจจะลวกหรือต้มจิ้มกินกับน้ำพริก และใช้ในการประกอบอาหารได้หลายอย่าง ผลอ่อนของตำลึงนำมากินกับน้ำพริก หรือจะนำมาดองกิน ส่วนผลสุกมีรสอมหวานรับประทานได้

  • ชะพลู 

ปลูกเลี้ยงง่าย นิยมปลูกเป็นไม้คลุมดิน ใบมีกลิ่นหอม รสเผ็ดเล็กน้อย นิยมกินเป็นผักสด ห่อเมี่ยงคำ กินกับส้มตำ ลาบ ซอยใส่ข้าวยำและแกงคั่ว หรือใส่แกงเนื้อสัตว์เพื่อดับคาว เช่น แกงคั่วหอยขม แกงอ่อม ใบชะพลูมีสรรพคุณบำรุงธาตุ ขับเสมหะ ช่วยเจริญอาหาร ขับลมในลำไส้ และมีสารต้านมะเร็ง แต่มีแคลเซียมออกซาเลตสูง ควรกินร่วมกับเนื้อสัตว์ จะช่วยป้องกันนิ่วในไต

  • ใบเตย

หลายคนคุ้นเคยกับการนำใบเตยมาทำขนม เพื่อเพิ่มสี และกลิ่นหอมชวนให้น่ารับประทานนอกจากนั้นใบเตยยังถูกนำไปทำเครื่องดื่มดับกระหายได้อีกด้วย และสรรพคุณของใบเตยนั้นช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี การปลูกใบเตยนั้นให้นำต้นเตยไปปักชำไว้บริเวณใกล้น้ำ โดยพื้นดินนั้นควรมีความชื้น แฉะพอสมควร

  • เก๊กฮวย

เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น ช่วยดับร้อน ขับเหงื่อ และยังมีสรรพคุณป้องกันอาการความดันโลหิตสูง บำรุงหลอดเลือด แก้ไข บรรเทาอาการหน้ามืดเป็นลม สำหรับการปลูกเก๊กฮวยนั้นสามารถทำได้หลายวิธีทั้งการปลูกจากต้นกล้า นำกิ่งปักลงดิน แล้วรดน้ำในช่วงเย็นทุกวัน ใช้วิธีเด็ดยอดเพื่อให้แตกกิ่ง ช่วยทำให้ออกดอกมากยิ่งขึ้น

  • บัวบก 

สรรพคุณตามตำรายาไทยใช้บัวบกแก้ไข้ แก้ร้อนใน แก้ช้ำใน ใช้เป็นยาภายนอกรักษาแผล ทำให้แผลหายเร็ว เป็นยาบำรุงและยาอายุวัฒนะ ช่วยเสริมสร้างความจำ ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยในคนพบว่าบัวบกมีฤทธิ์รักษาความผิดปกติของหลอดเลือดดำ ช่วยให้คลายกังวล รักษาแผลที่ผิวหนัง และรักษาแผลในทางเดินอาหาร

ง่ายๆ \'สมุนไพรประจำบ้าน\' ปลูกไว้กินเอง ดูแลสุขภาพ ป้องกันโรค

  • ฟ้าทะลายโจร 

มีรสขม สรรพคุณแก้ไข้ บรรเทาอาการเจ็บคอ บรรเทาอาการของโรคหวัด ให้ได้ผลดีต้องรับประทานทันทีเมื่อมีอาการ สำหรับข้อควรระวัง หากใช้ฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ยา ควรหยุดใช้และปรึกษาแพทย์ สำหรับข้อห้าม ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์และผู้ที่แพ้ฟ้าทะลายโจร

  • มะกรูด 

มีรสเปรี้ยว สรรพคุณผิวมะกรูด แก้อาการหน้ามืด วิงเวียน น้ำมะกรูด แก้ไอ ขับเสมหะและใช้บำรุงเส้นผม

  • มะระขี้นก

 มีรสขมจัด สรรพคุณ แก้ไข้ แก้ร้อนใน เจริญอาหาร ผลมะระอ่อน ใช้รับประทานเป็นยาเจริญอาหารโดยการต้มให้สุกรับประทานร่วมกับน้ำพริก ถ้าผลสุกสีเหลืองห้ามรับประทาน เพราะจะทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยพบว่า มะระขี้นกมีสารชาแรนตินช่วยลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้

  • ว่านหางจระเข้ 

วุ้นของว่านหางจระเข้ มีรสเย็นจืด สรรพคุณ รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

สมุนไพรอื่น ๆ ที่สามารถต้านโควิด-19

 ข้อมูลจากกรมการ แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกระบุถึงสรรพคุณของสมุนไพรอื่น ๆ ที่ช่วยต้านอาการของไวรัสโควิด-19 ไว้ดังนี้คือ

  • สะระแหน่ ช่วยบรรเทาอาการหวัด อาการไอ การอักเสบของปากและลำคอ การติเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
  • ขิง นำขิงแก่ต้มน้ำเดือดนาน 30 นาที ทำให้เม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาจจับกินไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ดี
  • กระเทียม ลดความดันโลหิตสามารถป้องกัน และลดระยะเวลาการเป็นหวัดได้ด้วย
  • หอมใหญ่ และหอมแดง มีสาร Quercetin มีฤทธิ์ต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ เพิ่มภูมิคุ้มกันช่วยขยายหลอดลม
  • พริก ช่วยลดน้ำมูก บรรเทาอาการไอ ไซนัส ภูมิแพ้ และป้องกันการติดเชื้อต่างๆ

ง่ายๆ \'สมุนไพรประจำบ้าน\' ปลูกไว้กินเอง ดูแลสุขภาพ ป้องกันโรค

วิธีการเลือกใช้สมุนไพรให้ถูกต้อง

'สมุนไพร' แม้จะเป็นสิ่งที่มาจากธรรมชาติ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีอันตรายร้ายแรงเกิดขึ้น เพราะที่สุดแล้วหากใช้ไม่ถูกต้อง ใช้ไม่ถูกกับอาการ ไม่ถูกกับโรค ปริมาณขนาดที่ใช้ไม่เหมาะสม หรือใช้กับผู้ที่แพ้สมุนไพรบางชนิด ก็อาจเกิดอันตรายที่คาดไม่ถึงได้เช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง

นายบดินทร์ ชาตะเวที นักวิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าสำหรับผู้ที่ต้องการใช้สมุนไพรบำบัดโรค จะต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพรนั้นๆ ก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะการนำสมุนไพรมาใช้เป็นยา ยังต้องคำนึงถึงรายละเอียดอื่นๆ อีกด้วย เช่น ธรรมชาติของสมุนไพรแต่ละชนิด สายพันธุ์ สภาวะแวดล้อมในการปลูก ฤดูกาล และช่วงเวลาเก็บ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการออกฤทธิ์ในการรักษาโรค ซึ่งหากทำไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ คุณภาพของยาสมุนไพรนั้นๆ ก็จะด้อยประสิทธิภาพ ดังนั้นถ้าต้องการใช้สมุนไพรอย่างให้ได้ผลดีที่สุด ก็ต้องใช้อย่างมีความรู้ โดยยึดหลักดังต่อไปนี้ (หลักการใช้ยา, สมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณแห่งประเทศไทย) คือ

  • ใช้ให้ถูกต้น 

สมุนไพรส่วนใหญ่มีชื่อพ้องหรือซ้ำกันมากแล้ว แต่ละท้องถิ่นก็อาจเรียกชื่อแตกต่างกัน ทั้งๆ ที่เป็นพืชชนิดเดียวกัน หรือบางครั้งชื่อเหมือนกัน แต่เป็นพืชคนละชนิด เพราะฉะนั้นจะใช้สมุนไพรอะไรก็ต้องใช้ให้ถูกต้นจริงๆ ดังเช่นกรณีของหญ้าปักกิ่งที่ยกตัวอย่างข้างต้นที่นำหญ้าชนิดอื่นมาขายคนที่ไม่รู้จัก

  • ใช้ถูกส่วน 

พืชสมุนไพรไม่ว่าราก ดอก ใบ เปลือก ผล หรือเมล็ด จะมีฤทธิ์ในการรักษาหรือบำบัดโรคไม่เท่ากัน แม้กระทั่งผลอ่อน หรือผลแก่ก็มีฤทธิ์แตกต่างกัน ดังนั้น การนำมาใช้ก็ต้องมีความรู้จริงๆ

  • ใช้ให้ถูกขนาด 

ธรรมชาติของยาสมุนไพร คือ หากใช้น้อยไป ก็จะรักษาไม่ได้ผล แต่ถ้าใช้มากไปก็อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่นกัน

  • ใช้ให้ถูกวิธี 

สมุนไพรที่จะนำมาใช้ บางชนิดต้องใช้ต้นสด บางชนิดต้องผสมกับเหล้า บางชนิดใช้ต้มหรือชง ซึ่งหากใช้ไม่ถูกต้องก็ไม่เกิดผลในการรักษา

  • ใช้ให้ถูกโรค 

เช่น มีอาการท้องผูก ก็ต้องใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ถ้าไปใช้สมุนไพรที่มีรสฝาด จะทำให้ท้องยิ่งผูกมากขึ้น

ง่ายๆ \'สมุนไพรประจำบ้าน\' ปลูกไว้กินเอง ดูแลสุขภาพ ป้องกันโรค

เช็กอาการและโรคที่ไม่ควรใช้สมุนไพร

สำหรับ อาการและโรคที่ไม่ควรใช้สมุนไพร หรือถ้าหากจะใช้ควรปรึกษา แพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนไทยชำนาญการ ในการรักษาโรคเหล่านี้ เนื่องจากยาสมุนไพรเป็นยาที่ออกฤทธิ์แบบค่อยเป็นค่อยไป และต้องใช้เวลาพอสมควร 

  • หากเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง (เช่น มะเร็ง โรคเอดส์ บาดทะยัก ดีซ่าน) โรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคหัวใจ) โรคติดเชื้อต่างๆ (เช่น ปอดบวม ไข้ไทฟอยด์ มาลาเรีย วัณโรค กามโรค) เป็นโรคบางอย่างที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าสามารถรักษาได้ด้วยสมุนไพรอย่างชัดเจน ก็ไม่ควรที่จะเลือกใช้ยาสมุนไพร
  • นอกจากนี้ หากมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง เช่น ปวดศีรษะรุนแรง ปวดท้องรุนแรง อาเจียนรุนแรง ไอ เป็นเลือด ถ่ายเป็น มูกเลือด ชัก หอบ ตกเลือด ถูกงูพิษกัด เป็นต้น อาการเหล่านี้ไม่ควรใช้ยาสมุนไพร แต่ควรจะไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

ง่ายๆ \'สมุนไพรประจำบ้าน\' ปลูกไว้กินเอง ดูแลสุขภาพ ป้องกันโรค

การป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยา

1.ถ้ายาใดไม่เคยกินมาก่อนเลย ควรเริ่มกินในขนาดที่น้อยๆ ก่อน เช่น กินเพียงครึ่งหนึ่งของขนาดที่กำหนดให้ รอดูว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกายหรือไม่ ถ้าไม่มีจึงค่อยกินต่อไป

2.อย่าใช้ยาเข้มข้นเกินไป เช่นยาที่บอกว่าให้ต้มกินธรรมดา ห้ามไปใช้ต้มเคี่ยวกิน เพราะยาจะเข้มข้นเกินไปจนทำให้เกิดพิษได้ เช่นยาขับน้ำนม ถ้าต้มเคี่ยวจะทำให้ยาร้อนเกินไปจนน้ำนมแห้งได้

3.ควรรู้พิษของยาก่อนใช้ เพราะไม่มียาอะไรที่ไม่มีพิษ การรู้จักพิษจะทำให้มีความระมัดระวังในการใช้มากขึ้น

4.ไม่ควรกินยาตัวเดียวทุกวันเป็นเวลานานๆ โดยไม่จำเป็น โดยทั่วไปไม่ควรกินยาอะไรติดต่อกันทุกวันเกินหนึ่งเดือน เพราะจะทำให้เกิดพิษสะสมขึ้นมาได้ ข้อนี้สำคัญเพราะคนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นยาสมุนไพรคงไม่มีพิษอะไร กินทุกวันคงไม่เป็นอะไร แต่ความจริงคือ ทุกอย่ามีทั้งคุณและโทษ กินมากไปก็อาจเกิดผลไม่ได้ได้เช่นกัน

5.คนที่อ่อนเพลียมาก เด็กอ่อนและคนชราห้ามใช้ยามาก เพราะคนเหล่านี้มีกำลังต้านทานยาน้อย จะทำให้ยาเกิดพิษได้ง่าย

ดังนั้นก่อนจะใช้ยาสมุนไพรแนะนำให้ท่านไปปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากแพทย์แผนไทยใกล้บ้านท่าน ก่อนที่จะเสียโอกาสและเสียเวลาที่จะต้องมารักษาอาการเจ็บป่วยหลังจากการใช้สมุนไพรที่ไม่ถูกต้อง

อ้างอิง:กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ,สถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต